Latest

เป็นเบาหวานประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2 กันแน่ จะพิสูจน์ได้อย่างไร

(ภาพวันนี้: ฟ้าหลังบ้านเป็นสีเป็นปลายฝนต้นหนาว)

เรียนคุณหมอ

ดิฉันอายุ 58 ปีตอนอายุ 48 เป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวถึงขั้นช็อกเข้าโรงพยาบาล … พอออกจากโรงพยาบาลก็มีทั้งยากินยาฉีด ยาลดเบาหวาน ยาลดความดัน ยาลดไขมัน และฉีดอินสุลินด้วย ดิฉันเบื่อไปหาหมอแต่ละทีต้องรอนานมาจึงรักษาตัวเอง โดยปรับยาฉีดเองทั้งอินสุลินแบบสั้นแบบยาว หมอบอกว่าฉันน่าจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ดิฉันถามว่าจะพิสูจน์ด้องอย่างไรหมอเขาก็ไม่พูดถึงการพิสูจน์ แต่เนื่องจากดิฉันรักษาตัวเองจึงอยากรู้ว่าจะพิสูจน์อย่างไรจึงจะรู้ว่าตัวเราเป็นชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 รบกวนคุณหมอบอกวิธีให้ละเอียดด้วยเพราะดิฉันต้องทำเอง ถ้าเป็นชนิดที่1 จริงการรักษามันแตกต่างจากชนิดที่2 หรือว่าเหมือนกัน ถ้าแตกต่างกันจะต้องดูแลตัวเองแตกต่างออกไปจากคนเป็นชนิดที่ 2 อย่างไร และคุณหมอว่าอย่างดิฉันเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ไหม ถ้าเป็นควรรักษาอย่างไร เพราะดิฉันไปกินอาหารโลว์คาร์บแล้วไขมัน LDL ขึ้นไปถึง 380 ก็กล้วเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ พอเปลี่ยนมากินมังสวิรัติก็ผอมลง ดิฉันกลัวผอมเพราะตอนนี้ผอมอยู่แล้ว ช่วยแนะนำด้วย

ขอบคุณค่ะ

…………………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ตอบว่าพิสูจน์ได้ด้วยการเจาะเลือดดูซี เพ็พไตด์ (C-peptide) ผลมันจะออกมาเป็นสามอย่างดังนี้

1.1 ถ้าเจาะได้ค่าต่ำกว่า 1.5 ng/mL เท่ากับว่าระดับอินสุลินต่ำกว่าปกติ แปลว่าเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ซึ่งตับอ่อนสร้างอินสุลินได้น้อยหรือไม่ได้เลย

1.2 ถ้าเจาะได้ค่าอยู่ระหว่าง 1.5-3.0 ng/mL เท่ากับว่าระดับอินสุลินปกติดี แปลว่าเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ที่ยังไม่รุนแรง ไม่มีการดื้อต่ออินสุลิน

1.3 ถ้าเจาะได้ค่าสูงกว่า 3.0 ng/mL เท่ากับว่าระดับอินสุลินมากกว่าปกติ แปลว่าเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ระดับรุนแรง มีการดื้อต่ออินสุลิน ทำให้ตับอ่อนผลิดอินสุลินออกมามากขึ้น

อนึ่ง ขอเล่าเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจสักหน่อยว่า ซีเพ็พไทด์นี้มันเป็นตัวแทนอินสุลินซึ่งวงการแพทย์ใช้เป็นตัวบอกระดับอินสุลิน สำหรับท่านที่อยากรู้ลึกกว่านี้ ก่อนที่จะมาเป็นอินสุลินร่างกายจะต้องสร้างสารตั้งต้นชื่อ proinsulin ขึ้นมาก่อนแล้วตับอ่อนจะเอาโปรอินสุลินมาแยกเป็นสองโมเลกุลคือซีเพ็พไทด์กับอินสุลินอย่างละเท่าๆกัน แต่ที่วงการแพทย์ไปตรวจซีเพ็พไทด์แทนที่จะตรวจอินสุลินตรงๆก็เพราะซีเพ็พไทด์อยู่ในเลือดได้นานพอให้ตรวจได้ และซีเพ็พไทด์บอกระดับอินสุลินที่ตับอ่อนผลิตขึ้นได้แม่นยำกว่าการตรวจอินสุลินแม้ว่าจะฉีดอินสุลินอยู่เพราะอินสุลินจากภายนอกไม่ทำให้ให้ค่าซีเพ็พไทด์เปลี่ยนแปลง การตรวจไปตรวจที่แล็บไหนก็ได้ ค่าตรวจเป็นระดับหลายร้อยบาท

