Latest

ต่อยอดจากการฝึกสติแบบฝรั่งด้วยเทคนิค STOP และเทคนิค RAIN

เรียนคุณหมอสันต์

ได้อ่านบทความที่คุณหมอสอนเรื่องการใช้เทคนิค STOP แบบฝรั่ง จึงอยากเล่าให้คุณหมอฟังว่าผมเคยดูคลิปวิดิโอของคุณหมอที่สอนเรื่องนี้เมื่อห้าหกปีก่อน https://www.youtube.com/watch?v=xm2OE2ypNFw&t=663s ได้นำเทคนิค STOP มาฝึกปฏิบัติ ทุกวันนี้ก็ยังอาศัย mindfulness bell เตือนตัวเองทุก 15 นาที ทำตามได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ทำให้จิตสงบลงแยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชีวิตการทำธุรกิจที่ต้องต่อสู้กับพวกที่เรียกง่ายๆว่ามิจฉาชีพในเครื่องแบบราชการ ผมอยากจะถามคุณหมอว่าหากจะต่อยอดไปจากเทคนิค STOP และ RAIN นี้ ควรฝึกปฏิบัติอย่างไรต่อไป

ขอบคุณคุณหมอมากครับ

……………………………………………………………………………….

ตอบครับ

ปลายทางของเรื่องนี้คือการหลุดพ้น (liberation) จากกรงความคิดของตัวเอง ซึ่งมีองค์ประกอบสองอย่างคือ

(1) การตระหนักรู้ (realization) ความจริง หรือการรู้จริง (insight) ซึ่งเป็นกระบวนการเห็นตามที่มันเป็น พูดแบบสมัยใหม่ก็คือเป็นการเปลี่ยนมุมของการมอง (paradigm shift) และ

(2) การที่ “ใจ (mind)” มีความพร้อมที่จะ “เอาด้วย” มิฉะนั้นการตระหนักรู้จะไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดๆในชีวิตเพราะใจหรือความคิดซึ่งมีพลังสูงสุดนั้นไม่เอาด้วย เปรียบเหมือนควาญช้างจะบังคับช้างให้ไปข้างหน้า แต่ช้างจะแวะกินกล้วย ควาญช้างจะไปทำอะไรได้นอกจากจะต้องยอมให้ช้างแวะกินกล้วย เพราะช้างมีกำลังมากกว่าควาญช้าง

การเตรียมการไปสู่การตระหนักรู้ก็คือการเตรียมความพร้อมของใจซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดความคิดให้เอาด้วยก่อน

ผมเคยพูดเมื่อครั้งก่อนว่าธรรมชาติของความคิดนี้มีธรรมชาติว่าเกิดขึ้นมาจากวงจรแบบอัตโนมัติว่ามันต้องเกิดของมันให้ได้ (compulsion) ซึ่งเราเองวางฐานรากวงจรอัตโนมัตินี้ฝังแฝงมันไว้อยู่ในเรามานานแล้ว และมีธรรมชาติย้ำคิด (obsession) คือเกิดแล้วก็เกิดอีกซ้ำซาก

การจะเตรียมใจให้ยอมเปลี่ยนจากความดื้อดึงจะไปแบบเดิมๆมารองรับการตระหนักรู้หรือการเปลี่ยนมุมของการมองก็ใช้เทคนิคเดียวกัน คืออาศัยความซ้ำซาก (repetition) นี่เป็นคีย์เวอร์ดที่สำคัญนะ ความซ้ำซาก repetition

การใช้ระฆังเตือนในแอ๊พเป็นตัวช่วยสร้างความซ้ำซาก คุณจะต้องทำซ้ำๆๆๆๆ ด้วยความพากเพียรและอดทน แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องทำไปจนตาย มันจะมีจุดหนึ่งที่การพยายามทำซ้ำนี้ได้กลายเป็นกระแสของการไหลตามปกติไป ถึงจุดนั้นคุณก็จะไปแบบสบายๆ

วันหนึ่งผมขับรถแวะเที่ยวแถวสิงห์บุรีในหน้าแล้ง ผมเห็นคนถ่อเรือริมน้ำเจ้าพระยา กว่าเขาจะเอาเรือออกจากคลองซอยที่เต็มไปด้วยโคลนตมริมฝั่งได้เขาต้องยืนขึ้นถ่อเรือด้วยกำลังแรงและถี่มาก แต่พอเรือวิ่งไปถึงใกล้กลางแม่น้ำที่มีกระแสน้ำพัดดีแล้ว เรือก็เดินหน้าของมันเองโดยเขาไม่ต้องออกแรง เขานั่งลงเอามือหนึ่งถือใบพายจุ่มน้ำเป็นหางเสือ อีกมือหนึ่งเอาบุหรี่ขึ้นมาคีบจุดไฟแช็คสูบแบบสบายใจเฉิบ ฉันใดก็ฉันเพล คุณพยายามไปให้ถึงจุดที่กระแสของการไหลไปเองเป็นอัตโนมัติเกิดขึ้น แล้วคุณก็จะไปสบายๆโดยไม่ต้องพยายามมากอีกแล้ว

