Latest

ความคิดเปรียบเทียบ รากของมันมาจาก identity

สวัสดีค่ะหมอสันต์
หนูติดตามหมอสันต์มาหลายๆบทความแล้ว รู้สึกชอบในกระบวนความคิดของคุณหมอมากค่ะ
หนูมีปัญหามาปรึกษาค่ะ คือตอนนี้หนูเรียนแพทยศาสตร์ม.เอกชนที่หนึ่งแถวปทุม อยู่ชั้นปีที่ 3 ค่ะ ก่อนอื่นต้องบอกว่าหนูเรียนจบป.ตรีแล้วแต่คนละสาขากัน แต่รู้สึกว่าชอบทางด้านนี้มากกว่าจึงมาสอบค่ะ ช่วงที่สอบหนูยอมรับว่ามันมีปัญหาทางใจหลายๆอย่าง จึงอาจทำให้หนูไม่ได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ แล้วหนูก็ติดแพทย์ม.เอกชนค่ะ หนูสอบมาสองครั้ง ก็ติดที่เดิมทั้งสองครั้ง แม่ก็บอกให้เรียน แต่ใจหนูก็รู้สึกไม่ค่อยอยากเรียนเอกชน ทั้งด้านค่าเทอมที่แพงหูฉี่ อีกทั้งด้วยความเป็นม.เอกชนก็จะติดภาพลบๆหน่อยค่ะ (ปล.หนูจบจากม.รัฐดังแถวสยามค่ะ) แต่ก็เลือกที่จะเรียนเพราะไม่อยากรอแล้ว และกลัวว่าถ้าสอบอีกจะไม่ติดค่ะ พอเข้าไปเรียนก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิดนะคะ แต่หนูก็มีความกังวลอยู่ในใจเรื่องการเรียนต่อเฉพาะทาง หนูไปหาในอินเตอร์เน็ตเค้าก็พูดประมาณว่าเรียนหมอเอกชนมีทางเลือกเรียนต่อเฉพาะทางไม่มาก เค้าต้องให้ม.รัฐก่อนอยู่แล้วอะไรประมาณนี้ค่ะ หนูก็ไม่รู้จะไปถามความจริงจากใครดี เพราะข้อมูลมันน้อยมากเรื่องเรียนต่อน่ะค่ะ อีกอย่างเกรดหนูก็ไม่ได้ถึงขั้นดีเลิศ ก็เลยกังวลมากเลยค่ะ  และในเวลาต่อมาเพื่อนหนูก็สอบติดแพทย์ม.ดังค่ะ หนูก็เลยรู้สึกว่าทำไมตัวเองโง่จัง รู้สึกตัวเองด้อยค่ามากค่ะที่เรียนเอกชน (ปล.หนูเคยเรียนเก่งในสาขาที่หนูอยู่ค่ะ) แล้วก็เอามาเปรียบเทียบกับเพื่อน ทำให้รู้สึกแย่ไปหมด ทั้งเรื่องการไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เรื่องการเรียนต่อ และอื่นๆ หนูอยากจะขอคำปรึกษาจากหมอสันต์ค่ะว่า
1.หนูจะล้างความคิดที่ว่าเรียนแพทย์เอกชนมันดูแย่ มันสิ้นหนทางอย่างไรดีคะ
2.จริงมั้ยคะที่เรียนเอกชนแล้วโอกาสในการเรียนต่อจะน้อยถ้าเกรดไม่ได้สวยหรู แล้วควรจะทำอย่างไรดีคะ ช่วยชี้แนะแนวทางให้หน่อยค่ะว่าหนูมีทางเลือกอะไรบ้าง อยากเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ
3.หนูจะจัดการกับความคิดเปรียบเทียบม.รัฐกับม.เอกชนอย่างไรดีคะ
ขอบคุณมากค่ะ

…………………………………………………..

