Latest

ยุทธศาสตร์ของการเป็นพี่เลี้ยง (Coach)

ภาพวันนี้ / อุปกรณ์กีฬาสว.

หมายเหตุก่อนเริ่มเรื่อง: ช่วงนี้เว็บไซท์ drsant.com ถูกแฮ็ก เข้าใจว่าจะมาขโมยเอาข้อมูลผู้ป่วยของหมอสันต์ไปหลอกขายยาเถื่อน แต่ว่าหมอสันต์ไม่ได้เก็บข้อมูลผู้ป่วยไว้ในเว็บ จึงรอดตัวไป ตอนนี้ทาง IT เขาแก้ไขให้ปกติได้แล้ว ขออำไพที่การใช้เว็บอาจติดขัดในสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ

(หมอสันต์พูดกับแพทย์และทีมงานสาธารณสุขในการประชุมแห่งหนึ่ง ผมเอามาลงให้อ่านเผื่อท่านผู้อ่านจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการโค้ชตัวเองหรือคนใกล้ชิด)

“..ก่อนจะตอบคำถามหมอฟ้า ผมขอพูดตรงนี้นิดหนึ่งก่อนนะ เป็นควันหลงจากการเพิ่งได้ยินคำว่า..วิสัยทัศน์

ในการจะช่วยให้คนไข้โรคเรื้อรังเปลี่ยนนิสัยอย่างที่ผมบอกแล้วว่าเราต้องไม่ใช้วิธีฝึกอบรมสอนสั่งจี้จิก แต่เราต้องใช้วิธีโค้ช

วิธีโค้ชมีรากมาจากทฤษฎีการเปลี่ยนนิสัยที่ได้ผลดีที่สุดที่เรียกว่า Motivational Interview หรือ MI ซึ่งผมขอแปลว่า การสนทนาเพื่อชี้ให้เห็นความบันดาลใจ

ซึ่งในการจะทำอย่างนี้ได้เขาก็มียุทธศาสตร์ของเขาอยู่เหมือนกัน ซึ่งมีสี่อย่าง เขียนย่อว่าเคป CAPE

C ก็คือ Compassion หรือ เมตตาธรรม

ท่านอาจจะงงว่าวิชาเปลี่ยนนิสัยมาเกี่ยวอะไรกับเมตตาธรรม คือมันมีที่มาว่าทฤษฎี MI นี้มันได้มาโดยบังเอิญจากการที่เขาพยายามทำวิจัยวิธีอื่นในการเปลี่ยนนิสัยผู้เสพย์ติด แล้วพบว่าวิธีที่เขาตั้งใจจะใช้นั้นมันไม่ได้ผลเลย แต่เมื่อเอาข้อมูลมาดูในรายละเอียดมันมีอะไรที่น่าทึ่งซ่อนอยู่ เช่นผู้ป่วยที่ผ่าน therapist (นักบำบัด) บางคน มีอัตราเปลี่ยนนิสัยได้สำเร็จถึง 80% ขณะที่ส่วนใหญ่มีอัตราสำเร็จอยู่ระดับ 0% หรือใกล้ 0 เขาจึงเอาเทปวิดิโอที่ถ่ายไว้ขณะทำวิจัยมาวิเคราะห์ดูเพื่อพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเปลี่ยนนิสัยสำเร็จ กับท่าทีบางท่าทีหรือคำพูดบางคำของนักบำบัด ก็พบว่าท่าทีเอาใจใส่อย่างจริงใจมีเมตตา และคำพูดที่ส่อไปทางเอื้ออาทรเมตตาปราณีของนักบำบัด มีความสัมพันธ์สูงมากกับการเปลี่ยนนิสัยสำเร็จของผู้ป่วย มันจึงเป็นที่มาว่าทำไมหลักเมตตาธรรมจึงเป็นหลักข้อแรกของทฤษฎี MI

