Latest

ยุทธศาสตร์ชาติสู้โควิด19 หลังปลดล็อคดาวน์

     ยุทธการล็อคดาวน์ของประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการควบคุมโรคโควิด19 สามารถดึงให้การติดเชื้อใหม่ลดลงจนใกล้ศูนย์ได้ แต่…

     ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการล็อคดาวน์ มีประเทศที่ประสบความสำเร็จแบบเดียวกันมาก่อนซึ่งถือว่าเป็นรุ่นพี่หลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน แต่ว่า ณ วันนี้ประเทศรุ่นพี่เหล่านั้นกำลังหน้ามืดกลับไปล็อคดาวน์ใหม่เพราะการระบาดระลอกตามหรือการระบาดตบ..ูด ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีอีกกี่ระลอก แบบว่าเปลี่ยนไฟแดงเป็นไฟเขียวแล้ว ก็ต้องรีบตาลีตาเหลือกมาเปิดไฟแดงใหม่

     การกำหนดยุทธศาสตร์ขั้นต่อจากนี้ไป หากจะไม่ให้เสียรูปมวยซ้ำรอยอย่างประเทศผู้ประสบความสำเร็จรุ่นพี่ๆ ลองมาศึกษาประวัติศาสตร์การระบาดไข้หวัดใหญ่สเปญของประเทศสหรัฐซึ่งมีการบันทึกข้อมูลไว้ดีที่สุด ผมจะเล่าเหตุการณ์แบบเรียงตาม วัน ว. เวลา น. ตามที่ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) ทำเป็นปฏิทินไว้ให้ฟังนะ

เดือนที่ 1. (เมย. 1918)

     มีรายงานสาธารณสุขว่ามีไข้หว้ดใหญ่ระบาดที่ค่ายทหาร Haskell, Kansas ยังผลให้มีทหารป่วยหนัก 18 นาย ตาย 3 นาย

เดือนที่ 2. (พค. 1918)

     สหรัฐเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1. ส่งทหารหลายแสนคนขึ้นเรือเดินทางไปยุโรป

     ที่แค้มป์ Funston, Kansas ยังมีทหารป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่มากกว่า 100 นาย และภายในสัปดาห์เดียวเพิ่มเป็นมากกว่า 400 นาย แล้วต่อมาก็ปรากฎมีคนป่วยไข้หวัดใหญ่กระจายไปที่นี่ที่นั่นทั่วสหรัฐ ยุโรป และบางส่วนของเอเซียในระยะ 6 เดือนต่อมา แล้วก็ทำท่าซาไป อัตราตายไม่มากและไม่มีสถิติที่แท้จริง

เดือนที่ 6 (กย. 1918)

     การระบาดไข้หวัดใหญ่ รอบที่สอง เริ่มที่ค่าย Devens, Boston เดือนเดียวป่วย 14,000 คน ตาย 700 คน แล้วกระจายไปทั่วสหรัฐ จำเวลาตรงนี้ไว้นะ การระบาดรอบสอง เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่ 6 นับจากเริ่มรอบแรกแล้วก็ก่อให้เกิดการตายหลายแสนคนในหลายเดือนต่อมา หากเทียบรอบแรกเป็นการเผาหลอก รอบสองก็เป็นการเผาจริง อัตราตายจริงประมาณ 5% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราตายของโควิด19 ตายกันรวมทั้งสหรัฐประมาณห้าแสนคนขึ้นไป

เดือนที่ 7. (ตค. 1918) 

     เดือนนี้เดือนเดียวมีคนตายจากไข้หวัดใหญ่ระบาดรอบสอง 195,000 คน
เกิดการขาดแคลนพยาบาลทั่วประเทศ ต้องระดมอาสาสมัครมาทำงานแทนพยาบาล ที่ฟิลาเดลเฟีย ศพ 500 ศพต้องกองรอคิวฝังนานเกินสัปดาห์
มีการปิดโรงหนัง โรงเรียน ห้ามการชุมนุมสาธารณะ บังคับให้สวมมาสก์เมื่อออกนอกบ้าน

