ปรึกษาหมอ

ผลตรวจเลือดประจำปีพบ CA 125 สูง 50.1 U/ml

ถาม
ผลตรวจเลือดประจำปีพบ CA 125 สูง 50.1 U/ml ดิฉันอายุ 45 ปี มีบุตร 1 คน อายุ 8 ปี ประจำเดือนมาปกติทุกเดือน (รอบ 28-32 วัน) ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

ตอบ

ประการแรก อย่าวิตกกังวลเกินเหตุ CA125 ถูกนำมาใช้เป็นสารชี้บ่งมะเร็งรังไข่ก็จริงอยู่ แต่คนที่ตรวจได้ค่าผิดปกติอย่างคุณ โอกาสจะเป็นมะเร็งรังไข่มีไม่ถึง 1% เดี๋ยวถ้ามีเวลาผมจะอธิบายให้ละเอียดตอนท้าย

ประการที่สอง เมื่อตรวจไปแล้ว ได้ผลเป็นบวกแล้ว แม้จะรู้ว่าโอกาสเป็นมะเร็งมีไม่ถึง 1% แต่ก็กลุ้มใจ จะทำอย่างไรต่อดี ผมเข้าใจว่าคุณได้รับการตรวจภายในประจำปีไปแล้วเช่นกัน และเดาเอาว่าหมอบอกว่าไม่มีอะไรผิดปกติ หมายความว่าหมอคลำดูแถวรังไข่แล้วไม่มีเนื้องอกอะไร แต่ใจคุณมันก็ยังกังวลอยู่ จากจุดนี้คุณมีทางเลือกอยู่สองทางครับ

ทางเลือกที่หนึ่ง คือ ทำการตรวจดูภาพของรังไข่เพิ่มเติม ถูกสตางค์ที่สุดก็คือการทำอุลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง หรือถ้าจะให้แพงกว่านั้นและภาพก็ชัดกว่าก็คือทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ช่องท้องช่วงล่าง หากทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้แล้วไม่พบว่ามีก้อนอะไรที่รังไข่ ก็จบ ไม่ต้องทำอะไรต่อ แล้วกลับบ้านนอนหลับได้ แต่ถ้าพบก้อนก้อนผิดปกติที่รังไข่ก็คงต้องเดินหน้าทำผ่าตัดเอาก้อนผิดปกติออก

ทางเลือกที่สองคืออยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย ถือเสียว่าโอกาสมีเพียง 1% นั้นน้อยมากเสียจนไม่คุ้มที่จะไปทำอะไรเพียงแต่ในการตรวจสุขภาพปีต่อไปอาจให้ความสนใจการตรวจหาก้อนผิดปกติที่รังไข่เพิ่มขึ้น คือนอกจากจะตรวจดูค่า CA125 ซ้ำแล้วอาจต้องทำการตรวจภายในและตรวจอุลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่างร่วมด้วย

ชอบแบบไหนก็เลือกตามใจชอบได้เลยครับ

ทีนี้ ไหนๆก็พูดเรื่องนี้แล้วและยังพอมีเวลาคุยกัน ผมขอเล่าประเด็นสถิติหน่อยนะ เรื่องจริงมันเป็นอย่างนี้ครับ ค่าปกติของ CA125 คือต่ำกว่า 35 IU/ลิตร สถาบันสุขภาพอเมริกัน (NIH) ได้สรุปจากงานวิจัยหลายรายงานว่าการตรวจหามะเร็งรังไข่ด้วย CA125 มีความไว (sensitivity) ประมาณ 80% และมีความจำเพาะเจาะจง (specificity) ประมาณ 80% เช่นกัน แต่ว่ามะเร็งชนิดนี้มีอุบัติการต่ำอย่างมากเพียง 50 คนในแสน ทำให้โอกาสที่คนตรวจได้ผลบวกจะเป็นโรคจริง (positive predictive value) มีต่ำกว่า 1% คือต่ำประมาณ 0.2% เท่านั้นเอง เจอสถิติแล้วงง.ง…ง ใช่ไหมครับ ไม่เป็นไร ใจเย็นๆ โปรดสดับต่ออย่างอดทน

CA125 มีความไวของการทดสอบ (sensitivity) เท่ากับ 80 % หมายความว่าถ้าเอาคนที่รู้แน่ชัดแล้วว่าเป็นมะเร็งรังไข่มา 100 คน มาแกล้งลองตรวจหาสาร CA125 ดู จะพบว่าคนที่ผลการตรวจ CA125 ได้ผลบวกมีอยู่ 80 คน ส่วนอีก 20 คนนั้นตรวจได้ผลลบ ทั้งๆที่ทุกคนต่างก็เป็นมะเร็งเหมือนกันหมด ซึ่งก็ถือว่าการตรวจชนิดนี้เป็นการตรวจที่มีความไวค่อนข้างต่ำ คือเป็นมะเร็งแล้วแต่ตรวจไม่พบตั้ง 20%

