Latest

(เรื่องไร้สาระ11) โปรเจ็คมิยาวากิเขาใหญ่

     หลายวันมาแล้ว มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งมาหาด้วยเรื่องอื่น ผมนั่งคุยกับเธอยี่สิบนาที เธอเป็น serious lady ผมขอตั้งนิคเนมให้เธอว่าคุณหญิงจริงจังก็แล้วกันนะ ผมขอเล่าถึงตอนหนึ่งของการสนทนา  
คุณหญิงจริงจัง
      “คุณหมอคิดว่าอนาคตของมนุษย์ จะเป็นอย่างไร” 
หมอสันต์
      “ถ้าไม่มีการร่วมกันทำอะไรในระดับโลก ราวไม่เกินสามสิบปีนี้ จะมีการลดจำนวนของมนุษย์ลงครั้งใหญ่ มนุษย์ในโลกนี้จะหายไปสัก 50% ละกระมัง”
คุณหญิงจริงจัง
     “คุณหมอเห็นหรือ”
หมอสันต์
     “เปล่า ผมเดาเอา หิ หิ
     
     มันจะไปยากอะไรในการเดา ทุกวันนี้จำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นจึงจุดที่สัตว์และพืชอื่นๆลดจำนวนสูญพันธ์ลงอย่างรวดเร็ว ตามการประเมินของ WWF ในห้าสิบปีหลังมานี้พืชและสัตว์อื่นสูญพันธ์ไปแล้วประมาณ 67% คุณก็รู้นี่ว่าชีวิตต่างๆมันเกื้อหนุนกันอยู่อย่างไร เมื่อพืชและสัตว์อื่นๆสูญพันธ์ถึงจุดหนึ่งเพราะจำนวนมนุษย์มีมากเกินไป กลไกธรรมชาติก็จะลดจำนวนมนุษย์ลงเพื่อสร้างดุลยภาพขึ้นมาใหม่ จะเป็นโรคระบาด น้ำท่วมโลก หรือสงครามล้างโลก ผมไม่รู้ รู้แต่ว่าจำนวนมนุษย์ต้องถูกทอนให้เหลือน้อยลงสักครึ่งของปัจจุบัน อาจจะเป็นโรคระบาดก็ได้ เพราะเมื่อไม่มีสัตว์อื่นๆให้สิงอยู่ เหลือแต่คนเต็มไปหมด พวกไวรัสที่เคยอยู่ในสัตว์ก็จะทะยอยมาหาคนเป็นระลอกๆ” 
คุณหญิงจริงจัง
     “แล้วทำไมถึงภายใน 30 ปี”
หมอสันต์
     “ผมเดาจากตัวเลขของ UN ในปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มจากตอนนี้ 7,000 กว่าล้านคน เป็นราว 10,000 ล้านคน อย่าลืมว่าย้อนหลังไปแค่ 200 ปีมานี่เองทั้งโลกนี้มีคนแค่ 1,000 ล้านนะ นี่จะเป็นตั้งหมื่นล้าน ถึงตอนนั้นโลกแตกแน่นอน เพราะทรัพยาการพื้นฐานเช่นน้ำจืดสำหรับดื่ม อากาศหายใจ พืชและสัตว์ที่จะนำมาเป็นอาหารเลี้ยงมนุษย์มันไม่พอเลี้ยงแหงๆอยู่แล้ว ขนาดทุกวันนี้ เท่าที่ผมเคยเดินทางไปทำงานตามประเทศต่างๆโดยเฉพาะเช่น ปากีสถาน อินเดีย บังคลาเทศ ผมรู้สึกว่าความหนาแน่นของประชากรมันปริ่มๆจะถึงจุดระเบิดอยู่แล้ว และเพื่อนที่อินเดียบอกว่าตอนนี้น้ำจืดใต้ดินก็ลดระดับลงไปจากห้าหกฟุตไปอยู่ลึกถึงสี่ร้อยฟุตโน่นเชียว อีกไม่นานก็คงหมด แล้วเมื่อมนุษย์อยู่ที่หนึ่งไม่ได้ก็จะกลายเป็นคลื่นมนุษย์หนีตายไหลบ่าไปยังที่อื่นๆอย่างไม่มีอะไรหยุดยั้งได้ เส้นแบ่งประเทศไม่มีความหมาย ตอนนั้นแหละ..โลกแตก”
