Latest

ติดเชื้อเอ็ชไอวี. เมื่อไรจะใช้ยา แล้วอยากเรียนหมอด้วย


คุณหมอครับ ผมติดเชื้อ HIV ครับ

       ยังไม่ได้รับยาครับ แล้วต้องรอให้ cd4 ต่ำกว่า 250 หรือไม่แล้วจึงรับยา หรือว่าควรรับเลย cd4 ของผมตอนนี้ประมาณ500 ครับ       แล้วสามารถเรียนหมอได้ไหมครับ คือผมอยากเรียนหมอ ตอนนี้อายุ30 กำลังเก็บเงินครับ อยากเข้ารังสิตครับ เพราะตอนเด็กไม่มีเงินเรียน เลยอยากมาเรียนตอนแก่ คิดว่าถ้าเก็บเงินได้ก็เรียนครับ เก็บไม่ได้ก็คงไม่ได้เรียน เพราะเรียนหมอที่รังสิตค่าใช้จ่ายแพงครับ แต่ก็คิดอยากไปเรียนที่ฟิลิปปินส์ครับ ไม่ทราบว่าจะไปได้หรือเปล่าครับ          ผมคิดว่าผมติดจากโดนเข็มแทงครับ แล้วชะล่าใจไม่รับยาต้านครับ พอดีฉีดยาให้คนไข้เสร็จเข็มทะลุปลอกออกมาตอนไหนไม่ทราบ บิดเข็มแล้วบาดนิ้วครับ คนไข้ case pharyngitis ครับ เป็นชาวกันพูชา มาขายแรงงานในไทยครับ คอมีคราบหนองครับ มารักษาสองครั้งครับ สองอาทิตย์ติดกันเลย ผมลืมตรวจเลือดเค้าครับ แล้วเค้าก็ไม่ได้มารักษาอีกครับ

พอดีอ่านเจอในเวปครับ และเห็นว่ามีอีเมลล์ของคุณหมอจึงขออนุญาตส่งมาถามครับขอบคุณมากครับ

……………………………………..
ตอบครับ

เรื่องของคุณมีหลายประเด็น ผมขอพูดแบบไปเรื่อยๆเปื่อยๆนะครับ คือคิดอะไรได้ก็พูด แต่จะแยกเป็นข้อๆเพื่อไม่ให้คุณสับสน

     1.. ที่คุณเล่าว่าฉีดยาคนไข้แล้ว เข็มแทงทะลุปลอกออกมาเมื่อไหร่ไม่รู้ พอเอามือไปบิดปลอกเข็มเลยทิ่มเอง นี่แสดงว่าคุณยังไม่ทราบเทคนิคที่ปลอดภัยในการจัดการกับเข็มฉีดยาที่ใช้แล้ว ทุกวันนี้ทั่วโลกใช้มาตรฐานความปลอดภัยในการเก็บเข็มฉีดยาใช้แล้วเหมือนกันหมด คือมาตรฐานของสถาบันความปลอดภัยและสุขภาพในการทำงานอเมริกัน (NIOSH) ซึ่งมีประเด็นสำคัญว่าห้ามสวมปลอกครอบเข็มหรือพยายามเอาเข็มสอดกลับเข้าปลอกหลังใช้แล้วเด็ดขาด วิธีที่ถูกต้องคือต้องวางแผนล่วงหน้าว่าจะฉีดยาเจาะเลือดอย่างไร จะทิ้งเข็มที่ไหน และจะทิ้งอย่างไร การทิ้งที่ถูกต้องคือต้องทิ้งในภาชนะรองรับเข็มใช้แล้วโดยเฉพาะโดยทิ้งลงไปในรูภาชนะทีเดียวทั้งกระบิทั้งเข็มทั้งกระบอกฉีดไม่มีการพยายามแกะหรือถอดออกจากกันเด็ดขาด

