Latest

หมอสันต์พูดกับสมาชิกสมาคมแพทย์สตรี

สวัสดีครับ ผมดีใจที่ได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกับเพื่อนแพทย์ในครั้งนี้ มันเป็นโอกาสที่หายากที่พวกเราซึ่งเป็นหมอมีแต่ธุรยุ่งจะได้มานั่งคุยกันแบบสบายๆอย่างนี้ ผมว่าเราคุยกันไปแบบมีเรื่องอะไรอยากคุยกันก็คุยก็แล้วกันนะ อย่าไปตั้งวาระว่าจะต้องพูดในประเด็นนั้นประเด็นนี้ ดังนั้นให้คุณหมอตุ่นในฐานะพิธีการชวนคุยมาได้ทุกเรื่อง เอาแบบกันเองและไม่เป็นทางการก็แล้วกัน

พญ.วริศรา

อยากให้อาจารย์เล่าเรื่องการฟื้นฟูตัวเองจากอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในเรื่องจิตใจว่าทำอย่างไร

นพ.สันต์

หลายท่านคงทราบแล้วว่าผมประสบอุบัติเหตุตกจากหลังคา คงไม่ต้องไปพูดว่าทำไมตกจากหลังคานะเพราะมันเป็นประเด็นทางเทคนิคหรือทางช่าง พูดถึงทางช่างขออนุญาตนอกเรื่องนิดหนึ่ง พอรถฉุกเฉินมารับไปรพ.ชลประทานซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เข้าห้องเอ็กซเรย์ เทคนิเชียนเอากรรไกรตัดกางเกงยีน เจอของในกระเป๋าจึงล้วงออกมาแล้วร้องว่า

“โอ้โฮ..ลุงนี่เป็นช่างอาชีพเลยนะเนี่ย พกไขควงในกระเป๋าตลอดเวลาเลย”

กลับเข้าวาระต่อดีกว่า ว่าผมฟื้นฟูตัวเองมาโดยอาศัยปัจจัยอะไรช่วย ตัวช่วยที่ 1 คือ การยอมรับ (acceptance) คืออะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นแล้ว ผมยอมรับมัน ผมหล่นลงพื้นดินโครม พอตั้งหลักได้มองเห็นแขนตัวเองร่องแร่งสองข้าง ผมยอมรับว่ามันหักแล้วทั้งคู่ แล้วก็ทดสอบกระดิกหัวแม่มือหัวแม่เท้า กระดิกได้ แต่ส่วนอื่นร่างกายกระดิกไม่ได้เลย ผมก็ประเมินตัวเองแบบนิ่งๆว่า spinal cord ยังดีอยู่ แต่ผมมั่นใจว่า ณ นาทีนั้นหากผมกระดิกหัวแม่เท้าไม่ได้ ผมก็ยอมรับแบบนิ่งๆว่าผมเป็นอัมพาตแล้ว เพราะมันเป็นหลักธรรมประจำใจของผมว่าเมื่อเกิดอะไรขึ้นผมยอมรับมันตามที่มันเป็น ยอมรับให้ทุกอย่างผ่านเข้ามาในชีวิตแล้วผ่านออกไป ไม่กอดยึดสิ่งที่ชอบ ไม่หนีสิ่งที่ไม่ชอบ นั้นเป็นปัจจัยแรกที่ช่วยการฟื้นตัวของผม

การยอมรับก็คือการปล่อยวางนั่นแหละ มันทำให้มีความสุขสงบเย็นนะ ตอนผมป่วยหนักร่อแร่ผมสงบเย็นเป็นสุขดีมาก เทียบกับตอนนี้ซึ่งเริ่มเดินเหินทำกิจกรรมได้แล้วก็ชักจะไม่สงบเย็นแล้วเพราะความอยากทำนั่นทำนี่เริ่มเข้ามาหา ผมต้องคอยเตือนตัวเองให้นึกถึงตอนป่วยหนักว่าผมมีความสุขมากกว่าตอนนี้นะ

