Latest

เกษียณแล้วจะให้ทำ 11 อย่าง แต่ทำไม่ได้สักอย่าง

คุณหมอสันต์คะ

มีเพื่อนส่ง 11 ไอเดียการทำธุรกิจสำหรับวัยเก๋ามาให้ มี (1) เป็นนักเขียน (2) เป็นที่ปรึกษาบริษัท (3) ปล่อยเช่าอสังหา (4) ทำอาหาร/ขนม (5) เพราะต้นไม้ขาย (6) ลงทุนหุ้น (7) ทำงานประดิษฐ์/งานฝีมือ (8) ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ (9) ขายของออนไลน์ (10) ขายภาพถ่ายออนไลน์ (11) ล่าม/ไกด์ ตัวฉันอ่านแล้วทั้ง 11 อย่างทำไม่ได้สักอย่าง ทุุกวันนี้เกษียณมาสิบปีแล้วได้แต่อ่านข่าว ฟังข่าว ติดต่อเพื่อนผ่านไลน์และเฟซบุ้ค และอยู่อย่างเรียงง่าย ใช้จ่ายอย่างประหยัดจากบำนาญที่มีอยู่

หมอสันต์มีวิธีเกษียณที่ดีกว่านี้ไหม

………………………………………………………………………………….

ตอบครับ

สิ่งสำคัญในวัยเกษียณคือความสุข จะหาเงินได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ สำคัญที่มีความสุขหรือไม่ เพราะเงินแม้ได้มา ก็ไม่ใช่ตัวกำหนดว่าจะมีหรือจะไม่มีความสุข เพราะความสุขไม่ใช่สิ่งที่จะเอาเงินไปซื้อหามาได้ และไม่ใช่สิ่งที่จะตามหาหรือพบได้ที่ข้างนอก แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่ข้างใน ประสบการณ์จากชีวิตที่ผ่านมาสอนผมว่าความสุขเกิดขึ้นได้จากสองกรณีต่อไปนี้ คือ

(1) การได้พยายามจดจ่อหรือง่วนทำอะไรสักอย่างอย่างเต็มความสามารถ อย่างสุดฝีมือ อย่างสุดพรสวรรค์ที่ตัวเรามี

(2) การได้ให้อะไรแก่ชีวิตอื่นโดยไม่หวังอะไรตอบแทนทั้งสิ้น แม้คำขอบคุณก็ไม่หวัง

คุณพี่ลองใช้เวลาวัยเกษียณด้วยการทำสองอย่างนี้ในแต่ละวันดูสิครับ แล้วค่อยสรุปว่าที่ผมพูดนี้มันเข้าท่าหรือไม่

ผมตั้งใจจะจบจดหมายนี้แล้วเพราะคำตอบของผมได้ครอบคลุมสาระสำคัญที่คุณพี่ถามหมดครบถ้วนแล้ว แต่รู้สึกว่าคำตอบฉบับนี้มันจะสั้นเกินไป จึงขอละเลียดขยายความคำว่าการทำอย่างเต็มความสามารถ สุดฝีมือ สุดพรสวรรค์ที่มีสักหน่อย ในห้าประเด็น

ประเด็นที่ 1. เร็ว แต่ไม่ลน (quick but not hurry) สูงวัยไม่จำเป็นต้องงุ่มง่าม ทุกอย่างที่ทำต้องรวดเร็วกระฉับกระเฉงว่องไวซึ่งหมายถึงสติที่มั่นคงและการประสานงานกันอย่างดีระหว่างสมองกับกล้ามเนื้อในเวลาขณะนี้ แต่ไม่ใช่รีบร้อนลนลานซึ่งหมายถึงความคิดฟุ้งสร้านจมอยู่ในอดีตหรืออนาคตและมักตามมาด้วยอุบัติเหตุลื่นตกหกล้มหรือถูกรถชน