     2.. การที่คุณไม่เคยรู้หรือไม่เคยปฏิบัติเทคนิคการทิ้งเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง แสดงว่าโรงพยาบาลหรือสถานที่ทำงานของคุณไม่เคยฝึกอบรมพนักงานทั้งๆที่การฝึกอบรมให้พนักงานทิ้งเข็มให้ถูกและให้ทำด้วยตัวเองจนทำเป็นถือเป็นสาระสำคัญของการปกป้องพนักงานที่รพ.ที่ได้มาตรฐานทั้งหลายพึงทำ

     3. การที่คุณทำงานแล้วถูกเข็มตำมือ แล้วไม่ต้องบอกใครเลย ไม่ต้องทำอะไรต่อเลยด้วย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น บ๋อแบ๋… นอกจากจะแสดงว่าคุณเป็นบุคลาการทางการแพทย์ที่ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็น professional และเป็นลูกจ้างที่ไม่รู้แม้กระทั่งสิทธิประโยชน์ของตนเองแล้ว ยังแสดงว่าที่ทำงานของคุณนั้น กระบวนการคุณภาพ และระบบพัฒนาความปลอดภัยในการทำงานค่อนข้างล้าหลังหรือไม่มีเอาเสียเลย ที่ถูกต้องคือเมื่อคุณถูกเข็มตำมือ คุณต้องรายงานหัวหน้าคุณทันที หัวหน้าคุณจะต้องควักระเบียบปฏิบัติที่จะต้องทำเป็นขั้นตอน 1, 2, 3, 4, 5… เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่ และไม่ใช่ว่าเรื่องจะจบง่ายๆ กระบวนการเหล่านี้รวมไปถึง

3.1 การพิสูจน์ว่าผู้ป่วยที่คุณฉีดยาหรือเจาะเลือดติดเชื้อเอดส์หรือไม่

3.2 การเจาะเลือดของคุณเพื่อตรวจสถานะก่อนการบาดเจ็บว่าคุณมีแอนตี้บอดีต่อเชื้อเอ็ชไอวี.หรือเปล่า เพราะนี่จะเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยให้คุณได้รับสิทธิประโยชน์และการชดเชยจากการบาดเจ็บในหน้าที่หากคุณเกิดติดเชื้อเอ็ชไอวี.ขึ้นมาจริงๆ นี่เรากำลังพูดถึงเงินระดับเจ็ดหลักขึ้นไปนะครับ ไม่ใช่เงินบาทสองบาท และแน่นอนว่าเงินนี้คุณจำเป็นต้องใช้มันเมื่อถึงระยะที่คุณถูกโรคเล่นงานจนย่ำแย่แล้ว

3.3 การส่งคุณไปพบแพทย์ทันทีกรณีที่ผลเจาะเลือดผู้ป่วยพบว่ามีเชื้อเอ็ชไอวี.หรือไม่สามารถเจาะเลือดผู้ป่วยได้ เพื่อจะได้ทำการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอ็ชไอวี.แบบทันทีหลังรับเชื้อ (PEP) ซึ่งผมจะพูดถึงอย่างละเอียดในหัวข้อต่อไป

3.4 การส่งคุณไปพบผู้ให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา (counseling) เพราะเมื่อพนักงานถูกเข็มตำ ย่อมจะสติแตก มีความทุกข์ และจำเป็นต้องมีการบรรเทาทุกข์ทางใจ

3.5 การติดตามสถานะการติดเชื้อของคุณไปอีกอย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือน หรือมากกว่านั้น

3.6 การวิเคราะห์รากของเหตุ (root cause analysis) ว่าทำไมอยู่กันมาจนถึง พ.ศ.นี้แล้ว ในโรงพยาบาลระดับนี้แล้ว และบุคลากรก็เรียนมามากฉลาดปราดเปรื่องอย่างนี้แล้ว จึงยังเกิดเรื่องหญ้าปากคอกแต่เสียหายร้ายแรงแบบเข็มตำมือขึ้นมาได้อีก แล้วจะแก้ไขกันอย่างไรต่อไปไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ซ้ำขึ้นอีก

