COVID-19

ควรฉีดหรือไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ระหว่างโควิด19 ระบาด

สวัสดีค่ะคุณหมอ
… ยังติดตามอ่านบทความของคุณหมอตลอดนะคะ และยังคงประพฤติปฏิบัติคนคามที่ได้เรียนจากคุณหมอในแค้มป์ RD2 แม้จะยังไม่ได้ทาน plant base diet 100% ก็ตาม น้ำหนักก็ค่อยๆลง จนอาการปวดเข่าบรรเทาเบาบางจนสามารถเดินได้เฉลี่ยวันละ 7-8 กิโล เดินจงกรมและนั่งสมาธิได้วันละ 1 ชั่วโมง ทุกอย่างก็ดูจะเข้าร่องเข้ารอยดีค่ะ
วันนี้มีเรื่องรบกวนอยากเรียนถามคุณหมอว่า ในขณะที่โรค Covid 19 กำลังระบาด เราควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไหมคะ เห็นมีคุณหมอออกมาแนะนำแย้งกันอยู่ กลุ่มหนึ่งบอกว่าควรฉีด อีกกลุ่มไม่แนะนำให้ฉีด จึงขอเรียนปรึกษาคุณหมอสันต์ว่ามีความเห็นอย่างไรคะ
ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

…………………………………………………

ตอบครับ

     1. ถามว่าระหว่างโควิด19 ระบาดควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไหม ตอบว่าควรฉีดไปตามปกติครับ

     องค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็กลัวแพทย์จะเข้าใจผิดในเรื่องนี้จึงได้ออกคำแนะนำเรื่องนี้อย่างเจาะจงว่าในระหว่างโควิด19 ระบาด การฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน (VPD) ต้องฉีดให้ครบตามปกติอย่าหยุด มิฉะนั้นจะไปสร้างผู้ป่วยโรคอื่นขึ้นมาแข่งกับโรคโควิด19 ซึ่งทำให้ระบบดูแลรักษาพยาบาลที่หลังแอ่นอยู่แล้วแอ่นหนักเข้าไปอีก โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ยิ่งสำคัญ เพราะพอป่วยมาจะมีอาการเหมือนโควิด19 ก็จะนำไปสู่กระบวนการการตรวจวินิจฉัยโควิด19 ซึ่งจะทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัดอยู่แล้วยิ่งถูกใช้มากขึ้นไปอีก

     2. ถามว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะทำให้มีอาการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ใช่ไหม ตอบว่าเป็นไปไม่ได้ และเป็นความเข้าใจผิด สมัยนี้วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีสองแบบเท่านั้น คือ (1) วันซีนเชื้อตาย (2) วัคซีนสังเคราะห์ (recombinant) วัคซีนทั้งสองแบบนี้ไม่ใช่ไวรัสที่จะกลับมามีชีวิตและก่อโรคได้

     3. ถามว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจมีผลข้างเคียงรุนแรงเช่นไข้สูงทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโควิด19 ได้ไหม ตอบว่าไม่ได้ครับ เพราะมันเป็นเชื้อตายหรือวัคซีนสังเคราะห์ งานวิจัยเปรียบเทียบผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนจริงและการฉีดน้ำเกลือพบว่าการเกิดอาการไข้ต่ำๆ ไอ น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามตัวเกิดขึ้นทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มฉีดวัคซีนจริงมีอาการปวดบวมแดงที่แขนมากกว่ากลุ่มฉีดน้ำเกลือเท่านั้น ซึงอาการจะเกิดทันทีและคงอยู่นานแค่ 1-2 วัน

     4. ถามว่าระหว่างฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะทำให้ภูมิคุ้มกันโรคโควิด19 ลดลงไปชั่วคราวใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ วัคซีนไม่ใช่ยากดภูมิคุ้มกัน แต่เป็นยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน ระบบภูมิคุ้มกันทำงานพ่วงกันเป็นระบบ คือทั้งระบบที่ทำลายได้แม้ยังไม่รู้จักเชื้อโรค (innate immunity) และระบบรู้จักเชื้อโรคแล้วค่อยทำลาย (adaptive immunity) เวลามันแอคทีฟ มันจะแอคทีฟแบบพ่วงกันไปทั้งระบบอย่างประสานกลมกลืนกัน ดังนั้นในเชิงทฤษฎีการฉีดวัคซีนโรคหนึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันทั่วไปในส่วน innate immunity ดีขึ้นด้วยอันจะเป็นอานิสงให้โอกาสติดเชื้อโรคอื่นลดลงด้วย นั่นเป็นทฤษฏีนะ แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำให้การติดเชื้อโควิด19 ลดลงจริงหรือไม่เท่านั้น ซึ่งในอนาคตการวิจัยเรื่องนี้จะต้องมีขึ้นแน่นอน

     ข้อสมมุติฐานว่าวัคซีนอื่นทำให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด19 ดีขึ้นนี้ มีความสนใจจริงจังมากในกรณีวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็เป็นคำอธิบายได้อย่างดีว่าทำไมประเทศที่มีการฉีดวัคซีนวัณโรคปูพรมอย่างประเทศไทยและตุรกีจึงมีอัตราการติดโรคโควิดต่ำและอัตราตายต่ำ ขณะที่ประเทศที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนวัณโรคปูพรมอย่างอิตาลี สเปญ สหรัฐ มีอัตราการติดโรคสูงและอัตราตายสูง ข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต้องรอดูผลวิจัยหลังจบลอคดาวน์แล้ว

