Latest

สำหรับคนที่สัมผัสกับเชื้อโรคโควิด อาหารพืชเป็นหลักสัมพันธ์กับการติดโควิดน้อยลง

สวัสดีค่ะ อาจารย์ 

อยากให้อาจารย์รีวิวงานวิจัยนี้ค่ะ https://nutrition.bmj.com/content/early/2021/05/18/bmjnph-2021-000272 เค้าทำวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงของคนติดโควิดที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ แล้วเปรียบเทียบกับคนกิน plant based กับ ไม่กินว่าป้องกันความรุนแรงได้ อยากทราบว่าทำวิจัยได้น่าเชื่อถือแค่ไหน อยากจะ convince เพื่อนๆและคนรอบข้างให้มาทานพืชเป็นหลักค่ะ ส่วนตัวทานอาหารพืชเป็นหลักแบบเจเขี่ย มาหลายสิบปีแล้วค่ะ เพราะไม่ได้กินตั้งแต่เด็ก เลยไม่ชอบรสชาติของเนื้อสัตว์ แต่เพิ่งมาเน้นพวกถั่วธัญพืชมาช่วงหลังๆ  แข็งแรงดีไม่มีโรคประจำตัวค่ะ เป็นแฟนคลับทั้งเวป และยูทูปอาจารย์เลยค่ะ 

ขอบคุณมากค่ะ …. 
…………………………………………………………..

ตอบครับ

แม่เฮย..เดี๋ยวนี้แฟนบล็อกหมอสันต์เนี่ย “เน็ดขนาด” แปลว่าเจ๋งจริงๆ คืออ่าน journal ล่วงหน้าหมอสันต์ไปแล้ว เรียกว่าไปภายหน้าถ้าผมเงอะๆงะๆอ้างเจอร์นาลผิดๆถูกๆมีหวังถูกแฟนบล็อกสอนมวยหมอแก่เอา หิ..หิ ดี ดี ดี รู้มากกว่าหมอสันต์แล้วบอกให้หมอสันต์รู้บ้างเอาบุญก็ดีแล้ว จะได้เบาแรงผมในการอ่าน เพราะขึ้นชื่อว่าผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นี้ ร้อยเรื่องจะมีใช้การได้สักหนึ่งเรื่องก็บุญแล้ว การมีคนช่วยอ่านจึงดีด้วยประการทั้งปวง

งานวิจัยที่คุณส่งมานี้ตีพิมพ์ใน BMJ Nutrition ซึ่งเป็นวารสารมีระดับ ดูรายชื่อคนทำวิจัยก็ล้วนเป็นตัวกลั่นๆในสถาบันเด่นๆในเรื่องโภชนาการเช่น จอห์นฮอพคินส์ บริกแฮมแอนด์วีแมน ซีด้าร์ซายนาย เป็นต้น รูปแบบของงานวิจัยเป็นการวิจัยแบบย้อนหลังดูกลุ่มคนโดยเอาคนอีกกลุ่มหนึ่งที่คล้ายกันมาเปรียบเทียบ (match case control study) ซึ่งแม้จะไม่ใช่ระดับการวิจัยสูงสุดในแง่ของการเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ ผมหมายถึงไม่ใช่งานวิจัยแบบจับฉลากแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) แต่สำหรับสาขาโภชนาการแล้วงานวิจัยระดับนี้ถือว่ายอมรับได้หากเป็นกรณีที่ไม่สามารถทำวิจัยแบบ RCT ได้ ตัวอย่างเช่นเรื่องนี้เลย คือเขาทำวิจัยเพื่อตอบคำถามว่า

“หากหมอพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันกินมังสวิรัติพวกเขาจะติดโควิดจากคนไข้น้อยลงหรือเปล่า?”

การจะตอบคำถามนี้หากจะใช้วิธีวิจัยแบบ RCT ก็ต้องเกณฑ์หมอที่ดูแลคนไข้โควิดมาจำนวนหนึ่ง เอามาจับฉลากเบอร์ดำเบอร์แดง ใครจับได้เบอร์ดำต้องไปอยู่กลุ่มห้ามกินเนื้อสัตว์ตลอดการวิจัย แต่ว่าในชีวิตจริงการวิจัยแบบนี้ทำไม่ได้ เพราะหมอที่เขาชอบกินไส้กรอกหมูแฮมถ้าเขาจับได้เบอร์ดำเขาก็ไม่ยอมกินมังสวิรัติจะไปบังคับเขาได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นในการวิจัยทางโภชนาการวงการแพทย์จึงยอมรับหลักฐานระดับ match case control เรื่อยมา แม้กระทั่งเรื่องสำคัญเช่นการแนะนำให้คนทั่วโลกเลิกกินอาหารไขมันอิ่มตัวเพื่อลดไขมันเลวในเลือด นี่ก็มาจากหลักฐานระดับนี้ เพราะหลักฐานระดับที่ดีกว่านี้ยังไม่มีใครสามารถทำวิจัยได้

