Latest

ปรัชญาโยคะของปตัญชลี

(ปรับปรุงครั้งสุดท้าย 17 มิย. 62)

   โยคะ (Yoga) คือปรัชญาสายหนึ่งของฮินดู ก่อนจะพูดถึงโยคะ พูดถึงฮินดูก่อนก็ดี คือฮินดูน่าจะแตกแขนงได้เป็น 6 สายใหญ่ๆคือ

1. สายที่เห็นว่าทุกอย่างแยกเป็นสอง คือผู้สังเกต และสิ่งที่ถูกสังเกต สายนี้เรียกว่า Sankhya
2. สายโยคะ (Yoga) ซึ่งมีเนื้อหาเป็นขั้นตอนสู่ความหลุดพ้น แปดขั้นตอน
3. สายมุ่งปลดอวิชา สู่ความหลุดพ้น (Nyaya)
4. สายที่เชื่อแต่อายตนะและการคิดเอาตามเหตุผล (Vaisheshika)
5. สายที่มุ่งทำแต่พิธีกรรมและการทำหน้าที่ (Mimamsa)
6. สายที่มองชีวิตว่ามีสามส่วน โลก(ร่างกาย)+วิญญาณ+พลังงานต้นกำเนิด แล้วย้อนรวมเป็นหนึ่งในที่สุด (Vedanta)

     แต่ละสายก็มีสายย่อยแยกแขนงออกไปอีก ทำให้ฮินดูเป็นศาสนาที่มีความลุ่มลึกหลากหลายอย่างยิ่ง

     กลับมาพูดถึงสายโยคะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งใจจะคุยกันในวันนี้ โยคะมีกำเนิดจากตำราโยคะสูตรที่เขียนโดยปราชญ์ชื่อปตัญชลี (Patanjali) ซึ่งเขียนขึ้นประมาณก่อนปีค.ศ. 400 มีเป้าหมายมุ่งสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ด้วยการปฏิบัติตามขั้นตอนไปทีละขั้นๆรวม 8 ขั้นตอน คือ

     (1) วินัยสังคม (Yama) ห้าอย่าง ได้แก่
1.1 ไม่ทำร้าย (Ahimsa),
1.2 ไม่โกหก (Satya),
1.3 ไม่ลักขโมย (Asteya),
1.4 ควบคุมความอยากมีเซ็กซ์ (Brahmacharya),
1.5 ไม่งก (Aparigraha) ไม่ครอบครองอะไรทั้งนั้นนอกจากสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการมีชีวิต

     (2) วินัยตนเอง (Niyama) ห้าอย่าง ได้แก่
2.1 การทำความสะอาด (Shaucha), ทั้งร่างกาย จิตใจ อาหาร บ้าน สิ่งแวดล้อม
2.2 ความพอเพียง (Samtosha) พอใจสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นอยู่แล้ว ไม่อยากได้สิ่งที่ยังไม่มีหรือที่ยังไม่เป็น
2.3 ความอดทน (Tapas) เป็นการทำงานผ่านการรับรู้ (sense) ไม่ใช่ผ่านความคิด คือการทนทำอะไรที่จะทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น ทำทั้งๆที่ไม่อยากทำ ทนทำจนเกิดพลังมุ่งมั่น เมื่อพลังมุ่งมั่นปะทะกับความอยากจะเกิดไฟขึ้นภายในขึ้นเผาไหม้ขยะภายใน ความอดทนเพียงอย่างเดียวก็อาจจุดชนวนไฟซุ่มภายใน (kundalini)อันจะพาไปสู่ความหลุดพ้นได้
2.4 หันกลับเข้าไปเรียนรู้ภายในตัว (Svadhyaya) ให้เห็นว่าตัวเองคืือใคร ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองเชื่อมโยงกับพลังงานต้นกำเนิดของจักรวาลนี้ (divine) อย่างไร
2.5 ทำทุกอย่างไม่ใช่เพื่อตัวเอง (Ishvara Pranidhana) แต่เพื่อสิ่งอื่นที่ใหญ่กว่าไกลกว่าสูงกว่าตัวเอง เพื่อนำพาตัวเองไปเชื่อมโยงกับพลังงานต้นกำเนิดของจักรวาลนี้ (Ishvara)

     (3) การดูแลสุขภาพ (Asana) เริ่มด้วยการฝึกท่าร่างให้มั่นคงและผ่อนคลาย ให้อยู่ในท่าใดๆได้นานๆ (posture) ฝึกการหายใจ ทำการกระตุ้นฮอร์โมน ทำการพักร่างกายแบบจำศีล การออกกำลังกายแบบโยคะที่ทำกันทั่วโลกเป็นการปฏิบัติตามข้ออาสนะนี้ ซึ่งมีหลักพื้นฐานว่า