ประเด็นที่ 2. ละเมียด (meticulous details) สูงวัยแต่ไม่จำเป็นต้องทำอะไรลวกๆ งานทุกอย่างมีแง่มุมความละเอียดละออ สอดประสาน ละเมียดละไม ผสานแต่ละกิจกรรมให้ลงตัวเชื่อมต่อกันได้พอดีและดำเนินไปอย่างเป็นจังหวะจะโคน แล้วงานโดยรวมเสร็จพอดีในกรอบเวลาที่คาดหมายไว้ ทำครั้งแรกยังไม่ละเมียด ทำซ้ำอีก ไม่ใช่ว่าผมจะให้บ้าความสมบูรณ์หรือเป็น perfectionist ดอกนะ แต่ให้มีความสุขกับการมุ่งสู่ความสมบูรณ์ Perfection is an impossibility but striving for perfection is a possibility to reach happiness. ยกตัวอย่างเช่นสมมุติว่าคุณพี่วาดรูปออกมาหนึ่งรูป รูปนั้นจะสวยจะไม่สวยคนจะชมหรือจะติไม่สำคัญ แต่สำคัญที่คุณพี่ดูรูปแล้วถามตัวเองว่าตอนที่วาดรูปนี้ได้จดจ่อตั้งใจทำจนสุดฝีมือสุดพรสวรรค์ที่เรามีแล้วหรือยัง ด้วยศักยภาพที่เรามีเราทำให้มันดีกว่านี้อีกได้ไหม ถ้ายังมีคำถามนี้ให้คุณพี่นั่งลงวาดรูปนั้นใหม่โดยตั้งใจพยายามยิ่งกว่าเดิมใส่ใจในรายละเอียดยิ่งกว่าเดิม เสร็จแล้วก็นั่งมองรูปอีก ถามคำถามเดิมอีก วาดใหม่อีก จะต้องวาดซ้ำกี่ครั้งไม่สำคัญ รูปที่ได้มาใครจะชมจะติไม่สำคัญ แต่สำคัญที่มันจะมีจุดหนึ่ง ที่เราชัวร์ว่าเราได้ทำจนสุดฝีมือที่เรามี สุดพรสวรรค์ที่เรามีแล้ว ความสุขมันเกิดขึ้นตอนกำลังพยายามทำให้สุดฝีมือเรานี่แหละ และการได้พยายามจนสุดฝีมือนี้แหละคือความสำเร็จของการทำงานชิ้นนั้น ไม่ใช่ผลงานที่ออกมาว่าดีไม่ดีมีคนชมหรือมีคนติ พูดอีกอย่างว่าความสุขมันอยู่ที่ process ไม่ใช่ที่ outcome

ประเด็นที่ 3. ขยับ (move, move, move) การเล่นไลน์เล่นเฟซไม่มีอะไรเสียหายสำหรับผู้สูงอายุ แต่ถ้ามากไปมันก็ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เพราะการอยู่นิ่งๆนานๆเส้นเอ็นจะพาลหดตัวและกล้ามเนื้อจะลีบเล็กลงแล้วตามมาด้วยการสูญเสียท่าร่างบุคลิกและการเคลื่อนไหวแล้วจบด้วยการลื่นตกหกล้มง่ายกระดูกหักง่าย จะทำอะไรก็เลือกทำเถิดถ้าท่านเห็นว่าดีเห็นว่าชอบ แต่ขอให้แทรกการเคลื่อนไหวร่างกายให้มากๆเข้าไว้ในทุกการกระทำ ตั้งแต่ตื่นก้าวลงจากเตียงจนกลับขึ้นเตียงนอน

ประเด็นที่ 4. ยิ้ม (smile, smile, smile) การยิ้มเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นการวางความคิดลบไปโดยอัตโนมัติเพราะความคิดลบมาพร้อมกับการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ การยิ้มเป็นการอ้าแขนรับวันนี้ (acceptance) หัดมองชีวิตให้เห็นภาพใหญ่ เมื่อวานนี้คนทั่วโลกราวหนึ่งแสนหกหมื่นคนไม่มีโอกาสได้ตื่นขึ้นมามีวันนี้ แต่เรามีโอกาสได้ตื่นขึ้นมามีวันนี้ แค่นี้ก็เป็นเหตุผลมากพอที่เราจะยิ้มรับวันนี้ได้แล้ว

