Latest

(เรื่องไร้สาระ-8) ติดตามดูป่าอาหาร

หลุมอาหาร 50 ตรม.มีต้นมะรุมโตเด่นแต่ยังกินใบมันไม่เป็น

   ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าผมได้เริ่มทำโครงการป่าอาหาร หรือ Food Forest เมื่อปลายเดือนมีค.ที่ผ่านมา วันนี้พอมีเวลาผมจะพาท่านชมว่าเดือนครึ่งที่ผ่านมาหลุมป่าอาหารขนาด 50 ตรม.ของผมเริ่มผลิตอาหารอะไรได้แล้วบ้าง ที่ได้กินแล้วแน่ๆก็คือผักสวนครัวต่างๆเช่นสะหระแหน่ แมงลัก โหระพา กระเพรา ยี่หร่า ผักแพว ผักเหล่านี้อย่าไปคิดว่ามันใช้ได้เฉพาะเวลาทำต้มทำแกงอาหารไทยเท่านั้นนะครับ ผมลองเอาใส่ปนในผักสลัดกินสดๆแบบอาหารฝรั่งแล้วพบว่ามันทำให้รสชาติของสลัดโดดเด่นมีสไตล์ขึ้นมาทันทีอย่างเหลือเชื่อ ทำให้สลัดซึ่งเป็นอาหารจืดๆเซ็งไร้ความรู้สึกกลายเป็นอาหารโรแมนติกในเชิงรสชาติขึ้นมาทันที ไม่เชื่อท่านลองดู

     ที่กำลังจะได้กินในสองสามสัปดาห์นี้คือผักใบเหรียง มองต้นใบเหรียงแล้วจินตนาการเห็นผักใบเหรียงผัดไข่ฝีมือหมอสมวงศ์อยู่แค่เอื้อม ถั่วฝักยาวก็เริ่มพันหลักไม้ไผ่ขึ้นอย่างรวดเร็วจนสูงเหนือศีรษะแล้ว แตงกวาก็กำลังออกดอกอย่างมีอนาคต ส่วนฟักทองญี่ปุ่นที่แคะเมล็ดออกมาจากฟักทองที่ซื้อเขามากิน ก็เริ่มงอกออกมาเป็นต้นอ่อนให้เห็นแล้ว ส่วนมะเขือเทศนั้นดูท่าทางเดี้ยงๆเหลืองๆพิกล เข้าใจว่าแพ้ความเค็มของขี้วัว ที่โตพรวดพราดเกินความคาดหมายกลับเป็นต้นมะรุม ผมปลูกมะรุมเพราะเพื่อนหมอฝรั่งบอกว่าเขาใช้ใบมะรุม (Moringa Oleifera) ตากแห้งแล้วป่นเป็นผงให้เด็กชนบทอัฟริกากินป้องกันการขาดโปรตีนแล้วทำให้เด็กสุขภาพดีมีน้ำมีนวลขึ้นทันตาเห็น เพราะใบมะรุมเป็นอาหารพืชที่โปรตีนสูงที่สุด ผมจึงปลูกมะรุมเพื่อเอาใบมาลองกินบ้าง ตอนนี้ได้ใบมะรุมสะพรั่งมาแล้วแต่ผมก็ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะเอาใบมะรุมทำอะไรกินดี ท่านผู้อ่านที่มีความรู้หรือประสบการณ์ทำเมนูจากใบมะรุมช่วยบอกผมเอาบุญด้วย

