Latest

ยาลดไขมันกับประเด็นผลข้างเคียงที่ต้องรู้ 5 ประเด็น

เรียนนายแพทย์สันต์

ดิฉันกินยาลดไขมัน atorvastatin วันละ 20 มก. แต่สังเกตจากผลเลือดในสองสามปีที่ผ่านมา น้ำตาลในเลือดของดิฉันค่อยๆเพิ่มขึ้นจนเกิน 100 มาได้สามปีแล้ว ครั้งสุดท้ายคือ 110 ได้อ่านที่คุณหมอสันต์เคยเขียนว่ากินยาลดไขมันจะมีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้น จึงถามคุณหมอที่ดูแลว่าจะทำอย่างไร หมอตอบว่าที่ว่ายาลดไขมันทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้นนั้นไม่เป็นความจริง ให้กินยาลดไขมันต่อไปได้ ส่วนเบาหวานจะเกิดไม่เกิดก็เรื่องของมัน เกิดแล้วค่อยมาว่ากัน ซึ่งเป็นคำตอบที่ดิฉันไม่ค่อยศรัทธาเท่าไหร่ อยากถามคุณหมอสันต์ถึงเรื่องนี้และขอคำแนะนำว่าดิฉันควรจะทำอย่างไรต่อไปดี
ขอบพระคุณค่ะ

…………………………………………………

ตอบครับ

ถามว่ายาลดไขมัน (ยาในกลุ่ม statin) เป็นต้นเหตุให้เกิดเบาหวานได้ไหม ตอบว่า “ได้ครับ” อันนี้ไม่ใช่ความลับอะไร วงการแพทย์รู้มาหลายปีแล้ว การเกิดเบาหวานเป็นผลข้างเคียงอย่างหนึ่งของการกินยาลดไขมัน ถ้าอ่านฉลากให้ละเอียดเขาก็เขียนไว้เพียงแต่เขียนตัวเล็กคุณต้องใช้แว่นขยายส่องจึงจะเห็น สำหรับยา rosuvastatin นั้นมีงานวิจัยหนึ่งชื่องาน JUPITER trial [1]  เปรียบเทียบคนกินยานี้กับยาหลอก พบว่าคนกินยา rosuvastatin เป็นเบาหวานมากกว่าคนกินยาหลอก 27% ยา statin ทุกตัวออกฤทธิ์เหมือนกัน แต่นับถึงวันนี้ยังไม่มีข้อมูลจากการวิจัยเปรียบเทียบครับว่าตัวไหนดีกว่าตัวไหน มีแต่ข้อมูลเทียบกับยาหลอกแบบของใครของมัน ซึ่งภาพรวมก็ไม่แตกต่างกันครับ คือทำให้เป็นเบาหวานได้ทุกตัว

เมื่อหลายปีก่อนก็มีการตีพิมพ์งานวิจัยที่เอาข้อมูลจากศูนย์รักษาเบาหวาน 27 แห่งทั่วสหรัฐ ตามดูคนไข้ที่ยังไม่เป็นเบาหวานกว่า 3,234 คน นาน 10 ปี โดยเจาะน้ำตาลในเลือดปีละสองครั้งและบันทึกการใช้ยาลดไขมันด้วย ตอนเริ่มการวิจัยมีคนกินยาลดไขมัน 4% ตอนท้ายการวิจัยมีคนกินยาลดไขมันราวหนึ่งในสาม ส่วนใหญ่เป็นยา simvastatin (Zocor) และ atorvastatin (Lipitor) พบว่ากลุ่มที่ใช้ยาลดไขมันเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 33-37% โดยที่แม้จะแยกเอาปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานออกไปแล้วอัตราการเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นในคนใช้ยาลดไขมันก็ยังคงอยู่

