Latest

เรื่องไร้สาระ (37) นักเรียนแก่หัดสีไวโอลิน

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกที่ภาพข้างล่างเพื่อนอ่านบทความเต็ม)

หมอสันต์เป็นคนขี้ลืม ไม่ใช่เพิ่งมาขี้ลืมเอาตอนแก่ เป็นมาตั้งแต่หนุ่มๆแล้ว สมัยเป็นผู้อำนวยการใหญ่ของรพ.เอกชนแห่งหนึ่ง พวกคนใกล้ชิดเช่นเลขาและคนระดับผอ.ฝ่ายจะค่อยๆเรียนรู้วิธี “อำ” ผมเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองอยากได้ ซึ่งบ่อยครั้งผมก็รู้ทันแต่ก็แกล้งโง่ทำเป็นไม่รู้ ส่วนที่ลืมจริงๆแล้วถูกอำยังไม่รู้ว่าถูกอำนั้นไม่รู้มีเท่าไหร่ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมไม่ชอบงานบริหารซึ่งมีข้อมูลมากและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแถมยังตรวจสอบยาก สู้งานรักษาคนไข้และการให้ความรู้สุขภาพไม่ได้เพราะมีข้อมูลผลวิจัยถูกบันทึกไว้ตายตัวแน่นอนเป็น reference ที่สงสัยเมื่อไหร่ก็เปิดตรวจสอบได้เมื่อนั้น อย่างไรก็ตาม ผมตระหนักว่าความขี้ลืมมีธรรมชาติที่จะพัฒนาไปทาง “หนักขึ้น” ตามวัย ผมต้องหาวิธีหยุดยั้งมันไม่ให้ลามไปมากกว่านี้ ผลวิจัยทางการแพทย์บอกว่ามีวิธีเพิ่มการเชื่อมต่อและเพิ่มน้ำหนักสมองเพื่อรักษาโรคขี้ลืมนั้นมีวิธีหลักๆสี่ห้าวิธี คือ (1) กินอาหารที่มีพืชมากและหลากหลายมีเนื้อสัตว์น้อย (2) ออกกำลังกายให้หนักพอควรและเล่นกล้ามด้วย (3) ดูแลเรื่องการนอนหลับให้ดี (4) ฝึกสติสมาธิ (5) ทำกิจกรรมท้าทายสมองทุกวัน วิธีท้าทายสมองที่สร้างการเชื่อมต่อในสมองได้โดดเด่นที่สุดวิธีหนึ่งคือฝึกเล่นดนตรี ผมก็จดๆจ้องๆเรื่อยมาหลายปีแล้วว่าเมื่อไหร่จะได้เริ่มเสียที ซื้อเปียโนมาตั้งไว้ทั้งสองบ้านแต่ก็แค่ตั้งไว้ให้เด็กเช็ด ยังไม่เคยได้เล่น

วันหนึ่งผมไปร้องเพลงเป็นเพื่อนบรรดาผู้สูงอายุที่มาเข้า “แค้มป์คุณภาพชีวิตผู้สูงวัย (SQL)” ได้มีโอกาสฟังนักดนตรีวัยเจ็ดสิบกว่าที่เขาเชิญมาเล่นดนตรีสีไวโอลิน เป็นครั้งแรกที่ได้นั่งฟังไวโอลินจริงจังใกล้ชิด รู้สึกประทับใจในความไพเราะของเสียงไวโอลิน จึงเกิดปิ๊งไอเดียว่าเรียนไวโอลินน่าจะดีนะ อุปกรณ์ก็เล็กและเบาหิ้วง่ายเล่นง่าย จะเล่นที่ไหนก็ได้ คนเดียวก็เล่นได้ ไม่ต้องมีเพื่อนครบวง พอเขาจบรายการผมจึงชวนนักดนตรีท่านนั้นมานั่งคุย

หมอสันต์: “ไวโอลินเล่นยากไหมครับ”

นักดนตรี: “เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยากที่สุด ในบรรดาเครื่องดนตรีทั้งหลาย”

หมอสันต์: “อาจารย์เคยสอนคนแก่เล่นไวโอลินไหม อย่างที่แก่ที่สุดอายุเท่าไหร่”

