Latest

ก้าวใหญ่ที่สุดในการเกิดมามีชีวิตนี้ ก็คือการก้าวจาก “known” ไปสู่ “unknown”

(ภาพวันนี้: ปาลม์เยอรมัน)

เรียนคุณหมอ

หลังจากที่หนูได้ฝึกใช้ mindfulness bell มาระยะหนึ่ง พบว่าทำให้สติไวขึ้นมาก พอความคิดเด้งขึ้นมา รู้ตัวไวขึ้นมากว่ามันมาแล้ว พอรู้ว่ามันมาแล้วก็พยายามหากลยุทธ์มาตัดตอนมัน…ถ้าเป็นความคิดยิบย่อยก็วางได้เลยแต่ถ้าเป็นความขุ่นใจหรือโกรธต้องใช้วิธีคิดทวนกระแส….

สิ่งที่หนูพบจากการฝึกคือ ความคิดมันมี 3 แบบ คือ 1. ความคิดที่เราตั้งใจคิด  2. ความคิดที่มันเด้งมาเอง 3.ความคิดที่ต่อยอดจากความคิดที่เด้งขึ้นมา ความคิดที่เราบริหารมันได้คือตัวที่ 1 กับ 3 ส่วนตัวที่ 2 หนูบริหารมันไม่ได้ แล้วจริงๆมันบริหารได้ไหมคะ?

สิ่งที่หนูยังไม่กระจ่างและจะรบกวนปรึกษาคุณหมอ…

1. ที่คุณหมอเรียกว่าวางความคิด หมายเอาเฉพาะความคิดที่ต่อยอดเท่านั้นหรือเปล่าคะ เพราะประสบการณ์ปัจจุบัน พบว่าความคิดที่มันเด้งขึ้นมามันวางไม่ได้เพราะมันเด้งมาเอง ควบคุมมันไม่ให้เด้งขึ้นมาก็ไม่ได้ด้วย อยู่ๆมันก็มาไม่รู้ตัว (ตอนมันมาไม่เคยรู้ตัวเลย มารู้อีกทีมันมาแล้ว…เป็นการรู้ตามหลังเสมอ) เราจะสามารถฝึกเพื่อทำให้มันไม่เด้งขึ้นมาเลย ให้เกิดความคิดแค่เรื่องที่เราอยากคิดเท่านั้น ได้ไหมคะ นอกจากต้องมีสติ 100% อยู่ตลอดเวลา ซึ่งน่าจะยากมาก…เคยพยายามลองควบคุมความรู้ตัว เพื่อที่จะให้มีสติอยู่ตลอดเวลาไม่ให้ความคิดมันเด้งขึ้นมา พบว่าเหนื่อยมาก เครียด และไม่สำเร็จ 555

2. คุณหมอพูดถึงการเปลี่ยนตัวตน (Change of identity) โดยการวางความเป็นตัวตนเราเสีย ไปเป็นอะไรก็ไม่รู้ ….หนูเข้าใจถูกไหมคะว่าเมื่อไหร่ที่เราสามารถวางความเป็นตัวตนลง ตัวเราก็ไม่มี ก็จะไม่โกรธเพราะไม่มีตัวเราแล้ว….. แล้วกระบวนการวางตัวตนมันควรจะต้องเริ่มจากอะไรคะ เพราะความรู้ตัว (จิต) กับตัวตนมันคุ้นเคยที่อยู่ด้วยกันมาตลอดจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันราวกับแฝดสยาม การที่อยู่ๆจะไปบอกให้มันแยกจากกันโดยการบอกจิตว่านี่ไม่ใช่ตัวตนเรานะ เป็นสิ่งอื่น…มันคงไม่เชื่อ….คุณหมอฝึกอย่างไรและวิธีไหนคะ ถึงจะเจอ turning point ที่ทำให้มันขาดผึงออกจากกัน…จนจิตหมดความยึดโยงกับความเป็นตัวตน….

