ปรึกษาหมอ

ชายมียีนแฝงทาลาสซีเมียเบต้า หญิงมียีนแฝงอัลฟ่า จะแต่งงานกันได้ไหม

กราบเรียนคุณหมอสันต์

สองคนไปตรวจคัดกรองทาลาสซีเมียมาแต่ได้ผลมาแล้วแปลผลไม่ถูก ตรวจมาทั้ง hemoglobin typing และตรวจ Alpha gene PCR หมอก็บอกแต่เพียงว่าหญิงเป็นพาหะอัลฟ่า ชายเป็นพาหะเบต้า บอกแค่นั้น จะแต่งงานกันได้ไม่ได้ก็ไม่บอก หนูส่งผลตรวจมาให้คุณหมอช่วยแนะนำด้วย อยากให้คุณหมอสอนเรื่องโรคทาลาสซีเมียและการอ่านผลตรวจ และอยากถามว่าหนูกับแฟนจะแต่งงานกันได้ไหมคะ

……………………………………..

ตอบครับ

1. ถามว่าคนหนึ่งมียีนแฝงอัลฟ่า อีกคนมียีนแฝงเบต้า จะแต่งงานกันได้ไหม ตอบว่าการแต่งงานกันนั้นยังไงก็แต่งได้อยู่แล้ว พังเพยมีว่าพระจะสึก หรือผู้ชายจะมีเมีย ใครจะขวางได้

2. ถามว่าคนหนึ่งมียีนแฝงอัลฟ่า อีกคนมียีนแฝงเบต้า แต่งงานกันแล้วจะได้ลูกเป็นโรคโลหิตจางแบบทาลาสซีเมียชนิดรุนแรงไหม ตอบว่าไม่เลยครับ ไม่มีโอกาสได้ลูกเป็นโรคทาลาสซีเมียเลย อย่างเลวที่สุดก็ได้ลูกเป็นพาหะเหมือนพ่อหรือเหมือนแม่หรือเหมือนทั้งสองคน แต่ฟลุ้คๆอาจได้ลูกที่มียีนดีกว่าพ่อและดีกว่าแม่

เพื่อให้คุณและท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องนี้ได้เข้าใจกระจ่าง ผมขออธิบายเพิ่มหน่อยนะ ว่าในเม็ดเลือดของคนเรามีโมเลกุลที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนเรียกว่า “ฮีโมโกลบิน” ซึ่งแต่ละตัวมีโมเลกุลย่อยสองแบบมาจับกัน คือโมเลกุล “ฮีม (heme)” เป็นลูกกลมสีแดงอยู่ตรงกลาง และโมเลกุล “โกลบิน (globin)” เป็นเส้นสายยั้วเยี้ยเหมือนขาปูอยู่สองคู่หรือสี่สาย สายยั้วเยี้ยนี้มีอยู่สี่แบบ คือ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า เดลต้า การสร้างสายโกลบินนี้ควบคุมด้วยยีน ยีนนี้คนเราได้มาจากพ่อครึ่งหนึ่ง แม่ครึ่งหนึ่ง มาบวกกันเป็นยีนของตัวเอง เขียนคั่นกลางของพ่อกับของแม่ด้วยเครื่องหมาย “ / ” แต่ละข้างที่รับมา ถ้าเป็นยีนสมบูรณ์จะเขียนด้วยอักษรสองตัว เช่นถ้าเป็นยีนสายอัลฟ่าของคนปกติก็เขียนว่า αα/αα หมายความว่ายีนที่คุมการผลิตโกลบินสายอัลฟ่าปกติครบสี่ตัวไม่แหว่งหายไปไหนเลย กล่าวคือปกติการควบคุมการผลิตโกลบินสายอัลฟ่านั้นต้องใช้ยีนคุมถึงสี่ตัวซึ่งอยู่ในโครโมโซมคู่ที่ 16 ส่วนการควบคุมการผลิตสายเบต้านั้นใช้ยีนคุมการผลิตแค่สองตัวซึ่งอยู่ในโครโมโซมคู่ที่ 11 ถ้าโครโมโซมเหล่านี้ถูกอะไรกัดแหว่งไป (deletion) หรือกลายพันธ์ไปแบบกะทันหันแต่เซลยังแบ่งตัวออกลูกต่อได้ (mutation) การผลิตสายโกลบินของเซลลูกก็จะผิดปกติไป กลายเป็นโรคที่เรียกว่าทาลาสซีเมีย ซึ่งมีระดับความรุนแรงได้หลายระดับ ขึ้นอยู่กับว่ายีนจะถูกกัดแหว่งไปมากหรือน้อย คือเป็นได้ตั้งแต่เป็นพาหะ (heterozygous) โดยไม่มีอาการอะไร ไปจนถึงเป็นโรครุนแรง (homozygous) ชนิดที่เกิดมาปุ๊บตายปั๊บหรือเกิดมาแล้วไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โตก็มี