     4. การกินยาป้องกันการติดเชื้อเอ็ชไอวี.เมื่อถูกเข็มแทงแล้ว ทางการแพทย์เรียกว่า post exposure prophylaxis หรือ PEP ผมขอพูดถึงหน่อยนะแม้ว่ากรณีของคุณโอกาสนั้นได้ผ่านไปแล้ว คือเรื่องนี้มีหลักสากลที่กำหนดโดย WHO ดังนี้

4.1 กรณีที่พิสูจน์ได้ว่าผู้เป็นแหล่งแพร่เชื้อ ไม่มีเชื้อ ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส


4.2 ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าผู้ป่วยมีเชื้อ หรือหากไม่ได้พิสูจน์ด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ต้องถือว่าผู้ป่วยมีเชื้อ ต้องกินยาต้านไวรัส ดังนี้

4.2.1 กินทันที เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ นับเวลากันเป็นชั่วโมง ไม่ใช่เป็นวัน แต่ถ้าล่าใช้ไปเช่นช้าไปถึง 7 วันก็ยังเริ่มกินได้ ดีกว่าไม่กินเลย

4.2.2 กินนาน 4 สัปดาห์ต่อเนื่องกันไปไม่หยุด

4.2.3 ในกรณีทั่วไป ใช้ยาควบกันสองตัว เช่น zidovudine (AZT) + lamivudine (3TC) หรือ 3TC + stavudine เป็นต้น สูตรนี้เป็นสูตรมาตรฐาน

4.2.4 ในกรณีที่แพทย์เห็นว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อสูงมาก เช่น ผู้แหล่งแพร่เชื้อมีปริมาณเชื้อมาก หรือมีเชื้อดื้อ หรือรูปแบบการสัมผัสได้รับเชื้อเป็นปริมาณมาก (เช่นถ่ายเลือดของคนติดเชื้อเข้าไป) แพทย์อาจเพิ่มยาตัวที่ 3 ซึ่งจะเป็นตัวไหนก็ตามแล้วแต่ดุลพินิจ กรณีนี้ไม่ใช่มาตรฐาน

จากหลักฐานวิจัยแบบย้อนดูกลุ่มคน พบว่าการกินยาแบบ PEP ลดความเสี่ยงการติดเชื้อลงได้ประมาณ 81% แต่ไม่ใช่ 100% หมายความว่ามีคนจำนวนหนึ่งแม้จะกินยาแบบ PEP ก็ยังติดเชื้อได้

