Latest

มะเร็งเต้านม กับอาการสมองตื้อ ความจำเสื่อม และรวบรวมสติไม่ได้

(ภาพวันนี้: ทุ่งกระดุมทอง)

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

หนูอายุ 30 ปี เป็นมะเร็งเต้านม ductal carcinoma in situ ผ่าตัดแล้วเมื่อปี 2562 หมอให้กินยาล็อคเป้า tamoxifen นาน 10 ปี เดิมกินยาไทรอยด์อยู่ด้วย แต่หยุดไปปีกว่าแล้ว ตรวจไทรอยด์ได้ TSH = 1.2 FT4=0.9 ยาอื่นไม่มีนอกจากวิตามินและอาหารเสริม ตอนนี้หนูมีอาการตื่นมากลางดึกแล้วไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน กว่าจะคิดขึ้นได้ก็นานมาก สามีพยายามคุยด้วย หนูก็ไม่รู้ว่าคนนี้คือใคร หนูเป็นมะเร็งกระจายไปสมองหรือเปล่า ควรจะไปเริ่มต้นตรวจกับหมอทางไหนก่อนดี

รบกวนคุณหมอช่วยนะคะ

……………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าตื่นขึ้นมาแล้งงงและจำ ผ. ของตัวเองไม่ได้ เป็นเพราะอะไร หิ หิ ตอบว่าเป็นได้จากหลายสาเหตุครับ เอาเฉพาะสาเหตุทางการแพทย์ก็แล้วกันนะ อาการแบบนี้บ้านๆเขาเรียกว่า brain fog บางครั้งถ้าเป็นกับคนได้เคมีบำบัดอยู่เรียกว่า chemo brain ถ้าพูดเป็นภาษาหมอก็คือมันเป็นอาการผสมของอาการสับสน (confusion) ลืม (forgetfulness) ตั้งสติไม่ได้ (lack of focus) และใจมันไม่โล่ง (no clarity)

2.. ถามว่าสาเหตุของ brain fog เกิดจากอะไรได้บ้าง ตอบว่าบ่อยที่สุดก็คือเกิดจากทำงานมากเกินไป อดนอน เครียด ดูหน้าจอมากไป ระบบฮอร์โมนของร่างกายปั่นป่วนรวนเร บางครั้งก็เกิดจากยาที่กิน

3.. ถามว่าในกรณีของคุณนี้ควรทำอย่างไรต่อไป ตอบว่าในกรณีของคุณนี้ต้องเพ่งเล็งยาที่กิน นั่นก็คือ Tamoxifen งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร J of Clinical Oncology พบว่าหญิง 299 คนที่กินยาทาม็อกซิเฟนนานหนึ่งปีมีความจำเสื่อมลงมากกว่ากินยาตัวอื่นที่ใช้เปรียบเทียบกัน อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่มหาลัยโรเชสเตอร์ ( URMC) ซึ่งศึกษาผลของยาทาม็อกซิเฟนต่อเซลของระบบประสาทในห้องแล็บก็พบว่ายามีผลฆ่าทำลายเซลประสาทได้ รายงานเรื่องทาม็อกซิเฟนทำให้เกิดอาการสมองตื้อหรือ brain fog นี้มีออกมาเป็นระยะๆ ดังนั้นการที่คุณกินยาทาม็อกซิเฟนแล้วมีอาการสมองตื้อ จะต้องวินิจฉัยไว้ก่อนว่ามันเกิดจากยาทามอกซิเฟน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ วิธีพิสูจน์ง่ายๆก็คือหยุดยาดูไงครับ ตัวคุณนั่นแหละเป็นคนหยุดเอง