ฟักทองญี่ปุ่นกินแล้วเอาเมล็ดมาเพาะ

     ใครๆมาเห็นผมปลูกต้นไม้แบบเบียดเสียดยัดเยียดอยู่ในหลุมก็รุมให้คำแนะนำว่าทำอย่างนี้ไม่ดีนะ เดี๋ยวต้นนั้นมันจะ “ง้ำ” ต้นนี้แล้วมันจะไม่โตไม่ได้กินลูก หิ หิ ขอบพระคุณบรรดาท่านผู้หวังดี เมื่อครั้งที่แล้วผมคุยให้ท่านฟังไปบ้างแล้วถึงแนวคิดการปลูกต้นไม้แบบเบียดเสียดยัดเยียดของชาวญี่ปุ่นชื่อมิยาวากิ (Miyawaki forest) ไม่ใช่ว่าผมเห่อคนญี่ปุ่นเขาว่าอะไรดีก็ตามเขาไปหมดนะครับ แต่มันเกิดความเห็นด้วยจากประสบการณ์ของตัวเองด้วย ไม่ต้องอะไรไกล ลองลาดตระเวนไปรอบๆบ้านบนเขานี้ด้วยสายตาตอนนี้เลย มองต้นยางนาที่ผมเคยเอาเข้ามาปลูกเมื่อเจ็ดปีก่อนราวหกเจ็ดต้น ก็พบว่าต้นที่ปลูกอยู่ในบริเวณโล่งๆที่ได้แดดเต็มๆโตได้ความสูงแค่ราว 5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางที่โคนต้นแค่ราว 3 นิ้ว โห..ตั้งเจ็ดปีได้มาแค่เนี้ยะ แถมผืนดินที่ว่างๆระหว่างต้นก็ช่างแห้งซะจนหญ้ายังเอาตัวไม่รอดเลย ส่วนต้นที่ปลูกอยู่ใต้ร่มต้นสักของเพื่อนบ้านที่ริมรั้วกลับโตกว่าประมาณหนึ่งเท่าตัว มีอยู่ต้นหนึ่งผมจำได้ว่าต้นกล้ามันอัปลักษณ์คิดว่าไม่รอดแน่จึงเอาไปปลูกคู่กับต้นงิ้วดอกแดงห่างกันเมตรเดียวที่หลังกระท่อม ที่

ยางนาหลังกระท่อม รีบโตเพื่อข่มต้นงิ้วข้างๆ
ยางนาหน้ากระท่อม ไม่โตเพราะไร้คู่แข่ง 

ปลูกชิดกันขนาดนั้นก็เพราะกะว่าสองต้นนี้ขอให้รอดสักต้นก็โอแล้ว ปรากฎว่าทั้งสองต้นกลับเติบโตพรวดพราดจนสูงไม่น้อยกว่าต้นละ 20 เมตร โคนใหญ่ไม่ต่ำกว่า 9 นิ้ว ทำให้ผมสรุปเอาจากหลักฐานเชิงประจักษ์นี้ว่าที่เชื่อกันว่าปลูกไม้ป่ายืนต้นต้องทิ้งระยะห่างให้มากพอต้นไม้จึงจะโตเต็มที่นั้นเป็นความเชื่อที่ไม่เป็นความจริง ของจริงคือยิ่งปลูกเบียดเสียดยัดเยียดห่างกันเมตรเดียวยิ่งโตดีโตเร็ว อุปมาเหมือนคนเลี้ยงลูกโทนคนเดียวเลี้ยงไปนานเท่าไหร่ก็ยังไม่โตเป็นผู้ใหญ่สักที แต่คนมีลูกหลายคนลูกๆแข่งกันโตเป็นผู้ใหญ่ได้เร็วกว่า ฉันใดก็ฉันเพล นี่เป็นหลักวิชาการป่าไม้แบบบ้าๆบอๆของหมอสันต์คนเดียวเท่านั้นนะ หิ หิ ไม่รับประกันการเจ๊งหากใครลอกเลียนแบบ

ร่องระดับ (contour stripe) และถังเก็บน้ำฝน

    ประกอบกับเมื่อหวนคิดถึงวัยเด็กตอนอายุเจ็ดแปดขวบ ที่บ้านคุณตาของผมเองแค่พ้นชานบ้านออกไปก็เป็น “ป่าอาหาร” ฉบับคุณตาซึ่งปลูกไม้ป่าและพืชอาหารแบบเบียดเสียดยัดเยียดปนกันมั่วและแน่นชนิดแดดส่องไม่ถึงดิน พวกใบไม้หล่นปกคลุมพื้นหนาเตอะไม่มีหญ้าเลย คุณตาเองก็เป็นคนขยัน พอว่างงานเมื่อไหร่ท่านก็โกยขี้วัวในคอกมาโยนเข้าไปในป่านี้ เวลาผมอยากกินผลไม้ก็เข้าไปในป่านี้จะกินอะไรก็เลือกปีนเลือกสอยเอาเองไม่ว่าจะเป็นมะเฟือง มะไฟ มะปราง ชมพู่ ฝรั่ง มะพร้าว ส้มโอ มะม่วง มะขาม แม้กระทั่งมะมื่นก็มี มะมื่นนี้ไม่ทราบว่าภาษากลางเรียกว่าอะไร ผลของมันเป็นผลเปลือกแข็ง ต้องรอคิวให้วัวกินก่อน ต่อเมื่อวัวขี้ออกมาแล้วเราจึงจะไปคุ้ยเอามะมื่นจากขี้วัวมากะเทาะแล้วเผาไฟกินอีกที ยังมีผลไม้พิศดารอีกอย่างหนึ่งที่เป็นของโปรดของผมชื่อมะคอแลน สมัยนี้ผมเข้าใจว่าสูญพันธ์ไปแล้ว มันเป็นผลสีส้มแจ๊ด เมื่อสุกแล้วหวานอมเปรี้ยวอร่อย ป่าอาหารของคุณตานี้ให้ผลิตผลหลากหลายกินได้ตลอดปี แถมมีไม้ยืนต้นสูงใหญ่ไว้ตัดขายเมื่อมีค่าใช้จ่ายครั้งสำคัญเช่นต้องไปขอลูกสาวคนอื่นมาให้ลูกชายเกเรของตัวเองเป็นต้น ดังนั้นการปลูกป่าอาหารแบบเบียดเสียดยัดเยียดนี้มันมาจากประสบการณ์ในชีวิตจริงของผมเองด้วย เป็นการเอาภูมิปัญญาของคุณตามา re-create ให้คนรุ่นหลังได้เห็น ช่วงที่ว่างงานเพราะโควิด19นี้ ผมอินมากถึงกับขยายคอนเซ็พท์ป่าอาหารให้ครอบคลุมทางด้านตะวันตกของบ้านบนเขาทั้งซีกซึ่งมีพื้นที่รวมทั้งหมดอยู่ราวสองงาน