หมายเหตุ
     มูลเหตุที่องค์การอนามัยโลกต้องออกมาให้แนวทาง (guidelines) ว่าควรเดินหน้าฉีดวัคซีนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในช่วงไวรัสโควิด19 ระบาดในครั้งนี้เป็นเพราะก่อนหน้านี้ได้มีการเผยแพร่ผลวิจัยที่ชื่อ Pentagon Study [3] โดยเหมาสรุปว่างานวิจัยนั้นบอกว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำให้เป็นโควิด19 มากขึ้น ซึ่งเป็นการสื่อข้อมูลที่ทำให้ผู้คนเข้าใจผิด

     ผมขออนุญาตเล่าเรื่องงานวิจัยนี้หน่อยนะ มันเป็นการวิจัยแบบสำรวจของมูลย้อนหลังในหมู่เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐจำนวนสองพันกว่าคน ภาษาวิจัยเรียกว่าเป็นการทำ match case control study การทำวิจัยแบบนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุอะไรนะครับ และไม่ใช่การสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างคนสองกลุ่ม แต่เป็นการเอาข้อมูลในอดีตของคนสองกลุ่มมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งตามชั้นของหลักฐานแล้วถือว่าเป็นหลักฐานระดับต่ำสุดในบรรดางานวิจัยในคนด้วยกัน

    ผลสรุปของงานวิจัยนี้คือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มหรือลดภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสอื่น (virus interference) ในภาพรวม แต่ถ้าเจาะลึกแยกแยะสกุลของไวรัสทางเดินลมหายใจส่วนบนลงไปก็พบว่าสำหรับไวรัสบางตัวเช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์อื่น ไวรัส parainfluenza, ไวรัส RSV, และไวรัสที่ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ พบว่าคนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อพวกนี้น้อยลงเล็กน้อย แต่สำหรับไวรัสชนิด coronavirus และ metapneumovirus คนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อพวกนี้มากขึ้นเล็กน้อย แต่ในภาพรวมโหลงโจ้งก็คือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสอื่นในภาพรวม

     งานวิจัย Pentagon Study นี้ นอกจากเป็นการวิจัยแบบย้อนหลังในกลุ่มประชากรเล็กๆที่ไม่ได้สุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มซึ่งแทบไม่มีน้ำหนักอะไรแล้วยังไม่เกี่ยวอะไรกับเชื้อโควิด19 ด้วยนะครับ เพราะสมัยที่ทำวิจัยนี้ยังไม่มีเชื้อซาร์สโควี2 ซึ่งเป็นต้นเหตุโรคโควิด19 เกิดขึ้นในโลกนี้ การเอางานวิจัยนี้มาไฮไลท์ว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำให้ติดเชื้อไวรัสโควิด19 มากขึ้น เป็นการใช้ข้อมูลแบบคาดเดา (extrapolation) ซึ่งวิธีการแบบนี้ไม่ใช่การใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง การจะเหมาว่าไวรัสสกุล coronavirus ทุกสายพันธ์รวมไปถึงสายพันธ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในโลกเลยด้วยจะเหมือนกันหมดก็เหมือนทำวิจัยคนไทยสองพันคนแล้วบอกว่าคนไทยเลวเหมือนกันหมด มันไม่จริง เพราะในหนึ่งสกุลของไวรัสมีความกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าชนิดของมนุษย์ทุกเผ่าทั้งโลกรวมกันเสียอีก ตั้งแต่ไม่มีพิษภัยอะไรเลยไปจนถึงทำให้เป็นโรคถึงตายได้ การคาดเดาต่อจากผลวิจัยหรือ extrapolation นี้เป็นวิธีที่คนชอบทำกัน ส่วนใหญ่ทำเพื่อตะแบงผลวิจัยมาขายสินค้าของตัวเอง แฟนๆบล็อกของหมอสันต์ต้องรู้ทันว่าคนปล่อยข่าวงานวิจัยรายไหนจงใจใช้ข้อมูลแบบ extrapolation จะได้ไม่หลงกระต๊ากตามเข้าไป

พ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. World Health Organization (WHO). Guiding principles for immunization activities during the COVID-19 pandemic. Accessed on Apr24, 2020 at https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/331590/WHO-2019-nCoV-immunization_services-2020.1-eng.pdf
2. Center for Disease Control and Prevention (CDC). Misconceptions about Seasonal Flu and Flu Vaccines. Accessed on Apr24, 2020 at https://www.cdc.gov/flu/prevent/misconceptions.htm
Vaccine. 2020 Jan 10;38(2):350-354. doi: 10.1016/j.vaccine.2019.10.005. Epub 2019 Oct 10.
3. Wolff GG. Influenza vaccination and respiratory virus interference among Department of Defense personnel during the 2017-2018 influenza season. Vaccine. 2020 Jan 10;38(2):350-354. doi: 10.1016/j.vaccine.2019.10.005.