คำว่าเมตตาธรรมนี้พวกเราอย่าเหมาเอาง่ายๆว่าเออรู้จักละ แต่ในงานวิจัยนี้มันสกัดมาจากชิ้นย่อยๆหลายชิ้น คือ

Trust การให้ความเคารพนับถือ หรือเชื่อถือ ผู้ป่วยซึ่งเป็นศิษย์ของเราในการโค้ช

Care คือการเอาใจใส่ดูแลอย่างนุ่มนวลจริงใจ

Listening คือการฟังอย่างตั้งใจ ย้ำ การที่เราตั้งใจฟังเขาด้วยความอยากรู้จริงๆว่าเขาคิดอะไร รู้สึกอย่างไร นี่ก็เป็นเมตตาธรรม

Reflection หรือการสะท้อนคำพูด คือการที่เราเอาคำพูดของเขามาสะท้อนพูดใหม่ในลักษณะที่ให้เขามองเห็นความเห็นใจหรือความเข้าอกเข้าใจที่เรามีต่อเขา นี่ก็เป็นเมตตาธรรม

Psycho-support หมายถึงการพยุงทางจิตวิทยาที่พวกเรารู้จักดีอยู่แล้ว 

คราวนี้มายุทธศาสตร์ที่สองในสี่ตัว CAPE คือตัว

A คือ Acceptance แปลว่า การยอมรับ ซึ่งมีนัยสำคัญในสี่ประเด็นซึ่งเขียนย่อยว่าอิ๊คค่า (ICCA) คือ

  • เรายอมรับ Identity หรืออัตตาของเขา คือคนเรามันเป็นธรรมชาติที่จะต้องทนงในศักดิ์ศรีของความเป็นคนของตัวเอง เรียกภาษาบ้านๆว่า อะไรดีนะ.. ความงี่เง่าที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เราเป็นโค้ช ถ้าเราไม่ยอมรับความงี่เง่าของเขา เราจะโค้ชเขาไม่ได้
  • เรายอมรับ Choice หรือการตัดสินใจเลือกของเขา คือในการโค้ชเราให้เขาเลือกเองว่าจะเลือกทำอะไร จะเอาอะไรเป็นเป้าหมาย จะทำมากแค่ไหน บางครั้งศิษย์เลือกขึ้นมา เราดูแล้วรู้ทันที โห..เป็นไปไม่ได้ดอก ทำไม่ได้แหงๆ แต่เราจะต้องยอมรับเพราะมันเป็นการเลือกของเขา อย่างน้อยเราก็ยอมรับโดยเชิญชวนให้เขามองว่ามันเป็นการเรียนรู้ลองผิดลองถูก แต่เราต้องยอมรับการเลือกของเขา
  • เรายอมรับ Capability หรือความสามารถของเขา เขาสามารถทำได้แค่นี้เราก็ยอมรับแค่นี้ เขาทำได้แค่ไหนเรายอมรับแค่นั้น
  • เรายอมรับเขาแบบ Absolute worth คือยอมรับว่าเขาเป็นชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายอย่างสมบูรณ์หรืออย่างไม่มีข้อแม้ ถ้าใจเราไปมองศิษย์ว่าเป็นคนไร้ค่าเป็นขยะสังคมเปลืองภาษีราษฎร การโค้ชของเราก็จบตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มแล้ว

