COVID-19

ส่งท้ายปีเก่า 2020 แต่จะต้อนรับการกลับมาใหม่ของโควิด19 ด้วยไหม

เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ผมได้เขียนถึงตัวเปลี่ยนเกม (Game Changer) ของสถานะการณ์โรคโควิด19 ว่ามีอยู่ 7 ตัว ตัวเบ้งตัวหนึ่งในเจ็ดตัวนั้นก็คืออุณหภูมิและความชื้น เพราะงานวิจัยกับเชื้อไวรัสซาร์สโควี1ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกับซาร์โควี2ที่ทำให้เกิดโรคโควิด19นี้ พบว่ามันทนมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวแห้งนอกร่างกายคนได้นานถึงมากกว่า 5 วันหากอุณหภูมิต่ำอยู่ระหว่าง 22-25 องศาและอากาศแห้งระดับความชื้น 40-50% ซึ่งก็คือบรรยากาศในห้องแอร์ แต่หากอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 38 องศาซี.และความชื้นสูงถึง 95% ขึ้นไปมันจะตายเกือบเกลี้ยง แต่โปรโมชั่นหน้าร้อนที่ผ่านมานึกว่ามันจะพาโควิด19ตายเกลี้ยงแต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ บัดนี้หน้าหนาวได้กลับมาเยือนอีกแล้ว ประเทศที่สำลักโควิดส่วนใหญ่อยู่บนซีกโลกเหนือรวมทั้งไทยเราด้วย วันนี้เรามาประเมินสถานะการณ์โควิด19 กันอีกสักครั้งเพื่อจะได้ทำตัวของเราได้ถูก

สถานะการณ์ของโลก ณ วันนี้

นับถึงวันนี้ โลกนี้ยังอยู่ภายใต้อุ้งบาทาของโควิด 19 อยู่อย่างสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ โดยผมจะแบ่งโลกนี้ได้ออกเป็นสามย่าน หรือสามกลุ่มประเทศ ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก คือ

     1. ประเทศที่เอาโควิด19ไม่อยู่แล้ว เรียกตามการจำแนกขั้นตอนการกระจายโรคว่าอยู่ในขั้นแพร่กระจายในชุมชนแล้ว (community transmission) หากเรียงตามลำดับความสาหัสจากมากไปหาน้อยก็ได้แก่ประเทศ สหรัฐอเมริกา บราซิล ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปญ อาร์เจนตินา โคลัมเบีย เม็กซิโก โปแลนด์ อิหร่าน เปรู ตุรกี ยูเครน อัฟริกาใต้ เบลเยียม อินโดนีเซีย เนเธอร์แลนด์ อิรัค ชิลี เช็ค โรมาเนีย บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ แคนาดา สวิส อิสราเอล ออสเตรีย สวีเดน ฮังการี จอร์แดน เซอร์เบีย เป็นต้น

ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ โอกาสที่จะควบคุมโควิด19 ให้อยู่หมัดในหน้าหนาวนี้นั้นมันช่างริบหรี่เหลือเกิน ทางไปของกลุ่มประเทศเหล่านี้คือใช้ยุทธศาสตร์บรรเทาโรค (mitigation) ไปตามมีตามเกิด ที่ป่วยก็รักษากันไป ที่ตายก็ตายกันไป จนกว่าการฉีดวัคซีนจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งตอนนี้หลายประเทศได้นำวัคซีนลงฉีดแล้วแม้ว่าการวิจัยเฟสสามจะยังไม่เสร็จก็ไม่รอกันแล้ว หากวัคซีนดี การฉีดวัคซีนและผลของวัคซีนจะใช้เวลาจากนี้ไปจนถึงประมาณเดือน สค. 64 ในช่วงเวลานี้โลกในย่านนี้ก็ยังจะมั่วอยู่กับโควิดอยู่ไม่เลิก

     2. ประเทศที่มีโควิด19 เกิดเป็นหย่อมๆ (cluster of cases) หากเรียงตามความรุนแรงจากมากไปหาน้อยก็ได้แก่ อินเดีย รัสเซีย อิตาลี เยอรมัน ปากีสถาน มอร็อคโค โปรตุเกส เนปาล คาซัคสถาน บุลกาเรีย ญี่ปุ่น อาเซอร์ไบจัน อียิปต์ สโลวาเกีย พม่า จีน สโลเวเนีย มาเลเซีย อุซเบกิสถาน อัฟกานิสถาน อัลบาเนีย เกาหลี ศรีลังกา ออสเตรเลีย ไซปรัส มาลดีฟ ไทย นิวซีแลนด์ เวียดนาม มองโกเลีย

ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ยุทธศาสตร์มาตรฐานที่ใช้คือการกดโรค (suppression) คือโผล่มาก็ไล่จับเลยไม่ให้กระจายออกไป ซึ่งได้ผลดีมาก แม้ในประเทศที่โรคแพร่ไปมากอย่างอินเดียก็ยังได้ผลดี คือเริ่มจะเอาโรคอยู่ ถึงติ๊งต่างว่าไม่มีวัคซีนก็ยังมีอนาคตว่าจะเอาโรคอยู่ เกือบทั้งหมดของประเทศในกลุ่มนี้จะเปิดให้ผู้คนไปมาหาสู่ค้าขายกันภายในประเทศได้ รวมทั้งประเทศไทย เพราะไทยนั้นเอาโรคอยู่มาตั้งแต่เดือนมิย. 63 แล้ว

     3. ประเทศที่มีโควิดกระเด็นเข้ามาติดเล็กๆน้อยๆ (sporadic cases) ได้แก่ ซาอุดิอาราเบีย สิงคโปร์ เฟรนซ์โพลินีเซีย โซมาเลีย เยเมน ลิกเกนสไตน์ กัมพูชา ลาว

ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็ใช้ยุทธศาสตร์กดโรคเช่นกัน แต่สถานะการณ์เบาบางกว่ามาก คือมีผู้ติดเชื้อน้อยมาก และยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตเลย

ทอดสายตาดูแล้วจะเห็นว่าในปีหน้าเกินครึ่งหนึ่งของโลกนี้ในแง่ของพื้นที่ และเกือบสองในสาม ในแง่ของความสำคัญทางเศรษฐกิจ ยังตกอยู่ในกลุ่มที่ 1 คือเอาโควิด19 ไม่อยู่แล้ว และไม่มีวิธีไหนจะออกจากตรงนี้ได้นอกจากรอการมาของวัคซีน..หรือการมาของความตายในอัตรา 2.3% ของผู้ติดเชื้อ สุดแล้วแต่ว่าอย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน ดังนั้นในปีหน้าอย่าคาดหวังถึงขั้นจะได้เดินทางไปมาหาสู่กับโลกภายนอกเลยเพราะโลกข้างนอกมันยังไม่สงบ มามองแค่ทำอย่างไรจะกดโรคภายในประเทศไทยของเราให้สงบจนการฉีดวัคซีนแล้วเสร็จดีกว่า

ผู้ติดเชื้อสะสมของไทยตั้งแต่มค. ถึง ธค. 63


สถานะการณ์ของประเทศไทย ณ วันนี้

ในภาพรวม ไทยนับถึง 8 ธค. 63 มีผู้ติดเชื้อสะสม 4126 คน ตายไป 60 คน ในวันสุดท้าย (8 ธค. 63) มีผู้ติดเชื้อใหม่ 19 คน มองภาพรวมอย่างนี้ หากไม่นับช่วงเดือนมีนาคมที่การกระจายเชื้อเกิดพรวดพราด (ซึ่งเราประสบความสำเร็จในการกดโรคเอาไว้ได้) ในภาพรวมถือว่าเป็นสถานะการณ์ราบเรียบสงบเงียบตลอดช่วงหน้าร้อน แต่หากมองปลายของเส้นกร๊าฟช่วงเดือนพย.และธค.ซึ่งเป็นหน้าหนาว จะดูเหมือนว่าความชันของมันกระดกขึ้นพิกลผิดสังเกตนิดหนึ่ง ซึ่งหากเข้าไปไล่ดูรายละเอียดวันต่อวันจะเป็นภาพที่ชัดขึ้นดังนี้

จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 ใหม่ รายวันช่วง พย.-ธค.63

     ผู้ติดเชื้อรายวันแอบเพิ่มขึ้น 

จะเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันได้ค่อยๆเพิ่มขึ้นจาก 2 รายต่อวันมาเป็น 25 รายต่อวันในเวลา 17 วันเท่าที่ผมเก็บสถิติย้อนหลังไว้ อัตราการเพิ่มหรือความชันของกราฟมากขึ้นชัดเจนแต่ยังไม่มากจนน่าตกใจเหมือนช่วงมีค. – พค. ที่ผ่านมาซึ่งมีการเพิ่มผู้ป่วยรายใหม่วันละเป็นร้อย แต่อย่างไรก็ตาม การที่ตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเร็วในสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมานี้มันนัยสำคัญอยู่ตรงที่ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่นำเชื้อเข้ามาจากทางประเทศพม่า ไม่ว่าจะโดยคนพม่าหรือโดยคนไทยเองที่ไปหากินในพม่าก็ตาม ดังนั้นจึงน่าจะมีประโยชน์หากเราชำเลืองมองสถานะการณ์ในประเทศพม่าไว้สักหน่อย