คนไข้ของผมที่เป็นมะเร็งแล้วเกิดหายขึ้นมาก็พูดแบบนี้นะ ตอนถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ตายแน่ ใจมันยอมรับ ก็สงบเย็น หันมาใช้ชีวิตไปวันๆอย่างสงบเย็นไม่วิ่งตามหรือวิ่งหนึอะไรอีกแล้ว มีความสุขมาก พอหมอบอกว่าเอ็กซเรย์ปอดซ้ำมะเร็งหายเกลี้ยงแล้ว แทนที่จะมีความสุข กลับพบว่าตัวเองเริ่มมีความทุกข์มากขึ้น ความอยากหน้าเดิมๆก็เริ่มกลับเข้ามา เปลี่ยนงานดีไหม ไม่ตายแล้วนี่ จะได้มีรายได้มากขึ้น อย่างนี้เป็นต้น ฉนั้นผมสรุปตรงนี้ก่อนนะเดี๋ยวจะลืม ว่าไม่ใช่จะตายจะไม่ตาย จะเป็นมะเร็งหรือไม่เป็นหรอกที่เป็นตัวกำหนดความสุข แต่การยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่เดี๋ยวนี้ตามที่มันเป็นต่างหาก ที่เป็นตัวกำหนดความสุข

พญ.วริศรา

แล้วอะไรเป็นเหตุให้อาจารย์รีบฟื้นฟูตัวเอง เพราะตอนตุ่นไปเยี่ยมอาจารย์จะแขนสองข้างอยู่ในเฝือกจะพลิกข้างนี้ก็ปวด ข้างนั้นก็ปวด อาจารย์ฟื้นฟูตัวเองแบบรีบเกินไปหรือเปล่า

นพ.สันต์

อ้า..โอเค. มันเป็นเรื่องของปัจจัยที่สองคือ เมตตาธรรม ในใจเรา คือพอตัวเราป่วยหนัก มีคนเดือดร้อนเพราะเราเยอะมาก ที่มากที่สุดก็คือลูกเมีย ต้องมาอดหลับอดนอนคอยพลิกตัวเช็ดอึเช็ดฉี่ให้เรา เพราะนอกจากแขนหักสองข้างแล้ว ผมยังมี fracture spine และ fracture pelvis อีกด้วย ด้วยเมตตาที่มีต่อคนรอบข้างที่ต้องมาเดือดร้อนผมต้องทำอะไรให้พวกเขาเดือดร้อนน้อยที่สุด ตื่นนอนแต่เช้าผมต้องร้องเพลงเย็นๆออกมาดังๆเพื่อให้ลูกเมียซึ่งนอนเฝ้าอยู่มีความผ่อนคลายสบายใจ พยาบาลบอกว่าเพลงของผมดังออกไปถึงทางเดินในวอร์ด แล้วผมก็มาคิดว่าถ้าผมทำตัวแบบคนไข้ทั่วไป คนแก่อายุใกล้เจ็ดสิบหลังหักสะโพกหักขยับตัวไม่ได้เลย ก็ต้องนอนเตียงสองสามเดือน ซึ่งกล้ามเนื้อมันต้องลีบหมด แล้วผมก็จะกลายเป็นคนพิการต่อไปอีกเป็นปีหรือหลายปีกว่าจะฟื้นฟูตัวเองได้ หรืออาจฟื้นฟูตัวเองไม่ได้เลย ไม่ได้..ไม่ได้ มันมีทางเลือกอื่น คือผมจะต้องฟื้นฟูตัวเอง จะไปรอนักกายภาพบำบัดทำให้มันไม่ทันกิน หลังผ่าตัดได้เก้าวันผมขอออกจากโรงพยาบาลไปอยู่มวกเหล็กเลยเพื่อไปฟื้นฟูตัวเองที่นั่น แล้วก็ออกกำลังกายทุกชั่วโมงตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนจนผมลุกขึ้นมาเดินได้ใกล้เคียงปกติในเวลาสองเดือน ทั้งหมดนี้เป็นแรงผลักดันจากเมตตาธรรมในใจที่มีต่อคนรอบข้าง ไม่อยากให้พวกเขาต้องเดือดร้อน

