Latest

ทำไมกินจนพุงกางแล้วยังไม่อิ่ม

(ภาพวันนี้ : พริกชี้ฟ้าในสวนครัวหมอสันต์)

เรียนอาจารย์นพ.สันต์

ผมอ้วนและเป็นเบาหวาน อาจารย์เคยพูดว่ากลไกการอิ่มอาหารของคนเรานั้นมีสองทาง คืออาหารเต็มกระเพาะ หรือไม่ก็ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง แต่ทำไมเวลาผมกินจนอาหารเต็มกระเพราะแล้ว เหมือนจะท่วมมาถึงคอแล้ว แต่ผมก็ยังไม่อิ่ม ทำให้ผมใช้สูตรของอาจารย์ที่ว่ากินให้อิ่มเต็มที่ตราบใดที่เป็นอาหารแบบพืชเป็นหลักก็ไม่ต้องกังวลว่าแคลอรี่จะเกิน สำหรับผมใช้ไม่ได้เพราะมันไม่อิ่ม ผมควรจะทำอย่างไรจึงจะกินน้อยลงแล้วอิ่มได้ครับ

……………………………………………………………..

ตอบครับ

กลไกการหิวและการอิ่มของร่างกายถ้าจะพูดถึงให้ครอบคลุมมันมีอยู่สามชุด คือ

(1) กลไกทางเดินอาหารเชื่อมโยงกับสมอง (brain gut axis) อันนี้เป็นกลไกของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งมีศูนย์การควบคุมอยู่ที่ต่อมใต้สมองหรือไฮโปทาลามัส วิธีทำงานก็ตรงไปตรงมา คือเมื่ออาหารเต็มกระเพาะอาหาร เซลกระเพาะอาหารจะผลิตฮอร์โมนเกรลิน (grehlin) ส่งไปแจ้งข่าวให้ต่อมใต้สมอง ซึ่งจะส่งสัญญาณว่าหิวไปสุ่อวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจิตสำนึกรับรู้เพื่อให้หาอาหารเข้าปาก พออาหารเต็มกระเพาะ มันก็จะหยุดผลิตฮอร์โมนเกรลิน ความหิวก็จะหมด เกิดความรู้สึกอิ่มเข้ามาแทน นอกจากจะเพิ่มหรือลดการผลิตและจบเรื่องหิวหรืออิ่มโดยตัวมันเองแล้ว เกรลินยังถูกยับยั้งด้วยฮอร์โมนอื่นเช่นเล็พติน (leptin) ซึ่งผลิตมาจากเซลไขมันเมื่อมีไขมันเข้าไปเก็บมาก

(2) กลไกสั่งหยุดการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารเมื่อมีอาหารไขมันตกถึงลำไส้ กลไกนี้ร่างกายนี้ให้ความพิเศษกับอาหารไขมัน คือมีช่องทางด่วนในการดูดซึมที่ลำไส้คือไขมันสามารถดูดซึมผ่านระบบน้ำเหลืองนอกเหนือไปจากการดูดซึมเข้าหลอดเลือดฝอยเยี่ยงอาหารอื่นทั่วไปเช่นคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาล ถึงกระนั้นเวลามีอาหารไขมันตกถึงลำไส้ ลำไส้ก็ยังต้องการเวลาในการรับมือกับอาหารไขมัน จึงส่งสัญญาณในรูปของฮอร์โมนโคลีซีสโตไคนิน (cholecystokinin) ไปให้กระเพาะอาหารหยุดการบีบตัวส่งอาหารลงมา แบบว่าเดี๋ยว เดี๋ยว การจราจรติดขัด ขึ้นไฟแดงไว้ก่อน รอให้ดูดซึมไขมันตรงหน้านี้ให้เสร็จก่อน ค่อยส่งอาหารล็อตใหม่ลงมา พอกระเพาะอาหารหยุดบีบตัว ก็จะเกิดอาการอืดและอิ่ม