อีกงานวิจัยหนึ่งวิจัยผู้ประกันตนของโครงการประกันสุขภาพที่โอไฮโอซึ่งไม่ได้เป็นเบาหวานจำนวน 7,064  คนซึ่งล้วนไม่ได้ยาลดไขมันตอนเริ่มวิจัยและทุกคนมีน้ำตาลในเลือดปกติ ต่อบางส่วนได้เริ่มกินยาลดไขมันและบางส่วนเริ่มมีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ พบว่ากลุ่มที่กินยาลดไขมันมีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติมากกว่ากลุ่มไม่กินถึงเท่าตัว งานวิจัยนี้มีข้อมูลประกอบที่ช่วยแยกปัจจัยกวนได้ค่อนข้างละเอียดจนผู้วิจัยกล้าพูดว่ายาลดไขมันมีโอกาสมาก..ก ที่จะเป็นสาเหตุของการทำให้น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ

ถามว่าแล้วคนที่ไขมันในเลือดสูงด้วย กลัวเป็นเบาหวานด้วย จะทำอย่างไรดี ตอบว่า ชีวิตคนเรานี้ ได้อย่างมันก็ต้องเสียอย่างแหละครับ อย่าเป็นคนคิดจะเอาแต่ได้เลย มันไม่ดีนะ แหะ..แหะ พูดเล่น คือในทางการแพทย์ทุกอย่างมีทั้งประโยชน์และความเสี่ยง ต้องตัดสินใจโดยเปรียบเทียบความเสี่ยงและประโยชน์ แล้วเลือกใช้ยาถ้าประโยชน์มันมากกว่าความเสี่ยง ในประเด็นนี้สำหรับยา rosuvastatin ก็มีคนทำวิจัยไว้นะ เป็นการศึกษาในคนถึงกว่า 17,000 คนโดยให้กินยาจริงเทียบกับยาหลอกแล้วตามไปดู แล้วก็พบว่าคนกินยาจริงรอดจากการเกิดเรื่องร้ายจากโรคหัวใจหลอดเลือด 134 ราย ขณะที่แจ๊คพอตได้เบาหวานเกิดขึ้นใหม่เป็นโรคแถม 54 ราย หักลบกันแบบคณิตศาตร์ชั้นประถมก็สรุปได้ว่าการใช้ยานี้ได้ประโยชน์จากการป้องกันโรคหัวใจมากกว่าโทษจากการเกิดเบาหวาน นี่เป็นข้อสรุปของวงการแพทย์และวงการยานะครับ คนไข้ในฐานะผู้บริโภคก็มีสิทธิ์ใช้ดุลพินิจของตัวเองได้ จะมองว่าเข้าท่าหรือไม่เข้าท่าก็โปรดตรองดูเอง

วันนี้ไหนๆพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับยาลดไขมัน (statin) แล้ว ผมขอสรุปประเด็นสำคัญว่ามันมี 5 ประเด็นดังนี้ 

ประเด็นที่ 1. ยาลดไขมันสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวาน 27-37% อย่างที่ผมได้จาระไนไปแล้ว

ประเด็นที่ 2. หากใช้ยาลดไขมันกดไขมันเลว (LDL) ในเลือดให้ต่ำกว่า 70 จะเกิดเลือดออกในสมองมากขึ้น เรื่องราวแบบนี้มีรายงานไว้ในวารสารทางสมอง [4] ไม่รายงานในวารสารทางหัวใจ

ประเด็นที่ 3. ยาลดไขมันทำให้ปวดและกล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ยเพลียแรง ที่พาลชักนำไปสู่การลื่นตกหกล้ม ปัญหาผลเสียของกล้ามเนื้อจากยาสะแตตินนี้หากเราอ่านฉลากยาจะพบว่าเกิดในเปอร์เซ็นต์ที่ไม่มาก เพราะงานวิจัยที่เป็นที่มาของข้อมูลในฉลากยานั้นเป็นงานวิจัยในคนอายุน้อยที่บริษัทยาทำวิจัยตอนยื่นขอสิทธิบัตร แต่งานวิจัยแบบตัดขวางในทุกอายุของจริงในแคนาดาพบว่าผู้ป่วยสูงอายุกินสะแตตินแล้วมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อมากถึง 20% [5] หรือหนึ่งในห้าเลยเชียวนะ เช่นเดียวกัน งานวิจัยสำรวจการใช้สะแตตินในสหรัฐ [6] ก็พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ 29% 