วิธีที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้เร็วขึ้นก็คือให้คุณหัดแปลผลการตรวจวิเคราะห์ฮีโมโกลบิน (hemoglobin typing) ที่คุณได้รับมานั่นแหละ ซึ่งผมจะให้คำแนะนำในการแปลผลสั้นๆดังนี้

HbA อ่านว่า ฮีโมโกลบิน เอ. เขียนเป็นสัญลักษณ์บอกสถานะยีนว่า αα/αα มีความหมายว่าเป็นฮีโมโกลบินที่สมบูรณ์แบบที่เกิดจากร่างกายได้รับยีนสร้างสายอัลฟาแบบสมบูรณ์มาจากทั้งข้างพ่อ 2 สายและข้างแม่ 2 สาย ถือว่าเป็นฮีโมโกลบินแบบปกติ ทุกคนต้องมีฮีโมโกลบินแบบนี้อย่างน้อย 95% ขึ้นไป

HbA2 อ่านว่าฮีโมโกลบิน เอ.2 เขียนเป็นสัญลักษณ์ว่า αα/δδ มีความหมายว่าถ้าร่างกายมีโกลบินสายเบต้าจำนวนไม่เพียงพอต่อการใช้งาน โกลบินสายอัลฟาที่เหลือใช้จะต้องไปจับคู่กับโกลบินชนิดเดลต้า เกิดเป็นฮีโมโกลบินเอ.2 ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติ คนทั่วไปไม่ควรมีฮีโมโกลบินชนิดนี้เกิน 3.5% อย่างของแฟนคุณนี้มีเกินแสดงว่าเกิดความผิดปกติของยีนที่คุมการสร้างโกลบินสายเบต้า หมายความว่ายีนที่รับมาจากพ่อหรือแม่มีส่วนแหว่งไป เช่น -β/ββ ซึ่งมีชื่อเรียกว่าเป็นพาหะเบต้า (beta thalassemia trait)

HbE อ่านว่าฮีโมโกลบินอี. หมายความว่าพันธุกรรมของคนคนนี้ผลิตโกลบินสายเบต้าที่ผิดปกติแบบพิเศษแบบหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเมื่อนำสายเบต้านั้นมาสร้างเป็นฮีโมโกลบินแล้วมันจะกลายเป็นฮีโมโกลบินที่ผิดปกติแบบเป็นกรณีพิเศษไม่เหมือนของชาวบ้านเขา เรียกว่าฮีโมโกลบินอี. (HbE) คนปกติเขาจะไม่มีฮีโมโกลบินแบบนี้ คนมีฮีโมโกลบินอีจะมีสองระดับความรุนแรง คือ ระดับเป็นยีนแฝง เรียกชนิดของโรคทาลาสซีเมียที่เกิดขึ้นว่า EA ซึ่งเกิดจากยีนแฝงหรือยีนพันธุ์ทาง (βE/β) มักไม่มีอาการอะไรเหมือนอย่างแฟนคุณนี่แหละ กับอีกระดับหนึ่งเป็นระดับรุนแรง เรียกว่าฮีโมโกลบินชนิด EE ซึ่งเกิดจากยีนผิดปกติแบบพันธุ์แท้ (βE/βE) ในคนพันธุ์แท้นี้มักมีฮีโมโกลบินอี.มากระดับเกิน 85% ขึ้นไปเลยทีเดียว

Osmotic fragility เป็นการตรวจความเปราะของเม็ดเลือด โดยหย่อนเม็ดเลือดลงไปในน้ำเกลือเจือจาง ถ้าเม็ดเลือดแดงแตกเร็วก็เรียกว่าได้ผลตรวจเป็นบวกหมายความว่าเม็ดเลือดแดงเปราะ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเป็นโรคทาลาสซีเมียหรือสาเหตุอื่นใดก็ได้

3. ถ้าอ่านแค่เท่าที่ผลแล็บของคุณและแฟนที่ให้มา ผมวินิจฉัยว่า

3.1. ฝ่ายชายเป็นโรคทาลาสซีเมียแบบมีความผิดปกติในสายเบต้า ชนิดมียีนแฝงฮีโมโกลบินอี.