3.1 ไม่พยายามแข็งขืน
3.2 ถ้าใจนิ่ง ร่างกายก็นิ่ง
3.3 ผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงความตึงหรือเครียด
3.4 เคลื่อนไหวช้า ทำซ้ำแบบช้าๆ
3.5 ท่าร่างต้องผสานกับการหายใจ เมื่ออาสนะดี ก็คุมการหายใจง่าย
3.6 อาสนะที่ดี ไม่ทรมานไม่บันเทิง แต่มุ่งย้ายความสนใจจากภายนอกสู่ภายใน
3.7 อาสนะที่ดี สร้างพลังใจให้เข้มแข็ง

     (4) ฝึกควบคุมการหายใจ (Pranayama) ชีวิตประกอบด้วย กาย ใจ และพลังชีวิต (Prana) พลังชีวิตเทียบได้กับความร้อนที่ร่างกายได้จากการเผาผลาญอาหารซึ่งต้องอาศัยออกซิเจนจากอากาศ พลังชีวิตจึงเทียบได้กับออกซิเจนจากอากาศ ดังนั้นกิจกรรมที่ควบคุมการเข้าออกของออกซิเจนคือการหายใจ การควบคุมลมหายใจ จึงเป็นวิธีที่จะควบคุมพลังชีวิต

     ตามคอนเซ็พท์ของโยคะ การหายใจเชื่อมโยงกับพลังชีวิตผ่านการสั่นสะเทือนระดับละเอียด พลังชีวิตคือพลังงานในจักรวาล จักรวาลนี้เริ่มต้นด้วยความรู้ตัวร่วม (cosmic consciousness) ซึ่งเป็นพลังงานหรือสิ่งหนึ่งที่ไร้รูปและจับต้องมองเห็นไม่ได้ มีอยู่ของมันอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาการสั่นสะเทือนของเนื้อของสิ่งนั้นทำให้เกิดเสียงที่ไร้เสียง ประมาณว่า อึ่ม..ม…ม ขึ้นมา จึงเกิดความว่าง (ether) ซึ่งเป็นเนื้อที่เสียงอึ่มนี้ิดำรงอยู่ตามขึ้นมา การสั่นสะเทือนทำให้เนื้อของความว่างนั้นเริ่มเคลื่อนไหวจึงเกิดเป็นลมขึ้น พอเกิดลมขึ้นก็ทำให้เกิดการเสียดสีของเนื้อความว่าง เสียดไปสีมาก็เกิดความร้อนกลายเป็นแสงและไฟขึ้น เนื้อของความว่างที่ได้รับความร้อนบางส่วนหลอมละลายกลายเป็นของเหลวหรือน้ำ ซึ่งต่อของเหลวเหล่านี้บางส่วนก็ควบแน่นกลายเป็นของแข็งหรือดิน จากทั้งหมดนี้คือดิน น้ำ ลม ไฟ และความว่าง ชีวิตต่างๆก็เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นดินน้ำลมไฟล้วนมีรากกำเนิดเดียวกันคือเนื้อของความว่างทั้งสิ้น การฝึกความคุมลมหายใจเพื่อเชื่อมโยงไปถึงพลังชีวิต จึงมีส่วนประกอบของการฝึกรับรู้การสั่นสะเทือน (vibration) ที่ระดับความละเอียดต่างๆ เช่นการเปล่งเสียงโอม การทำเสียงอึ่ม เป็นต้น

    (5) ฝึกถอยออกมาเป็นผู้สังเกต (Pratyahara) คือการฝึกเปลี่ยนการสนองตอบต่อสิ่งเร้าภายนอกที่เข้ามาทาทางตาหูจมูกลิ้นผิวหนังและใจ จากเดิมที่สนองตอบแบบอัตโนมัติ มาเป็นการสนองตอบแบบรับรู้ตามที่มันเป็นแล้วเฉยนิ่ง ไม่สนองตอบเลย ไม่สนใจเลย แต่หันเหความสนใจเข้าสู่ภายใน คือให้ความสนใจไปอยู่กับความรู้ตัว (consciousness) แทนที่จะอยู่กับสิ่งเร้าภายนอก ขั้นตอนนี้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างโยคะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภายนอก กับโยคะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภายใน

     (6) การมีสมาธิเข้าถึงฌาณ (Dharana) คือการทำจิตให้ตั้งมั่นจากการจดจ่ออยู่กับเป้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว จนเป้านั้นถูกโฟกัสจนนิ่ง พาให้ใจนิ่ง ไม่ไหวติงซัดส่ายไปไหนหรือถูกรบกวนด้วยความคิด แต่ ณ ขั้นตอนนี้ผู้สังเกตยังแยกออกจากเป้าที่ถูกสังเกตอยู่ คือยังคงมีสภาวะเป็นสอง (duality) อันได้แก่ผู้สังเกตหนึ่ง และสิ่งที่ถูกสังเกตอีกหนึ่ง