พญ.วริศรา

ตอนที่นอนนิ่งๆอยู่บนเตียง อาจารย์ไม่มีความคิดหดหู่ซึมเศร้าบ้างเลยหรือคะ

นพ.สันต์

ไม่มีเลยครับ ความหดหู่ซึมเศร้าเป็นความคิดนะ มันเป็นความคิดที่อยากจะหนีไปจากปัจจุบัน อย่ารับรู้มันเลยหนีมันไปดีกว่า ผมไม่มีความคิดอย่างนั้น เพราะมันตั้งต้นด้วยการมีความสงบเย็นจากการยอมรับก่อน ไม่กอดยึดอะไร ไม่หนีอะไร พอใกล้ตาย ใจมันอยู่ตรงกลางๆนิ่งดีมาก แต่ถ้าเผลอมันก็เริ่มมีตัวแทรกแซงนะ มันปลอมมาในรูปแบบความคิดบวกก่อน คือมันจะมาในรูปแบบของความปลื้มปิติให้เราหลงไปกับความดีใจ เอาตั้งแต่ไม่กี่นาทีที่หล่นลงมานอนแอ้งแม้งบนพื้นดินเลย พอรถพยาบาล 1669 มาถึง พวกเวชกรฉุกเฉินเขาก็กรูกันเข้ามาขยันขันแข็งเอาเปลตักมาตักเอาตัวผมขึ้นและร้องสั่งงานกันกระฉับกระเฉง ผมหลับตาฟังพวกเขาทำงานแล้วบังเกิดความปลื้มปิติแทบน้ำตาไหล เพราะช่วงหนึ่งของชีวิตผมเคยช่วยหมอสมชายและหมอแท้จริงในการสร้างให้ระบบรถฉุกเฉินนี้เกิดขึ้นและพ้ฒนามาซึ่งสมัยนั้นเราเรียกว่าศูนย์นเรนทร หนังสือคู่มือฝึกอบรมเวชกรฉุกเฉินเล่มแรกที่พวกนี้ใช้เรียนก็ผมนี่แหละเป็นบรรณาธิการร่วมกับหมอสมชายและผมเป็นคนถ่ายรูปประกอบหนังสือเองทั้งหมดด้วย การสอนการช่วยชีวิตพวกเวชกรฉุกเฉินก็ผมนี่แหละเป็นครูใหญ่ พอมีความปลื้มหรือความดีใจเข้ามา ผมก็ต้องเตือนตัวเองว่าเอ๊ะ เมื่อกี้นิ่งๆอยู่ดีๆ นี่กำลังเผลอเข้าไปกอดสิ่งที่ชอบเสียแล้วนะ เพราะหากผมยอมให้ตัวเองไปกอดสิ่งที่ชอบ เดี๋ยวผมก็จะวิ่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบ ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า acceptance ก็จะใช้ไม่ได้

พญ.วริศรา

แล้วการรับมือกับความปวดละ อาจารย์มีวิธีอย่างไร

นพ.สันต์

ใช่ มันปวดมาก หลังหัก แขนหัก สะโพกหัก ไม่ปวดก็โกหกแล้ว วิธีรับมือของผมก็คือยอมรับมันตามที่มันเป็น ทำความรู้จักคุ้นเคยกับมันว่าอ้อ เวลาปวดสาหัสสากรรจ์มันเป็นอย่างนี้นี่เองหนอ พูดถึงปวดผมขอนอกเรื่องหน่อยนะ วันที่ผมหล่นจากหลังคา ผมเรียกรถฉุกเฉินของพญาไท2 ไปรับผมมาจากรพ.ชลประทาน ก่อนออกมาผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะช็อกเพราะตั้งแต่บ่ายสองถึงสองทุ่มทำงานอยู่บนหลังคาแดดร้อนเปรี้ยงตลอดไม่ได้กินข้าวกินน้ำเลย และผมคาดว่าสะโพกผมคงหักและมีเลือดออกข้างในเป็นจำนวนมาก จึงบอกคุณหมอหนุ่มที่ดูแลว่าร่างกายผมขาดน้ำมากเพราะอดน้ำมาหลายชั่วโมง ท่านเหลือไปมองหยดน้ำเกลือแล้วว่า

“นี่ก็ให้ชั่วโมงละ 100 ซีซี.แล้วนะ อายุมากให้มากเดี๋ยวน้ำท่วมปอดแล้วจะยุ่ง”

ผมได้ฟังก็จึงเงียบเสีย พอใกล้จะต้องเดินทางออกจากอีอาร์ คุณหมอหนุ่มมาบอกว่าจะฉีดมอร์ฟีนให้นะจะได้ไม่ปวดขณะเดินทาง ผมรีบร้องห้ามเสียงหลงว่า