CA125 มีความจำเพาะของการทดสอบ (specificity) เท่ากับ 80% หมายความว่าถ้าเอาคนที่รู้แน่ชัดแล้วว่าไม่ได้เป็นมะเร็งรังไข่เลยมา 100 คน มาแกล้งตรวจหาสาร CA125 ดู คนที่ตรวจได้ผลลบจะมี 80 คน ที่เหลืออีก 20 คนตรวจได้ผลบวก ทั้งๆที่ไม่มีใครเป็นมะเร็งเลยสักคน ซึ่งถือว่าการตรวจชนิดนี้มีความจำเพาะเจาะจงต่ำด้วย เพราะแม้จะไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่ก็ตรวจได้ผลบวกตั้ง 20%

โอกาสที่คนตรวจ CA125 ได้ผลบวกจะเป็นมะเร็งรังไข่จริง (positive predictive value) มีต่ำกว่า 1% หมายความว่าถ้าเอาคนที่ตรวจ CA125 ได้ผลบวกมา 100 คน จะมีคนที่เป็นมะเร็งรังไข่จริงๆไม่ถึงหนึ่งคน ที่เหลืออีก 99 คนไม่ได้เป็นมะเร็ง ตรงนี้จึงเป็นปัญหากับการใช้ CA125 ในการคัดกรองมะเร็งรังไข่อย่างมาก เพราะถึงแม้จะตรวจได้ผลบวก แต่ก็แทบไม่มีความหมายอะไรเลย

ปัจจุบันนี้วงการแพทย์จึงใช้CA125ไปในการติดตามดูพัฒนาการของมะเร็งรังไข่ที่วินิจฉัยได้เรียบร้อยแล้วว่ามันสนองตอบต่อการรักษาดีแค่ไหน มากกว่าที่จะใช้ CA125 มาตรวจคัดกรองว่าใครจะเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งรังไข่
แต่อย่าถามผมนะ ว่าอ้าว ก็มันใช้คัดกรองไม่ได้เรื่องแล้วหมอตรวจทำไม แหะ..แหะ เพราะ คำตอบนั้นอยู่ในสายลม (แหม ก็ที่ไหนๆทั่วโลกเขาก็ชอบตรวจกันผมก็ตรวจให้เหมือนชาวบ้านเขาเท่านั้นแหละครับ)

3 thoughts on “ผลตรวจเลือดประจำปีพบ CA 125 สูง 50.1 U/ml

  1. คุณหมอคะ ดิฉันอายุ 34 พบค่า CA125 สูงถึง 105 ก่อนหน้านี้พบก้อนขนาด 3 ซม ในรังไข่ แบบนี้ทางเลือกเดียวคือการผ่าออกใช่ไหมคะ ควรได้รับการตรวจเลือดซ้ำหรือไม่คะ แล้วจะมีโอกาสเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหนคะ ขอบพระคุณค่ะคุณหมอ

    ผมไม่รู้ว่าคำถามของคุณถามมาจากช่องทางไหนนะครับ คือสารภาพว่าผมเป็นเพียงชายชราคนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยรู้อิโหน่อิเหน่เรื่องไอที. อาศัยลูกน้องเก่าบ้าง ลูกชายบ้างช่วยเอาบทความสุขศึกษาของผมออกเผยแพร่หลายทางซึ่งผมก็เรียกชื่อไม่ถูก เป็นบล๊อกเป็นเฟซเป็นต้น พอเปิดเจอคำถามของคุณในอีแมวก็เลยงง สุดปัญญาที่จะทราบได้ว่าคุณไปอ่านเจออะไรที่ผมเขียนไว้ที่ไหน แต่ไม่เป็นไร ผมจะตอบคุณทางอีแมวนี้ก็แล้วกัน ถึงไม่ถึงคุณก็สุดแต่บุญกรรมนะครับ

    อายุ 34 ตรวจพบ CA125 สูง 105 และพบก้อนที่รังไข่ 3 ซม.

    ถามว่า

    1. ถามว่าทางเลือกคือต้องผ่าตัดออกลูกเดียวใช่ไหม

    ตอบว่า ใช่ครับ เพราะกรณีของคุณ ซึ่งผมเดาเอาจากคำพูดของคุณเองที่ว่าเป็น “ก้อน” ว่ามันน่าจะเป็นก้อนตัน (solid mass) ไม่ใช่ซิสต์หรือถุงน้ำ การมีก้อนตันที่รังไข่ บวกกับการมี CA125 สูง แสดงว่าโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่มีมากจนมีนัยสำคัญ สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างน้อยคือต้องทำการตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ในทางปฏิบัติแพทย์จะส่องกล้องมุดผ่านหน้าท้องเข้าไปตัดเอาก้อนออกมาทั้งอัน ซึ่งก็คือการทำผ่าตัดผ่านกล้องนั่นเอง เรียกว่า laparoscopic surgery ดังนั้น make your heart หรือทำใจเสียเถอะ อย่างไรเสียก็คงต้องโดนผ่าตัดเป็นมั่นคง