     5. มาถึงขั้นนี้แล้ว คือติดเชื้อเอ็ชไอวี.เข้าไปเต็มเปาแน่นอนแล้ว ถามว่าจะต้องรอให้ CD4 ต่ำมากๆก่อนแล้วค่อยกินยาใช่หรือไม่ ตอบว่าตามมาตรฐานปัจจุบันของ WHO ในกรณีที่มีอาการติดเชื้อฉวยโอกาสแล้วก็ให้ยาที่เรียกว่า highly active antiretroviral therapy (HAART) เลยทุกรายไม่ว่านับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ได้เท่าไร แต่ในกรณีที่ยังไม่มีอาการ หาก CD4 ต่ำกว่า 350 cell/ul ก็ให้ยาเลยเช่นกัน แต่หาก CD4 มีจำนวนสูงกว่า 350 cell/ul อย่างคุณนี้ ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดครับว่าควรให้ยาหรือไม่ การทบทวนหลักฐานกันครั้งล่าสุด สรุป (จากหลักฐานเท่าที่มีซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเชิงระบาดวิทยาไม่ใช่ข้อมูลจากงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ) ได้ว่าควรเริ่มใช้ยา HAART แม้ว่า CD4 จะสูงกว่า 350 เพราะพบว่ายังไงอัตราตายของผู้ติดเชื้อที่ถึงจะไม่มีอาการก็สูงกว่าอัตราตายของผู้ไม่ติดเชื้ออยู่ดี และการเกิดกลุ่มอาการเอดส์ หรือกลุ่มอาการรุนแรงที่ไม่ใช่เอดส์นั้น มีไม่น้อยที่พบในผู้ที่มี CD4 สูงกว่า 350 อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่เชียร์ให้ใช้ยาตั้งแต่ CD4 สูงกว่า 350 นี้เป็นหลักฐานที่ยังไม่แน่น แพทย์จึงยังแบ่งเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่ชอบรีบให้ยา กับฝ่ายที่ชอบรอไปก่อน ฝ่ายที่ชอบรอไปก่อนก็ยังแบ่งเป็นอีกสองฝ่าย คือฝ่ายที่รอตะพึด กับฝ่ายที่ขอเจาะเลือดดูจำนวนไวรัส (HIV-RNA) เพื่อพิจารณาประกอบก่อน ถ้าจำนวนไวรัสสูง (bDNA > 30,000 copy หรือ RT-PCR > 50,000 copy) ก็จะยอมให้ยาโดยไม่ต้องรอแม้ว่า CD4 จะสูงกว่า 350คุณอยากได้แบบไหนก็เสาะหาหมอแบบนั้นเอาเลยครับ
     6. ถามว่าติดเชื้อเอ็ชไอวี.แต่อยากเรียนหมอ จะเรียนหมอได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ ไม่มีกฎหมายห้ามไว้นี่ คนที่เป็นหมออยู่ทุกวันนี้ ที่ติดเชื้อที่ถ่ายทอดทางเลือดได้ไม่ว่าจะเป็น ตับอักเสบซี. ตับอักเสบบี. หรือแม้แต่เอ็ชไอวี.เอง ก็มีถมไป ไม่เห็นมีใครมีปัญหาอะไรนี่ครับ ทั้งการเป็นผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี.สมัยนี้ก็มีชีวิตที่ยืนยาวมีคุณภาพได้หลายสิบปี ดังนั้นการเป็นผู้ติดเชื้อไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ “อายุ” และ “เงิน” เพราะเมืองไทยนี้เป็นเมืองโบราณ ตรงที่มีการกีดกันคนอายุมาก คือห้ามคนอายุมากเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ ผมก็ไม่เข้าใจว่าห้ามทำไม และยังมีกฎอีกข้อหนึ่งนะ คือห้ามคนแต่งงานแล้วเข้าเรียนมหาลัย หิ หิ ขำเป็นบ้า แล้วคุณคิดว่านักเรียนมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเด็กโข่งวัยเจริญพันธ์ทั้งนั้นเขาจะไม่แต่งงานกันในทางปฏิบัติหรือครับ หึ หึ เมืองไทยเนี่ย จะหาคนหัวโบราณนี่คุณไม่ต้องไปหาไกลหรอก ในมหาลัยนั่นแหละครับ..เพียบ วิธีกีดกันคนอายุมากอีกวิธีหนึ่งคือการจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ คุณต้องมีคะแนน ONET โอ้ โฮ เอากันดื้อๆงี้เลย แล้วคนรุ่นเก่าจะไปเอาคะแนน ONET มาจากไหนละครับ ถ้าไงคุณช่วยฟ้องศาลปกครองให้ศาลที่เคารพท่านบังคับให้พวกอาจารย์มหาล้ยเปลี่ยนกฎโบราณนี้พวกเสียบ้างก็ดีนะครับ คนที่มาเรียนหมอเอาตอนอายุมาก ส่วนใหญ่จะเป็นคนรักจริง และมักจะเป็นหมอที่ดี หมอในดวงใจของผมคนหนึ่ง คือ นพ.อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ ก็มาเรียนหมอเอาตอนอายุสามสิบกว่าแล้ว ดังนั้นผมเชียร์คนอายุมากที่อยากเรียนหมอให้มีสิทธิได้เข้าเรียนนะครับ แต่ว่าสำหรับคุณ นอกจาก “อายุ” แล้ว ยังมีด่านที่สอง คือ “เงิน” แฮ่..แฮ่ คราวนี้ตัวใครตัวมันแล้วครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม  
                                                                                                                                                                                                        