คุณหญิงจริงจัง
     “เมื่อตะกี้หมอบอกว่าถ้าไม่มีการทำอะไรร่วมกันในระดับโลก คุณหมอหมายถึงทำอะไรหรือ จึงจะเปลี่ยนสถานะการณ์นี้ได้”

หมอสันต์
     “ต้องทำอย่างน้อยสองอย่าง คือ หนึ่ง ต้องปลูกป่ากลับคืนมาอย่างน้อยสัก 30% ของพื้นที่ป่าเดิมที่หายไปละมัง และ สอง ต้องเบรคการเพิ่มจำนวนประชากรมนุษย์ให้ได้ 
     การปลูกป่าจำเป็น เพราะเมื่อพืชพันธ์กลับคืนมา พวกสัตว์เล็กสัตว์น้อยก็มีที่อาศัย ความหลากหลายทางชีวภาพก็จะกลับมา ห่วงโซ่อาหารก็จะกลับมาหมุนเวียนพอให้เลี้ยงดูกันไปได้ใหม่”
คุณหญิงจริงจัง
     “หมอว่าจะทำได้ไหม”
หมอสันต์
     “ได้สิ ใจของมนุษย์นี้จะทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น จะทำให้โลกแตกก็ได้ จะทำให้โลกร้ายๆนี้กลับดีก็ได้ แต่ไม่ว่าโลกนี้จะจบลงอย่างไร มันก็เป็นผลงานร่วมกันของมนุษย์โลกทุกคน พวกเราได้ช่วยกันขย่มโลกจนมาถึงจุดนี้ด้วยฝีมือเราเอง จะไปโทษใครไม่ได้ “
     การคุยกันวันนั้นเป็นแค่คุยกันทีเล่นทีจริงแบบปากพาไป ไม่ได้มีความตั้งใจอะไรแฝงอยู่เลย แต่หลังจากนั้นไม่นาน อยู่ๆ ก็มีความคิดขึ้นมาในหัวว่า เออ ยังมีเรี่ยวมีแรงอยู่ ก่อนตายนี้ทำไมไม่ปลูกป่าอีกสักหน่อย เพราะที่ดินเปล่าๆผมก็ยังมีอยู่บ้าง แค่ผมปลูกป่าขึ้นในที่ดินของผมเสียให้หมด มันก็ได้ต้นไม้หลายอยู่ แล้วหากมันกลายเป็นแฟชั่น ถ้าคนที่มีที่ดินเฮโลปลูกป่ากันหมด มันก็ดีนะ
 
     แล้วความคิดก็ย้อนไปถึงเมื่อนานมาแล้วซึ่งเพื่อนชาวอังกฤษคนหนึ่งเล่าถึงคนญี่ปุ่นชื่อมิยาวากิ หมอนี่เป็นคนคิดวิธีปลูกป่าแบบปลูกแน่นเอี้ยดกว่าปกติสามสิบเท่า คือหนึ่งตารางเมตรปลูกไม้ยืนต้นเข้าไป 3-5 ต้น วิธีการหลักของเขาคือขุดดินลงไป (ด้วยรถแบคโฮ) ลึกเป็นเมตร เอาขอนไม้ผุๆเก่าๆลงรองพื้น ใส่ใบไม้กิ่งไม้ปุ๋ยหมักและดินหมักปุ๋ยให้เต็มหลุมแล้วค่อยลงกล้าไม้ห้าต้นต่อตารางเมตร จะได้ป่าที่แน่นมากและมีสัตว์ป่าโดยเฉพาะนกต่างๆอุดมในเวลาอันสั้นแค่สองสามปี ผมจึงไปค้นเน็ทดูวิธีของมิยาวากิ แล้วก็เกิดความบันดาลใจที่จะสร้างป่าแบบนั้นขึ้นบ้าง ไม่ได้จะปลูกไว้เพื่อให้ใครเอาไปทำอะไรหรอก แค่ปลูกให้โลกมันเขียวขึ้น ให้นกกาและสัตว์เล็กสัตว์น้อยเช่นสัตว์เลื้อยคลานไส้เดือนมีที่อยู่มากขึ้น หวังแค่นั้น 
