Latest

จะผ่อนคลายร่างกายแบบไหนดีในการทำสมาธิ

(ภาพวันนี้: ดอกผีเสื้อ)

1..การตามดูลมหายใจเพื่อนำไปสู่สมาธิจำเป็นต้องหยุดลมหายใจเพื่อให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลายแบบ เข้า-จดจ่อ-ตื่น-ยิ้ม-ผ่อนคลาย-ซู่ซ่า แล้วเราจะต้องทำกระบวนการนี้ไปต่อเนื่องโดยตลอดของการนั่งสมาธิเป็นชั่วโมงจนความคิดในหัวหมดไปหรือเปล่าครับ หรือเพียงแค่ทำไปสักพักหนึ่งสัก 5 นาที พอร่างกายผ่อนคลายแล้วจึงเฝ้าตามดูลมหายใจที่ปลายจมูกเพียงอย่างเดียว ดูลมจนกระทั่งรู้สึกว่าลมหายใจค่อยๆหมดไปครับ แบบไหนคือการทำสมาธิเพื่อไม่ให้ความคิดเข้ามาแทรกในขณะนั่งสมาธิครับ

2.วิธีการเฝ้ามองการสลายตัวของความคิด เราจะทำตอนที่สมาธิเกิดขึ้นแล้ว หมายถึงต้องนั่งสมาธิให้เกิดขึ้นในระดับหนึ่งก่อนพอความคิดเกิดแทรกขึ้นแล้วให้เฝ้ามองการเกิดเเละสลายตัวของความคิดตามความเป็นจริง หรือกระบวนการนี้สามารถทำได้ทั้งวันทันทีโดยไม่ต้องอาศัยการนั่งสมาธิเลย หมายถึง พอความคิดเกิดขึ้นก็เฝ้ามองดูความคิดโดยตรงเลยจนความคิดสลายหมดไปครับ

3.ตัวชี้วัดความรู้ตัว คือการจุ่มแช่ในโมเมนต์การอยู่กับปัจจุบันขณะโดยปราศจากความคิดมาก่อกวนเราใช่หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ

…………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าการตามดูลมหายใจจำเป็นต้องทำเป็นขั้นตอนชนิดนับหรือท่องไปด้วยว่า เข้า-จดจ่อ-กลั้น-ตื่น-ยิ้ม-ออก-ผ่อนคลาย-ซู่ซ่า ตลอดหนึ่งชั่วโมงของการนั่งสมาธิ หรือทำแค่ 5 นาที พอร่างกายผ่อนคลายแล้วตามดูลมหายใจเพียงอย่างเดียว

ที่คุณถามมานี้ เป็นรายละเอียดปลีกย่อยของเทคนิคการใช้เครื่องมือช่วยวางความคิดนะ ซึ่งในคำถามนี้คุณพูดถึงการใช้เครื่องมือห้าอย่างคือ (1) การตามดูลมหายใจ (2) การผ่อนคลายร่างกาย (3) การตื่นตัว (4) การรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย (5) การสังเกตความคิด คำตอบของผมก็คือในระดับเท็คนิคนี้คุณจะทำอย่างไรก็ได้ จะประยุกต์ไปอย่างไรก็ได้ มันทำได้สาระพัดวิธีขึ้นกับความถนัดของแต่ละคนและขึ้นกับสถานะการณ์ที่คุณกำลังเผชิญอยู่ตรงหน้า