ตอบครับ

     1. ถามว่าเรียนแพทย์เอกชนมันแย่จริงไหม ตอบว่าไม่จริงหรอกครับ ทุกอย่างย่อมมีด้านดีและมีด้านเสียในตัวเองเป็นธรรมดา เรียนเอกชนเสียเงินมากนั่นเป็นข้อเสีย แต่การที่เรามีโอกาสได้เข้าเรียนแพทย์ซึ่งหากไม่มีคณะแพทย์เอกชนเราก็อาจจะไม่ได้เป็นหมออย่างที่ฝันไว้ นั่นเป็นข้อดี

     ส่วนความรู้ใครจะดีกว่าใครก็ไปดูกันตอนสอบใบประกอบโรคศิลป์สิครับ คือทั้งนักศึกษาแพทย์จากทั้งเอกชนและรัฐบาลต่างก็สอบตกกันมากบ้างน้อยบ้าง สุดแล้วแต่ความตั้งใจศึกษาเล่าเรียนของนักศึกษาแต่ละคน

     ส่วนเรื่องใครจะเป็นหมอที่ดีหรือไม่ดีนั้น ยิ่งไม่เกี่ยวกับสถาบันรัฐหรือเอกชนเลย การเป็นหมอที่ดีมันอยู่ที่เมตตาธรรมในใจของคนๆนั้น เพราะองค์ประกอบเดียวของการเป็นหมอที่ดีคือการมีเมตตาธรรมเป็นธาตุแท้ของจิตใจ เรื่องอื่นเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย คนที่ขาดเมตตาธรรม ไม่ว่ามีความรู้หรือไม่มีความรู้เขาก็จะหาทางปอกลอกรูดทรัพย์คนไข้มาเข้ากระเป๋าตัวเองด้วยวิธีของตัวเองจนได้ ขณะที่คนที่มีเมตตาธรรมไม่ว่าจะมีความรู้หรือไม่มีความรู้เขาก็มีสามัญสำนึกหรือความรู้สึกลึกๆจากลำไส้ของเขาเองว่าสิ่งที่เขาจะให้นี้มันมีประโยชน์จริงแท้กับคนไข้ของเขาหรือเปล่า และเขาจะให้แต่สิ่งที่เขามั่นใจว่าดีกับคนไข้ของเขา

     2. ถามว่าเรียนเอกชนแล้วโอกาสในการเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางมีน้อยถ้าเกรดไม่ดีจริงไหม ตอบว่าถ้าเกรดไม่ดีและผลงานตอนเป็นนักศึกษาแพทย์หรือขณะเป็นแพทย์ใช้ทุนไม่เข้าตาอาจารย์หรือหัวหน้า โอกาสได้รับการสนับสนุนให้เรียนต่อแพทย์เฉพาะทางก็จะน้อยกว่าคนที่เขาเกรดดีและมีผลการทำงานเข้าตาหัวหน้า นี่เป็นเรื่องธรรมดาไม่ว่าจบมาจากที่ไหน

     ผมแนะนำว่าช่วงเป็นนักศึกษาแพทย์อย่าไปคิดไกลถึงการเป็นแพทย์เฉพาะทาง ให้ตั้งใจเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ดีก่อน รับคนไข้มาแล้วก็ตั้งใจทำรายงานผู้ป่วยอย่างดี ตั้งใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้การดูแลคนไข้คนนั้นสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งจะทำได้ หากขณะเป็นนักศึกษาแพทย์เป็นนักศึกษาแพทย์ที่ดี เมื่อไปเป็นแพทย์ใช้ทุนก็จะเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ดี แล้วอะไรต่อจากนั้นไม่ว่าจะเป็นแพทย์ประจำบ้านหรือเป็นหมอรักษาคนไข้มันจะดีเอง

    การจะเป็นแพทย์เฉพาะทางหรือไม่ ถ้าเป็นจะเป็นสาขาไหน ต้องเข้าเรียนที่สถาบันไหน มันสำคัญมากสำหรับคนที่ต้องการเป็นแพทย์พันธ์ทาง คือมาสู่อาชีพนี้เพื่อหาความรวยชื่อเสียงเกียรติยศ แต่สำคัญน้อยสำหรับแพทย์พันธ์แท้คือคนที่หาเวทีแสดงเมตตาธรรมในใจตัวเองผ่านการช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ แพทย์พันธ์แท้จะทำงานในสาขาไหน จบจากสถาบันไหน หรือเป็นแพทย์ทั่วไปก็มีความสุขได้เพราะเขาเป็นแพทย์พันธ์แท้ แต่คุณขอคำแนะนำจากผมว่าจะเลือกเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาไหนดี ผมแนะนำสาขาเดียว คือเวชศาสตร์ครอบครัว เพราะเป็นสาขาที่ชาติต้องการมากที่สุด คุณจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยนั่นสุดแล้วแต่คุณครับ