กลับมาพูดถึงงานวิจัยนี้ต่อ เขาทำวิจัยนี้ใน 6 ประเทศ คือฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี เสปญ อังกฤษ สหรัฐฯ วิธีทำคือดูว่าในหกประเทศที่ว่านี้มีหมอพยาบาล (95% เป็นหมอ) ที่หน้างานคนไหนป่วยเป็นโควิดบ้างแล้วก็ไปทำวิจัยเก็บข้อมูลโดยสอบถามทุกเรื่องทุกประเด็นเพื่อจะคลำหาว่าอะไรนำให้คุณหมอติดเชื้อโควิดได้ง่าย มีหมอพยาบาลที่ป่วยเป็นโควิดในงานวิจัยนี้รวม 568 คน (เยอะนะ!) ขณะเดียวกันผู้วิจัยก็ไปสอบถามหมอและพยาบาลคนอื่นๆที่ดูแลผู้ป่วยโควิดแต่ไม่ได้ป่วยเป็นโควิดที่มีประพิมพ์ประพายคล้ายกัน หมายความว่าอายุพอๆกัน เพศเดียวกัน สุขภาพดีพอๆกัน เป็นต้นจำนวน 2,316 คน เอามาจับคู่เปรียบเทียบกัน ดูว่าอะไรบ้างที่จะเป็นความแตกต่างระหว่างคนติดกับคนไม่ติดโควิด งานวิจัยนี้พุ่งเป้าไปที่ประเด็นอาหาร โดยมุ่งเปรียบเทียบอาหารสามกลุ่ม คือ

(1) พวกกินอาหารวีแกนหรือมังเข้ม

(2) พวกมังกินปลา (pescatarian)

(3) พวกกินไม่เลือก หมายถึงว่ากินเนื้อสัตว์ด้วย

ผลวิจัยสรุปว่าในบรรดาคนที่ป่วยเป็นโควิด 568 คนเป็นผู้ป่วยระดับคางเหลือง (คือหนักปานกลางถึงหนักมาก) เสีย 138 คน เมื่อวิเคราะห์จากมุมของอาหารพบว่ากลุ่มกินไม่เลือกป่วยเป็นโควิดมากที่สุด เมื่อเอากลุ่มกินไม่เลือกเป็นตัวตั้ง พบว่า

กลุ่มกินอาหารแบบวีแกนหรือมังเข้ม ป่วยเป็นโควิดน้อยกว่ากลุ่มกินไม่เลือก 73%

กลุ่มกินอาหารแบบมังกินปลา ป่วยเป็นโรคโควิดน้อยกว่ากลุ่มกินไม่เลือก 59%

จึงสรุปจากงานวิจัยนี้ว่าการกินอาหารแบบพืชเป็นหลักสัมพันธ์กับการที่ผู้ที่เสี่ยงสัมผัสกับเชื้อโควิดป่วยเป็นโควิดลดลง

นี่เป็นงานวิจัยที่ดีที่สุดและเป็นงานวิจัยชิ้นเดียวเท่าที่วงการแพทย์มีอยู่ตอนนี้ที่จะชี้ช่องว่าการจะให้มีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อโควิดนั้นควรกินอาหารแบบไหน ซึ่งก็ควรจะเป็นอาหารแบบพืชเป็นหลักคืออาหารที่มีพืชผักผลไม้ถั่วนัทแยะๆ เนื้อสัตว์ถ้าจะกินก็ให้น้อยๆและกินแค่ปูปลากุ้งหอยก็พอ

และเนื่องงานวิจัยนี้เจาะจงทำกับแพทย์ที่หน้างานโดยตรง ผมจึงขอถือโอกาสใช้หลักฐานนี้เรียกร้องตรงนี้เสียเลยว่าขอให้เจ้านาย (อันได้แก่ผอ.รพ.) ของแพทย์พยาบาลเหล่านั้นตั้งงบพิเศษส่งอาหารเสริมพิเศษที่ประกอบด้วยสลัดหนึ่งจานและผลไม้สองลูกให้แพทย์พยาบาลและพนักงานหน้างานโควิดทุกคนทุกเวรนอกเหนือไปจากข้าวห่อหรือข้าวเหนียวหมูปิ้งซึ่งเป็นอาหารหลัก ผมเองก็เคยเป็นผอ.รพ.มาหลายแห่งหลายปีจึงพอจะรู้ว่าเรื่องแค่นี้ผอ.รพ.ที่รักลูกน้องจริงทำได้อยู่แล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Kim H, Rebholz CM, Hegde S, LaFiura C, Raghavan M, Lloyd JF, Cheng S. and Seidelmann SB. Plant-based diets, pescatarian diets and COVID-19 severity: a population-based case–control study in six countries. BMJNPH 2021;4:e000272. doi:10.1136/bmjnph-2021-000272