     คิดแล้วก็ลงมือวางแผนเลย ผมมีที่ว่างแปลงหนึ่งที่เขาใหญ่ประมาณสิบไร่ หรือ 16,000 ตรม. ผมจินตนาการถึงป่าไม้ที่มีต้นไม้เบียดเสียดสูงใหญ่ มีทางเดินวกวนอยู่ข้างล่างตามแนวระดับ หากออกแบบให้ดีก็จะได้ทางเดินในป่าขนาดกว้าง 2.5 เมตร ที่คนและจักรยานจะเข้าไปเที่ยวป่าร่วมกันได้ยาวถึงราว 3 กม. เฉพาะพื้นที่ปลูกต้นไม้ได้ก็จะมีประมาณ 8,000 ตรม. ถ้าปลูก 4 ต้นต่อตรม.ตามแบบมิยาวากิก็จะใช้กล้าไม้ราว 30,000 ต้น 
     กล้าไม้ก็คงต้องเอาแบบผสมป่าหลายแบบ เพราะหลักการมิยาวากิคือปลูกแต่พืชท้องถิ่นเท่านั้น ที่เขาใหญ่นี้กำเนิดของเขาจริงๆเป็นป่าดิบชื้น แล้วค่อยๆกลายเป็นป่าดิบแล้ง แล้วต่อมากลายเป็นป่าเบญจพรรณ ก่อนที่จะกลายมาเป็นไร่มันสัมปะหลังหัวโล้นอยู่ในมือหมอสันต์ดังทุกวันนี้ ดังนั้นก็ต้องปลูกทั้งไม้ป่าดิบชื้นอย่างยางนา  ตะเคียน กะบาก อบเชย จำปาป่า ส่วนไม้ชั้นรอง คือ  พวกไม้กอ  เช่น  กอน้ำ  กอเดือย และไม้ชั้นล่างจะเป็นพวกปาล์ม ไผ่ ระกำ หวาย บุกขอน เฟิร์น มอส กล้วยไม้ป่าและ เถาวัลย์ชนิดต่างๆ ควบไปกับไม้ป่าดิบแล้ง อย่าง มะค่าโมง  กระเบากลัก ตาเสือ และไม้ป่าเบญจพรรณ อย่าง สัก  ประดู่ ไม้แดง  พยุง ชิงชัน พี้จั่น ตะแบก  เสลา  อ้อยช้าง  ส้าน  ยม  หอม  ยมหิน  มะเกลือ  สมพง  เก็ดดำ  เก็ดแดง และไม้ไผ่ต่างๆทั้งไผ่ป่า  ไผ่บง  ไผ่ซาง  ไผ่รวก  ไผ่ไร ซึ่งทั้งหมดนี้คงจะต้องเตรียมกล้าล่วงหน้าสักหนึ่งปี
     คราวนี้ก็มาคิดเรื่องการจะให้น้ำช่วงสองสามปีแรกที่กล้าไม้ยังไม่แข็งแรงต้องให้น้ำช่วย ผมมาลองคิดดู ถ้าใช้ปั๊มสองแรงอัดน้ำเข้าท่อประธานขนาด 63 มม. ซึ่งให้อัตราการไหล 16 คิวต่อชม. จ่ายต่อลงท่อสาขาขนาด 32 มม.พร้อมกันทีละสี่ท่อ แต่ละท่อใช้น้ำ 4 คิวต่อชั่วโมง แต่ละท่อนี้จ่ายต่อให้ท่อแขนงย่อยขนาด 16 มม.