Latest

ทุกประเด็นเกี่ยวกับ Calcium Score สำหรับหลอดเลือดหัวใจ (CAC)

(ภาพวันนี้: ฝักบัวหลวง)

กราบเรียนคุณหมอที่เคารพ
ได้ติดตาม คลิปคุณหมอทางยูธูป เกี่ยวกับเรื่องโรคของหัวใจกระผมขอเริ่มดังนี้ครับ ปกติผมจะตวจสุขภาพทุกปี ซึ่งเป็นการตรวจทั่วไปจนกระทั่งปี  2020 ในวันที่ 21 สิงหาคม อายุ 50 ปี ผมได้ขอให้คุณหมอตรวจหัวใจ CT Scan ครั้งแรกปรากฏผลออกมาดังนี้ครับ 21AUG2020 Total calcium score 141.73 (LMA = 0, LAD = 138.43, LCX. = 0, RCA = 3.3)  หมอให้ไปพบหมอหัวใจเดินสายพาน แล้วให้ยาแอสไพรินมาทาน แต่ผมไม่ทาน เพราะอยากรักษาแบบธรรมชาติ ก็มางดเรื่องขนมให้น้อยลง และ ออกกำลังกายบ้าง
ต่อมาฉีดวัคซีน AZ เข็มที่ 1 วันที่ 19 JUL 2021ฉีด AZ เข็มที่ 2 วันที่ 11 OCT 2021
ในปี 2021 เลื่อนการตรวจสุขภาพออกไปจาก เดือน สิงหาคม เนื่องจากโควิดระบาดไปตรวจวันที่ 29 DEC 2021นำหนักผมลดไป 10 กก  เดิม 75 เหลือ 65 เนื่องจากงดขนมและออกกำลังกาย ผลเลือดก็ดีขึ้น ผมขอให้หมอ CT หัวใจอีกรอบผลออกมาดังนี้ครับ Total Agatston calcium score is 241.43, at 90th percentile (LM=0.21, LAD=191.47
D1=8.55, LCX=11.54, RCA=29.66
ในปี 2020 ต้นปี พี่สาวคนโตผม บายพาสหัวใจ 4 เส้น ให้พี่เขาถามหมอ ก็เป็นแคลเซียมเกาะเส้นเลือด ผมก็เลยคิดว่า ของผมเป็นจากรรมพันธ์หรือเปล่าครับเพราะโดยส่วนตัวไม่ชอบของทอดๆมันเท่าไหร่ครับ
ที่รบกวนสอบถามคุณหมอคือ การเพิ่ม Calcium Score ปีเดียว 100 แต้มนี้เป็นการเพิ่ม ปกติ หรือว่า น่าจะเกิดจากการฉีดวัคซีน มีส่วนครับถ้าขึ้นปีละ 100 แต้มตามปกตินี่ ก็แย่เลยครับ
เดือนเมษาย 2022 นี้กำลังจะไป CT อีกรอบ เพื่อเชคอีกครั้ง จะได้ระวังเรื่องการทาน และออกกำลังกายแต่ทุกวันนี้ เดินวิ่ง วันละ 30-60 นาทีครับเรียนสอบถามคุณหมอดังนี้ 1. ผมต้องงดเรืองอาหารหวาน มัน ให้มากกว่านี้อีกใช่ไหมครับ 2. ผมต้องออกกำลังกายให้หนัก และมากกว่านี้อีกไหมครับ 3. จะทำอย่างไร ที่จะให้ตัว Calcium Score ลดน้อยลงไหมครับ 4. ลองอ่านๆดู Calcium Score มีแต่จะเพิ่ม โอกาสลดหรือหาย ไม่มีใช่ไหมครับ 5. ระดับของผมถือว่าเสี่ยงหรือไม่ครับ

จึงเรียนรบกวนคุณหมอครับ ถ้าจะกรุณาแนะนำแพทย์ หรือ รพ ที่เชี่ยวชาญการดูแลรักษา ด้วยวิธีธรรมชาติไม่ให้แต้มเพิ่มขึ้น หรือ เพิ่มได้ช้าสุดนั้น ผมควรจะไปพบแพทย์ท่านใด ที่ไหนดีครับ