ประเด็นที่ 4. คนอายุมาก (65 ปีขึ้นไป) ยิ่งมีไขมันในเลือดต่ำยิ่งตายเร็ว [7, 8] นี่พูดถึงอัตราตายรวมนะ และงานวิจัยเจาะจงดูอัตราตายคนสูงอายุที่ใช้ยาลดไขมันจำนวนหนึ่งเช่นงานวิจัย AFCAPS/TexCAPS) [9], งานวิจัย ALLHAT-LLT[10], งานวิจัย PROSPER [11] ล้วนให้ผลไปทางเดียวกันว่ายาลดไขมันไม่ได้ลดอัตราตายในผู้สูงอายุเลย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีงานวิจัยอีกจำนวนหนึ่ง เช่น งานวิจัย CARDS [12] งานวิจัย MEGA [13] ให้ผลบ่งชี้ว่ายาลดไขมันลดอัตราตายผู้สูงอายุได้ เพราะฉะนั้นในประเด็นคุณประโยชน์ของยาลดไขมันในผู้สูงอายุนี้ข้อมูลยังแย้งกันอยู่ ยังสรุปไม่ได้ว่ามีหรือไม่มีประโยชน์

ประเด็นที่ 5 ยาลดไขมันสัมพันธ์กับการขี้หลงขี้ลืม ซึ่งอาการกลับดีขึ้นเมื่อหยุดยา [14] ส่วนที่ว่ายานี้จะทำให้สมองเสื่อมในระยะยาวหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าดูกันต่อไป ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่ายานี้จะทำให้สมองเสื่อมถาวรแต่อย่างใด  

มันมีทางเลือกอื่นนะ

ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืมว่ามันมีอีกวิธีหนึ่งที่จะลดอัตราตายจากโรคหัวใจลงโดยไม่ต้องใช้ยาลดไขม้นนะ นั่นก็คือโดยการเปลี่ยนอาหารซะ เพราะงานวิจัยทางการแพทย์ พิสูจน์ได้แล้วว่าอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (low fat PBWF) เป็นอาหารที่ทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจถอยกลับได้ ลดอาการเจ็บหน้าอกลงได้ถึง 97% ในเวลาหนึ่งปี ทำให้หยุดใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวานได้ถึง 43% ในเวลาหกเดือน ลดน้ำหนักเฉลี่ยลงได้ถึง 6.3 กก. ในหกเดือน ลดความดันเลือดลงตัวบนลงได้เฉลี่ย 11 มม.ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ และลดไขมันเลว (LDL) ในเลือดได้มากโดยจำแนกตามชนิดอาหารที่กินกับไขมันเลวที่วัดได้ ดังนี้ [15] 

– พวกกินเนื้อสัตว์แบบตามใจชอบ มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 123.43 มก./ดล.

– พวกมังสะวิรัติแบบกินนมกินไข่ (lacto-ovo) มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 101.47 มก./ดล.

– พวกมังสะวิรัติแบบกินนม (lacto vegetarian) มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 87.71 มก./ดล.

– พวกมังสะวิรัติแบบเข้มงวดไม่กินนมไม่กินไข่ (vegan) มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 69.28 มก./ดล.

เห็นไหมว่าจะลดไขมันลงโดยไม่ใช้ยาลดไขมันนั้นทำได้แน่นอน ทำได้จริง ทำได้ไม่ยาก ถ้ายอมเปลี่ยนอาหาร แล้วทำไมคุณไม่ลองทำตรงนี้ดูก่อนละครับ ก่อนที่จะไปโวยวายว่ากินยาลดไขมันแล้วจะเป็นเบาหวานแล้วจะให้ดิฉันทำยังไง..

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.      Ridker P, et al “Cardiovascular benefits and diabetes risks of statin therapy in primary prevention: an analysis from the JUPITER trial” Lancet 2012; 380: 565-571.
2. Crandall JP, Mather K, et al. on behalf of the DPPRG. Statin use and risk of developing diabetes: results from the Diabetes Prevention Program. BMJ Open Diabetes Res Care. 2017; 5(1): e000438. doi: 10.1136/bmjdrc-2017-000438
3. Victoria A. Zigmont, Abigail B. Shoben, Bo Lu, Gail L. Kaye, Steven K. Clinton, Randall E. Harris, Susan E. Olivo‐Marston. Statin users have an elevated risk of dysglycemia and new‐onset‐diabetes. Diabetes/Metabolism Research and Reviews, 2019; e3189 DOI: 10.1002/dmrr.3189

4. Chaoran MaM. Edip GurolZhe HuangAlice, H. LichtensteinXiuyan WangYuzhen WangSamantha NeumannShouling WuXiang Gao. Low-density lipoprotein cholesterol and risk of intracerebral hemorrhage: A prospective study. 