ได้อีกท่อละ 4 เส้นซึ่งได้น้ำเส้นละ 1 คิวต่อชั่วโมง รวมเป็น 16 เส้น แต่ละเส้นเลี้ยงหัวน้ำหยดได้ 100 หัวต่อเส้นหรือ (10 ลิตรต่อหัวต่อชม.) หรือ 1600 หัวต่อชุด แต่ว่าต้นไม้ที่จะปลูกมีตั้ง 32,000 ต้น ก็ต้องทำชุดแบบนี้ 20 ชุด คือมีวาวล์โซลีนอยด์ 20 ตัว มีศูนย์ควบคุมเวลาแบบคุมได้ 24 จุด 1 ศูนย์ก็จะให้น้ำถึงทุกต้นได้ แต่วิธีนี้ต้องหาที่ตุนน้ำให้พอจ่ายอย่างน้อยสองชั่วโมงคือ 32 คิว ซึ่งต้องเปลืองเงินขุดสระเก็บ แถมยังขัดกับหลักการให้น้ำของมิยาวากิที่จะต้องให้น้ำเลียนแบบน้ำฝนเพราะสิ่งมีชีวิตที่ต้องการน้ำในป่าแบบนี้ไม่ได้มีแต่ระดับใต้ดิน แต่มีหลายระดับตั้งแต่ยอดไม้ลงมาเลย จึงต้องยกเลิกวิธีนี้ไป 
    หันมาพิจารณาวิธีใช้สายยางฉีดน้ำลุ่นๆเลย ตั้งก๊อกติดสายยางยาว 30 ม. รดต้นไม้ได้ 600 ต้น ก็ต้องมีก๊อกแบบนี้ 50  ก๊อก โผล่ตรงเป็นช่วงๆออกจากเมนขนาด 63 มม.ยาว 3 กม.เลาะไปตามทางเดินในป่า ใช้สายยาง 4 หุนเพราะลากง่าย ใช้งบลงทุนน้อยกว่า แต่ต้องจ้างแรงงานคน รดครั้งหนึ่งน่าจะได้ประมาณนาทีละ 5 ต้น คนหนึ่งวันหนึ่งรดได้ได้ราว 2400 ต้น คนงานหนึ่งคนต้องรดนาน 13 วันจึงจะจบหนึ่งรอบ เดือนหนึ่งรดสักสองรอบในหน้าแล้ง เท่ากับว่าจ้างคนงานประจำหนึ่งคนก็น่าจะพอ วิธีนี้น่าจะเวอร์คมากกว่า 
    แล้วก็มาเรื่องการสงวนน้ำฝนไว้บนผิวดินให้นานที่สุด ถ้าจะเอาแบบสูตรคลาสสิกของในหลวง ร.9 ก็ต้องขุดคลองไส้ไก่ หลุมขนมครก และสระเก็บน้ำ แต่ผมลองสูตรคลาสสิกนี้ที่บ้านบนเขาเมื่อปีที่ผ่านมานี้แล้วพบว่าสระเก็บน้ำและหลุมขนมครกมันไม่เวอร์คเพราะปริมาณน้ำฝนมันไม่พอที่จะลงไปอยู่หลุมและสระ แต่คลองไส้ไก่เวอร์คดีเพราะทำให้ดินสองข้างคลองชุ่มขึ้นได้ ที่เขาใหญ่นี้ผมจึงวางแผนว่าจะใช้วิธีขุดคลองไส้ไก่บวกกับปูพรมคลุมพื้นดินด้วยเศษใบไม้เก่าๆและฟางให้หนาเข้าไว้ก็พอแล้ว 
     ทีนี้ก็มาวางแผนผังการปลูก เนื่องจากผมมองไปที่การบำรุงรักษาระยะยาว การทำทางเข้าไปเดินในป่าแน่อนว่าในเวลาไม่ถึงเดือนทางนั้นจะกลายเป็นสุมทุมพุ่มไม้ไป การเอาแรงคนเข้าไปคอยแผ้วทางซึ่งมีความยาวถึง 3 กม.แต่ละครั้งเป็นเรื่องใหญ่ แต่หากวางแผนปลูกให้รถแทรกเตอร์คอยวิ่งตัดหญ้าทางเดินในป่าซึ่งออกแบบให้กว้างเท่าความกว้างของรถแทรกเตอร์พอดีและวิ่งไปทางเดียวยาววนไปวนมาไม่วนกลับม้วนเดียวจบ 3 กม.ก็จะทำให้การบำรุงรักษาทางเดินในป่าง่ายขึ้น ส่วนพื้นที่ปลูกต้นไม้นั้นวิธีของมิยาวากินี้ไม่ต้องบำรุงรักษา ไม่ต้องตัดหญ้า ปล่อยให้ต้นไม้มันแข่งกับหญ้าและแข่งกันอยู่รอดเอง ซึ่งก็ดีเหมือนกัน ส่วนการเตรียมดินปลูกของผมนั้นก็ไม่พิธีอะไร จะทำแค่ขนขี้วัวจากมวกเหล็กไปลงแล้วไถกลบหมักดินไว้สักสามเดือนก็ถือว่าพร้อมที่จะปลูกแล้ว