เดือนที่ 8 (พย. 1918)

     สงครามโลกครั้งที่ 1 สงบ มีงานฉลองชัยและทหารทยอยกลับบ้าน สงครามทำให้จำนวนทหารเพิ่มจาก 378,000 คน เป็น 4.7 ล้านคน การระบาดยังคงอยู่ จนบางเมืองต้องขึ้นป้ายกักกันห้ามคนป่วยออกจากบ้าน

เดือนที่ 9 (ธค. 1918)

     กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้เรื่องอันตรายของการไอ จาม และสั่งน้ำมูกโดยไม่ระวัง
โรงงานได้รับการร้องขอให้ปรับเวลาทำงานเพื่อเอื้อให้คนเดินไปทำงานแทนการขึ้นรถขนส่งมวลชน

เดือนที่ 10 (มค. 1919)

     การระบาด รอบที่สาม เกิดขึ้นในฤดูหนาวต่อฤดูใบไม้ผลิ ทำให้มีคนตายอีกจำนวนมาก
ที่ซานฟรานซิสโก ในห้าวันแรกของเดือนมีคนป่วย 1,800 คน ตาย 101 คน จำตรงนี้ไว้อีกหน่อยนะ การระบาดรอบสามเกินเกือบหนึ่งปีหลังรอบแรก และตายไม่มากเท่ารอบสอง แต่ก็มากพอดู
ที่นิวยอร์คมีคนป่วย 706 คน ตาย 67 คน
ที่ซานอันโตนิโอ ประชาชนร้องเรียนว่ามีการระบาดแล้วไม่บอกกัน ทำให้มีการระบาดซ้ำซากเบิ้ลอีกหลายรอบ แล้วโรคก็ค่อยๆสงบลงเมื่อเข้าฤดูร้อน

เดือนที่ 11 (กพ. 1919)

ที่นิวออร์ลีนเคสป่วยลดลงจนเป็นศูนย์ และในเดือนนี้รัฐได้ออกกฎหมายหลักสูตรผลิตผู้ช่วยพยาบาล (PN) ซึ่งใช้เวลาเรียนหนึ่งปี

เดือนที่ 12 (เมย.1919)

     ประธานาธิบดีวู้ดโรวิลสันเป็นลมล้มพับลงขณะประชุมสงบศึกกับผู้นำโลกที่แวร์ซาย นักประวัติศาสตร์คาดเดาว่าประธานาธิบดีไปติดไข้หวัดใหญ่ซึ่งแม้จะสงบในอเมริกาแล้ว แต่ยังระบาดรอบหลังๆอยู่อย่างครึกโครมในกรุงปารีส จำตรงนี้ไว้อีกหน่อยนะ ว่าในประเทศเราสงบดีแล้ว ผ่านไปแล้วตั้งหนึ่งปี เราสงบแต่ประเทศอื่นเขายังไม่สงบเราก็โดนอีกจนได้

     อ่านมาถึงตอนนี้บางคนมองอนาคตแล้วอาจอดคิดอิจฉาบางประเทศในยุโรปที่ใช้ยุทธศาสตร์ unmitigated หรือ “ปล่อยไปตามกรรม” ไม่ได้ ผมมีน้องที่เป็นหมออยู่ที่ประเทศหนึ่ง (ขอไม่เอ่ยชื่อประเทศ) เล่าว่าเวลามีคนป่วยในเนอร์ซิ่งโฮมเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะมาแนะนำว่าการเข้าโรงพยาบาลใช้เครื่องช่วยหายใจจะไม่ได้ตายแบบสงบกับญาติๆนะ ผู้สูงอายุที่ป่วยก็เซ็นสมัครใจไม่เข้ารพ. แล้วก็ตายในเนอร์สซิ่งโฮม ไม่มีการตรวจโควิด19 ไม่มีการนับยอด เพราะการตายในเนอร์สซิ่งโฮมถือเป็นการตายตามธรรมชาติที่บ้าน ไม่ใช่การป่วยตายที่รพ. ไม่ต้องนับยอด ตามท้องถนนไม่มีการสวมหน้ากาก ไม่มีการกักกัน แค่จัดระบบสัปปะเหร่อและการเผาศพให้ดีมีประสิทธิภาพไม่ประเจิดประเจ้อ ทุกอย่างก็ดำเนินมาด้วยดี เขาทำอย่างนี้เรื่อยมา และจะทำอย่างนี้เรื่อยไป โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น