ใบไม้คลุมดิน โปรดสังเกตกาแฟ(ขวา) ที่รอดภัยแล้งมาหวุดหวิด

     ความที่พื้นที่เป็นเชิงเขามีความลาดชัดผมจึงขุดร่องระดับเพื่อดักน้ำไม่ให้ไหลหนีเร็วเกินไปทั้งๆที่ ม. ไม่อนุมัติหลักการ แต่ผมก็จำเป็นต้องทำ ทำเพื่อชาติ หิ หิ เนื่องจากเมืองไทยทุกวันนี้กำลังแห้งลง แห้งลง เพราะเราไม่มีหิมะที่จะค่อยๆละลายให้เป็นแม่น้ำลำคลองอย่างประเทศฝรั่งเขา แหล่งน้ำแหล่งเดียวของเราคือน้ำฝนที่มาจากลมมรสุมซึ่งถึงแม้จะให้ฝนในปริมาณมากพอควรคือที่มวกเหล็กนี้ได้ 1200 มม.ต่อปีแต่ก็ตกลงมาในเวลาอันสั้นแค่ราวไม่เกินปีละ 55 วันเท่านั้น อีก 310 วันอยู่กันแบบแห้งๆ ไม่มีฝน การจะเก็บน้ำฝนไว้ในพื้นที่ให้ได้นานที่สุดก็ต้องทำมันทุกอย่าง ทั้งขุดร่องระดับไว้ขังน้ำให้มันซึมลงดิน ปลูกพืชบนผิวดินให้หนาแน่นเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ไม้สูงเช่นยางนา ตะเคียนทอง  ไม้กลาง เช่นไม้เบญจพรรณทั้งหลาย ไม้เตี้ยเช่นมะม่วง ไม่พุ่มเช่นกาแฟ แล้วก็ไม้ล้มลุกและเถาวัลย์ คือปลูกให้แย่งแดดกันเป็นชั้นๆจนแดดส่องแทบไม่ถึงดิน แถมผิวดินก็คลุมใบไม้กิ่งไม้ไว้ให้หนาเตอะ  โดยวิธีนี้ดินก็จะไม่ร้อนและเก็บน้ำไว้ในดินอยู่ได้ น้ำฝนจากหลังคาก็เอาถังมารองรับเก็บไว้ อีกส่วนหนึ่งก็กำลังคิดหาวิธีจะเอาไปเก็บไว้ในสระเก่าที่อีกด้านหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังคิดไม่ออก

       เมื่อลงมือปลูกไปจนครบตั้งแต่สูงกลางเตี้ยแล้วก็พบว่ายังไม่วายมีช่องว่างที่เหลือให้แดดส่องดินเปรี้ยงๆอยู่อีกแยะ ผมจึงเอาพืชพี่เลี้ยงคือกล้วยและมะละกอมาปลูกแซมแบบยัดๆกันเข้าไปอีก เนื้อที่แค่สองงานผมปลูกต้นไม้พันธุ์ใหญ่ไปแล้วไม่น้อยกว่าสองร้อยต้น หิ หิ ใครมาเห็นก็ว่าบ้าหรือเปล่าเนี่ย เออ..บ้าก็บ้าละวะ ขอลุงลองทำดูก่อน

     “..ขอลุงก่อน ขอลุงก่อน ลุงแก่แล้ว พ่อแก้วแม่แก้วขอลุงก๊อน..น”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์