ถามว่าต่อยอดจากการทำซ้ำๆๆด้วย STOP และ RAIN มีอะไรอีกไหม ตอบว่าควบคู่ไปกับความพยายามฝึกสติด้วยการทำซ้ำๆๆๆ คุณต้องค่อยๆใส่การปลีกวิเวกหลีกเร้นและฝึกการปล่อยวางความยึดถือในตัวตนเข้ามาแบบคู่ขนานกันไป ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ฝรั่งที่กำลังเห่อการฝึกสติกันอยู่ทั่วโลกทั้งในยุโรปและอเมริกาไม่ค่อยได้สอนกันในโรงเรียนของเขา ผมเข้าใจว่ามันคงไม่ถูกจริตของฝรั่ง คือเขาสอนแต่เทคนิคการเอาสติเสียบเข้ามาแบบซ้ำๆๆๆ แต่ไม่พูดถึงการปล่อยวางความคิดยึดมั่นถือมันในอัตตาและการพาตัวให้ห่างจากโลกิยะบิสิเนสอันได้แก่ กิน กาม เกียรติ และโลภ โกรธ หลง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คืออะไรที่จะดูดเราให้แกว่งออกไปหา หรือแกว่งหนี จากการอยู่นิ่งๆตรงกลาง ควบคู่กันไปผมแนะนำให้คุณใช้ชีวิตในแนวทางง่ายๆแบบ minimalism ลดการสะสม ลดการอยากได้ตะเกียกตะกาย เมื่อใดที่โลกิยะบิสิเนสเหล่านี้ไม่สามารถดึงใจเราให้หันเหออกไปจากการอยู่นิ่งๆตรงกลางได้อีกต่อไป เมื่อนั้นเราก็พร้อมที่จะนั่งลงหลับตาฝึกสมาธิให้ได้ผลดี ซึ่งจะนำไปสู่ปัญญาญาณ ซึ่งจะนำไปสู่การเห็นชีวิตตามที่มันเป็นหรือที่บางคนเรียกว่า realization หรือที่บางคนเรียกว่า insight

ถ้าคุณไม่ให้ความสำคัญกับการปล่อยวางโลกิยะบิสิเนส ไปมุ่งมั่นฝึกสติตามแบบฝรั่งตะพึดอย่างเดียว ท้ายที่สุดคุณอาจมีสติที่แข็งแรงได้ก็จริง แต่คุณก็จะไม่เกิดการตระหนักรู้ความจริงของชีวิต เพราะความยึดมั่นในสำนึกว่าเป็นบุคคลหรืออีโก้ของคุณมันเป็นกรอบภาพที่หนาเตอะจนบดบังส่วนข้างนอกของจอภาพไม่ให้คุณเห็นให้หมดภาพ หรือเห็นตามที่มันเป็น เหมือนกับคุณเมาเหล้าแล้วพายเรือกลับบ้านตอนกลางคืนแต่ลืมแกะเชือกผูกหลักออก คุณพายให้ตายก็ไม่ไปไหน โลกิยะบิสิเนส อุปมาอุปไมยก็คือเชือกที่ผูกเรือคุณไว้นั่นแหละ

ไหนๆก็พูดถึงการปลีกวิเวกหลีกเร้นแล้วขอพูดต่ออีกหน่อย คนเรานี้มันมีสามแบบนะ คือ

แบบที่ 1. คนที่ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมหรือปลีกวิเวกเข้าวัดเข้าวาก็ไม่สงบ ไปอยู่วัดอยู่สำนักปฏิบัติก็ทะเลาะกับแม่ชีหรือแม่ครัวหรือทะเลาะกับสหธรรมมิก อยู่คนเดียวก็บ่นอุบอับ แบบว่าในหัวมีแต่ความคิดตลอดเวลา คนอย่างนี้ต้องใช้เทคนิคการเสียบสติเข้ามาแบบซ้ำๆๆๆๆตามอย่างฝรั่งโดยยังไม่ต้องไปสนใจทำอย่างอื่น อย่าเพิ่งไปรีบนั่งหลับตาทำสมาธิ เพราะการนั่งหลับตาขณะที่ใจเต็มไปด้วยความคิดจะทำให้เกิดสงครามภายในหัวของคุณเอง อย่างดีก็จะได้เป็นคน “มือถือสากปากถือศีล” แต่อย่างเลว อาจจะกลายเป็น “คนบ้า”

แบบที่ 2. คนที่อยู่ในชีวิตการทำงานและสังคมแล้วไม่สงบ แต่พอได้ปลีกวิเวกหลีกเร้นไปอยุ่คนเดียวเงียบๆหรือเข้าวัดเข้าวาพ้นไปจากบรรยากาศการแก่งแย่งชิงดีแล้วก็สงบลงได้ คนแบบนี้แหละที่ต้องเริ่มหันเข้าหาการปลีกวิเวกหลีกเร้นและใส่ใจการปลดละความยึดถือเกี่ยวพันทางโลกจึงจะเกิดความก้าวหน้าในการฝึกไปสู่ความสงบเย็นและอยู่เหนือความคิดอย่างถาวรได้ และคนแบบนี้แหละที่จะได้ประโยชน์จากการนั่งหลับตาฝึกสมาธิ

แบบที่ 3. คนที่ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความยั่วยวนปั่นป่วนวุ่นวายก็ดี หรือจะอยู่แบบปลีกวิเวกคนเดียวหรือเข้าวัดเข้าวาก็ดี ก็ล้วนมีความสงบเย็นอยู่เสมอ คนแบบนี้คือคนที่หลุดพ้นแล้ว ไม่ต้องปลีกวิเวกหลีกเร้นไปไหน ไม่ต้องอ่านบล็อกหมอสันต์จะเสียเวลาเปล่าๆ ไม่ต้องเสาะหาอะไรเพิ่มเติมอีกแล้ว เพราะสามารถใช้ชีวิตอย่างสงบเย็นโดยทำกิจสร้างสรรค์ด้วยตัวเองได้ด้วยแล้ว แค่นี้ก็พอแล้วสำหรับการเกิดมามีชีวิตครั้งหนึ่งของคนเรา

คุณเป็นแบบไหนก็ให้เลือกวิธีปฏิบัติแบบที่เหมาะกับคุณ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์