     3. ถามว่าจะจัดการกับความคิดเปรียบเทียบม.รัฐกับม.เอกชนอย่างไรดี ตอบว่านี่เป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แต่คุณคนเดียว คือปัญหาเป็นทุกข์จากความคิดของตัวเอง คนเราที่เป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้เกือบร้อยทั้งร้อยเป็นทุกข์จากความคิดของตัวเองทั้งสิ้น

     ผมตอบคำถามข้อนี้ให้คุณได้ แต่การจะใช้ประโยชน์จากคำตอบนี้ได้จริง คุณต้องมีความพากเพียรอดทน ค่อยๆอ่าน ค่อยๆทำความเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็ค่อยๆลงมือฝึกปฏิบัติ สองขั้นตอนนะ เข้าใจก่อน แล้วลงมือปฏิบัติ   
  
     ความคิดที่ทำให้คนเราเป็นทุกข์มันมีรากมาจากไหน มันมีรากมาจากความพยายามที่จะปกป้องความเป็นบุคคลของตัวเราเอง คำว่าความเป็นบุคคลของเรา (identity) หมายถึงภาพที่เราปั้นขึ้นมาในใจว่านี่คือเรา มีสะเป๊คประมาณนี้ สวยอย่างนี้ มีชาติสกุลดีอย่างนี้ เป็นคนดีระดับนี้ เก่งระดับนี้ ผ่านสถาบันดีๆมาอย่างนี้ ฯลฯ identity นี้จริงๆแล้วก็คือสิ่งที่เราสมมุติขึ้นเอง เออเอง เชื่อเอง ว่านี่คือความเป็นเรา จนมันกลายเป็นคอนเซ็พท์หลักที่คอยกำหนดทิศทางของทุกความคิดที่ผุดขึ้นในใจของเรา ว่าทุกความคิดจะต้องมุ่งปกป้อง identity นี้ไม่ให้หมองต่ำ ในทางตรงกันข้ามต้องพยายามให้ identity นี้มันเจิดจรัสชัดเด่นขึ้นเหนือ identity ของคนอื่น ความคิดทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นความคิดเปรียบเทียบ คิดโกรธ คิดอิจฉา คิดน้อยใจ คิดกลัว คิดเสียใจ คิดเสียดาย สืบโคตรเหง้าศักราชไปแล้วล้วนเป็นความคิดที่ชงขึ้นมาเพื่อปกป้อง identity ของเราทั้งสิ้น

     เราไม่มีทางที่จะพ้นไปจากทุกข์อันเกิดจากความคิดของเราเองได้ หากเราไม่เลิกเชื่อไม่เลิกพยายามปกป้อง identity ของเราอย่างสิ้นเชิงเสียก่อน แล้วหันมาใช้ชีวิตโดยแยกแยะว่าอะไรเป็นคุณค่าแท้ อะไรเป็นคุณค่าเทียมในชีวิต โดยไม่มี identity ของเราเข้ามาเกี่ยวข้อง

     เช่นอะไรเป็นคุณค่าแท้ของการตะเกียกตะกายมาเป็นหมอ หากไม่เอา identity ของเราเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณค่าแท้ของการเป็นหมอก็คือการได้มีโอกาสแสดงออกถึงเมตตาธรรมในก้นบึ้งหัวใจเรา ในรูปของการได้อุทิศชีวิตช่วยเหลือคนเจ็บไข้

     แต่หากเอา identity ของเราเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณค่าเทียมของการเป็นหมอก็จะโผล่ขึ้นมาเป็นวาระหลักทันที เช่นการได้สังกัดสถาบันที่โดดเด่นเป็นสง่ามีราศี การได้เข้าฝึกอบรมในสาขายากๆที่เพื่อนแพทย์ด้วยกันซูฮกนับถือ การประสบความสำเร็จทางวิชาการได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารดังๆเพื่อให้เพื่อนแพทย์มองด้วยสายตายกย่องแกมอิจฉา การหาเงินได้เยอะซื้อบ้านซื้อรถระดับหรูเริ่ดซึ่งล้วนเป็นเป้าหมายของคนส่วนใหญ่ซึ่งคนอื่นไปไม่ถึงแต่เราไปถึง ฯลฯ