รู้สึกโชคดีและขอบคุณสิ่งที่ทำให้หนูได้มีโอกาสรู้จักและพบเจอคุณหมอ…

………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าที่หมอสันต์สอนให้วางความคิดหมายความถึงแค่ความคิดที่คิดต่อยอดความคิดที่โผล่ขึ้นเองแบบอัตโนมัติใช่ไหม ตอบว่าใช่ครับ

2.. ถามว่าความคิดชนิดที่โผล่มาเองในหัวโดยเราไม่ได้คิดจะไม่ให้มันโผล่ขึ้นมาเลยได้ไหม ตอบว่าไม่ได้ครับ เพราะความคิดชนิดนั้นพูดแบบบ้านๆมันก็คือกรรมเก่าของเราเอง ชื่อว่ากรรมเก่า อย่างไรก็ต้องได้เสวย (หิ หิ ขอโทษ วันนี้ขอเดาะสำนวนหลวงพ่อ) อย่างไรมันก็ต้องเกิดขึ้นมาก่อน แล้วเราจึงจะตามไปรับรู้มันได้ กลไกการตามไปรับรู้นี้ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “recall” ซึ่งพระภิกษุในพุทธศาสนาสายออร์โธดอกซ์(เถรวาท)ใช้คำไทยว่า “ความระลึกได้” ซึ่งท่านแปลมาจากภาษาบาลีคำว่า “สติ” ดังนั้นถ้าสติแหลมคมระยะที่จะระลึกได้ก็สั้น ความคิดนั้นก็ยังไม่ทันได้อาละวาดมาก ถ้าสติแหลมคมมาก ระยะที่รับรู้ได้ก็ยิ่งสั้นมากชนิดที่โผล่มาแต่หัวคิ้วยังไม่ทันโผล่ลูกกะตามาเลยก็รู้แล้วว่าเป็นใคร คือเราจำความคิดนั้นได้ นี่เป็นจุดที่โยคีบางคนใช้เป็นฐานในการสร้างเทคนิค “สอบสวนตีทะเบียนความคิด (self inquiry)” เพราะชื่อว่ากรรมเก่าใช่ว่าจะมาหนเดียวแล้วจบ แต่มีธรรมชาติมาซ้ำมาซาก ถ้าเราจำมันได้แม่น เราก็ดีดมันทิ้งได้ตั้งแต่ยังไม่ทันเห็นลูกกะตา ดังนั้นการฝึกสติให้แหลมคมจึงเป็นกลยุทธ์เดียวในการวางความคิดชนิดกรรมเก่าของเราเอง แบบว่าเจอดีดทิ้ง เจอดีดทิ้ง แล้วมันจะค่อยๆห่างไปๆ แล้วหายไปแบบสวีวี่วี

3.. ถามว่าจะฝึกสติให้แหลมคมจนความคิดชนิดกรรมเก่าโผล่ไม่ได้เลยได้ไหม ตอบว่าฝึกได้ครับ เพราะการวางความคิดมีสองแบบ แบบแรกคือย้อนกลับไปดูอย่างที่ว่า แบบที่สองคือรอการมาของความคิดใหม่ ทั้งสองแบบเป็นการสังเกตทั้งคู่ แบบแรกคือกำลังมั่วอยู่ในความคิดแล้วสังเกตความคิดที่เกิดขึ้นแล้ว แบบที่สองคือปักหลักอยู่ ณ ที่ไม่มีความคิด (เช่นที่ลมหายใจ) แล้วรอดูความคิดแรกที่จะโผล่ขึ้นมา ที่คุณบอกว่าลองทำแบบที่สองดูแล้วเครียดนั้นเป็นเพราะสติคุณยังไม่แข็งแรง เปรียบเหมือนคนขี่จักรยานไม่เก่งการจะทรงตัวอยู่นิ่งๆได้มันเหนื่อยแทบตาย แต่ถ้าสติคุณแหลมคมแล้ว คุณทำวิธีไหนก็ได้ ไม่มีเครียด เพราะทั้งสองวิธีพอใช้ไปถึงขั้นละเอียดขึ้นๆ มันกลายเป็นวิธีเดียวกัน เพราะถ้าระยะการระลึกได้สั้นมากๆจนโผล่ปุ๊บรู้ปั๊บ มันจะไปต่างอะไรกับเทคนิคการนั่งรอดูความคิดใหม่ที่จะโผล่ละ ถูกแมะ

