Latest

เป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลืองเรื้อรัง

ผมเป็นคน ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพคนนึง แทบจะไม่ค่อยป่วยเลย แต่ที่ป่วยบ่อย จนต้องได้รับการรักษามาแล้วถึง 3 ครั้ง คือ วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ผมตกใจอีกครั้ง ที่เจ้าโรคเวรโรคกรรมนี้ หวนกลับมาอีกครั้ง ความรู้สึกท้อแท้เริ่มเข้ามา ที่สำคัญผมเริ่มรู้สึกสงสัยว่า การดูแลรักษาสุขภาพของผม ที่มาตรฐานเกินกว่าชาวบ้านเค้า มันไม่ช่วยอะไรเลยหรือ ทั้งที่ปิดหน้ากาก ไปทำงาน นอนแต่หัวค่ำ ทานผัก ผลไม้ ออกกำลังกาย สารพัดจะทำ ล่าสุด ผมได้รักษาตัวอีกครั้ง คุณหมอบอกว่า เชื้อวัณโรคมีอยู่ในร่างกายคนเรา แต่เราอ่อนแอ มันจะเล่นงานทันที คือ ผมสงสัยว่า นานๆ ที ผมจะเป็นหวัด แล้วผมก็ค่อนข้างอนามัยอยู่ ทำไมถึงป่วยซ้ำซ้อนแบบนี้ครับ ผมเริ่มท้อแท้ ตอนนี้คุณหมอเจาะเลือด หา เอดส์ไปแล้ว ไม่พบ แต่ ผมมีก้อนโตที่ท้องแขนขวา และรักแร้ งงมากครับว่า เพราะอะไรผมถึงป่วยเป็นโรคนี้อีก เรียนถามคุณหมอว่า ไอ้เจ้าเชื้อนี้ เวลาทานยาไป เราจะทราบได้อย่างไรว่า มันฆ่าเชื้อวัณโรคในตัวเราอย่างหมดสิ้นแล้ว มีได้ไหมครับที่มันแฝงอยู่ในตัวเรา งงมากครับ ช่วยแก้ปัญหาให้คนจนปัญญาอย่างผมทีเถอะครับ

……………………………………………………

ตอบครับ

1. ที่เป็นท้อถอยน้อยใจว่าตนเองดูแลตัวเองด้วยมารตฐานที่สูงกว่าชาวบ้านเขาแล้วทำไมภูมิต้านทานโรคยังไม่ดีนั้น ถ้าจะให้ผมช่วยตรงนี้ต้องให้รายละเอียดผมเพิ่มเติม ว่าที่ว่าดูแลตัวเองดีนั้น ดีอย่างไร ให้คุณช่วยเขียนมาหาผมอีกครั้ง เล่าให้ฟังตั้งแต่อายุเท่าไร น้ำหนักตัวเท่าไร สูงกี่ซม. ที่ว่าออกกำลังกายมากกว่าชาวบ้านนั้นทำอะไรบ้าง วันละกี่ครั้ง ครั้งละกี่นาที สัปดาห์ละกี่วัน และช่วยเล่าเรื่องอาหารการกินให้ผมทราบด้วย เรียกว่าทำ food diary มาให้ดูสักสองสามวัน ผมจะได้มีไอเดียว่าโภชนาการของคุณเป็นอย่างไร และผมอยากทราบเรื่องการพักผ่อนด้วย ได้นอนวันละกี่ชั่วโมง หลับดีหรือเปล่า ถ้าได้รายละเอียดเหล่านี้มาแล้วผมจะช่วยให้คำแนะนำได้ว่าที่คุณคิดว่าทำดีแล้ว มันยังมีข้อบกพร่องตรงไหน จะได้ทำให้มันดีที่สุด เพราะตรงนี้ หมายถึงการดูแลสุขภาพทั่วไปให้ดีเพื่อให้ภูมิต้านทานโรคดี เป็นเรื่องสำคัญสูงสุด