     ทั้งหมดนั้นเป็นระดับความเข้าใจนะ คุณต้องทำความเข้าใจกับ identity ก่อนว่ามันไม่มีอยู่จริงและหากไปหลงยึดมันเข้าคุณจะติดกับดัก และทำความเข้าใจคุณค่าแท้คุณค่าเทียมของอาชีพนี้ก่อน เมื่อเข้าใจแล้วค่อยไปอีกขั้นหนึ่ง คือการฝึกปฏิบัติเพื่อวางความคิดสั่วๆเหล่านั้นลงเสีย ความคิดนี้มันมีธรรมชาติเป็น compulsiveness คือวกวนซ้ำซากอย่างหักห้ามไม่ได้ การจะวางความคิด ต้องฝึกทักษะ ไม่ใช่คิดจะวางก็วางได้อย่างใจหมาย

     ในระดับการฝึกปฏิบัติเพื่อวางความคิดนี้ ผมแนะนำให้ทำดังนี้

    ขั้นที่ 1. ผมแนะนำให้คุณเริ่มต้นด้วยการลดการพูดลงไปก่อน คือพูดให้น้อยลง รวมถึงการเขียนด้วยนะ เพราะสมัยนี้การเขียนลงไปในไลน์ในเฟซก็แทนการพูด อะไรที่จำเป็นต้องสื่อสาร ให้คุณใช้คำพูดลดลงครึ่งหนึ่งของที่เคยใช้แต่สื่อสารให้ได้เนื้อหาสาระเท่าเดิม เพราะการพูดเยอะ เป็นอาการของการคิดเยอะ ตราบใดที่คุณยังพูดเยอะแสดงว่าคุณยังไหลไปในความคิด คุณไม่มีทางวางความคิดของคุณได้

     ขั้นที่ 2. ให้ฝึกคุณถอยความสนใจของคุณออกจากความคิดมาอยู่กับลมหายใจของคุณ ทุกครั้งที่คิดขึ้นได้ ลมหายใจนี้มันไม่ได้มีความหมายแค่เป็นลมเข้าไปปอดแล้วออกมา แต่มันเป็นชีวิตในอีกชั้นหนึ่งที่อยู่ถัดเข้าไปจากร่างกายที่สัมผัสจับต้องได้นี้ คือมันเป็นชั้นของพลังชีวิต (Life energy) คุณก็รู้นี่ คุณหายใจเข้าไป ออกซิเจนในลมหายใจจะผ่านจากถุงลมในปอดเข้าไปในกระแสเลือด กระจายไปทั่วตัว เข้าไปในเซลทุกเซล ไปเผาผลาญเป็นพลังงานขึ้นมาในเซล พลังงานเหล่านั้นใช้ขับเคลื่อนร่างกายที่จับต้องได้นี้ และเรารับรู้พลังงานนั้นได้ในรูปของความรู้สึกบนผิวกายเช่นความรู้สึกร้อนผ่าว วูบวาบ ซู่ซ่า เรียกว่ารับรู้มันได้จากความรู้ตัวทั่วพร้อม หรือ “เวทนา (feeling)” ย้ำ..ความเข้าใจตรงนี้อีกทีนะ เวทนาหรือความรู้ตัวทั่วพร้อม ก็คือการรับรู้ชีวิตในชั้นของพลังชีวิต ในขั้นนี้ให้คุณถอยความสนใจออกมาจากความคิดมาอยู่กับพลังชีวิตนี้ การถอยความสนใจออกจากความคิดมาอยู่กับพลังชีวิตตลอดเวลา แบบว่าหายใจ-วูบวาบซู่ซ่า หายใจ-วูบวาบซู่ซ่า นอกจากจะทำให้คุณหลุดจากความคิดแล้ว ยังจะทำให้คุณกลายเป็นคนที่มีพลังสดชื่นแจ่มใสทั้งวันขึ้นมาอย่างน่าประหลาดด้วย

     ขั้นที่ 3. ให้คุณหัดผ่อนคลายร่างกาย ซึ่งทำไปพร้อมกับการรู้ตัวทั่วพร้อม แบบว่า หายใจ-วูบวาบซู่ซ่า-ผ่อนคลาย, หายใจ-วูบวาบซู่ซ่า-ผ่อนคลาย คือในทุกโอกาสทุกที่ทุกเวลาให้สั่งให้กล้ามเนื้อแขนขาลำตัวคอบ่าไหลใบหน้าผ่อนคลาย และยิ้ม..ม การผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกายและยิ้มจะทอนความคิดลบลงไปได้อย่างสำคัญ