ตัวผมเองนั้นไม่สนับสนุนให้ใครเอาเป็นเอาตายกับความคิดมากนัก แค่ให้สังเกต แค่มันมาก็รู้ว่ามันมา มันไปก็รู้ว่ามันไป เอาแค่นี้ก็พอแล้ว เพราะเมื่อความคิดงวดลงถึงระดับหนึ่ง(ที่เรียกว่าฌาณนั่นหละ) มันจะมีความคิดเนียนๆอีกแบบหนึ่งโผล่ขึ้นมา ที่เรียกว่าญาณทัศนะ หรือปัญญาญาณ นี่ก็เป็นความคิดนะ เป็นความคิดชนิดที่เราไม่ได้คิดด้วย มันโผล่มาเอง แต่ถ้าคุณไปเอาเป็นเอาตายกับทุกความคิดด้วยระแวงว่ามันเป็นกรรมเก่าเสียหมด คุณก็หมดโอกาสที่จะได้เรียนรู้อะไรจากมัน เหมือนพอบุรุษไปรษณีย์จะเข้าบ้านมาคุณก็ปล่อยหมาไล่เขาเสียแล้ว แล้วคุณจะได้รับพัศดุที่เขาตั้งใจจะเอามาส่งให้คุณไหมละ

4.. ถามว่าที่หมอสันต์พูดถึงการเปลี่ยนตัวตน (Change of identity) จุดเปลี่ยนหรือ turning point มันเริ่มตรงไหน เพราะความรู้ตัว (จิต) กับตัวตนมันคุ้นเคยที่อยู่ด้วยกันมาตลอดจะแยกออกจากกันได้อย่างไร ตอบว่า ก็เริ่มที่การสังเกตความคิดไงครับ ความคิดคือตัวตน ความรู้ตัวคือผู้สังเกต แยกตรงนี้ออกจากกันให้ได้ก่อน ขณะที่นั่งสังเกตความคิด ให้มองให้เห็นชัดๆจะๆว่านั่นความคิดนะ มันอยู่ที่นั่น ส่วนเราอยู่ที่นี่กำลังนั่งสังเกตอยู่ เราไม่ใช่ความคิด ไม่ได้เป็นญาติโกโหติกาอะไรกันเลย เห็นจุดที่ผมชี้ไหม เมื่อเราเปลี่ยน position ของตัวเองจากการเป็น “ผู้คิด” มาเป็น “ผู้สังเกต” นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนตัวตน เมื่อขยันสังเกตความคิดไป จนทุกความคิดที่เกิดขึ้นตกอยู่ภายใต้การสังเกตหมดไม่มีความคิดไหนที่เป็นการ “เผลอคิด” เลย เมื่อนั้นสิ่งที่คุณเรียกว่าแฝดสยามก็จะแยกจากกันได้เด็ดขาด คุณจะไม่ใช่ความคิดใดๆของคุณอีกต่อไป จุดนั้นคือจุดที่เกิดการเปลี่ยนตัวตนหรือ change of identity

5.. ข้อนี้ไม่ได้ตอบคำถาม แต่เป็นการตั้งข้อสังเกต ว่าคุณเป็นคนเอาถ่านนะ ให้คุณขยันทดลอง ขยันลองผิดลองถูกต่อไป ก้าวใหญ่ที่สุดในการเกิดมามีชีวิตนี้ ก็คือการก้าวจาก “known” ไปสู่ “unknown” เส้นทางข้างหน้าล้วนเป็น “unknown” คุณไม่มีทางรู้ล่วงหน้าหรือนิยามด้วยภาษาได้หรอกว่ามันจะเป็นอย่างไร มันคืออะไร เพราะคุณต้องเรียนรู้จากการมีประสบการณ์กับของจริงเท่านั้น อย่าไปหาความรู้ล่วงหน้า หากคุณรู้ล่วงหน้าขึ้นมาเมื่อใด นั่นแสดงว่าคุณกำลังตกลงไปในร่องความคิด เหมือนคนเดินวนเป็นวงกลมแบบกลับไปตั้งต้นที่สนามหลวงใหม่โดยไม่รู้ตัว..อีกแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์