ปรึกษาหมอ

การหลั่ง Growth Hormone กับเวลาเข้านอนของเด็ก

Your Name: …
Phone Number: …
Your Question: รบกวนสอบถามอาจารย์เรื่อง ความสัมพันธ์ของเวลา กับ การหลั่ง growth hormone ค่ะ  ถูกสอนมาตลอดว่าให้เด็กนอนหลับลึกและยาวโดยเริ่มนอนไม่เกิน4ทุ่ม เพื่อให้หลั่งgrowth hormone เพิ่มความสูง แต่มีคำถามสงสัยนิดนึงค่ะ
1. ถ้าหลับลึกและนานเท่ากัน แต่เริ่มดึกเช่นหลังเที่ยงคืน แต่สม่ำเสมอเหมือนเดิมตลอด จะหลั่งฮอร์โมนน้อยกว่าหรือคะ
2. ถ้ามีการย้ายประเทศเป็นพักๆตลอด เพราะต้องตามพ่อแม่ไป อยู่คนละซีกโลก อย่างนั้นฮอร์โมนจะหลั่งตามช่วงเาลาไหนคะ หรือเปลี่ยนไปมาคะ
3. ถ้าการหลั่ง growth hormone ขึ้นกับแสงแดดและ Melatonin แล้วคนที่อยู่ประเทศที่มีช่วง seasons ที่สว่างตลอดแบบที่เที่ยงคืนก็ยังมีดวงอาทิตย์ หรือประเทศที่มีช่วงเวลาที่หลายเดือนแทบไม่มีแดดเลยอึมครึม หิมะตกตลอด การหลั่งฮอร์โมนจะเป็นอย่างไรคะ
สงสัยมากจริงๆค่ะ ตอบคำถามคุณพ่อคุณแม่เด็กได้ไม่เคลียร์เลยค่ะ
ขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้าค่ะ
พญ. …

……………………………………..

ตอบครับ

     ท่าทางคุณหมอคงจะเป็นกุมารแพทย์

     1. ถามว่าการได้นอนหลับนานเท่ากัน แต่เข้านอนดึกเร็วหรือช้ากว่ากัน การหลั่งโกรทฮอร์โมนจะต่างกันไหม ตอบว่าไม่มีใครทราบจริงๆหรอกครับ ได้แต่เดากันไปตามใจชอบ ข้อมูลของจริงมีแค่งานวิจัยเล็กๆชิ้นหนึ่งเป็นการวิจัยในคนทำงานเป็นกะ คือกว่าจะได้เข้านอนก็ 7.00 น. ไปตื่นเอา 15.00 น. แล้วพบว่าปริมาณโกรทฮอร์โมนที่หลั่งออกมาขณะหลับครั้งใหญ่ตอนกลางวันนั้นลดลงเมื่อเทียบกับการหลับครั้งใหญ่ตอนกลางคืน แต่ร่างกายก็หลั่งชดเชยนอกช่วงเวลาหลับครั้งใหญ่ได้ โหลงโจ้งแล้วนับรวมทั้งวันก็ได้ฮอร์โมนใกล้เคียงปกติ เพราะอย่าลืมว่ากลไกปล่อยโกรทฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งเกิดขณะตื่นนะ คือการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายหนักๆ การนอนหลับกับการออกกำลังกายหนักจึงเป็นสองศรีพี่น้องที่คอยช่วยกันปล่อยโกรทฮอร์โมนให้พอใช้

     อีกประเด็นหนึ่งคือผลของการหลับๆตื่นๆหรือหลับไม่ต่อเนื่องต่อการหลั่งโกรทฮอร์โมน อันนี้มันมาจากงานวิจัยในคนผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรังแล้วพบว่าคนที่มีโกรทฮอร์โมนต่ำสุดคือคนที่นอนไม่หลับหรือหลับๆตื่นๆมากที่สุด

     อีกงานวิจัยหนึ่งทดลองให้ผู้ป่วยอยากหลับเมื่อไหร่ก็หลับเอาตามใจชอบไม่ต้องมีเวล่ำเวลากันละ เรียกว่างานวิจัยการหลับเสรี (free sleep) พบว่าการหลับแบบนี้ร่างกายหลั่งโกรทฮอร์โมนน้อยกว่าการหลับเป็นเวลาตอนกลางคืน ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโกรทฮอร์โมนกับการนอนหลับเราก็มีอยู่แค่นี้

     2. ถามว่าถ้ามีการย้ายประเทศเป็นพักๆตลอด ฮอร์โมนจะจับยามหลั่งตามช่วงเวลาไหน ฮี่..ฮี่ ตอบว่าไม่เคยมีงานวิจัยผลกระทบของการย้ายประเทศต่อการหลั่งโกรทฮอร์โมนเลยครับ และผมเชื่อว่าจะไม่มีงานวิจัยเรื่องนี้ไปอีกตลอดอายุขัยของหมอสันต์ เพราะมันทำยากมากหรือทำไม่ได้เลย จึงไม่มีใครจะตอบคำถามนี้ให้คุณหมอได้