การที่คุณเป็นโรคเบาหวานผมอยากให้คุณสนใจกลไกนี้เป็นพิเศษ เพราะรากของการเป็นเบาหวานประเภทสองคือการที่เซลร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลกล้ามเนื้อและเซลตับพากันดื้อต่ออินสุลิน แต่เดิมเราเข้าใจว่าอาหารคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลเป็นต้นเหตุให้เกิดการดื้อต่ออินสุลิน เพราะการดื้อต่ออินสุลินเกิดพร้อมกันการที่มีน้ำตาลคั่งค้างในเลือดมาก แต่งานวิจัยยุคต่อมาพบว่าขณะมีการดื้อต่ออินสุลินอยู่นั้นเมื่อเจาะเข้าไปในเซลกลับพบว่ามีแต่ไขมันมากกว่าน้ำตาล หมายความว่าไขมันนี่แหละที่ทำให้เซลดื้อต่ออินสุลิน เพราะตอนที่ลำไส้เปิดไฟแดงไม่ให้กระเพาะส่งอาหารลงมานั้น อาหารไขมันจะถูกลำเลียงเข้าสู่กระแสเลือดทางระบบน้ำเหลือง เมื่อมีไขมันเข้าไปมาก อินสุลินก็เอาไขมันเข้าไปเก็บในเซลจนล้น และเซลเริ่มดื้อคำสั่งอินสุลิน อาหารอื่นๆเช่นคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลซึ่งมีช่องทางลำเลียงเข้ากระแสเลือดช่องทางเดียวคือทางหลอดเลือดฝอยจึงไปถึงกระแสเลือดช้ากว่าไขมัน กว่าจะไปถึงเซลก็ไม่ยอมรับคำสั่งอินสุลินเสียแล้ว อินสุลินจึงไม่สามารถเอาน้ำตาลเข้าเซลได้ น้ำตาลก็เลยค้างอยู่ในกระแสเลือด ที่ผมเล่ายืดยาวนี้ก็เพื่อจะอธิบายว่าอาหารไขมันต่างหากที่เป็นต้นเหตุหลักของการดื้อต่ออินสุลินและโรคเบาหวาน ส่วนน้ำตาลนั้นเป็นเพียงปลายเหตุของโรคคือเกิดการดื้อต่ออินสุลินแล้วน้ำตาลเข้าเซลไม่ได้ก็เลยสูงอยู่ในกระแสเลือด

กลับมาเรื่องที่เรากำลังคุยกันอยู่ต่อดีกว่า คือกลไกการหิวและอิ่ม

(3) กลไกการให้รางวัลและลงโทษ (rewarding system) อันนี้เป็นกลไกกึ่งอัตโนมัติผ่านสมองส่วนบน (cerebrum) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความจำ การเรียนรู้ และความเคยชินจนกลายเป็นการย้ำคิดย้ำทำ กล่าวคือธรรมชาติจะโปรแกรมให้คนเราเสพย์ติดอาหารที่มีแคลอรี่สูง อันได้แก่อาหารหวานและอาหารมัน ถ้ากินอาหารแค่ลอรี่สูงก็จะให้รางวัลในรูปของความอิ่มสะใจ (satiety) ผ่านตัวรับในสมองเช่น opioid receptorและ dopamine receptor ซึ่งเป็นตัวรับเดียวกับที่ฝิ่นเฮโรอีนและยาต้านซึมเศร้าใช้ กลไกการเสพย์ติดก็เป็นแบบเดียวกัน คือถ้ายังไม่ได้กินก็ถวิลหา (crave) ถ้าได้กินก็อิ่มสะใจ วนเวียนอยู่อย่างนี้ ถ้าถวิลหาแล้วไม่ได้กินก็จะเกิดอาการลงแดง (withdrawal symptom) ซึ่งการจะเอาชนะตรงนี้ได้ก็ต้องยอมฝ่าข้ามช่วงลงแดงไปเหมือนกับการตัดยาเสพย์ติดนั่นแหละ จะใช้เวลาราว 3 สัปดาห์ก็ผ่านไปได้

ดังนั้นในกรณีของคุณผมแนะนำว่าคุณต้องยอมลงแดงกับความรู้สึกไม่อิ่มสะใจ หิวมากก็กินผลไม้ กินแล้วไม่อิ่มสะใจก็ช่างมัน ปรับตัวปรับใจยอมรับสภาพแบบนี้ราวสามสัปดาห์ความอยากกินให้สะใจก็จะค่อยๆลดอิทธิพลลง เพราะมันเป็นแค่ความคิดที่ชงขึ้นมาจากความจำผ่านกลไกการย้ำคิด แค่นั้นเอง ความคิดเราเพิกเฉยต่อมันได้ถ้าเราเข้าใจกลไกพื้นฐานที่มันถูกชงขึ้นมา นี่เป็นวิธีเดียวที่คุณจะเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของคุณได้ ไม่มีวิธีอื่นนอกจากการยอมลงแดง ไม่มีจริงๆ ดังนั้น คุณมีสองทางเลือก คุณจะยอมลงแดงเพื่อที่จะผ่านไปมีชีวิตที่มีอิสรภาพจากความอยาก หรือจะยอมเป็นโรคเรื้อรังแล้วตายเพราะโรค คุณเลือกได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์