“โอ ไม่ต้องครับ ไม่ต้อง ผมไม่ปวดเลยสักนิด”

ที่ต้องโกหกไปเพราะผมกลัวโดนมอร์ฟีนขณะ volume ต่ำแล้วผมจะช็อกไประหว่างเดินทาง ทำให้ผมได้รับรู้ความปวดระดับถึงกึ๋นทุกช็อตที่รถกระดอนๆแล้วกระดูกมันขบกันดังกรอบๆ

สรุปว่าผมรับมือการปวดด้วยการยอมรับ เอาความปวดนั่นแหละเป็นเพื่อนให้ทำความรู้จัก ยาแก้ปวดและยา NSAID หลังผ่าตัดก็ไม่กินเลย ใช้วิธี feel มัน วิธีนี้ทำให้ความคิดหายไปด้วยนะ เพราะเมื่อเราอยู่กับ feeling ทางร่างกาย ความคิดจะไม่มี เป็นการยิงนกทีเดียวได้สองตัว คืออยู่กับความปวดได้ด้วย ได้สมาธิไม่ฟุ้งสร้านด้วย

พญ.วริศรา

แล้วการออกกำลังกายฟื้นฟูตัวเอง อาจารย์มีหลักอย่างไร

นพ.สันต์

ไม่มีหลักอะไรพิศดารมากไปกว่าฟังคำอบรมสั่งสอนของนักกายภาพบำบัดแล้วขยันทำตาม แขม่วตรงนั้น ขมิบตรงนี้ ผมทำตามหมด แต่ว่าผมทำมากกว่าที่นักกายภาพสั่ง คือนักกายภาพบอกให้ทำ 10 ครั้ง ผมทำ 10×10 เป็นต้น คือทำทั้งวัน

พญ.วริศรา

อาจารย์ใช้ดนตรีและเต้นรำในการฟื้นฟูตัวเองด้วย

นพ.สันต์

มันมีประโยชน์ในการฝึกเดิน ซึ่งผมเริ่มด้วยการเดินโดยอาศัยกายอุปกรณ์คือล้อเข็นหัดเดินก่อน แล้วก็ฝึกเดินในน้ำแบบที่เขาเรียกว่าธาราบำบัด แล้วก็มาหัดเดินโดยไม่มีล้อเข็นซึ่งเป็นขั้นตอนยาก ต้องอาศัยดนตรีและจังหวะการเต้นรำช่วย ไม่งั้นทิ้งล้อเข็นไม่ได้ การจะทิ้งล้อเข็นได้ เราต้องยืนเกาะล้อเข็นซอยเท้าให้ได้ก่อน ถ้าไม่มีดนตรีมันซอยเท้าไม่ออก เพราะสะโพกและขามัน stiff สั่งให้ขยับมันไม่อยากขยับ ต้องอาศัยขยับทั้งตัวตามเสียงดนตรี มันก็ค่อยๆซอยเท้าได้ แล้วก็ออกเดินแบบ marching ไปตามจังหวะดนตรี แล้วก็ใช้จังหวะเต้นรำฝึกการเดินสลับขา ฝึกเดินช้าตามจังหวะบีกินก่อน แล้วก็มาเดินเร็วตามจังหวะชะ ชะ ช่า ทำแบบนี้ในที่สุดก็เดินได้ใกล้เคียงปกติ แต่ยังไม่ปกตินะ ยังต้องพยายามไปอีก

พญ.วริศรา

มีคำถามฝากถามว่าให้อาจารย์เล่าวิธีทำสมาธิหน่อยว่าทำอย่างไร

นพ.สันต์์

วิธีของผมไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เป็นแค่หลักง่ายๆว่า

“โต๋เต่อยู่คนเดียวในความเงียบ”

คือนั่งเฉยๆ ถอยความสนใจออกมาจากทุกสิ่งทุกอย่าง ถอยออกมาจากความคิดนั้นแน่นอน ต่อมาก็ถอยออกมาจากสิ่งเร้าที่ผ่าน sense organ ทั้งหมดด้วยไม่ว่าจะเป็นภาพหรือเสียง เหลืออยู่แต่ความรู้ตัวที่ไม่มีอะไรเลย เป็นสภาวะที่เขาเรียกว่าฌาณ ทำอย่างนี้ให้ได้สักห้านาที เดี๋ยวก็บรรลุธรรมได้แล้ว