1.      U.S. DEPARTMENT OF HEALTH AND HUMAN SERVICES, Centers for Disease Control and Prevention, National Institute for Occupational Safety and Health. Preventing Needlestick Injuries in Health Care Settings. Accessed on February 17 , 2013 at http://www.cdc.gov/niosh/docs/2000-108/pdfs/2000-108.pdf
2.    Updated U.S. Public Health Service Guidelines for the Management of Occupational Exposures to HBV, HCV, and HIV and Recommendations for Postexposure Prophylaxis. MMWR;2001:50(RR11);1-42
4.      Sabin, Caroline A; Phillips, Andrew N. Should HIV therapy be started at a CD4 cell count above 350 cells/μl in asymptomatic HIV-1-infected patients? Current Opinion in Infectious Diseases: Volume 22 (2) April 2009 p 191-197
5.      Panel on antiretroviral guidelines for adults and adolescents (2011, 10th January) ‘Guidelines for the use of antiretroviral agents in HIV-1-infected adults and adolescents
………………………………

จดหมายจากผู้อ่าน
20 กพ. 56

ขอบพระคุณ คุณหมอมากครับ 
ผมรู้สึกมีกำลังใจขึ้นเยอะครับ ขอบคุณที่สละเวลาเพื่อผม 
     เพราะตอนที่ผมตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อโดยบังเอิญ (คือผมตรวจแบบscreen test ครับ เห็นที่ตรวจจึงหยิบมาลองตรวจดู ปรากฎว่าขึ้นสองขีด) และต่อมาไม่มั่นใจ รู้จักกับพี่ที่โรงพยาบาลของ….. แห่งหนึ่ง จึงขอให้พี่เค้าพาไปตรวจ พี่เค้าพาไปพบเพื่อเค้า แล้วตรวจแบบไม่มีเวชระเบียน ตรวจแบบ ELISA ผล Reactive ผมจึงไปตรวจอีกที่คลินิกนิรนาม แต่ก็ตรวจแบบ screening ครับ แล้ว conferm ว่าติดเชื้อ 
     หมอท่านบอกว่าไม่ต้องไปเรียนหรอก เก็บเงินไว้รักษาตัว เดี๋ยวอีกหน่อยก็ผอมลงๆ แล้วก็ป่วย
     ผมถามว่าที่นี่มีฟอกสเปิร์มไหมครับ เผื่อวันข้างหน้าผมอยากมีครอบครัว มีลูก ท่านบอกว่าไม่ทำแล้ว Iab ไม่ว่าง ไม่ต้องมีหรอก ท่านพูดตรงดีครับ
     แต่ผมก็อยากมีชีวิตที่ปกติ และถามตนเองว่าทำไมเหรอ เราก็ทำงานช่วยชาติ ช่วยสังคม ช่วยคน แต่เรากลับมีชีวิตที่เป็นแบบนี้ แต่ดีครับ ผมทำใจได้เร็วมาก แต่ก็อดคิดถึงอนาคต แม่ และน้องๆ คนในครอบครัวไม่ได้ครับ คือผมเคยเป็น ….. ครับ แต่ลาออกมาครับ
     ครับ ผมก็ฝันอยากเป็นหมอ แต่มันก็ไกลไป ก็อย่างที่คุณหมอบอกครับ ว่าเรื่องค่าใช้จ่ายด้วยครับ แต่เรียนถามครับ เรียนหมอเค้าตรวจ HIV หรือไม่ครับ หรือตรวจตอนเรียนจบครับ
     แล้วผมสมควรรับยาที่ไหนครับ ถ้ารับที่โรงพยาบาล ….. ก็มีสิทธิ์เบิกครับ เป็นพี่ๆน้องๆด้วยกัน แต่ก็กลัวพี่ๆน้องๆนอกแผนกอื่น รู้ว่าผมติดเชื้อครับ หรือจะไปรับที่โรงพยาบาลจุฬาฯ หรือว่าโรงพยาบาลรัฐอื่น คุณหมอมีแนะนำไหมครับ ทุกวันนี้ได้แต่เจาะดู CD4 ครับ