    2. ถามว่าควรตรวจเลือดซ้ำหรือไม่

    ตอบว่าการตรวจเลือดดู CA125 ซ้ำในลักษณะเป็นการรำมวยหรือชลอเวลาผ่าตัดออกไปนั้นไม่จำเป็นและไม่ควรทำ เพราะมะเร็งรังไข่หากลงมือรักษาเสียแต่ระยะแรกจะมีการพยากรณ์โรคดีกว่ารักษาช้าอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่เมื่อผ่าตัดแล้ว จำเป็นต้องตรวจ CA125 เป็นระยะๆ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเผื่อว่าจะมีตัวมะเร็งได้เล็ดลอดไปเพาะพันธ์ (seeding) ที่ส่วนอื่นของร่างกายตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด แล้วมาเติบโตขึ้นภายหลัง

    3. ถามว่าคุณมีโอกาสเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหน

    ตอบไม่ได้ว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะยังไม่มีใครทำวิจัยและรายงานโอกาสเป็นมะเร็งโดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับขนาดของก้อนเนื้องอกและระดับของ CA125 ไว้ ด้วยความรู้ที่มีอยู่ปัจจุบัน บอกได้เพียงแต่ว่าคุณมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าคนทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ โอกาสเป็นจะเพิ่มขึ้นถ้าหาก ญาติสายตรงของคุณ (พี่สาว น้องสาว แม่ ย่า ยาย ชวด) คนใดคนหนึ่งเป็นมะเร็งรังไข่ ความเสี่ยงจะเพิ่มจาก 1.6% เป็น 4.5% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 7% ถ้าญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่สองคน อนึ่งถ้าตัวคุณเป็นมะเร็งเต้านม ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งรังไข่จะเพิ่มขึ้น พันธุกรรมมะเร็งรังไข่ที่วงการแพทย์รู้จักดีแล้วมีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่า “กลุ่มอาการมะเร็งเต้านมและรังไข่” (breast/ovary cancer syndrome) ซึ่งถ่ายทอดทางยีนด้อยผ่านโครโมโซมร่ายกาย (autosomal recessive) แบบว่าเป็นมะเร็งเต้านมมะเร็งรังไข่กันทั้งตระกูล อีกกลุ่มหนึ่งคือ “กลุ่มอาการมะเร็งรวม” หรือ Lynch II syndrome คือทั้งครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ ลำไส้ใหญ่ โพรงมดลูก กระเพาะ ลำไส้เล็ก เต้านม ตับอ่อน ร่ายการ พูดถึงพันธุกรรมยืดยาวไม่ได้หมายความว่าหากพันธุกรรมดีไม่มีใครเป็นมะเร็งแล้วเราจะไม่เป็นนะครับ เพราะในบรรดาคนเป็นมะเร็งรังไข่ 100 คนมีเพียง 5 เท่านั้นที่มีพันธุกรรมมะเร็ง

    สันต์ ใจยอดศิลป์

  2. สวัสดีค่ะคุณหมอ ก่อนอื่นต้องกราบขอบพระคุณคุณหมอเป็นอย่างสูงค่ะ ดิฉันหาข้อมูลในเนทจนได้มาเจอเวบคุณหมอค่ะ และได้ทำการ Bookmark ไว้ เลยได้มาอ่านคำตอบค่ะ สงสัยดิฉันยังมีบุญค่ะ 🙂

    ตอนนี้ดิฉันได้นัดผ่าตัดแล้วค่ะโดยเป็นแบบส่องกล้องตามที่คุณหมอว่ามาค่ะ อย่างไรก็ดีทางคุณหมอที่ตรวจได้่ระบุว่าน่าจะเป็นเป็นก้อนเนื้อชนิด dermoid cyst ค่ะ ก็จะทำการเอาออกมาและตรวจอีกทีค่ะเพื่อยืนยันอีกครั้งค่ะ

    ขอให้สิ่งที่คุณหมอทำส่งผลให้คุณหมอมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และมีสุขภาพร่างกายจิตใจที่แข็งแรงยิ่งๆขึ้นไปค่ะ ส่วนดิฉันขอมาอ่านบทความคุณหมอเรื่อยๆนะคะ

  3. เป็นอีกคนหนึ่งค่ะที่ผลตรวจสุขภาพประจำปี ค่าca125 สูง 37.6 ได้อ่านคำถาม และคำตอบของคุณหมอแล้วสบายใจขึ้นค่ะ อย่างไรก็ดีจะรีบไปทำการพบแพทย์ตรวจซ้ำให้มั่นใจอีกค่ะ

Comments are closed.