พญ.วริศรา

ต้องนั่งหรือเปล่า เดินจงกลมได้ไหม นอนทำได้ไหม

นพ.สันต์

คือบังเอิญผมมีครูเป็นโยคีอินเดียด้วย หลักของโยคีคือ spinal cord นี้เป็นทางวิ่งของพลังงาน มันต้องตั้งตรงดิ่งไว้ ดังนั้นหลังต้องตั้งตรง คือนอนทำไม่ได้ แต่ท่าอื่นได้ ความจริงถ้าสังเกตให้ดีของพระพุทธเจ้าก็สอนเหมือนกันนะ อย่างอานาปานสติจะตั้งต้นสอนว่า “ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น รู้ตัวว่ากำลังหายใจเข้า กำลังหายใจออก”

ถ้าเจาะเข้าไปให้ลึกอีกหน่อย เทคนิคต่างๆในอานาปานสติก็พูดไว้หมด คือถอยความสนใจออกจากความคิดมาอยู่กับลมหายใจก่อน นี่เป็นเทคนิคที่หนึ่ง แล้วก็ผ่อนคลายร่างกาย muscle relaxation “เราจักทำร่างกายนี้ให้ผ่อนคลาย” นี่เป็นเทคนิคที่สอง แล้วก็เอาความสนใจมาไว้ที่อาการของร่างกาย “เราจักทำความรู้ตัวทั่วพร้อม” นี่เป็นเทคนิคที่สาม การทำสมาธิของผมก็ไม่หนีเทคนิคพื้นฐานประมาณนี้แหละ

ตรงการผ่อนคลายร่างกายนี้เทคนิคประกอบมันต้องเริ่มที่เราต้องยิ้มให้ออกก่อน เราไปวัดมองหน้าพระประธานในโบสถ์แล้วเราผ่อนคลาย เพราะหน้าพระประธานในโบสถ์ยิ้ม เราเห็นเราก็เผลอยิ้มตาม ไม่เชื่อคุณให้ใครถ่ายวิดิโอดูก็ได้ ความจริงมีคนที่ฮาร์วาร์ดทำวิจัยเรื่องนี้ไว้ เขาเรียกว่า emotional contagion คืออารมณ์และความเครียดถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งโดยการเลียนสีหน้ากัน ทุกเทคนิคทำจบได้ในลมหายใจเดียว หายใจเข้าลึกๆ ยิ้ม แล้วค่อยๆผ่อนลมหายใจออก ผ่อนคลายร่างกาย ปลายของการหายใจออกก็รับรู้ความรู้สึกซู่ซ่าบนผิวกาย หนึ่งลมหายใจ ใช้หมดทุกเทคนิค

พญ.วริศรา

การวางความคิดมันวางยาก บางช่วงทำได้ ช่วงนี้ทำไม่ได้

นพ.สันต์

พวกเราซึ่งเป็นหมอถูกสอนให้เป็นคนเจ้าความคิด เราจึงตกอยู่ในวงจรย้ำคิดถอนตัวไม่ขึ้น ลองใช้เทคนิคสังเกตความคิดจากข้างนอก คือแอบชำเลืองดูทีละแว้บว่าเมื่อตะกี้เราคิดอะไรอยู่ เหมือนเราทำกับข้าวแล้วทิ้งลูกน้อยไว้กลางห้อง ต้องคอยชำเลืองดูว่าลูกยังอยู่ตรงนั้นดีอยู่หรือเปล่า เรียกว่า aware of a thought ไม่ใช่ thinking a thought นะ

การวางความคิดให้ได้นี้มันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสืบโคตรเหง้าศักราชไปเถอะ ทุกความคิดล้วนชงขึ้นมาโดยอีโก้ของเราทั้งนั้น หากเราวางความคิดไม่ได้ ก็แปลว่าอีโก้ของเรายังไม่หายไปไหน เราก็จะยังไปไหนไม่รอด เพราะติดกับดักอีโก้นี้อยู่