     การติดเชื้อจากทางพม่ามีแนวโน้มลดลง

ในภาพรวมพม่ามีผู้ติดเชื้อยืนยันแล้ว 100,431 คน เมื่อวานนี้ (8 ธค. 63) มีผู้ติดเชื้อใหม่ 1,276 คน ตายไปแล้วรวม 2,132 คน เฉพาะเมื่อวานนี้ตายไป 22 คน ซึ่งมองภาพรวมอาจจะน่าตกใจ แต่หากมองแนวโน้มจากกราฟนี้

แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด19 ของพม่าตั้งแต่ กค.-ธค. 63
จะเห็นได้ว่าพม่าอยู่อย่างสงบไม่มีการติดเชื้อเลยมาจนถึงเดือนกค.63  แล้วก็มีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้ออย่างพรวดพราดในเดือน สค.ต่อเดือน กย. คือเพิ่มวันหนึ่งเป็นพัน แต่รัฐบาลพม่าก็เริ่มคุมโรคได้ในเดือนตค.63 และยังคุมได้ในระดับไม่ให้เพิ่มขึ้นเรื่อยมาจนถึงเดือนธค.63 โรคมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เดือนพย.63เป็นต้นมา แม้แนวโน้มการลดโรคยังไม่ชัดเจนมาก แต่ชัดเจนว่าโรคคุมอยู่และผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น สถานะการณ์เป็นอย่างนี้มาสามเดือนแล้ว ยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่ามันจะแย่ไปกว่านี้ ดังนั้นจากหลักฐานที่มี สถานะการณ์ทางด้านพม่าจะไม่กระทบประเทศไทยมากกว่าเท่าที่เป็นอยู่ในสามเดือนที่ผ่านมา

     สถานะการณ์ทางลาวและกัมพูชา

ทางด้านลาวและกัมพูชานั้นยังไม่มีอะไรที่น่าห่วงว่าจะมากระทบไทยเลย เพราะทั้งลาวและกัมพูชามีสถานะการระบาดของโรคอยู่ในระดับ sporadic คือมีเคสกระเส็นกระสายเข้ามาประปรายน้อยมากและไม่มีคนตายจากโรคนี้เลย จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะแพร่เชื้อให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ มีก็แต่จะได้รับเชื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าไปเท่านั้น ส่วนข้อกังวลที่ว่าข้อมูลจากสองประเทศนี้เป็นข้อมูลไม่จริงนั้นเป็นข้อกังวลที่ไร้สาระ เพราะการควบคุมโรคโควิดในระดับนานาชาติบริหารโดยองค์การอนามัยโลกซึ่งประเมินข้อเท็จจริงจากหลายด้านแบบวันต่อวัน ทั้งการตรวจหาและเฝ้าระวังโรคในประเทศกัมพูชาก็ได้รับความช่วยเหลือจากแล็บของสถาบันปาสเตอร์ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นสถาบันที่ก่อกำเนิดวัคซีนให้แก่โลกนี้ในอดีต มีความเชื่อถือได้แน่นอน ดังนั้นข้อมูลโรคจากทั้งสองประเทศนี้เชื่อถือได้ในระดับเดียวกับข้อมูลจากประเทศอื่นๆ ส่วนข่าวไร้ที่มาที่ร่อนกันในอินเตอร์เน็ทนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ

     ตัวเปลี่ยนเกม (Game Changers) สามอย่าง

บทสรุปในภาพรวมคือเมื่อวิเคราะห์ปัจจัยรอบด้านแล้ว ประเทศไทยยังคงไปได้ฉลุยในแง่ของการควบคุมโรค เพราะสถานการณ์โดยรอบไม่มีอะไรส่อไปทางร้าย และสถานะการภายในยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ระบบการสอบสวนควบคุมโรคยังเวอร์คดีมาก ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่กระดกขึ้นในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังอยู่ในปริมาณที่น้อย และอยู่ในความชัน (อัตราเพิ่ม) ที่ไม่ต่างจากหกเดือนที่ผ่านมามากนัก แต่อาจมีตัวเปลี่ยนเกมที่สำคัญสามตัวที่อาจเปลี่ยนสถานะการณ์ดีนี้ให้เป็นร้ายได้ คือ