5. Anderson TJ, Grégoire J, Hegele RA, et al. 2012 update of the Canadian Cardiovascular Society guidelines for the diagnosis and treatment of dyslipidemia for the prevention of cardiovascular disease in the adult. Can J Cardiol. 2013;29:151–167. [PubMed]
6. Richardson K, Schoen M, French B, et al. Statins and cognitive function: a systematic review. Ann Intern Med. 2013;159:688–697.[PubMed]

5. Corti MC, Guralnik JM, Salive ME, et al. Clarifying the direct relation between total cholesterol levels and death from coronary heart disease in older persons. Ann Intern Med. 1997;126:753–760.[PubMed]
6. Sever PS, Dahlöf B, Poulter NR, et al. Prevention of coronary and stroke events with atorvastatin in hypertensive patients who have average or lower-than-average cholesterol concentrations, in the Anglo-Scandinavian Cardiac Outcomes Trial-Lipid Lowering Arm (ASCOT-LLA): a multicentre randomised controlled trial. Lancet.2003;361:1149–1158. [PubMed]

7. Tilvis RS, Valvanne JN, Strandberg TE, et al. Prognostic significance of serum cholesterol, lathosterol, and sitosterol in old age; a 17-year population study. Ann Med. 2011;43:292–301. [PubMed]
8. Fontana L, Addante F, Copetti M, et al. Identification of a metabolic signature for multidimensional impairment and mortality risk in hospitalized older patients. Aging Cell. 2013;12:459–466. [PubMed]

9. Downs JR, Clearfield M, Weis S, et al. Primary prevention of acute coronary events with lovastatin in men and women with average cholesterol levels: results of AFCAPS/TexCAPS. Air Force/Texas Coronary Atherosclerosis Prevention Study. JAMA. 1998;279:1615–1622. [PubMed]
10. ALLHAT Officers and Coordinators for the ALLHAT Collaborative Research Group Major outcomes in moderately hypercholesterolemic, hypertensive patients randomized to pravastatin vs. usual care: the Antihypertensive and Lipid Lowering Treatment to Prevent Heart Attack Trial (ALLHAT-LLT) JAMA. 2002;288:2998–3007. [PubMed]

11. Shepherd J, Blauw GJ, Murphy MB, et al. Pravastatin in elderly individuals at risk of vascular disease (PROSPER): a randomised controlled trial. Lancet. 2002;360:1623–1630. [PubMed]

12. Neil HA, DeMicco DA, Luo D, et al. Analysis of efficacy and safety in patients aged 65-75 years at randomization: Collaborative Atorvastatin Diabetes Study (CARDS) Diabetes Care. 2006;29:2378–2384. [PubMed]
13. Nakaya N, Mizuno K, Ohashi Y, et al. Low-dose pravastatin and age-related differences in risk factors for cardiovascular disease in hypercholesterolaemic Japanese: analysis of the management of elevated cholesterol in the primary prevention group of adult Japanese (MEGA study) Drugs Aging. 2011;28:681–692. [PubMed]
14. Posvar EL, Radulovic LL, Cilla DD Jr, Whitfield LR, Sedman AJ. Tolerance and pharmacokinetics of single-dose atorvastatin, a potent inhibitor of HMG-CoA reductase, in healthy subjects. J Clin Pharmacol. 1996 Aug; 36(8):728-31.

15. De Biase SG1, Fernandes SF, Gianini RJ, Duarte JL. Vegetarian diet and cholesterol and triglycerides levels. Arq Bras Cardiol. 2007 Jan;88(1):35-9
16. Sattar N, Preiss D, Murray HM, et al. Statins and risk of incident diabetes: a collaborative meta-analysis of randomised statin trials.Lancet. 2010;375:735–742.