พญ.วริศรา

เมื่อความคิดหมดแล้ว มันจะเหลืออะไร

นพ.สันต์

ถ้าเป็นคนอาชีพอื่นอาจจะไม่เข้าใจคำตอบนี้นะ แต่พวกเราเป็นหมอเข้าใจได้ง่าย เมื่อความคิดหมด จะเหลืออยู่อย่างเดียวอยู่ข้างในคือ..เมตตาธรรม คือองค์ประกอบความเป็นชีวิตของเรานี้เมื่อปอกเปลือกนอกออกไปหมดแล้วจะเหลือแต่เมตตาธรรม

พญ.วริศรา

อาจารย์ช่วยสรุปให้หน่อย ว่าอาจารย์ฟื้นฟูตัวเองมาด้วยอะไรบ้าง

นพ.สันต์

(1) ก็คือการยอมรับ (2) อาศัยเมตตาธรรมต่อคนอื่นผลักดันตัวเอง (3) ตั้งใจไว้ตรงกลางไม่กอดรัดไม่หนีอะไร (4) การเอาความปวดเป็นเพื่อนให้เฝ้าดูมัน (5) การออกกำลังกายตามนักกายภาพสอนแต่ขยันทำเป็นสิบเท่า (6) การใช้ดนตรีและการเต้นรำ (7) ผมอาศัยแสงแดดและธรรมชาติรวมทั้งเดินเท้าเปล่าด้วย (8) ในเรื่องอาหารผมกินอาหารมังสวิรัติ (9) ผมใช้การบำบัดแผนไทยและแผนอายุรเวดะด้วย ไม่ว่าจะเป็นนวด ประคบ อบไอน้ำ ย่างไฟ ลองใช้ดูหมด

พญ.วริศรา

มีผู้ฝากถามว่าอาจารย์กินมังสวิรัติตั้งแต่เมื่อไหร่

นพ.สันต์

สิบห้าปีได้แล้วมั้ง ตอนอายุ 55 ตอนนั้นเป็น ischemic heart disease แล้วกลัวไม่อยากสวนหัวใจทำบอลลูนหรือผ่าตัด ก็พยายาม review literature ก็พบว่ามีอยู่สองสามเปเปอร์ที่ใช้วิธีเปลี่ยนอาหารมากินแต่พืชแล้วโรคมันถอยกลับได้ documented โดยการติดตามสวนหัวใจเป็นระยะๆ ผมจึงเริ่มตั้งแต่ตอนนั้น และเป็นจุดที่เลิกเป็นหมอผ่าตัดหัวใจด้วย เพราะการไม่ยอมรับวิธีที่เราใช้รักษาคนไข้เป็นการทรยศต่อวิชาชีพตัวเองใช่ไหม เราจะตากหน้าทำต่อไปได้อย่างไร

คือผมมีความเห็นว่าอาหารมังสวิรัติเป็นอาหารที่ทำให้มีสุขภาพดี ถ้าเราดู standard guideline ของการรักษาโรคเรื้อรังทุกโรคเลยนะ จะเหมือนกันหมดคือแนะนำให้กินอาหารพืชผักผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งนี่ guideline บอกชัดเลยว่าให้ลดเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและ processed meat โรคเบาหวานก็เหมือนกัน มีงานวิจัยระดับ RCT พิสูจน์ว่าอาหารพืชเป็นหลักทำให้คนไข้เลิกยาเบาหวานได้

พญ.วริศรา

เราเป็นหมอแล้วไปเป็นคนไข้ อาจารย์มีอะไรแนะนำไหม

นพ.สันต์

เมื่อป่วยความเป็นหมอไม่มี เหลือแต่ความเจ็บปวดของร่างกายและความไม่แน่นอนสาระพัด มีความแน่นอนชัวร์ๆอยู่อย่างเดียวที่อยู่ข้างๆตัว..คือความตาย ทั้งหมดนี้ความเป็นหมอไม่อาจบดบังได้ ดังนั้นพวกเราที่เป็นหมอมาตั้งแต่หนุ่มสาวจนเป็นผู้ใหญ่อย่าอยู่กับความเป็นหมอมากเกินไป ต้องหาเวลาอยู่นอกความเป็นหมอบ้าง คือฝึกเป็นคนธรรมดาบ้าง ไม่งั้นเวลาป่วยมาแล้วจะกลับตัวไม่ทันก็จะกลายเป็นผู้ป่วยที่ “ไม่เก๊ท” ความจริงเหล่านี้ แล้วความเจ็บป่วยจะทำให้เราเป็นทุกข์มากกว่าชาวบ้าน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………………………..