ถ้าพบว่ามันเกิดจากยาจริง คราวนี้คุณจะหยุดยาถาวรเลยหรือจะทนกินยาต่อก็ขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักความเสี่ยงและประโยชน์ของยาด้วยตัวคุณเอง งานวิจัยพบว่ายาทาม็อกซิเฟนจะออกฤทธิ์ลดการกลับเป็นใหม่ของมะเร็งเต้านมชนิดสนองตอบต่อตัวรับฮอร์โมนเพศ(SR+)ได้ผลดีมากหากให้นาน ผลดีในการลดอัตราตายของมะเร็งเต้านมจากการให้ยานาน 2-3 ปีนั้นชัดเจนแน่นอน การให้ยานานระดับ 5-10 ปีหรือนานตลอดไปจะลดอัตราตายได้มากขึ้นอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังหรือไม่อันนี้วงการแพทย์เองก็ยังสรุปให้ชัดเจนไม่ได้ แต่มะเร็งของคุณ (DCIS) เป็นชนิดที่อัตรารอดชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติอยู่แล้ว คืออัตรารอดชีวิตใน 10 ปี (10 year survival rate) คือ 98% นี่มันใกล้เคียงกับคนปกติเลยนะ ประโยชน์ของยาทามอกซิเฟนมีเพิ่มเติมน้อยมาก ผมแนะนำว่าหากคุณรู้สึกว่าผลข้างเคียงของยามันรบกวนคุณมาก เมื่อได้กินยามาได้ 2-3 ปีแล้วการเลิกกินเสียก็เป็นทางเลือกที่โอเค.นะครับ

อย่าลืมทำตามขั้นตอนที่ผมบอกนะ อย่าลัด คือเริ่มด้วยการเลิกยาทามอกซิเฟนด้วยตัวเองก่อน แล้วรอดูเชิง อย่าใจร้อนไปตรวจ CT สมองก่อน เพราะถ้าทำอย่างนั้นหากไปตรวจเจออะไรเข้า สมมุติว่าเจอภาพเนื้องอกสมอง ถึงจะเป็นชนิดที่ไม่เกี่ยวกับอาการสมองตื้อเลยแต่คุณก็จะถูกจับผ่าตัดสมองเพราะการมีอาการทางสมองควบกับมีเนื้องอกสมองมันเป็นข้อบ่งชี้ (indication) ที่หมอจะจับคุณผ่าตัดสมอง แล้วสมมุติติ๊งต่างว่าคุณสมองตื้อเพราะยา ก็เท่ากับว่าคุณถูกจับผ่าตัดสมองฟรี พอผ่าไปแล้วไม่หายคราวนี้หมอเขาก็จะค่อยมาทดลองหยุดยาทาม็อกซิเฟนภายหลัง แล้วทำไมไม่ทำของที่ง่ายกว่า คือทดลองหยุดยาดูก่อนละครับ ถ้ามันไม่หายใน 3-6 เดือนค่อยไปตรวจ CT สมอง

ผลเสียของการลัดขั้นตอนยังมีอีกประเด็นหนึ่งนะ สมมุติว่าคุณรีบไปตรวจสมองแล้วพบเนื้องอกสมมุติว่าเป็นเมนิงจิโอมาซึ่งหมอบอกว่าไม่ต้องผ่าตัด ไม่เกี่ยวอะไรกับอาการสมองตื้อหรอก น่าจะเกิดจากยาทาม็อกซิเฟนมากกว่า หมอก็ทดลองหยุดยา แต่คราวนี้มีโอกาส 30% ที่อาการสมองตื้อของคุณจะไม่หายแม้ว่ามันจะเกิดจากยาและได้หยุดยาแล้วก็ตาม เพราะใจคุณปักใจว่าคุณมีเนื้องอกในสมองเสียแล้ว คุณปักใจเชื่อว่าตราบใดที่เนื้องอกยังอยู่คุณก็เชื่อว่าอาการมันจะไม่หาย แล้วมันก็ไม่หายจริงๆ แบบนี้เขาเรียกว่า placebo effect หรือผลจากการปักใจเชื่อ ซึ่งหมอและคนไข้หากไม่สันทัดในการจัดขั้นตอนว่าควรตรวจอะไรทำอะไรก่อนหลังกระบวนการวินิจฉัยและรักษาก็จะพาลเสียรูปมวยเอาง่ายๆ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Beral V, Hermon C, Reeves G, Peto R. Sudden fall in breast cancer death rates in England and Wales. Lancet. 1995 Jun 24; 345(8965):1642-3.
  2. Ahles TA, Root JC, Ryan EL, 2012. Cancer- and Cancer Treatment–Associated Cognitive Change: An Update on the State of the Science. J Clin Oncol 30, 3675–3686. 10.1200/JCO.2012.43.0116
  3. University of Rochester Medical Center News. Mental Fog with Tamoxifen is Real; Scientists Find Possible Antidote. Accessed on June 30 ,2022, at https://www.urmc.rochester.edu/news/story/mental-fog-with-tamoxifen-is-real-scientists-find-possible-antidote