    3. ถามว่าถ้าการหลั่งโกรทฮอร์โมนขึ้นกันแสงแดดและเมลาโทนิน แล้วคนที่อยู่ประเทศที่ดวงอาทิตย์ไม่ยอมตกหรือไม่มีแดดเลยจะหลั่งโกรทฮอร์โมนกันอย่างไร ตอบว่าผมไม่รู้ว่าร่างกายจะหลั่งอย่างไร รู้แต่ว่ามีงานวิจัยที่สรุปผลได้ว่าหน้าร้อนแดดแยะเด็กๆโตเร็วกว่าหน้าหนาวแดดน้อย ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยตะหงิดๆว่าแล้วในประเทศไทยซึ่งแดดแยะตลอดศกนั้นทำไมเด็กเป็นแคระไม่โตสักที ตอบว่าเพราะมันมีความจริงอีกอันหนึ่งซึ่งเราทราบจากงานวิจัยหลายชิ้นแต่เราอธิบายไม่ได้ คือยิ่งคนอยู่ห่างไกลเส้นศูนย์สูตรซึ่งมีแสงแดดแบบเอียงๆมากเท่าไหร่ยิ่งมีร่างกายสูงใหญ่มากขึ้นเท่านั้น แล้วเมื่อวิเคราะห์ผู้คนที่อยู่ห่างเส้นศูนย์สูตรไม่เท่ากันก็พบว่ามีพันธุกรรมไม่เหมือนกัน ดังนั้นมีผู้เล่นสามตัวแล้วนะ คือ (1) แสงแดด (2) ความเอียงของแสงแดด และ (3) พันธุกรรม สามผู้เล่นนี้ผลัดกันเล่นอย่างไรยังไม่มีใครทราบดอก

     ผมตอบคำถามคุณหมอหมดแล้วนะ หิ หิ คำถามของคุณหมอตอบง่ายมาก เพราะมีคำตอบให้คำตอบเดียวคือ “ไม่รู้”

     แต่ไหนๆคุณหมอก็ถามมาแล้ว พูดถึงเรื่องโกรทฮอร์โมนสำหรับคนทั่วไปเสียหน่อยก็ดี การขาดโกรทฮอร์โมนในผู้ใหญ่ถือเป็นโรค ซึ่งทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง กระดูกบางลง ผมบางลง

     การทดแทนโกรทฮอร์โมนต้องใช้วิธีฉีดเท่านั้น เป็นวิธีรักษาที่กฎหมายจำกัดให้ใช้แต่ในคนที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นโรคขาดโกรทฮอร์โมนซึ่งนอกจากจะมีอาการขาดฮอร์โมนคือกล้ามเนื้อลีบ เปลี้ย ลงพุง ผิวบาง นอนไม่หลับแล้ว ยังต้องพิสูจน์ด้วยการเจาะเลือดดูระดับฮอร์โมนด้วย ดังนั้นการฉีดโกรทฮอร์โมนเพื่อให้กล้ามใหญ่ในคนแก่หรือโด้ปนักกีฬาที่ระดับฮอร์โมนปกติอยู่ก็ดี หรือเพื่อเพิ่มความสูงในเด็กที่โกรทฮอร์โมนปกติอยู่ก็ดี เป็นการใช้โกรทฮอร์โมนนอกเหนือจากที่หลักวิชาแพทย์พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์คุ้มค่าจริง เพราะการฉีดเองก็มีผลข้างเคียงเช่น บวม ปวดข้อ เพิ่มความเสี่ยงเบาหวาน ความดัน กระดูกพรุน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

     สิ่งที่มีประโยชน์แน่นอนกว่าคือทำอย่างไรร่างกายจึงจะมีโกรทฮอร์โมนปกติโดยวิธีธรรมชาติ เท่าที่มีผลวิจัยแบ้คอัพแน่นชัดแล้วได้แก่

     1. นอนหลับให้พอและนอนหลับอย่างมีคุณภาพดีทุกคืน ควรขยันออกแดดเพราะแสงแดดช่วยให้นอนหลับดีขึ้น ควรปฏิบัติตามสุขศาสตร์ของการนอนหลับ อย่าไปกินหรือดื่มสารกระตุ้นในภาคบ่ายหรือเมื่อใกล้เวลาเข้านอน เข้านอนตรงเวลา เตรียมตัวเตรียมใจให้ผ่อนคลายก่อนเข้านอน งดกินอะไรสามชั่วโมงก่อนเข้านอน จัดห้องนอนให้มืด เงียบ เย็น ทำสมาธิวางความคิดให้หมดก่อนล้มตัวลงนอน ให้ร่างกายได้นอนหลับจากระยะตื้นไประยะลึกเป็นรอบๆของมันตามธรรมชาติ

     2. กินอาหารที่มีปริมาณแคลอรีพอดีไม่มากเกินไป งานวิจัยหนึ่งพบว่าหากอาหารมีแคลอรีมากเกินร่างกายต้องการมันจะกดการหลั่งโกรทฮอร์โมน หากอยากกินจนอิ่มพุงกางก็ให้เน้นอาหารแคลอรีต่ำเช่นพืชผักผลไม้ต่างๆ หลีกเลี่ยงอาหารแคลอรีสูงเช่นไขมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวมีผลเสียต่อร่างกายด้านอื่นๆด้วย

     3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เน้นการออกกำลังกายให้หนัก ย้ำ..เน้นที่หนักๆ ทั้งแบบแอโรบิกและแบบเล่นกล้าม

     4. ถ้าสูบบุหรี่อยู่ให้เลิก เพราะแม้บุหรี่จะเพิ่มโกรทฮอร์โมนในระยะแรกแต่งานวิจัยพบว่าการสูบบุหรี่ต่อเนื่องยาวนานจะมีผลลดการหลั่งโกรทฮอร์โมนลงต่ำกว่าปกติ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์