3.2. ฝ่ายหญิงดูจากผลการตรวจยีนด้วยวิธี PCR แล้วเป็นพาหะทาลาสซีเมียสายอัลฟาชนิดไม่รุนแรง (alpha-2) คือยีนคุมการสร้างสายอัลฟ่ามันมียีนที่หากแหว่งแล้วจะผิดปกติรุนแรงก็ได้ไม่รุนแรงก็ได้ แต่อย่างของคุณนี้แม้จะแหว่งก็เป็นชนิดไม่รุนแรง

3.3. คุณสองคนสามารถแต่งงานกันได้ ไม่มีโอกาสที่จะได้ลูกผิดปกติแบบรุนแรง 3 ชนิดต่อไปนี้แน่นอน

3.3.1 โอกาสได้ลูกผิดปกติทางสายอัลฟ่าแบบรุนแรงชนิดยีนคุมการผลิตสายอังฟ่าชำรุดเกลี้ยงครบสี่ยีน  (thalassemia major) ซึ่งทำให้ตายได้ โอกาสอย่างนั้นไม่มี เพราะฝ่ายชายมียีนสายอัลฟ่าปกติ ฝ่ายหญิงก็แค่แหว่งนิดหน่อยในระดับเป็นพาหะ อย่างแย่ที่สุดก็จะได้ลูกเป็นพาหะแบบแม่ หรือเหมือนทั้งพ่อและแม่

3.3.2 โอกาสที่จะได้ลูกผิดปกติทางสายอัลฟาชนิดฮีโมโกลบินเอ็ช.  (HbH) ซึ่งบางครั้งก็รุนแรงเอาเรื่อง ก็ไม่มีโอกาสเลย เพราะฝ่ายชายมียีนอัลฟ่าปกติหมด การจะเกิด HbH ได้จะต้องมีความบกพร่องในยีนอัลฟ่าของทั้งฝ่ายชายและหญิง และข้างหนึ่งมีความผิดปกติแบบรุนแรง (alpha-1)

คือการจะเกิด HbH ได้จะต้องเป็นดังนี้ (ยกตัวอย่างเฉยๆ ไม่เกี่ยวกับกรณีของคุณนะ) คือฝ่ายหนึ่งมียีนแฝงทาลาสซีเมียชนิดอัลฟ่า-2 (alpha thal-2) ซึ่งเป็นความชำรุดระดับเล็กน้อย คือทำให้ยีนคุมการสร้างฮีโมโกลบินสายอัลฟ่าสี่ยีนชำรุดไปยีนเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งมียีนแฝงชนิดอัลฟ่า-1 อันเป็นยีนแฝงแบบชำรุดมากพอควร คือยีนคุมสี่ยีนใช้การได้แค่สองยีน ลูกที่ออกมาจึงมีโอกาสหนึ่งในสี่ที่จะมียีนแบบทำให้ยีนสายอัลฟ่าชำรุดมากถึง 3 ยีนจากที่มีทั้งหมด 4 ยีน เป็นความชำรุดระดับมาก ผลที่ได้ก็คือโรค hemoglobin H

3.3.3 โอกาสจะได้ลูกเป็นโรคเบต้าทาลาสซีเมียชนิดจ๊ะกับฮีโมโกลบินอี. (beta thalassemia hemoglobin E disease) ซึ่งเป็นโรครุนแรงอีกแบบหนึ่งก็ไม่มี เพราะแม้ยีนเบต้าของฝ่ายชายจะมียีนแฝงฮีโมโกลบินอี. แต่ยีนเบต้าของภรรยาปกติหมด

สรุปว่าคุณสองคนแต่งงานกันได้ มีลูกได้ รับประกันว่าไม่มีโอกาสได้ลูกเป็นทาลาสซีเมียแบบรุนแรง อย่างเลวที่สุดก็จะได้ลูกเป็นพาหะเหมือนพ่อหรือเหมือนแม่ (double heterozygous) แต่ฟลุ้คๆอาจได้ลูกที่มียีนดีกว่าของพ่อของแม่

4. ก่อนจบขอย้ำสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปไว้หน่อยว่า การตรวจคัดกรองทาลาสซีเมียก่อนแต่งงาน ไม่ใช่ตรวจแค่ Hemoglobin typing ซึ่งบอกได้แต่ความผิดปกติของยีนสายเบต้าเท่านั้น แต่ควรตรวจยีนสายอัลฟ่าด้วยวิธี PCR ด้วย จึงจะได้ผลตรวจที่ครบถ้วนว่ายีนทั้งข้างเบต้าและอัลฟ่าของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์