2. กลไกการป่วยด้วยเชื้อวัณโรคซ้ำซากมีได้สามแบบ คือ (1) เชื่อที่มีอยู่ในตัวอยู่แล้วกำเริบขึ้นมาอีก (reactivation) และ (2) ติดเชื้อใหม่จากภายนอกเข้ามาหลังจากเชื้อในตัวหมดแล้ว (reinfection) (3) เป็นกรณีเชื้อดื้อยา คือของเก่านึกว่ารักษาหายแล้วแต่ยังไม่หาย เพราะเชื้อดื้อมันจึงรอดชีวิตอยู่ได้จนครบคอร์สของยา สำหรับตัวคุณอาจจะเกิดจากกลไกใดก็ได้ในสามอย่างนี้

3. เมื่อต่อมน้ำเหลืองกลับโตขึ้นมาอีก อย่าทึกทักว่าจะเป็นแต่วัณโรคหรือเอดส์ ควรหารือหมอเพื่อตัดต่อมน้ำเหลืองไปตรวจซ้ำ เพราะยังมีสาเหตุอื่นอีกมาก เช่นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และการติดเชื้อไวรัสสารพัดชนิดเช่น EBV, CMV เป็นต้น

4. กลไกการเกิดเชื้อดื้อยามีได้หลายสาเหตุ สาเหตุสำคัญที่สุดก็คือการที่คนเป็นวัณโรคนิยมกินยาแบบทิ้งๆขว้างๆ กินบ้าง ไม่กินบ้าง จะด้วยเป็นคนเชื่อถือไม่ได้มาแต่กำเนิดหรือเป็นเพราะไม่รู้อันตรายของการทำตัวอย่างนั้นก็สุดจะคาดเดา ปัจจุบันนี้วงการรักษาวัณโรคต้องหันไปหาวิธีที่เรียกว่า Direct Observed Therapy (DOT) แปลว่าการรักษาด้วยวิธีจ้างคนไปยืนดูให้เห็นกับตาว่าคนไข้กินยาจริงๆทุกวัน แต่ถึงทำกันขนาดนี้ บางที่ไปยืนดูก็กลืนยาให้ดูเหมือนกินจริง แต่จริงๆแล้วอมยาไว้ใต้ลิ้น พอลับหลังคนดูก็บ้วนยาทิ้ง อย่างนี้ก็มีนะ นึกภาพถ้าคุณเป็นหมอแล้วเจอคนไข้แบบนี้คุณจะมีอารมณ์ไหมเนี่ย นี่ผมเล่าให้ฟังเฉยๆ ไม่ได้ว่าคุณหรอกนะ เพราะรู้ว่าคุณไม่ได้เป็นคนอย่างนั้น

5. การจะพิสูจน์ว่าเชื้อวัณโรคที่มีอยู่ในตัวเราดื้อยาหรือไม่มีวิธีเดียว คือเอาเชื้อไปเพาะในห้องแล็บแล้วทดสอบความไวต่อยา ซึ่งเป็นกระบวนการที่กินเวลาสองเดือนขึ้นไป ในกรณีของคุณซึ่งติดเชื้อซ้ำซาก มีข้อบ่งชี้ให้ทำการเพาะเชื้อดูความไวต่อยาเป็นอย่างยิ่ง ควรหารือกับหมอเพื่อขอทำการเพาะเชื้อ ถ้าหมอเขาไม่หือไม่อือหรือไม่ทำให้ ต้องถามว่าเขามีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษที่จะไม่ทำการเพาะเชื้อ ถ้าพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็ควรไปหาความเห็นที่สองจากหมอโรคติดเชื้อโดยตรง คือพูดง่ายๆว่าหาทางเปลี่ยนหมอ

6. การเป็นวัณโรคเป็นเรื่องใหญ่ก็จริง แต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องอยู่อย่างท้อแท้ราวกับชีวิตจะดับดิ้น ผมมีคนไข้ที่เป็นวัณโรคของต่อมน้ำเหลืองเรื้อรังอย่างคุณนี้หลายคน ซึ่งรักษาหายแล้วกลับไปมีชีวิตปกติที่มีประโยชน์ต่อคนรอบข้างมากมาย วันนี้มันยังไม่หาย เดี๋ยววันหน้ามันก็ต้องหาย วงการแพทย์กำลังทำวิจัยยาใหม่เพื่อรักษาเชื้อวัณโรคดื้อยาอยู่อย่างเข้มข้น อีกไม่นานก็คงจะมีข่าวดีออกมา อย่าท้อ จงยื้อสู้ต่อไปครับ สู้เข้าไป อย่าได้ถอย ..ตะแรกแต๊กแต๊ก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์