นักดนตรี: “เคยครับ ลูกศิษย์ที่อายุมากของผมก็เช่นคุณอาเปี๊ยก โปสเตอร์ ตอนเริ่มเรียนท่านอายุเจ็ดสิบกว่า”

หมอสันต์: “อาจารย์สอนผมเล่นไวโอลินโดยไม่ต้องใช้ตัวโน้ตได้ไหม เพราะผมแพ้ตัวโน้ต เคยพยายามเรียนแล้วไม่เก็ทเลย”

นักดนตรี: “ไม่ได้ครับ เพราะผมเป็นศิษย์มีครู ผมต้องสอนตามที่ครูสอนผมมา”

หมอสันต์: “ขอโทษนะครับ ใครเป็นครูของอาจารย์”

นักดนตรี: “ครูสง่า อารัมภีร์ กับครูมนัส ปิติสาสน์”

หมอสันต์: “อ้า..ฮ้า เป็นศิษย์คนดังระดับศิลปินแห่งชาตินี่เอง อาจารย์มาสอนให้ผมเล่นไวโอลินได้ไหม ผมไม่เคยจับมาก่อนเลยนะ”

นักดนตรี: “ได้ครับ ถ้าคุณหมอรับปากกับผมว่าจะจับไวโอลินทุกวัน”

หมอสันต์: “โห ผมรับปากไม่ได้ดอก ได้แต่สัญญาว่ามีเวลาให้แค่ไหนก็เอากันแค่นั้น”

ในที่สุดก็ตกลงกันได้แบบ “ตามสภาพ” ครูแก่ นักเรียนแก่ เวลากระพร่องกระแพร่ง เรียนหลักสูตรที่เขียนไว้สำหรับสมองเด็ก ห้องเรียนก็คือห้องวาดรูปของ ม. นั่นแหละ ตั้งต้นทำสัญญากันว่าจะเรียนกันทุกวันจันทร์ แต่ในชีวิตจริงคือจันทร์แล้วเว้นๆๆไปอีกสองจันทร์สามจันทร์ แต่การนับเวลาเอาไว้คุยมักนับกันเป็นเดือน อย่างหมอสันต์ก็คุยได้แล้วว่านี่เรียนมาได้สี่เดือน แต่เรียนกี่ครั้งขอไม่พูดถึงนะ

มาถึงตอนนี้ผมจับหลักได้สี่ห้าหลัก

เรื่องแรก ที่ผมเรียนรู้คือเสียงไวโอลิน ว่ามันมีเอกลักษณ์ ความพริ้วไหว และชวนสร้างอารมณ์ได้แตกต่างกันตามวิธีการสีคันชัก ถ้าค่อยๆแผ่วความแรงของการสีลง เสียงมันจะพาเราไปสู่ความเงียบอย่างนุ่มนวลทำให้ใจเรากลายเป็นความเงียบที่สงบเย็นไปได้โดยอัตโนมัติ นี่เรียนรู้จากการสีสายเปล่านะ ยังไม่ทันสีตัวโน้ต

เรื่องที่สอง ผมเพิ่งรู้ว่าตำแหน่งที่นิ้วกดลงบนบาร์ของไวโอลินนั้นไม่มีขีดคั่นไว้ให้ จึงดิ้นได้ขยับได้ ดังนั้นในการสีหนึ่งตัวโน้ตจะต้องมีถึงห้าขั้นตอนในใจตามลำดับ คือ (1) กดนิ้วที่บาร์ (2) ทดลองสีเบาก่อน (3) ฟังเสียง (4) ขยับนิ้วให้เสียงตรงโน้ต (5) สีจริงหรือสีหนัก