     1. การเข้ามาของผู้ติดเชื้อรายใหม่แบบเนียนๆไม่มีใครรู้ หมายถึงเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางพม่า เพราะแม้พม่าจะคุมโรคภายในได้ แต่พม่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับแสนคน ในจำนวนนี้หากมีบ้างที่เล็ดลอดผ่านด่านคัดกรองเข้ามาปะปนกับฝูงชนที่เราคิดว่าปลอดเชื้อ ก็อาจจะเปลี่ยนเกมได้

     2. การชื่นชุมนุมในเทศกาลคริสต์มาสปีใหม่ การชื่นชุมนุมในเทศกาลจะไม่มีปัญหาเลย หากไม่มีผู้ติดเชื้อเข้าไปร่วมชื่นชุมนุมด้วย จะเบียดกันเอาให้แน่นขนัดหรือเอาให้มันสะแด่วแห้วอย่างไรก็ได้ แต่หากมีผู้ติดเชื้อเหน่งๆเล็ดลอดเข้าไปร่วมเบียดเสียดชื่นชุมนุมได้แม้เพียงคนเดียว เกมก็อาจจะเปลี่ยนได้ทันที

     3. ความเย็นและความชื้นของอากาศ หลักฐานเรื่องอุณหภูมิและความชื้นต่อการแพร่กระจายเชื้อซาร์โควี2 (โควิด19) ยังไม่มี มีแต่ว่าซาร์สโควี1ซึ่งเป็นพี่น้องกันนั้นกระจายเร็วในอากาศเย็นระดับ 22-25 องศา และความชื้นระดับ 40-50% พูดง่ายๆว่าชอบหน้าหนาว และหากเราย้อนดูอดีตตอนที่โควิด19 ระบาดระเบิดระเบ้อทั่วโลกนั้นเป็นช่วงเดือนมีค. 63 รวมทั้งในประเทศไทยเราด้วย ดังนั้นความเย็นและความชื้นก็เป็นตัวเปลี่ยนเกมอีกตัวหนึ่ง

     บทสรุป

สรุปว่าสถานะการณ์โควิด19 นับถึงวันนี้ยังชิลๆอยู่ แต่มีตัวเปลี่ยนเกมที่คาดเดาไม่ได้จ่ออยู่สามตัว ในฐานะแพทย์ผมทราบแต่การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของโรคและการป้องกันโรคด้วยการจัดการปัจจัยเสี่ยงซึ่งผมเล่าให้ฟังหมดแล้ว แต่หากถามผมว่าอนาคตของโควิด19ปลายปีนี้จะเป็นอย่างไร ผมก็ได้แต่ร้องเพลงให้ฟังว่า

     “ต่อไปจะเป็นฉันใด..ม่าย..ย…รู้”

ตัวหมอสันต์เองจะเป็นเจ้าภาพจัดฟังเปียโนคลาสสิกในสวนที่มวกเหล็กในวันที่ 26 ธค. 63 ซึ่งก็คือการทำตัวเป็นคนมือบอนสร้างตัวเปลี่ยนเกมตัวที่สองขึ้นมา คือการชื่นชุมนุมในเทศกาลคริสตมาสปีใหม่ นั่นเอง หิ..หิ รู้ รู้อยู่ ว่าถ้าให้ทุกคนอยู่บ้านเฉยๆไปจนโลกแตกก็จะเป็นวิธีป้องกันโควิด19ที่ดีที่สุด แต่ไหนๆปีใหม่ทั้งทีมันอดมือบอนไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ขอถือโอกาสนี้ป่าวประกาศให้แฟนบล็อกหมอสันต์ที่จะมาฟังเปียโนเสียเลยว่าทุกท่านจะต้องมาพร้อมกับมาสก์ ไม่งั้นต้องซื้อของแพงที่หน้าบ้านไม่รู้ด้วยนะ และจะต้องถูกส่องอุณหภูมิก่อนทุกคน อย่าว่ากันว่าจุกจิกหยุมหยิม ส่วนการจะนั่งใกล้ชิดอี๋อ๋อแบบซึ้งๆนั้นไม่ห้าม เพราะถ้าขืนห้ามความโรแมนติกก็ไม่รู้จะมีเทศกาลคริสตมาสปีใหม่ไปทำไม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์