นอกจากซีเพ็พไทด์แล้ว ตัวช่วยวินิจฉัยอีกตัวหนึ่งคือเจาะเลือดดูภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิด Auto antibodies of Glutamic Acid Decarboxylase (Anti-GAD) ซึ่งถ้าพบก็จะยืนยันว่าเป็นป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 ซึ่งเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองโรคหนึ่ง

2.. ถามว่าเมื่อรู้ว่าเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 จะทำให้การรักษาต่างไปจากเบาหวานประเภทที่ 2 หรือไม่ ตอบว่ามันมีทั้งส่วนที่รักษาเหมือนกันและส่วนที่ต่างกัน

2.1 ส่วนที่รักษาเหมือนกันคือการเปลี่ยนอาหารเพื่อรักษาภาวะที่เซลล์ดื้อต่ออินสุลิน หมายถึงการลดละเลิกอาหารให้พลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันอิ่มตัวจากสัตว์และน้ำตาลทรายและน้ำเชื่อมคอร์นไซรัพ (HFCS) ซึ่งมีฟรุคโต้สสูงโดยที่ไม่มีกากมาช่วยดูดซับ แต่ผลไม้ไม่ต้องเลิกเพราะมีกากที่ธรรมชาติให้มาพร้อมกับเนื้อผลไม้ช่วยดูดซับฟรุคโตสได้ นอกจากนั้นผลไม้ให้วิตามินเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย

2.2 ส่วนที่รักษาต่างกันคือการใช้อินสุลิน เบาหวานประเภทที่ 1 จำเป็นต้องใช้อินสุลินฉีดในการรักษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่นานไปถ้าโรคดีขึ้นอาจจะลดลงได้ แต่เบาหวานประเภทที่ 2 ไม่ควรใช้อินสุลินในการรักษาเลย เพราะในภาวะที่ดื้อต่ออินสุลินในเลือดมีระดับอินสุลินสูงผิดปกติอยู่แล้ว การให้อินสุลินเพิ่มเข้าไปเป็นการไปแก้ปัญหาปลายเหตุทำให้ดูเหมือนดีขึ้นเพราะลดน้ำตาลได้แต่แท้จริงแล้วยิ่งจะทำให้กินอาหารให้พลังงานได้มากขึ้น ยิ่งทำให้เป็นโรครุนแรงขึ้น แทนที่จะแก้ต้นเหตุคือเปลี่ยนอาหารที่ทำให้เซลล์ดื้อต่ออินสุลิน

3.. ถามว่าอายุปูนนี้ (50 ปี) เป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ได้ไหม ตอบว่าเป็นได้ เขาเรียกว่าประเภทที่ 1 ชนิดออกอาการช้า (latent autoimmune diabetes of the adult – LADA) บางคนก็เรียกว่า type 1.5 คือโรคที่มีกลไกการเกิดเหมือนเบาหวานประเภทที่ 1 ทั่วไปทุกประการแต่ออกอาการช้าค่อยๆเป็นค่อยๆไป คือมามีอาการชัดเอาตอนอายุ 30-40 ปีไปแล้ว

4. ถามว่าถ้าเป็นเบาหวานประที่ 1 ควรจัดการตัวเองอย่างไรโดยไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยและไม่ให้ผอมด้วย ตอบว่า

4.1 ในประเด็นการป้องกันการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจซึ่งเป็นจุดจบที่เลวร้ายของโรคเบาหวานนั้น คำแนะนำของผมมีอย่างเดียวคือเปลี่ยนอาหารมากินอาหารแบบพืชเป็นหลักชนิดไขมันต่ำ วิธีอื่นไม่มี

