Latest

ขอเคลียร์เรื่องการนอนหลับ การฝัน กับภูมิคุ้มกัน

ใน SR7 (spiritual retreat) อ.บอกว่าถ้าฝึกสติก่อนนอนก็จะไม่ฝัน แต่เมื่อเดือนก่อน อ.พูดถึงเรื่องภูมิต้านทานตอนนอนหลับว่าการฝันทำให้ภูมิคุ้มกันดี เหมือนมันขัดๆกัน หรือเรื่องเดียวกัน อ.ช่วยแจงแถลงไขหน่อยครับ

……………………………………………………..

ตอบครับ

ผมต้องขอโทษด้วยที่พูดอะไรไปแบบสั้นๆทำให้เกิดการจับความไปใช้งานสับสน เรื่องนี้มันคนละเรื่องเดียวกัน ผมจะแยกเป็นสามเรื่องนะ เอากันให้เคลียร์ทีละเรื่อง คือ

(1) ความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับกับการสร้างภูมิคุ้มกัน
(2) ความสัมพันธ์ระหว่างการหลับแบบฝัน (REM sleep) กับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
(3) ผลของการฝึกสติสมาธิต่อการนอนหลับ

     ก่อนที่จะลงลึกไปทีละเรื่อง ขอท้าวความถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ก่อน ว่ามันแบ่งออกเป็นสองระบบใหญ่ๆคือ

     1. ระบบต่อสู้แบบรูดมหาราช (innate immunity) คือด่านป้องกันผู้รุกรานทุกรายไม่ว่าหน้าใหม่หน้าเก่า ไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม มีอยู่สี่ด่านสี่ชั้นจากนอกเข้าใน คือ (1) ผิวหนัง (2) การก่อการอักเสบ (3) ระบบช่วยฆ่า (compliment system) (4) และเซลนักฆ่า (NK)

     2. ระบบต่อสู้ศัตรูเก่า (adaptive immunity) หมายถึงระบบที่ทำงานโดยวิธีจดจำเอกลักษณ์ของเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่าแอนติเจน (antigen) ไว้ เมื่อใดที่มันกลับเข้ามาสู่ร่างกายอีกก็จะอาศัยความจำเดิมมาสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านมันได้อย่างเจาะจงทันที ระบบนี้มีรากมาจากเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดที่อยู่ในไขกระดูกได้สร้างเม็ดเลือดขาวชื่อลิมโฟไซท์ขึ้นมา เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซท์นี้แบ่งออกเป็นสองชนิด

     เม็ดเลือดขาวชนิด ที.เซลล์ (T cell) ที่ทำงานโดยตัวมันเองไปทำลายเซลล์ใดๆที่มีเชื้อโรคหรือแอนติเจนอยู่ในตัวในลักษณะเจาะให้แตกดื้อๆ

     เม็ดเลือดขาวชนิด บี.เซลล์ (B cell) ซึ่งทำงานโดยตัวมันสร้างโมเลกุลภูมิคุ้มกัน (antibody) เพื่อไปจับทำลายเชื้อโรคอีกต่อหนึ่ง

     เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ยังแยกย่อยออกเป็นอีกสองแบบ แบบแรกคือ เซลล์นักฆ่า (Killer T Cell) ซึ่งผิวของมันมีโมเลกุลชื่อ CD8 เป็นเหมือนเรด้าร์ช่วยให้ค้นหาเชื้อโรค เมื่อพบก็จะเจาะให้เซลล์นั้นระเบิดตายไปพร้อมกันทั้งตัวเซลล์ป่วยเองและเชื้อโรคที่อยู่ข้างใน

     เม็ดเลือดขาวทีเซลล์อีกชนิดหนึ่งคือ เซลล์สอดแนม (Helper T cell) ที่ผิวของมันจะมีเรด้าร์ช่วยค้นหาแอนติเจนชื่อ CD4 เมื่อพบเชื้อโรคแล้วมันจะแบ่งตัวออกลูกมาเป็นครอก ในครอกนั้นจะมีลูกอยู่สองแบบ คือ
     พวกช่วยจำ (memory cells) มีหน้าที่อย่างเดียวคือมีชีวิตเพื่อจำรายละเอียดของศัตรูไว้ แบบที่สองคือ
     พวกช่วยบอกข่าว (effector cells) มีหน้าที่ปล่อยโมเลกุลข่าวสาร (interleukin หรือ cytokine) หลายชนิดสู่กระแสเลือดเพื่อแจ้งข่าวไปยังเพื่อนร่วมทีมอีกสามกลุ่มสามแผนก คือบอกเซลล์มาโครฟาจให้มาจับกินเซลล์ป่วย บอกเซลล์นักฆ่าให้มาเจาะระเบิดเซลล์ป่วย และบอกเม็ดเลือดขาวชนิดบี.เซลล์ให้ผลิตภูมิคุ้มกันหรือแอนตี้บอดี้มาทำลายเชื้อโรค

