Latest

ความยึดถือเกี่ยวพัน (Attachment) กับความอยากเป็นตัวของตัวเอง (Authenticity)

(ภาพวันนี้: ลูกนกมาคอว์ของเพื่อนบ้าน โชว์สีสันอันสวยสดที่ธรรมชาติให้มา)

คุณหมอสันต์ที่เคารพ

หนูอายุ 51 ปี เป็นมะเร็งเต้านมระยะที่สี่ ให้ยาล็อคเป้ามาแล้ว 8 ปี ตอนแรกมะเร็งที่กระจายไปกระดูกสนองตอบดี ตอนนี้เริ่มมีกระจายมาใหม่ที่ปอด หมอบอกว่าหนูมีเวลาประมาณหนึ่งปี หนูเกิดมาเป็นคนโชคร้าย มีเรื่องราวในใจมาก ย้อนหลังไปตั้งแต่อดีตเมื่อเริ่มเป็นสาว แต่ความที่อยากเป็นคนดีของคนรอบตัวก็พยายามไม่กวนน้ำให้ขุ่น หนูเชื่อว่าการเป็นคนเก็บกดทำให้หนูเป็นมะเร็ง ขอคำแนะนำคุณหมอว่าหนูจะหาทางออกจากเรื่องนี้อย่างไร ถ้าหนูจะต้องจบชีวิตลง หนูก็อยากให้มันจบแบบสวย ไม่ใช่จบแบบเก็บกดจนต้องเอาไปว่ากันต่อในชาติหน้า

ขอบพระคุณค่ะ

………………………………………………………………….

ตอบครับ

คนเราเติบโตมาพร้อมกับการพัฒนาความย้ำคิดสองอย่างขึ้นในใจ

ด้านหนึ่ง คือความยึดถือเกี่ยวพันกับคนอื่น (Attachment) ในแง่ที่คนก็เป็นสัตว์สังคมตัวหนึ่งที่ตัวเองต้องการการดูแลเอาใจใส่จากคนอื่นและตัวเองต้องใส่ใจดูแลคนอื่นด้วยอย่างเป็นสัญชาติญาณที่ฝังแฝงมาในเซลล์ร่างกายตั้งแต่เกิดแล้ว

อีกด้านหนึ่ง คือความอยากเป็นตัวของตัวเอง (Authenticity) อยากทำอะไรเปิดเผยจริงใจว่าตัวเองเป็นคนอย่างนี้โดยไม่ต้องเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม

ทั้งสองด้านนี้บางครั้งก็ขัดกัน ทำให้ต้องมีการเก็บกดความเป็นตัวของตัวเองไว้เพื่อถนอมความยึดถือเกี่ยวพันกับคนอื่น ถ้าเก็บกดนิดๆหน่อยๆก็ไม่กระไรนัก แต่ถ้าการเก็บกดนี้แรงมากก็จะพาลกด (suppress) กลไกของร่างกายไปหลายระบบเพราะทุกระบบมีความยึดโยงเกี่ยวข้องกันไปหมดนับตั้งแต่กายเกี่ยวข้องกับใจ ในส่วนของกายนั้นทุกระบบที่เกี่ยวกันอยู่นั้นรวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งหากถูกกดก็จะนำไปสู่โรคเช่นการติดเชื้อและมะเร็ง หรือหากระบบสับสนก็จะนำไปสู่โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองรวมทั้งโรคของท้องไส้และผื่นผิวหนังต่างๆ การกดระบบประสาทก็จะทำให้เกิดความ “ล้า” ที่ต้องปล่อยฮอร์โมนเครียดเช่น คอร์ติซอลและอดรินาลินออกมาติดต่อกันนานๆและนำไปสู่การเป็นโรคเรื้อรังของระบบหัวใจและหลอดเลือดตามมา เป็นต้น