     กลับมาคุยกันเรื่องของเราดีกว่า เราล็อคดาวน์และประสบความสำเร็จเป็นอันดี แต่การล็อคดาวน์ก็เหมือนล็อคคอ มันไม่ใช่ชีวิตปกติ ล็อคแล้วก็ต้องปลดล็อค แต่ครั้นจะเปลี่ยนไฟแดงเป็นไฟเขียวทันทีอย่างประเทศผู้ประสบความสำเร็จรุ่นพี่เขา เดี๋ยวก็ต้องแจ้นกลับมาเปิดไฟแดงใหม่ แล้วจะให้ทำอย่างไรดี

     ที่หวู่ฮั่นใช้ยุทธศาสตร์ไฟแดงสลับไฟเขียว คือเปิดไฟแดงล็อคดาวน์ใหม่แล้วสะแกนทุกตารางนิ้ว ดูทุกคนทุกวันสิบกว่าล้านคนว่าใครมีไข้มีไอหรือไปไหนมาไหนบ้าง เขากะว่าใช้เวลาสักสิบวันก็จะกลับมาเปิดไฟเขียวใหม่ได้ แต่เขาทำได้เพราะเขามีแอ๊พมือถือ We Chat ที่บังคับให้ประชาชนทุกคนลงข้อมูลเรื่องไข้ อาการไอ และการไปไหนมาไหนได้ทุกวัน เราไม่มีแอ๊พแบบนั้น ผมเคยเสนอให้ทำแอ็พไปที่กระทรวงหนึ่งท่านก็บอกว่ากำลังทำอยู่ ทำอยู่ (แล้วก็ยังทำอยู่ หิ..หิ) ดังนั้นอย่าไปขี้ตามช้างเลย เพราะถ้าไม่มีแอ็พเราทำอย่างจีนเขาไม่ได้หรอก

   ถึงทำอย่างจีนไม่ได้ผมก็ไม่เสียใจ เพราะผมคิดว่าวิธีของจีนไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด วิธีของจีนเป็นวิธีที่เทเดิมพันไปทางข้างว่าจะต้องมีวัคซีนมาใช้ในสองปีนี้แน่นอน แต่ถ้าการคิดค้นวัคซีนไม่สำเร็จละ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เพราะโรคไวรัสบางโรคเช่นเอดส์หรือไข้เลือดออกผ่านไปหลายสิบปีแล้วก็ยังไม่มีวัคซีนเลย ถ้าไม่มีวัคซีนโควิด19 ก็เท่ากับว่าต้องเปิดไฟแดงสลับไฟเขียวไปอีกนานไม่รู้กี่ปีนะครับ