ยกตัวอย่างเช่นคุณไปเรียนขี่จักรยานแล้วครูสอนว่าในการขี่จักรยานคุณต้อง (1) ตั้งท่าถือแฮนด์ด้วยสองมือเอาเท้าหนึ่งวางบนแป้นถีบ (2) เหยียบแป้นถีบให้ล้อหมุนไปพร้อมกับยกตัวขึ้นไปนั่งบนอาน (3) นั่งให้หลังตรงศีรษะตั้งมองไปข้างหน้า (4) ใช้เท้าถีบแป้นถีบให้ล้อหมุนตลอดเวลา (5) โยกตัวไปมาให้ตรงข้ามกับการเอียงของจักรยาน พอคุณลงมือขี่จริงๆใหม่ๆคุณท่องและทำตามไปทีละขั้นแล้วก็พบว่าคุณพาจักรยานล้มไม่เป็นท่า ล้มแล้วล้มอีกหลายครั้งเข้าคุณจึงค่อยๆเรียนรู้และปรับวิธีของคุณขึ้นมาเองว่าจังหวะไหนต้องอะไรทำอย่างไรโดยขั้นตอนที่ครูสอนคุณแทบไม่ได้ทำตามลำดับเลย หลายๆเทคนิคเช่นการจงใจถีบให้เร็วขึ้นหากจักรยานทำท่าจะล้มคุณก็พัฒนาขึ้นมาใช้เองโดยครูไม่เคยพูดถึง ในการพัฒนาเทคนิคใหม่ของตัวเองบางครั้งคุณต้องลองแบบนั้นที ลองแบบนี้ที แล้วเลือกแบบที่ดีกว่า การฝึกวางความคิดและฝึกสมาธิก็เช่นเดียวกัน อย่าไปแข็งทื่อมะลื่อไปทีละขั้น อย่าไปเคร่งเครียด แม่แต่การจะผ่อนคลายก็ต้องรอให้ท่องถึงคำว่าผ่อนคลายก่อนจึงจะผ่อนคลายได้ ไม่ใช่อย่างนั้น เครื่องมือทุกชิ้นคุณหยิบขึ้นมาใช้ทันทีที่เป็นจังหวะที่ควรใช้ ใช้มันอย่างเป็นธรรมชาติ ให้มันมีกฎเกณฑ์และการควบคุมกำกับให้น้อยที่สุด

2.. ถามว่าการสังเกตความคิดหรือการเฝ้ามองการสลายตัวของความคิดนี้มันต้องทำหลังจากที่มีสมาธิแล้วใช่หรือไม่ ตอบว่าใช่ครับ เพราะตอนที่เรายังไม่มีสมาธิก็แปลว่าความสนใจของเรายังไปขลุกอยู่ในความคิด เราจะมองความคิดเราไม่เห็นดอก เพราะขณะนั้นเราเป็นเนื้อเดียวกับความคิดไปเสียแล้วเราจะมองเห็นมันได้อย่างไร ต้องถอยความสนใจออกจากความคิดให้สำเร็จก่อน ออกมาอยู่ข้างนอกที่ไม่มีความคิดก่อน ให้เรากับความคิดเป็นคนละอันกันก่อน ให้เราเป็นผู้สังเกต ส่วนความคิดนั้นมันก็เป็นความคิด มันไม่ใช่เรา เราจึงจะมองย้อนดูความคิดได้ การออกมาอยู่นอกความคิดให้ได้ก่อนนี้มันเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะขณะทำกิจประจำวันเช่นกินข้าวอาบน้ำหรือขณะนั่งสมาธิ เพราะสมาธิไม่ได้เกิดเฉพาะตอนนั่งสมาธิเท่านั้น จริงอยู่การฝึกใหม่ๆฝึกตอนนั่งสมาธิมันก็ง่ายกว่า แต่ว่าท้ายที่สุดเราต้องการให้เราสังเกตเห็นความคิดตลอดเวลาที่เราตื่นอยู่

ที่ว่าเฝ้ามองการสลายตัวของความคิดนั้น ในทางปฏิบัติเราแค่ชำเลืองมองดูมัน มันก็สลายตัวไปแล้ว ดังนั้นแต่ขยันชำเลือง ความคิดก็สลายตัวไปเองแล้ว