     ขั้นที่ 4. ให้คุณหัดสังเกตความคิด ขณะที่ขยันอยู่กับความรู้ตัวทั่วพร้อมหรือวูบวาบซู่ซ่า-ผ่อนคลาย ให้คุณหัดแอบชำเลืองดูความคิดนานๆครั้ง ชำเลืองดูว่าตัวเองเผลอคิดอะไรอยู่ไหม ดูความคิดแว้บเดียวแล้วก็กลับมาอยู่กับความรู้ตัวทั่วพร้อมใหม่ (aware of a thought) อย่าดูลึกถึงรายละเอียดในเนื้อหาความคิดเพราะจะกลายเป็นการผสมโรงคิด (thinking a thought) ไปเสีย

     ขั้นที่ 5. ให้คุณฝึกจดจ่อความสนใจโดยไม่มีความคิดให้ได้ต่อเนื่องยาวนาน ด้วยการนั่งสมาธิ (meditation) ทำทุกวัน วันละอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เป้าหมายก็แค่ให้ถอนความสนใจออกจากความคิดมาสนใจพลังชีวิตซึ่งนับรวมตั้งแต่ลมหายใจไปถึงความรู้ตัวทั่วพร้อม จดจ่อต่อเนื่องลึกลงไป ลึกลงไป ท้ายที่สุดเมื่อความคิดหมด ความสนใจของคุณก็จะถูกพลังชีวิตพาเข้าไปอยู่ในความว่างดำมืดไม่มีขอบเขตที่ตรงหน้า นี่แหละ อยู่ตรงนี้แหละ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีความคิด ไม่มีภาพ ไม่มีเสียง ไม่มีอะไรที่เรียกชื่อได้ด้วยภาษา มีแต่ความว่างเปล่าดำมืดไร้ขอบเขตกับความสนใจของคุณที่เฝ้าดูความว่างนี้อยู่เท่านั้น การจะอยู่ตรงนี้ได้นานคุณต้องมีความพยายามดึงตัวเองออกมาจากความง่วงด้วย ต้องอยู่แบบตื่นเต็มๆไม่ใช่แบบสลึมสลือ ตรงนี้ไม่มีความคิด มีแต่ความสนใจของคุณหรือความรู้ตัวอยู่ท่ามกลางความไม่มีอะไรเลย ตรงนี้ไม่ใช่นิพพานหรือการบรรลุอะไรนะ อย่าเข้าใจผิด มันเป็นเพียงอีกชั้นหนึ่งของชีวิตที่อยู่ลึกละเอียดลงไปกว่าชั้นพลังชีวิต ถ้าจะเรียกด้วยภาษาก็น่าจะประมาณว่านี่เป็นชั้นของ individual consciousness มันเป็นชั้นที่คุณต้องมาอยู่ให้ได้และอยู่ตรงนี้ให้ได้นานจนคุ้นชินก่อน ก่อนที่จะเดินทางเข้าข้างในลึกต่อไปอีก ให้คุณอยู่ในชั้นนี้นานอย่างน้อย 6 เดือน คือหกเดือนนี้ต้องนั่งสมาธิทุกวันนะ ทิ้งความคิดมาอยู่กับความว่างดำมืดที่ตรงหน้าทุกวันโดยไม่ต้องถามว่าแล้วไงต่อ ทำจนครบ 6 เดือน แล้วคุณก็จะพบว่าตัวเองเริ่มเป็นอิสระจากความคิดได้แล้วระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ตอนหลบเข้ามาอยู่ตรงนี้

     ถ้าคุณทำได้ 6 เดือนแล้ว หากยังอยากเรียนให้รู้จักชีวิตตัวเองเพิ่มเติมให้ลึกซึ้งเข้าไปอีก คุณค่อยหาเวลาตอนปิดเทอมมาเรียน Spiritual Retreat หรือถ้าไม่มีเวลามาเรียน ก็เขียนมาถามต่อทางเมลนี้ก็ได้ แต่ว่าต้องนั่งสมาธิให้ได้ครบ 6 เดือนก่อนนะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์