เรื่องที่สาม ตัวโน้ตที่ว่าเป็นยาขมท่องจำยากนั้นเอาเข้าจริงๆแล้วนั่นเด็กๆ ที่ยากคือการคอยตั้งสติรู้ตัวและตื่นตัวอยู่เสมอว่าเมื่อกำลังสีโน้ตตัวนี้อยู่ โน้ตตัวต่อไปที่จะสีตามกันมาจะเป็นตัวอะไรต้องกดที่ตรงไหน ทั้งหมดนี้มีเวลาให้แค่เสี้ยววินาที ตรงนี้ต้องใช้สติมาก คือใช้ระดับมหาสตินั่นเทียว หลุดนิดเดียวเพลงเจ๊ง ที่เห็นเด็กๆ ฝรั่งบ้าง เอเซียบ้าง อายุเก้าขวบสิบขวบสีเพลงคลาสสิกกันไฟแล่บในคลิปวิดิโอนั้นอย่าไปคิดเอาอย่างเขาเชียว เพราะนั่นเขาสีกันมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว

เรื่องที่สี่ ในการสีไวโอลินนี้หากอัตตาเข้ามาเมื่อไหร่เป็นเจ๊งเมื่อนั้น หมายความว่าหากตั้งใจสร้างผลงานให้คนชื่นชม หรือตั้งใจสีไม่ให้ผิด หรือแม้แต่ชำเลืองมองผู้ฟังหรือนักร้องนิดเดียว เพลงเจ๊งทันที เพราะไวโอลินนี้ไม่ถูกกับอัตตา ต้องสีเพื่อถวายพระเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น สีดีหรือสีไม่ดีมอบผลงานให้พระเจ้าคนเดียวไปให้หมด คนอื่นไม่เกี่ยว คือให้หลับตาหรือทำตาปรือๆ แล้วค่อยๆสีไป อย่างนี้จึงจะสีรอด

เรื่องที่ห้า ในการสีไวโอลินห้ามสงสัยหรือวิพากย์วิจารณ์อะไรทั้งสิ้น สีไปตามตัวโน้ต ให้ตัวโน้ตพาไป มันจะพาไปลงนรกขึ้นสวรรค์ก็แค่ตามตัวโน้ตไป ตรงนี้ทำให้ผม “ได้คิด” ถึงการใช้ชีวิตของตัวเองด้วย ชีวิตคนเรามันก็น่าจะมีคนเขียนโน้ตไว้ให้แล้วแหละ หากเราไม่สงสัยอะไร แค่ตั้งใจใช้ชีวิตตามตัวโน้ตตัวที่กำลังสีและตัวถัดไปแค่นั้น ชีวิตนี้ก็รื่นรมย์ได้แล้ว

ขณะเรียนกันไป ตัวอาจารย์เห็นลูกศิษย์งุ่มง่ามก็มักจะเผลอเคี่ยวเข็น จนในที่สุดหมอสันต์ทนไม่ไหว ต้องขอแก้ไขสัญญาว่าอาจารย์อย่าคิดว่าจะมาสอนให้ผมเล่นไวโอลินได้เท่าพวกลูกศิษย์เด็กๆ เอาแค่ว่าอาจารย์มานั่งเป็นเพื่อนผมตอนผมสีไวโอลินก็พอ ผมจะสีดีเลวอย่างไรเป็นความรับผิดชอบของผม อาจารย์ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เพราะจ๊อบของอาจารย์คือมานั่งเป็นเพื่อน ครั้นตกลงกันได้อย่างนี้รู้สึกว่าชีวิตของนักเรียนแก่ก็มีคุณภาพมากขึ้น

นี่เรียนกันมาได้สี่เดือน เริ่มยักแย่ยักยันสีพอฟังเป็นเพลงได้หลายเพลงอยู่ เช่น Silent Night, Sleepy Lagoon, พี่ยังรักเธอไม่คลาย, เงาไม้, ม่านไทรย้อย, หงส์เหิน, Edelweiss เป็นต้น มีอยู่วันหนึ่งใกล้วันคริสต์มาส ผมไปกินข้าวเย็นที่บ้านเพื่อนแล้วสีไวโอลินเพลง Silent Night ให้เพื่อนๆร้องคลอเป็นกลุ่ม หมอสมวงศ์แอบอัดคลิปส่งไปในเฟซส่วนตัวของเธอ เพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นนักแต่งเพลงชนะประกวดระดับโลกมาแล้ว เขียนคอมเมนต์มาว่า

“ดีแล้วครับ สำหรับบทที่ 1”

โห..ขอบพระคุณเป็นอันขาดนะ ที่ให้กำลังใจกัน
………………………

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์