     ขอบพระคุณ คุณหมอมากครับ

………………………………..

ตอบครับ (ครั้งที่ 2)

1. การที่คนเราเจ็บป่วย แล้วจะแนะนำให้หมดอาลัย หยุดทำอะไรสร้างสรรค์ในแบบที่คนมีชีวิตที่ดีๆทั้งหลายเขาทำกันนั้น ผมว่าเป็นแนวคิดที่ไม่เข้าท่าเอามากๆเลยนะ แม้จะเป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ซีเรียสอย่างการติดเชื้อเอ็ชไอวี.ก็ตาม เพราะประเด็นก็คือคนที่เดินๆกันอยู่บนถนนทุกวันนี้มีใครไม่ใช่คนป่วยบ้าง ไม่มีหรอกครับ ทุกคนล้วนเป็นคนป่วยด้วยกันทั้งนั้น เพราะสัจจะธรรมทางการแพทย์คือภาวะปกติ 100% นั้นไม่มีดอก ต้องป่วยกันมากบ้างน้อยบ้าง แล้วที่เดินๆอยู่บนถนนนี้ มีใครรู้บ้างว่าใครจะตายเมื่อไหร่ ใครจะตายก่อน ใครจะตายหลัง มันบ่แน่ดอกนาย คนที่ไม่ได้ติดเชื้อเอ็ชไอวี.อาจตายก่อนคนที่ติดเชื้อเอ็ชไอวี.ก็ได้ ใครจะไปรู้ได้ อันนี้ผมพูดกับท่่านผู้อ่านที่เป็นคนป่วยทุกท่าน ทุกโรคเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเอดส์ มะเร็ง วัณโรค หรือโรคปสด. ประสาทแด๊กซ์ ก็ตาม ป่วยก็ป่วยไปนั่นเร่องหนึ่ง แต่ชีวิตต้องเดินไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่า ฝรั่งเขาเรียกว่า life goes on  ทำวันนี้ให้มันดีมีคุณค่าคุ้มที่เราได้เกิดมามีชีวิต ไม่ว่าชีวิตข้างหน้าจะยาวหรือจะสั้น ก็ต้องเดินหน้าทำให้มันดีที่สุด การจะมานั่งรอวันตายโดยไม่ทำอะไรที่ดีๆนั้น ผมว่าไม่เข้าท่านะครับ