…………………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าแคลเซียมสกอร์ หรือ coronary artery calcium (CAC) คืออะไร ตอบว่าคือภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ของหัวใจที่แสดงว่ามีหรือไม่มีแคลเซียมเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดหัวใจด้วย โดยบอกเป็นคะแนน (Agatston score) ถ้าไม่มีก็ได้คะแนน 0 ถ้ามีมากก็ได้คะแนนเกิน 400 ขึ้นไป

2.. ถามว่า CACมีประโยชน์อะไรบ้าง ตอบว่ามีประโยชน์ 3 อย่าง คือ

ประโยชน์ที่ 1. CAC ช่วยให้แพทย์แยกแยะว่าในบรรดาคนที่ไขมันในเลือดสูง คนไหนเป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำสุดจนไม่ต้องกินยาลดไขมันเลย โดยการใช้ CAC วินิจฉัยว่าใครที่มีความเสี่ยงต่ำสุดก็ไม่ต้องกินยาไม่ว่าไขมันจะสูงเท่าใดก็ตาม หมายความว่าถ้า score = 0 ก็คือความเสี่ยงต่ำสุด เพราะงานวิจัยติดตามผู้ทำ CAC ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร JACC Cardiovasc Imaging พบว่าหากถือตามนิยามสากลที่ว่าหากอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดต่อปีต่ำกว่า 1% ถือว่าเป็นความเสี่ยงต่ำสุด ในบรรดาปัจจัยเสี่ยงและตัวชี้วัดทุกตัวที่วงการแพทย์มี ณ ขณะนี้ CAC = 0 เป็นตัวชี้วัดตัวเดียวที่บอกได้อย่างแน่ชัดที่สุดว่าใครมีความเสี่ยงต่ำสุด

ประโยชน์ที่ 2. CAC ช่วยวินิจฉัยว่าคนที่เป็นโรคแล้วใครมีความเสี่ยงที่จะเกิดจุดจบที่เลวร้ายสูง (สูงกว่า 20% ในสิบปี) โดยหาก score 400 ขึ้นไปก็ถือว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ต้องเอาจริงเอาจังสุดๆกับการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรค ทั้งการเปลี่ยนอาหาร และการใช้ยาลดไขมันถ้าจำเป็น ในกรณีที่เป็นโรคแล้วแต่ความเสี่ยงยังไม่สูง (score 1-399) ก็ควรเอาข้อมูลว่าเป็นโรคแล้วมาตั้งหน้าตั้งตาจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคด้วยการรีบเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต ไม่ใช่เอ้อระเหยลอยชายใช้ชีวิตแบบคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคแล้ว

ประโยชน์ที่ 3. ในบรรดาคนที่เป็นโรคแน่ชัดแล้วมีอาการแน่ชัดแล้วแต่ยังลังเลไม่ประสงค์จะใช้วิธีรักษาที่รุกล้ำ การตรวจ CAC จะช่วยให้น้ำหนักว่าควรเลือกวิธีรักษาที่รุกล้ำหรือไม่โดยการตรวจดูการเป็นหรือไม่เป็นโรคของหลอดเลือดโคนข้างซ้าย (Left main -LM) เพราะถ้าตรงนี้เป็นโรค (มีแคลเซียมเกาะ) การเลือกรักษาด้วยการทำผ่าตัดบายพาสจะให้อัตราการรอดชีวิตในระยะยาวดีที่สุด