     ทีนี้ก็มาวางแผนขุดหลุมปลูก ตั้ง 30,000 หลุม หากใช้แรงคนใช้จอบขุดแล้วปลูกแล้วกลบแล้วเหยียบแล้วปักหลักคงไม่ทันกิน ผมจึงยืมเครื่องเจาะหลุมของเพื่อนมาทดสอบที่บ้านบนเขาที่มวกเหล็กปรากฎว่าเจาะแทบตายก็เจาะไม่เข้า ขนาดลุงดอนขึ้นขย่มยังเจาะไม่เข้าเลย เพราะดินเป็นดินลูกรัง แต่ดินที่เขาใหญ่เป็นดินนุ่ม หากใช้เครื่องเจาะในหน้าฝนน่าจะได้อยู่แต่ต้องไปทดลองดูให้แน่ใจก่อน ข้อดีของการใช้เครื่องเจาะหลุมก็คือหากเลือกขนาดสว่านเจาะให้พอดีกว้างกว่าขนาดถุงต้นกล้าเล็กน้อยพอให้หยอดลง ก็ไม่ต้องกลบดินไม่ต้องเหยียบให้แน่ ต้นกล้าจะตั้งตรงได้พอดีไม่ล้มและไม่ต้องใช้หลักผูก
  
     แล้วก็มาวางแผนรวบรวมกล้าไม้ ซึ่งมีเวลาราวแปดเดือน ผมต้องทำเรือนเพาะชำชั่วคราวขึ้นที่มวกเหล็กเพื่อสะสมกล้าไม้ เพราะกล้าไม้จำนวนตั้ง 30,000 ต้นไม่ใช่จำนวนเล็กน้อย หากบรรจุถุงขนาด 6 นิ้ว ก็ต้องใช้เนื้อที่เรือนเพาะชำถึงราว 400 ตรม.ทีเดียว ผมมีเวลาสะสมกล้าไม้ราวแปดเดือน 
     วางแผนแล้วแต่ก็ยังไม่กล้าลงมือ เพราะยังไม่ชัวร์น้ำยาของตัวเองว่าจะปลูกป่าแบบมิยาวากิได้สำเร็จไหม พอดีได้ข่าวว่าปตท.ก็เคยปลูกป่าแบบมิยาวากิในกทม.นี่เองในเนื้อที่ 12 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าจริงๆ 9 ไร่ เพิ่งปลูกมาได้ 4 ปีกว่าๆ อยู่ที่เขตประเวศ  ชื่อศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุงหรืออะไรทำนองนี้แหละ จึงชวนหมอสมวงศ์กับลูกชายไปเที่ยวชม อย่างน้อยก็จะได้ข้อมูลมาวางแผนโปรเจ็คไร้สาระอันใหม่นี้ให้รัดกุมขึ้น 
     ปรากฎว่าการจะเข้าชมป่าในกรุงแห่งนี้ต้องจองคิว มีคนจองคิวรอเข้าชมแยะพอควร กว่าคณะสามพ่อแม่ลูกจะได้คิวก็ต้องกลางเดือนตุลาคม ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอ เอาไว้เมื่อได้ไปชมแล้ว โปรเจ็คไร้สาระที่ 11 “มิยาวากิเขาใหญ่” จะได้เกิด หรือจะตายคลอด จะแจ้งให้ท่านทราบต่อไปนะครับ  
 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์