ประเด็นที่ 5. เรียนรู้ แม้สูงวัยแล้วแต่ต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ เรียนรู้ราวกับว่าเราจะอยู่ไปจนชั่วนิรันดร์ แต่ขณะเดียวกันก็ใช้ชีวิตราวกับว่าพรุ่งนี้จะไม่มีแล้ว ฟังดูเป็นวาทะกรรมมากเลยใช่ไหมครับ หิ หิ ผมเปล่าเล่นลิ้น ผมแค่ต้องการ ไฮไลท์เรื่อง exploring กับ living ว่ามันต้องใช้ปรัชญาที่ต่างกัน มันจะใช้ตรรกะของเหตุและผลแบบดุ่ยๆธรรมดาๆไม่ได้

การเรียนรู้ของผู้สูงวัยหมายถึงการเปิดโลกทัศน์สำรวจค้นหา (explore) สิ่งใหม่ๆในแต่ละวัน ไม่ใช่การรีไซเคิลแต่ความจำหรือคอนเซ็พท์เก่าๆบูดๆในหัว ในเรื่องการเรียนรู้นี้ผมบอกใบ้ไว้อย่างหนึ่งนะว่าให้คุณพี่ทดลองสำรวจขุดค้นดูหน่อยเป็นไรว่าพ้นไปจากที่อายตนะทั้งห้ารับรู้ได้แล้วนี้ มันมีการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นเกิดขึ้นได้อีกไหม เป็นไปได้ไหมว่ามันยังมีอะไรที่เราไม่อาจรับรู้ได้ด้วยอายตนะทั้งห้า ผมหมายถึงว่าคุณพี่ก็ต้องทดลองฝึกทำ meditation ลองถอยออกจากการรับรู้ผ่านอายตนะทั้งห้าเสียก่อน แล้วเข้าไปอยู่กับความรู้ตัวในภาวะว่างจากความคิด ตื่นอยู่ในความว่าง แล้วคอยดูซิว่าจะมีอะไรใหม่ๆโผล่มาให้เรียนรู้บ้าง ลองดู ลองดูน่า ไม่มีอะไรเสียหายนี่ครับ ปูนนี้แล้วชีวิตที่ผ่านมาทุกสิ่งที่เข้ามาทางอายตนะทั้งห้าคุณพี่ก็เจนจบหมดแล้วไม่มีข้อสงสัยอะไรอีกแล้วไม่ใช่หรือ ชีวิตที่เหลืออยู่ในแต่ละวันลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในแบบที่ผมว่าดูบ้าง ไม่แน่นะ ที่ผมพูดจั่วหัวไว้ว่า “เรียนรู้ราวกับว่าเราจะอยู่ไปชั่วนิรันดร์” มันอาจจะมีความหมายมากกว่าที่ภาษาไปถึง

สรุปส่งท้ายว่าสูงวัยแล้วจะทำอะไรก็ได้ แต่ให้ทำแบบ เร็ว..ละเมียด..ขยับ..ยิ้ม..และเรียนรู้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน (13 กพ.65)

ที่สุดอีกแล้วครัฟท่าน ไอเดีย12..ทำแปลงเขียวแบบในรูป แบบวิธีธรรมชาติ ต่อสู้กับดินน้ำแดดแมลงราเพลี้ยเน่าแกรน..สุดมันเลย ไอเดีย13.. ปลูกกุหลาบ สัก 2-3 ต้นเพราะมันปราบเซียนดี มันต้องพอดีทุกอย่างจึงรอด สอนเราดีๆ แต่ที่สุดคือ.. เร็ว..ละเมียด..ขยับ..ยิ้ม..และเรียนรู้ ของคุณหมอ ครอบคลุมหมดจดทั้งสุขภาพร่างและจิต ธรรมะล้วนๆตัวเป็นๆก็อยู่ในนั้น ซึ้งและขอบคุณจริงๆ

………………………………………………….