     ผมเสนอวิธีที่ผมมั่นใจว่ารอบคอบกว่า คือใช้ยุทธศาสตร์ไฟเหลือง ผมหมายถึงการยั้งโรค (mitigation) ซี่งมันไม่ใช่การเปิดไฟแดงสลับกับไฟเขียวนะ แต่มันเป็นการเปิดไฟเหลือง หมายความว่าเราจะเปลี่ยนแนวทางจากการไล่บี้ให้โรคสงบเหลือใกล้ศูนย์ มาปล่อยให้โรคขยายตัวออกไปในขนาดที่ระบบการรักษาพยาบาลของเราพอรับมือได้ อาจจะทำเป็นสองขั้นก็ได้ ขั้นแรกคือเปิดแต่ในประเทศ ปิดส่วนต่างประเทศ คัดกรองตรวจตราเฉพาะคนเข้าประเทศ ส่วนภายในนั้นเปิดเมืองให้ผู้คนเดินทางทำมาค้าขายให้เด็กไปโรงเรียนได้ตามปกติ ยกเลิกการตรวจค้นหาโรค ใครป่วยเป็นโควิด19 มาก็รักษากันแบบไข้หวัดใหญ่นอนในวอร์ดปกติ มาตรการ social distancing และการสวมหน้ากากก็ลดลงเป็นระดับทำตามความสมัครใจ แค่เฝ้าระวังจับตาดูอัตราการใช้เตียงในรพ.และไอซียู.ทั่วประเทศ ถ้าเตียงมันว่างๆอยู่ก็ปิดไฟเหลืองเสียเลยก็ยังได้ ถ้าคนไข้ทำท่าจะล้นเตียงโรงพยาบาลก็เปิดไฟเหลืองใหม่ เรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ไฟเหลืองแบบปิดๆเปิดๆ ถ้ามีวัคซีนมาก็จบ แต่หากไม่มีวัคซีนมาก็เปิดๆปิดๆไปจนคนครึ่งประเทศได้สัมผัสกับโรค ถึงตอนนั้นเราก็เปิดประเทศอ้าซ่าได้อีกครั้งไม่ว่าที่ต่างประเทศโรคจะยังระบาดครึกโครมอย่างไรก็ไม่สนแล้ว เพราะเมื่อคนครึ่งประเทศไทยได้สัมผัสกับโรคแล้ว การระบาดในประเทศไทยหลังจากนั้นจะเป็นขาลงโดยธรรมชาติ ไม่ต้องเฝ้าระวังตั้งด่านอะไรกันอีกต่อไป

     ห่วงก็แต่ว่าเศรษฐกิจการค้าขายของเราเคยแต่อยู่กับไฟเขียว ไม่เคยอยู่กับไฟเหลือง แถมยังจะเป็นไฟเหลืองแบบติดๆดับๆนานเป็นปีหรือหลายปีอีกต่างหาก นั่นเป็นเหตุให้ผมเขียนบทความนี้ ว่าถ้าเราจำเป็นต้องมีชีวิตทำมาค้าขายอยู่กับระบบจราจรแบบเปิดไฟเหลืองชนิดเปิดๆปิดๆ ติดๆ ดับๆ เราจะทำมาค้าขายกันอย่างไร ไม่ต้องดูอะไรไกลหรอก ดูอย่างเวลเนสวีแคร์ของผมนี่ก็ได้มันเป็นทั้งร้านอาหาร โรงเรียน โรงแรม และสปาเพื่อสุขภาพ ถ้าไอ้นั่นติด ไอ้นี่ดับ ไอ้โน่นเปิดได้ ไอ้นี่ต้องปิด แล้วจะให้ผมทำไง ผมยอมรับว่านี่มันเป็นเวลาที่ผมจะต้องคิดล่วงหน้า เพราะตราบใดที่ผมยังรับผิดชอบเลี้ยงดูลูกน้องอยู่ ถ้าไม่คิดแล้วผมจะเอาอะไรมายาไส้ให้ลูกน้องและครอบครัวของพวกเขาละครับ ผมเชื่อว่าหลายท่านที่เป็นนายจ้างก็หัวอกเดียวกับผม ผมจึงเขียนบทความนี้ให้ทุกท่านที่ต้องทำมาหากินเลี้ยงลูกน้องคิดไว้ล่วงหน้าสักหน่อย

     และถ้าเผื่อท่านใดคิดได้มุขดีๆก็ช่วยบอกผมเอาบุญด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์