คราวนี้มายุทธศาสตร์ตัวที่ 3 จาก 4 ตัว CAPE คือตัว

P ย่อมาจาก Partnership หรือเป็นหุ้นส่วนกัน หมายความว่าในการโค้ชศิษย์นี้มันไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบหมอกับคนไข้ที่หมอเป็นผู้เชี่ยวชาญรู้หมดคนไข้เป็นคนไม่รู้เรื่องอะไรเลยและมีแต่จุดอ่อนให้หมอคอยชี้และจี้จิก มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นส่วนสองคนที่เท่าเทียมกับ มาลงเรือลำเดียวกัน (engagement) เพื่อทำเป้าหมายร่วมกันให้สำเร็จเหมือนหุ้นส่วนสองคนมาตั้งห้างหุ้นส่วนทำการค้าด้วยกัน เราอาจถือตัวว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญรู้วิธีช่วยคนให้เปลี่ยนนิสัยได้ โอเค. แต่เราก็ต้องยอมรับว่าศิษย์เขาก็เป็นผู้เชี่ยวชาญเหมือนกัน คือเชี่ยวชาญเรื่องชีวิตของเขา รู้ตัวเองว่าเขาทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ คือการโค้ชเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญสองคนมานั่งทำงานด้วยกัน

ตัวย่อตัวสุดท้ายคือตัวที่สี่ จาก CAPE คือตัว

E ย่อมาจาก Evocation ซึ่งผมแปลว่าการชี้หรือเปิดประเด็นให้เห็นความบันดาลใจในตัวของศิษย์ ตรงนี้เป็นสุดยอดของวิชาโค้ช ซึ่งต้องมาเรียนมาฝึกปฏิบัติ ในภาพใหญ่ก็คือความบันดาลใจที่อยู่ในใจของเขาอยู่แล้ว เป็นพลังชีวิต เป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จแต่ผู้เดียว ถ้าเราหยิบตรงนี้ออกมาวางบนโต๊ะให้ลูกศิษย์เห็นความบันดาลใจที่อยู่ในใจเขาได้ เขาก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้สำเร็จ วิธีการที่เราจะหยิบความบันดาลใจของเขาออกมาวางบนโต๊ะสนทนากันได้เราอาศัยเครื่องมือสองอย่างคือ (1) การตั้งใจฟังเขาพูดแล้วกลั่นเอาความบันดาลใจที่ฝังแฝงอยู่ในคำพูดออกมาพูดสะท้อน และ (2) การยิงคำถามเพื่อให้เขาตอบแบบตอบแล้วเห็นความบันดาลใจของตัวเอง

ในการยิงคำถามนี้มันมีกรอบเนื้อหาที่จะถามเขียนย่อว่า DARN

ตัว D ย่อมาจาก Desire ก็คือความอยากของเขา ซึ่งเราไม่ถามตรงๆดอก เช่นเราให้เขาเล่าชีวิตของเขาให้ฟังในชีวิตนี้เขามีความมุ่งมั่นอะไร อยากได้อะไร อยากทำอะไร แล้วเราก็กลั่นเอาเนื้อหาออกมาจากคำตอบนั้น

ตัว A ย่อมาจาก ability ก็คือความสามารถของเขาในมุมมองของเขาเอง เพราะคนเรามองตัวเองว่าเก่งประมาณไหน แรงบันดาลใจก็อยู่ประมาณนั้น บางคนหล่นไปอยู่ในหลุมพรางของการดูถูกตัวเองก็เป็นอันจบเห่เปลี่ยนตัวเองไม่ได้เลยเพราะเชื่อว่าตัวเองไม่มีน้ำยา ไม่สามารถ โค้ชมีหน้าที่ชี้ให้เขาเห็นว่าความเชื่อนั้นไม่จริงอย่างไร

ตัว R ย่อมาจาก Reason คือเหตุผลที่ทำให้เขาอย่างเปลี่ยนนิสัย

ตัว N ย่อมาจาก Need คือความจำเป็นที่ทำให้เขาต้องพยายามเปลี่ยนนิสัย

ทั้งหมดนี้มันอยู่ในใจของเขาอยู่แล้ว โค้ชมีหน้าที่หยิบมันออกมาวางให้เห็นชัดๆ แล้วศิษย์ก็จะใช้แรงบันดาลใจนั้นเปลี่ยนตัวเองได้สำเร็จ

ขอโทษที่แวะนอกเรื่องนานหน่อย เอาละ กลับมาตอบคำถามของหมอฟ้า..

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์