Latest, ปรึกษาหมอ, โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ความดันเลือดต่ำในคนอายุ 66 ปี

สวัสดีครับคุณหมอสันต์

ผมอายุ 66 ปี, ส่วนสูง 156 เซนติเมตร, น้ำหนัก 44 ถึง 45 กิโลกรัม, รอบเอว 29 ถึง 30 นิ้ว
ความดันที่วัดได้จะไปทางด้านต่ำคือประมาณ 87 – 97/47-57 มาประมาณ 5-6 ปีแล้วครับ มีน้อยครั้งที่จะได้ > 110
เคยวูบไปครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 แต่เข้าใจว่า มาจากน้ำในหูไม่เท่ากัน หลังจากนั้นได้ ทานยา sermion , dramamine หลังอาหารเย็นวันที่ 6\1\2564 อาการดีขึ้นมากครับ วันนี้วันที่ 7 มกรา 2564 ก็ทานยาหลังอาหารมื้อเช้าและเย็นแล้ว จะทานต่ออีกประมาณสองวันครับ ถ้าดีขึ้นก็จะหยุดยาครับ ขอเรียนถามคุณหมอว่าโรคความดันต่ำนี้จะรักษาแก้ไขยังไงครับให้มาปกติได้ ขอขอบพระคุณคุณหมอมา ณ โอกาสนี้ด้วย

(ชื่อ) ………………………..

ส่งจาก iPad ของฉัน

ตอบครับ

1..ตัวเลขไม่มีความหมายในกรณีความดันเลือดต่ำ

คุณอายุรูปร่างขนาดนี้ (รูปร่างเล็ก เป็นคนผอม) ความดันขนาดนี้ ในมุมมองของตัวเลขก็ถือว่าโอแล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือในแง่ของตัวเลข ความดันข้างต่ำตัวเลขเท่าไหร่ก็ไม่มีความหมายตราบใดที่คุณไม่มีอาการผิดปกติ วงการแพทย์ไม่เคยกำหนดว่าความดันเลือดขนาดใดจึงจะถือว่าต่ำผิดปกติ เพราะโรคความดันต่ำในวิชาแพทย์จริงๆแล้วไม่มี มีแต่โรคอื่นที่แสดงอาการความดันต่ำเป็นอาการส่วนหนึ่งของโรคนั้น ดังนั้นความดันเลือดต่ำจะมีความหมายถ้ามีอาการผิดปกติ เช่นที่ซีเรียสหน่อยก็คือภาวะช็อก หรืออย่างเบาะก็วูบหมดสติ ลื่นตกหกล้ม อย่างเบาๆก็หน้ามืดเป็นลม ลุกแล้วหน้ามืด เป็นต้น ดังนั้นคนที่วัดความดันได้ค่าต่ำแต่ไม่มีอาการอะไรแล้วเป็นวิตกจริตวิ่งแจ้นไปหาหมอ หมอเขาจะไม่เขียนวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันต่ำ แต่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรค ปสด. (ฮิ ฮิ) ไม่นับกรณีของคุณนะ เพราะคุณวูบหมดสติไปหนึ่งครั้ง แสดงว่าคุณมีปัญหาด้วยเหตุอะไรสักอย่าง แล้วปัญหานั้นมาทำให้ความดันต่ำ ซึ่งก็ต้องสืบค้นกันต่อไปว่าปัญหานั้นคือะไร

2.. โรคอะไรทำให้ความดันต่ำมากๆได้บ้าง

2.1 ภาวะช็อก หมายถึงภาวะพะงาบปางตาย มีอาการความดันตก มือเท้าเย็น ใจหวิว ซึดหรือเขียว แล้วหมดสติ มักเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งในต่อไปนี้ คือ

(1) ติดเชื้อในกระแสเลือด

(2) แพ้แบบรุนแรง (anaphylaxis)

(3) สูญเสียเลือดหรือสารน้ำจากร่างกาย เช่นอาเจียนมาก ท้องเสีย เลือดออกในกระเพาะลำไส้ หรือร่างกายขาดน้ำ เป็นต้น

(4) หัวใจเสียการทำงานทันที เช่นกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น

(5) ระบบประสาทเสียการทำงานแบบทันที เช่น ได้รับบาดเจ็บไขสันหลัง หรือได้ยาชาตรงเข้าไขสันหลัง เป็นต้น

(6) ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เช่นถุงลมในปอดแตกแล้วลมคั่งในทรวงอก

(7) ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในปอด

(8) เกิดความผิดปกติในระบบฮอร์โมนและการเผาผลาญ เช่น กรดคั่งในเลือดจนช็อก น้ำตาลในเลือดต่ำ ขาดฮอร์โมนสะเตียรอยด์เฉียบพลัน เป็นต้น

การช็อกจากทั้งแปดเรื่องนี้เป็นของจริงที่ซีเรียสชนิดที่ยมพบาลมายืนรออยู่หน้าบ้าน ไม่ใช่เรื่อง ปสด.

2.2 โรคโลหิตจางเรื้อรัง คือเม็ดเลือดแดงมีน้อย จะด้วยสร้างได้น้อยหรือเม็ดเลือดผิดปกติก็แล้วแต่

2.3 โรคไฮโปไทรอยด์

2.4 กลุ่มอาการสะง็อกสะแง็ก (frailty syndrome) ชื่อไทยผมตั้งให้เอง แต่ชื่ออังกฤษเป็นภาษาแพทย์จริงๆ หมายถึงคนผอมแห้งแรงน้อยแถมน้ำหนักลดลง ขาดพลัง หมดเรี่ยวแรง เคลื่อนไหวน้อย ช้าแบบว่าเดินแค่ 50 เมตรใช้เวลานานเป็นนาที

แล้วคุณเป็นโรคอะไร

ถามว่าจะป้องกันและรักษาความดันต่ำจนหน้ามืดได้อย่างไร ตอบว่าก็ต้องรู้ว่ามันต่ำจากโรคอะไรก่อนสิครับ พิเคราะห์จากข้อมูลที่ให้มามันไม่พอที่ผมจะวินิจฉัยโรคให้คุณได้ ได้แต่ “เดาแอ็ก” เอาว่าคุณเป็นโรคสะง็อกสะแง็ก วิธีรักษาโรคนี้ที่ได้ผลชะงัดมีวิธีเดียวคือออกกำลังกาย ทั้งการออกกำลังกายแบบเล่นกล้าม แบบแอโรบิก และแบบเสริมการทรงตัว ครบสูตรครบสามรส ให้คุณลงมือทำไปก่อน หาก 3 เดือนผ่านไปยังหน้ามืดความดันต่ำอยู่อีกก็ควรเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจรักษาอย่างละเอียดแล้วครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์