2. ประเด็นผู้ชายติดเชื้อเอ็ชไอวี.แล้วอยากมีลูก ก็สามารถมีได้นะครับ โดยที่ลูกไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้้อด้วย วิธีการก็คือเอาน้ำอสุจิ (semen) ของผู้ชายไปปั่นแยกเอาตัวอสุจิ (sperm) ออกมา ส่วนที่เป็นตัวเสปิร์มจริงนั้นปกติมันไม่มีไวรัสเอดส์อยู่แล้ว ไวรัสจะอยู่ในส่วนที่เป็นน้ำซึ่งถูกปั่นแยกออกไป แต่เพื่อความชัวร์เขาก็จะเอาตัวเสปิร์มที่แยกได้นี้ไปตรวจหาตัวไวรัสเอ็ชไอวี. ด้วยวิธี PCR อีกรอบหนึ่ง ถ้าชัวร์ว่าปลอดไวรัสแน่แล้วก็เอาไปฉีดเข้าโพรงมดลูก (ผ่านทางช่องคลอด) ของภรรยา ก็สามารถมีลูกโดยปลอดภัยได้ โรงพยาบาลระดับนำหลายแห่งมีบริการนี้ เรื่องนี้ต้องให้เครดิตรพ.จุฬาซึ่งเป็นต้นตำรับทำเรื่องนี้ก่อนใครในเมืองไทยเมื่อประมาณหกเจ็ดปีมาแล้ว ดังนั้นการจะมีลูกไม่ได้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่สำหรับทุกๆคนรวมทั้งคนที่ไม่ได้ติดเชื้อเอ็ชไอวี.ด้วย คือที่คิดจะมีลูกหนะ จะมีปัญญาเลี้ยงเขาหรือเปล่า อย่าลืมพังเพยที่ว่า “มีลูกหนึ่งคนจนไปเจ็ดปี” เสียละ ในฐานะที่ผมมีลูกมาแล้ว ผมอยากจะเปลี่ยนตัวเลขนี้เสียใหม่ว่า “มีลูกหนึ่งคนจนไปยี่สิบสี่ปี” จึงจะถูกต้อง แล้วยังมีนะ อันนี้ผมดูเอาจากคนอี่น คือมีลูกหนึ่งคน จนไปสามสิบห้าปี แล้วยังไม่หยุดจนนะ ยังต้องจนต่อไป เพราะลูกยังไม่พ้นอก ดังนั้น ที่คุณคิดจะมีลูก ดูที่ประเด็นนี้ดีกว่า

3. ถามว่าเรียนหมอเขาตรวจเอ็ขไอวี.หรือไม่ ตอบว่าไม่ตรวจครับ ถึงตอนเรียนจบก็ไม่ตรวจ ถ้าคุณไปเจอที่ไหนขอตรวจคุณก็อ้างสิทธิพลเมืองปฏิเสธเขาไปได้ เพราะการตรวจเลือดนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคลจะไปเที่ยวรุกล้ำเจาะดูเลือดใครเขาเป็นว่าเล่นไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งการติดเชื้อเอ็ชไอวี.ไม่ได้อยู่ในข่ายโรงติดต่ออันพึงรังเกียจหรืออันตรายร้ายแรง 8 โรค ตามระเบียบการเข้ารับราชการ ซึ่งกระบวนการคัดคนเข้ามหาวิทยาลัยมักเหมาโหลยกมาใช้ด้วย (โรคทั้ง 8 โรคได้แก่ วัณโรคระยะแพร่กระจาย, เท้าช้าง, ติดยา, พิษสุราเรื้อรัง, ไตวายเรื้อรัง, สมองเสื่อม, โรคจิตเวชระยะมีอาการ, โรคติดต่อร้ายแรงหรือเรื้อรังที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน)

4. ถามว่าควรรับยาที่รพ.ไหน ตอบว่ารับที่ไหนก็ได้ที่ได้ของฟรีสิครับ ส่วนการป้องกันความลับแตกนั้นมันมีวิธีเวอร์คผ่านหมอและเภสัชที่เกี่ยวข้องเพียงคนสองคนได้ ยิ่งเป็นรพ.ที่เราเคยทำงานอยู่ก็ยิ่งง่าย ถึงในโรงพยาบาลอื่นที่เราไม่คุ้นเคย ธรรมดาระดับหมอและเภสัชทุกโรงพยาบาลเขาจะเข้มงวดมากเรื่องการรักษาความลับของคนไข้ เพราะเขาเป็นนักวิชาชีพ ในด้านหนึ่งเขาต้องรักษามาตรฐานวิชาชีพของเขา อีกด้านหนึ่งเขาตัองรักษาตัวเอง หากเขาซี้ซั้วปากพล่อย พลาดท่าเสียทีถูกฟ้องขึ้นมาเขาก็เสร็จ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์