3.. ถามว่าการขยันตรวจ CAC ทุกปีอย่างคุณนี้ มีประโยชน์ไหม ตอบว่าไม่มีประโยชน์เลย งานวิจัยที่ทำที่เยอรมันและตีพิมพ์ในวารสาร circulation พบว่าข้อมูลติดตามค่า CAC ในระยะ 5 ปี ไม่เพิ่มเติมข้อมูลความเสี่ยงและการพยากรณ์โรคนอกเหนือไปจากค่า CACที่วัดได้ครั้งสุดท้าย ทั้งนี้เป็นเพราะวงการแพทย์ยังไม่ทราบความหมายของการเปลี่ยนแปลงค่า CAC อย่างแท้จริง กลไกการแทรกตัวของแคลเซียมบนผนังหลอดเลือดนั้นวงการแพทย์ก็ยังไม่ทราบดีทำให้ยังสรุปอะไรไม่ได้ ในระยะแรกของโรคการที่ CAC เพิ่มขึ้นอาจหมายถึงโรคกำลังดำเนินไปมากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องไม่ดี แต่ระยะท้ายของโรค CAC เพิ่มขึ้นอาจหมายถึงกลไกการหายของแผล (healing) ซึ่งทำให้ตุ่มไขมันมีความเสถียรมากขึ้นซึ่งกลับเป็นเรื่องดี เป็นต้น

4.. ถามว่า CAC มีแต่เพิ่มทุกปีใช่ไหม ตอบว่าใช่ครับ โดยมีอัตราเพิ่มประมาณปีละ 20% ยังไม่เคยมีงานวิจัยทางการแพทย์รายงานถึงการลดลงของค่า CAC ไม่ว่าจะในคนไข้กลุ่มไหนหรือใช้วิธีการรักษาอย่างไร ในทางตรงกันข้าม การรักษาบางอย่าง เช่นการกินยาลดไขมัน (statin) ในระยะยาวกลับสัมพันธ์กับการที่ค่า CAC เพิ่มมากขึ้นยิ่งกว่าคนไม่กินยา โดยที่วงการแพทย์ก็ยังไม่ทราบกลไกว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น

5. ถามว่าจะทำอย่างไรให้แคลเซียมสะกอร์ลดลง ตอบว่าคุณไม่ต้องไปสนใจตรงนั้น เพราะตรงนั้นวงการแพทย์ยังไม่รู้ว่าทำได้หรือไม่ ทำอย่างไร ทำแล้วจะทำให้อัตราตายจากโรคนี้ลดลงหรือไม่ ทั้งหมดนี้ยังไม่รู้เลย ผมแนะนำว่าในการจัดการโรคหัวใจ ข้อมูล CAC ของคุณตอนนี้มากพอแล้วที่จะสรุปว่าคุณเป็นโรคแน่และเป็นโรคในกลุ่มมีความเสี่ยงสูงเพราะโรคดำเนินไปแบบรวดเร็ว ไม่ต้องไปตรวจ CAC ซ้ำซากอีก สิ่งที่คุณพึงทำคือการลงมือเปลี่ยนอาหารและเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดจุดจบที่เลวร้ายลงโดยเอา LDL ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงมาตรฐานเป็นตัวชี้วัด เป้าหมายคือให้มันต่ำกว่า 100 ให้ได้ก่อน

6.. ถามว่าการจัดการด้านอาหารเพื่อพลิกผันโรคหัวใจต้องลดหวานลดมันใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ การพลิกผันโรคหัวใจต้องเปลี่ยนรูปแบบอาหารที่กิน (food pattern) จากอาหารที่มีเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นหลักไปเป็นอาหารที่มีพืชเป็นหลักในรูปแบบที่ใกล้เคียงธรรมชาติ (plant based whole food diet) ในกรณีที่โรคดำเนินเร็วอย่างคุณนี้ ผมแนะเพิ่มเติมสองเรื่องคือ (1) เลิกกินเนื้อสัตว์ทุกชนิดไปเลยระยะหนึ่ง จนกว่าไขมัน LDL จะต่ำกว่า 100 (2) สืบค้นหาการอักเสบในร่างกาย ด้วยการตรวจคัดกรองโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองเช่นข้ออักเสบรูมาตอยด์ และการตรวจสารชี้บ่งการอักเสบเช่น CRP เป็นต้น ถ้ามีการอักเสบในร่างกายก็แก้ไขสาเหตุเสีย เพราะการอักเสบในร่างกาย มักมีการอักเสบของหลอดเลือดด้วย ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่แยกอิสระจากปัจจัยเสี่ยงที่คุ้นๆอย่างบุหรี่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน

7.. ถามว่าหมอสันต์ช่วยแนะนำแพทย์หรือ รพ. ที่เชี่ยวชาญการดูแลรักษาด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดให้ได้ไหม ตอบว่าไม่ได้ครับ เพราะแพทย์แบบนั้นไม่มี ขึ้นชื่อว่าแพทย์ก็ต้องบำบัดด้วยวิธีของแพทย์คือใช้ยา การทำบอลลูน การผ่าตัด ควบคู่ไปกับการแนะนำให้ผู้ปวยเปลี่ยนอาหารที่กินและเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต อย่างหลังนี้ผู้ป่วยเป็นผู้ทำนะ แพทย์แค่เป็นผู้แนะนำ ดังนั้นคนที่จะช่วยคุณได้ดีที่สุดในเรื่องธรรมชาติบำบัดก็คือตัวคุณเองนั่นแหละ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Valenti V, Ó Hartaigh B, Heo R et al. A 15-year warranty period for asymptomatic individuals without coronary artery calcium: a prospective follow-up of 9,715 individuals. JACC Cardiovasc Imaging 2015; 8: 900–9
  2. Lehmann N, Erbel R, Mahabadi AA, Rauwolf M, Möhlenkamp S, Moebus S, Kälsch H, Budde T, Schmermund A, Stang A, Führer-Sakel D, Weimar C, Roggenbuck U, Dragano N, Jöckel KH; Heinz Nixdorf Recall Study Investigators. Value of Progression of Coronary Artery Calcification for Risk Prediction of Coronary and Cardiovascular Events: Result of the HNR Study (Heinz Nixdorf Recall). Circulation. 2018 Feb 13;137(7):665-679. doi: 10.1161/CIRCULATIONAHA.116.027034. Epub 2017 Nov 15. PMID: 29142010; PMCID: PMC5811240.
  3. Valenti V, Ó Hartaigh B, Heo R et al. A 15-year warranty period for asymptomatic individuals without coronary artery calcium: a prospective follow-up of 9,715 individuals. JACC Cardiovasc Imaging 2015; 8: 900–9
  4. Lehmann N, Erbel R, Mahabadi AA, Rauwolf M, Möhlenkamp S, Moebus S, Kälsch H, Budde T, Schmermund A, Stang A, Führer-Sakel D, Weimar C, Roggenbuck U, Dragano N, Jöckel KH; Heinz Nixdorf Recall Study Investigators. Value of Progression of Coronary Artery Calcification for Risk Prediction of Coronary and Cardiovascular Events: Result of the HNR Study (Heinz Nixdorf Recall). Circulation. 2018 Feb 13;137(7):665-679. doi: 10.1161/CIRCULATIONAHA.116.027034. Epub 2017 Nov 15. PMID: 29142010; PMCID: PMC5811240.
  5. Lahti SJ, Feldman DI, Dardari Z et al. The association between left main coronary artery calcium and cardiovascular-specific and total mortality: the Coronary Artery Calcium Consortium. Atherosclerosis 2019; 286: 172–8.
  6. Greenland P, Bonow RO, Brundage BH, Budoff MJ, Eisenberg MJ, Grundy SM, Lauer MS, Post WS, Raggi P, Redberg RF, Rodgers GP, Shaw LJ, Taylor AJ, Weintraub WS; American College of Cardiology Foundation Clinical Expert Consensus Task Force (ACCF/AHA Writing Committee to Update the 2000 Expert Consensus Document on Electron Beam Computed Tomography); Society of Atherosclerosis Imaging and Prevention; Society of Cardiovascular Computed Tomography. ACCF/AHA 2007 clinical expert consensus document on coronary artery calcium scoring by computed tomography in global cardiovascular risk assessment and in evaluation of patients with chest pain: a report of the American College of Cardiology Foundation Clinical Expert Consensus Task Force (ACCF/AHA Writing Committee to Update the 2000 Expert Consensus Document on Electron Beam Computed Tomography) developed in collaboration with the Society of Atherosclerosis Imaging and Prevention and the Society of Cardiovascular Computed Tomography. J Am Coll Cardiol. 2007 Jan 23;49(3):378-402. doi: 10.1016/j.jacc.2006.10.001. PMID: 17239724.