4.2 ในประเด็นกลัวผอมนั้นผมแนะนำให้ทำสามอย่างคือ

4.2.1 เลิกกินอาหารแบบชั่งตวงวัดนับคาร์บ นับแคลอรี่ นับโปรตีนเสีย เลิกให้หมด เพราะหลักฐานวิจัยล้วนชี้ชัดแล้วว่าการวัดมันไม่เที่ยงและการขยันนับก็ไม่ได้เกิดมรรคผลลดอัตราตายและอัตราเกิดจุดจบที่เลวร้ายซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของโรคเบาหวานแต่อย่างใด ผมแนะนำให้หันมาเกาะติดรูปแบบของอาหารที่กิน (eating pattern) เช่นเกาะติดอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (PBWF) แล้วกินให้อิ่มจนมั่นใจว่าได้แคลอรีมากพอ ไม่ต้องวัดอะไรมากอะไรน้อยทั้งสิ้น เพราะถ้ากินไม่อิ่มเพราะกลัวนั่นจะมากนี่จะน้อย จะเป็นเหตุให้ร่างกายได้รับแคลอรี่ไม่พออันเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของการผอมแบบซูบ เพราะเมื่อแคลอรีไม่พอร่างกายก็ไปสลายเอากล้ามเนื้อมาใช้ ทำให้กล้ามเนื้อลีบ การกินโปรตีนแก้ก็ช่วยอะไรไม่ได้เพราะสิ่งที่ต้องการคือแคลอรี่ โปรตีนให้แคลอรี่ 4 แคลอรี่ต่อกรัมเท่าคาร์โบไฮเดรตก็จริง แต่ร่างกายสูญเสียพลังงานในการเผาผลาญโปรตีนมากกว่าเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต สรุปว่าโปรตีนเป็นอาหารให้แคลอรี่ที่สู้คาร์โบไฮเดรตไม่ได้

ส่วนความกลัวว่ากินคาร์โบไฮเดรตจะได้น้ำตาลมากจนทำให้โรคแย่ลงนั้นก็ให้กินคาร์โบไฮเดรตในรูปของแป้งไม่ขัดสีเพราะมีกากที่ดูดซับน้ำตาลไม่ให้ถูกดูดซึมมาก อีกประการหนึ่งแป้งให้น้ำตาลชนิดกลูโค้สเท่านั้นซึ่งก่อการดื้อต่ออินสุลินน้อย ต่างจากน้ำตาลและน้ำเชื่อมคอร์นไซรัพซึ่งให้ทั้งกลูโค้สและฟรุคโต้สซึ่งเปลี่ยนเป็นไขมันได้มากกว่าและทำให้เซลดื้อต่ออินสุลินได้มากกว่า

4.2.2 ออกกำลังกายให้มากทั้งวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นกล้าม (muscle strength training) เพราะการซูบเกิดจากกล้ามเนื้อลีบ ซึ่งมีสองสาเหตุคือ (1) กินแคลอรีไม่พอ กับ (2) การไม่ได้ใช้งานกล้ามเนื้อนานๆ โดยเฉพาะในคนสูงอายุ

4.2.3 ถ้าอยากจะเร่งให้กล้ามเนื้อโตทันใจ ก็หาโปรตีนผงมากิน เช่น โปรตีนถั่วเหลือง หรือเวย์โปรตีน เพราะงานวิจัยงานหนึ่ง (ในคนทั่วไปที่อายุไม่มาก) พบว่าการกินโปรตีนผงควบกับการเล่นกล้ามช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อได้ แต่ระวังอ่านฉลากให้ดี อย่าไปซื้อโปรตีนผงที่ใช้น้ำตาลทรายหรือน้ำเชื่อมคอร์นไซรัพเป็นตัวช่วยสร้างพลังงาน เพราะจะหนีเสือปะจรเข้ (ปล. ระวัง..โปรตีนผงยอดนิยมของผู้สูงวัยที่ใช้กันทั่วเมืองไทยขณะนี้ ใช้น้ำเชื่อมคอร์นไซรัพเป็นตัวให้พลังงาน ซึ่งแสลงยิ่งนักสำหรับคนเป็นเบาหวาน)

การใช้โปรตีนผงใช้เมื่อกินอาหารให้พลังงานได้มากเพียงพอแล้ว และใช้ไม่เกินวันละ 20 กรัมก็พอ เกินนั้นงานวิจัยพบว่าไม่มีประโยชน์ในการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ อย่าใช้โปรตีนผงกินแทนอาหารให้พลังงานเพราะกินอะไรไม่ลง การทำอย่างนั้นไม่มีประโยชน์อะไร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Jones, A. G., & Hattersley, A. T. (2013). The clinical utility of C-peptide measurement in the care of patients with diabetes. Diabetic medicine : a journal of the British Diabetic Association, 30(7), 803–817. https://doi.org/10.1111/dme.1215