     เอาละ คราวนี้มาเจาะลึกประเด็นที่ 1. คือการนอนหลับกับการสร้างภูมิคุ้มกัน งานวิจัยพบว่า ขณะนอนหลับ สมองจะปล่อยฮอร์โมนหลายตัวเช่น Growth hormone, เมลาโทนิน เป็นต้น ซึ่งจะมีผลเปลี่ยนชนิดและปริมาณของโมเลกุลข่าวสารที่ปล่อยออกมาโดยเม็ดเลือดขาวพวกช่วยบอกข่าวไปในทางทำให้เซลผู้รับข่าวสารทำงานได้ดีขึ้น ทำให้ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคดีขึ้น ครั้นเมื่ออดนอนพวกโมเลกุลข่าวสารก็ลดปริมาณและคุณภาพลงทำให้เซลผู้รับข่าวสารขี้เกียจทำงาน ที่วัดได้แน่ๆเมื่ออดนอนก็คือเม็ดเลือดขาวแบ่งตัวน้อยลง โมเลกุลข่าวสารเช่ HLA-DR ลดลง ปริมาณเม็ดเลือดขาวที่วัดด้วย CD4+ และ CD8+ ลดลง และอุบัติการติดเชื้อทางเดินลมหายใจก็เพิ่มขึ้น

     สรุปง่ายๆว่าถ้าได้หลับเพียงพอภูมิคุณกันเพิ่มขึ้น ถ้าอดนอน ภูมิคุ้มกันลด

     คราวนี้มาเจาะลึกประเด็นที่ 2. คือความสัมพันธ์ระหว่างช่วงหลับฝัน (REM sleep) กับภูมิคุ้มกัน ความจริงผมไม่น่าพูดพาดพิงถึงประเด็นนี้เพราะมันไม่มีสาระอะไรที่จะเอาไปใช้งานได้ แต่ไหนๆพูดไปแล้วทำให้คุณงงแล้วก็ขอพูดต่อให้เคลียร์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการนอนหลับของคนเรานี้มันแบ่งเป็นระยะหรือรอบดังนี้

     ตอนที่ตื่นคลื่นสมองเป็นคลื่นเบต้า พอผ่อนคลายก็จะกลายเป็นคลื่นอัลฟ่า แล้วเข้าระยะเคลิ้ม

     ระยะเคลิ้ม (NREM-1 sleep) คลื่นสมองเป็นแบบธีต้า ลูกตาค่อยๆสงบลงแต่ยังไม่นิ่ง

     ระยะหลับนก (NREM-2 sleep) คลื่นสมองเป็นแบบธีต้าแถมด้วยช่วงความถี่สั้น (sleep spindle) ลูกตานิ่ง
     ระยะหลับลึก (NREM-3 sleep) คลื่นสมองเป็นเดลต้า หายใจช้า หัวใจเต้นช้า ร่างกายเผาผลาญน้อย

     ระยะหลับฝัน (REM sleep) ลูกตาจะกลอกไปมาเร็วมาก คลื่นสมองสลับไปมาแต่แผ่ว (low voltage) คำว่า REM ย่อมาจาก rapid eye movement คือลูกตากลอกไปมาเร็วนั่นเอง ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานคือหายใจเร็วหัวใจเต้นเร็วเหงื่อแตกได้ แต่กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตชั่วคราว จากระยะนี้ก็จะกลับขึ้นไปหาระยะเคลิ้มใหม่ วนกันอยู่อย่างนี้

     ในการนอนหลับจริงคนเราจะหลับเวียนไปตามระยะต่างๆเป็นวงจรอย่างนี้ทั้งคืน คืนหนึ่งวนได้ประมาณ 6 รอบ ระยะเวลาในแต่ละรอบเอาแน่ไม่ได้

     เมื่อเข้าใจรอบของการนอนหลับแล้ว คราวนี้มาดูงานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างการหลับฝัน (REM sleep) กับภูมิคุ้มกันโรค มันเป็นงานวิจัยในสัตว์ทดลอง คือในหนู โดยเอาหนูมาให้นอนหลับแต่ไม่ยอมให้ฝัน คือพอคลื่นสมองบอกว่าหลับมาลึกถึงระยะจะฝันแล้วก็จี้ให้ตื้นขึ้นจะได้ไม่ฝัน ทรมานหนูอยู่อย่างนี้ 72 ชั่วโมง แล้วเจาะเลือดหนูดูก็พบว่าหนูกลุ่มที่หลับโดยไม่มีโอกาสได้ฝันมีโมเลกุลข่าวสารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบแบบเปะปะไม่สมเหตุสมผลและมีตัวชี้วัดการอักเสบต่างๆในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เป็นอย่างนี้อยู่นานถึงเจ็ดวันหลังเลิกงานวิจัยไปแล้ว ขณะที่หนูในกลุ่มควบคุมที่ให้หลับปกติมีระบบจัดการการอักเสบที่เป็นปกติดีกว่า จึงสรุปผลวิจัยว่าการไม่ได้ฝัน (lack of REM sleep) ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันรวน

    งานวิจัยนี้แทบไม่ให้ประโยชน์อะไรเราเลย เพราะมันเพิ่งเป็นงานวิจัยในสัตว์ และการที่ภูมิคุ้มกันแย่ลงก็อาจจะเกิดจากปัจจัยกวน ไม่ใช่เกิดจากการไม่ได้ฝัน คืออาจจะเกิดจากการถูกจี้ให้ตื่นทำให้ธรรมชาติของการนอนหลับขาดๆติดผิดธรรมชาติก็ได้ ผมต้องขอโทษด้วยที่ผมเอางานวิจัยไร้สาระมาทำให้เกิดความกังวลที่ไร้สาระเพิ่มขึ้น ข้อที่เราจะเอาไปใช้ได้จริงๆมีอยู่อย่างเดียว คือการได้นอนหลับดีๆตามธรรมชาติทำให้ภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้น

     อีกอย่างหนึ่งเรื่องการฝันนี้ คนเราหลับเป็นวงจรและมีการฝันเสมอ แต่ตื่นแล้วจะจำได้หรือจำไม่ได้ว่าฝันหรือเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นอย่าไปกังวลสนใจว่าเมื่อคือได้ฝันหรือไม่ได้ฝันเลย

     เอาละ คราวนี้มาเจาะลึกประเด็นที่ 3. ที่ว่าฝึกสติสมาธิทำ meditation แล้วจะฝันน้อยลงแปลว่ามันจะไม่ดีกับภูมิคุ้มกันหรือเปล่า อย่าเพิ่งเอาข้อมูลมาปะติดปะต่อกันในลักษณะนี้เพราะเรายังไม่รู้เลยว่าการฝันหรือไม่ฝันมันทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร

     แล้วอีกอย่างหนึ่ง ในทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีงานวิจัยนะครับว่าคนทำ meditation แล้วจะฝันน้อยลงหรือมากขึ้น มีแต่งานวิจัยที่สรุปผลได้แน่ชัดว่าคนทำ meditation จะหลับง่ายขึ้น หลับดีขึ้น และมีโมเลกุลข่าวสารที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานขยันขันแข็งเพิ่มขึ้น มีความจำดีขึ้น เนื้อสมองมีขนาดใหญ่ขึ้น วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ meditation มีแค่นี้ ดังนั้นให้ถือตามผลของการทำวิจัย meditation ต่อภูมิคุ้มกัน ที่สรุปได้ว่ามันจะทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้นเป็นข้อสรุปสุดท้ายของจริง อย่าเพิ่งเอาเรื่องฝันซึ่งยังเป็นเรื่องเลื่อนลอยมายุ่ง

     คราวนี้มาประเด็นที่ผมพูดว่าฝึกสติสมาธิแล้วจะฝันน้อยลง อันนี้เป็นประสบการณ์ของตัวเอง ไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์นะ คือตัวผมนี้ความเป็นมาคือเป็นคนมีความคิดแยะ ฝันแยะ และฝันร้ายๆแยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝันว่ากำลังผ่าตัดหัวใจคนไข้แล้วเกิดเหตุเกินควบคุมจวนเจียนที่คนไข้จะตายแล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมาเหงื่อแตกพลั่ก นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำสมัยยังอยู่ในวัยทำงาน พอผมป่วยและเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตใหม่ หันมาจัดการความเครียดโดยทำ meditation เป็นเรื่องหลัก ก็พบว่าความฝันของผมลดลง และเนื้อหาของความฝันก็เปลี่ยนไป คือฝันร้ายๆไม่มีแล้ว มีแต่ฝันธรรมดา สบายๆ และยิ่งไปกว่านั้น ตอนหลังๆนี้ผมพบว่าในฝันนั้นผมกำกับความฝันของผมได้ด้วย หมายความว่าในฝันนั้นผมมีสติอยู่ด้วย เออ แปลกไหมละ แต่มันเป็นอย่างนี้จริงๆ สรุปว่าประเด็นฝึกสมาธิแล้วฝันน้อย ฝันดี ฝันแบบมีสติ นี่เป็นเรื่องประสบการณ์ของคนที่ฝึกสมาธิมาคนหนึ่ง ไม่เกี่ยวอะไรกับว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์ และไม่เกี่ยวอะไรกับภูมิคุ้มกันโรค

   
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์