3.. ถามว่าตัวชี้วัดความสำเร็จคืออะไร ตอบว่าคือ (1) การมีความคิดน้อยลง (2) มีความสงบเย็นมากขึ้น ดังนั้นการประเมินผลเราไม่ได้ประเมินกันทันทีที่เดี๋ยวนี้ทุกเดี๋ยวนี้นะ อย่างถี่ที่สุดก็ประเมินตัวเองวันละครั้งก็พอ ว่าวันนี้ที่ผ่านไปแล้ว เรามีความคิดน้อยลงไหม มีความสงบเย็นมากขึ้นไหม ถ้าวันนี้ผ่านไปโดยเรามีความคิดน้อยลง มีความสงบเย็นมากขึ้น ก็แสดงว่าเรามีความก้าวหน้า แต่ถ้าเรายังมีความคิดมาก เช่น ยังฟุ้งสร้าน ยังโกรธ ยังหงุดหงิด ยังผิดหวัง ยังกลัว ยังอิจฉา ยังรู้สึกผิด ยังซึมเศร้า ยังเหงา ก็แสดงว่าเราไม่ก้าวหน้า เพราะทั้งหมดที่ว่ามานั้นคือความคิดที่โผล่มาในหัวเราในรูปแบบต่างๆ หากมันทั้งหลายเหล่านั้นยังสลอนอยู่ในหัว เราก็ยังไม่ก้าวหน้า

ตอบคำถามจบแล้วนะ ที่เหลือนี่เป็นส่วนแถม

ที่คุณฝึกอยู่แทบตายเนี่ย เป็นการฝึกเพื่อให้ใจปลอดความคิด เกิดสมาธิ ณ ที่ตรงนั้นเป็นจุดตั้งต้น ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายนะ สมาธิก็คือการที่ใจของเรามั่นคงอยู่ ณ ตรงที่ไม่มีความคิด ผมใช้คำว่าอยู่ “ตรงกลาง” พอมาอยู่ตรงกลางได้เราจึงจะเริ่มออกเดินหน้าได้ หมายความว่าการใช้ชีวิตอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์จึงจะเกิดขึ้นได้ พอมาอยู่ตรงกลางได้แล้ว การใช้ชีวิตก็ไม่ยากแล้ว เพราะตรงนี้มันคืออิสรภาพ ปลอดอิทธิพลของอีโก้ซึ่งมาในรูปของความคิด ในการใช้ชีวิตหลังจากมาอยู่ตรงนี้ได้แล้วเราก็เพียงแต่ประคองตัวเองไมให้แกว่งไปหาสิ่งที่ชอบ ไม่ให้แกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบ ทั้งสองอย่างนั้นผ่านเข้ามาในรูปของความคิด แกว่งไปหาก็คือการเผลอไปคลั่งไคล้ความอยากได้ อยากเป็น อยากครอบครอง การแกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบก็คือการเผลอกังวล กลัว โกรธ เกลียด อิจฉา การแกว่งไปในทั้งสองด้านจะทำให้เรา “หลุด” จากตรงกลาง ความสงบเย็นและสร้างสรรค์ซึ่งเป็นธรรมชาติของการอยู่ตรงกลางก็จะหายไปด้วย วิธีง่ายที่สุดที่จะไม่แกว่งก็คือเราต้อง “ยอมรับ (acceptance)” ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไม่ว่าอีโก้ของเราจะชอบหรือจะไม่ชอบเรายอมรับหมด ยอมรับมันตามที่มันเป็น เห็นมันตามที่มันเป็น พูดง่ายๆว่าเพิกเฉยต่ออีโก้ มิใยว่าอีโก้ซึ่งเป็นตัวตนปลอมของเราจะใส่ไฟให้ร้ายป้ายสีอย่างไรเราก็ไม่ฟัง เราไม่ให้ราคาอีโก้เพราะอีโก้ไม่ใช่เราตัวจริง เราเป็นเราตัวจริงซึ่งตื่นและสงบนิ่งอยู่ตรงกลาง อะไรจะเข้ามาหาในชีวิตนี้เรายอมรับมันได้หมด วิธีนี้ก็ไม่ต้องไปกังวลว่าจะแกว่งหนีหรือแกว่งตาม การจะดำเนินชีวิตแบบอยู่ตรงกลางก็จะทำได้ง่ายๆ อิสรภาพหรือความหลุดพ้นก็จะเกิดขึ้นแบบอัตโนมัติทันทีที่เรายอมรับทุกอย่างได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์