สถานะการณ์ในชีวิตของคนเรานี้ มันคล้ายๆกับว่าเมื่อใดที่เราจำเป็นต้องปฏิเสธหรือจำเป็นต้องพูดคำว่า “ไม่” แต่เราไม่กล้าพูด เมื่อนั้นร่างกายมันจะพูดแทนเราในรูปของการเจ็บป่วย

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดของเราที่เก็บกดความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้ เพราะเราเป็นเหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมมาให้คิดให้ทำอย่างนี้ ดังนั้นการตำหนิตัวเองก็ดี หรือเสียใจกับสิ่งที่ผ่านไปแล้วก็ดี จึงเป็นเรื่องไร้สาระไร้ประโยชน์

การจะแก้ปัญหานี้เพื่อให้มันส่งผลดีต่อโรคเรื้อรังที่เราเป็นมันจำเป็นต้องทำหลายด้านพร้อมกัน

ด้านที่หนึ่ง คือ การปฏิบัติการในสนามความคิดซึ่งเป็นสนามที่เป็นที่เกิดเหตุนี้ ซึ่งต้องเริ่มด้วยการกึ่งหักดิบยอมรับ (radically acceptance) ก่อน ว่าอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เพราะการปลดปล่อยการเก็บกดก็คือการ “รื้อวง” มันก็ต้องมีการกระเจิดกระเจิงกันบ้าง เมื่อยอมรับได้แล้วจึงเริ่มปลดปล่อยการเก็บกดออกไป ทีละเปลาะ ทีละเปลาะ

ด้านที่สอง คือการฝึกปฏิบัติวางความคิด คือการเลื่อนตัวเองขึ้นสูงไปกว่าสนามความคิดซึ่งเป็นสนามต่ำ ไปอยู่ในสนามความรู้ตัวซึ่งเป็นสนามสูง เหมือนนักเตะฟุตบอลได้เลื่อนเตะจากสนามบอลนักเรียนขึ้นไปเตะในสนามบอลอาชีพ เพราะความยึดถือเกี่ยวพันก็ดี ความเป็นตัวของตัวเองก็ดี ล้วนเป็นความคิดทั้งสิ้น หากสามารถเลื่อนตัวเองขึ้นไปพ้นสนามนี้ได้ ทั้งความยึดถือเกี่ยวพันและทั้งความเป็นตัวของตัวเองจะหมดพลังบีบคั้นไปอย่างอัตโนมัติ เหลือแต่ตัวพลังงานชีวิตที่เชื่อมโยงสรรพชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียว จะเรียกว่าเหลือแต่เมตตาธรรมที่ไร้ขอบเขตก็อาจจะเข้าใจง่ายขึ้นกระมัง ตรงนี้เป็นสนามสูง ชีวิตจะเหลือแต่การใช้ชีวิตอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ โดยที่ความคิดที่ถูกชงขึ้นมาจากสถานะการณ์ในชีวิตจะไม่มีอำนาจอิทธิพลอะไรอีกต่อไป

ผมเคยได้พูดถึงการฝึกใช้เครื่องมือวางความคิดไว้หลายครั้ง ให้คุณย้อนหาอ่านดูในบล็อกนี้เอาเองได้ แล้วเลือกมาหัดทำเองดู

ผมไม่รับประกัน และไม่มีใครรับประกันได้ด้วย ว่าทำตามนี้แล้วคุณจะหายจากโรคที่คุณเป็น แต่ผมแนะนำให้คุณทดลองลงมือทำอย่างนี้ มันมีโอกาสที่จะดึงตัวคุณออกมาจากสถานะการณ์นี้ได้ ดีกว่าการเอาแต่ย้ำคิดตีอกชกหัวต่อว่าโชคชะตาโดยไม่ทดลองแก้ปัญหาด้วยการทำอะไรสักอย่าง ซึ่งมีแต่จะพาคุณจมลึกลงๆไปในหลุมดำของความคิดที่ทำให้เป็นทุกข์อย่างไม่รู้จบไม่รู้สิ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์