     (7) การเกิดญาณหยั่งรู้ (Dhyana) คือใจสามารถจดจ่ออยู่กับเป้าจนนิ่งไม่ไหวติงซัดส่ายแล้วเกิดกระแสพลังงานไหลอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเข้าสู่เป้านั้น จิตผู้รู้หรือผู้สังเกตจะไม่รับรู้ตัวเองว่าเป็นผู้สังเกตอีกต่อไป รู้แค่ว่าความรู้ตัวนั้นดำรงอยู่ (consciousness of being), ทั้งผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกตหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง ไม่ใช่สอง (non-duality) ในขั้นตอนนี้ปัญญาญาณหยั่งรู้สิ่งต่างๆ (intuition) ซึ่งไม่เคยเรียนรู้ผ่านอายตนะมาก่อนจะเกิดขึ้นได้

     (8) การบรรลุจิตอุเบกขา (Samadhi) คือเมืื่อมีสมาธิอย่างยิ่งจนเกิดกระแสพลังงานไหลอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเข้าสู่เป้าสมาธินั้นจนจิตผู้รู้หรือผู้สังเกตหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่ถูกสังเกต ไม่แยกเป็นสองอีกต่อไปแล้ว ใจจะรับรู้สิ่งเร้าภายนอกต่างๆได้ตามที่มันเป็นโดยไม่หวั่นไหวหรือถูกกระทบโดยสิ่งเร้านั้น เป็นการหลุดพ้นจากอิทธิพลของความจำในอดีตที่เรียกว่า samskaravasana (กรรมเก่า) และความกังวลถึงอนาคต ใจไม่มีสถานะเป็นบุคคลอีกต่อไป แต่มีสถานะเป็นความว่างที่ตื่น สามารถรับรู้ และมีความเมตตาไม่แยกเราแยกเขาเพราะรู้ว่าทั้งหมดต่างก็เป็นสิ่งเดียวกัน พลังงานที่ซุ่มอยู่ภายใน (kundalini) จะถูกปลดปล่อยออกมา มีความเบิกบาน ปัญญาญาณจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนหมดสิ้นความสงสัยที่เคยมีใดๆ มีชีวิตที่ไม่ทุกข์ และมีศักยภาพไร้ของเขตที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆทั้งในเชิงศิลปะ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ ฯลฯ 

     บางคำพูดของปตัญชลี

     หนังสือของปตัญชลีเป็นหนังสือขนาดสั้น แทบจะทุกบรรทัดจบในตัวเอง ซึ่งผมขอยกตัวอย่างบางส่วนมาให้อ่าน

บทที่ I.

I.1 เอาละ ได้เวลาอธิบายว่าชีวิตเรารวมเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไร

I.2 ชีวิตรวมเป็นหนึ่งเดียวได้โดยการแยกความรู้ตัว (Chitta) ไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับความคิด (Vrttis)

I.3 เมื่อถึงตอนนั้น ผู้สังเกตได้ถอยออกจากการคิดกลับมาเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของตัวเอง

I.4 บ่อยครั้งผู้สังเกตไปสำคัญมั่นหมายว่าตัวเองเป็นความคิด

I.5 การรู้เห็นโผล่ขึ้นมาในใจได้ห้าแบบซึ่งบ้างทำให้เป็นทุกข์ บ้างไม่ทำให้เป็นทุกข์

I.6 การรู้เห็นห้าแบบคือ
(1) รู้เห็นตามที่มันเป็น
(2) รู้เห็นผิดไปจากที่มันเป็น
(3) จินตนาการ
(4) นิทรา (หลับแบบไม่ฝัน)
(5) รู้เห็นจากความจำ

I-7 วิธีรู้เห็นอย่างถูกต้องมีสามแบบคือ
(1) รู้เห็นตรงๆ
(2) รู้เห็นจากการคิดหาเหตุจากผล
(3) รู้เห็นจากการฟังผู้รู้

I.8 การรู้เห็นผิดไปจากที่มันเป็น คือการทึกทักเอาในใจว่าสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มันไม่ได้เป็น

I.9 จินตนาการคือความคิดที่กระโดดตามหลังคำบอกเล่าที่เพิ่งได้ยินโดยความจริงตามนั้น

I.10 นิทราคือใจที่ดำรงอยู่โดยไม่มีอะไรอยู่ข้างในเลย

I.11 ความจำคือการฟื้นสำเนาประสบการณ์ต่อสิ่งเร้าเมื่อครั้งเก่าขึ้นมาใหม่

I.12 การเป็นนายหรือการหยุดความคิด ทำได้โดยการฝึกปฏิบัติและการปล่อยวางความยึดถือ

I.13 การฝึกปฏิบัติก็คือการพยายามตีกรอบความคิดให้อยู่ความสนใจไม่ให้ไปเพ่นพ่านข้างนอก

I.14 เจ้าต้องฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องซ้ำซากยาวนานจึงจะเกิดพื้นฐานที่มั่นคง

I.15 การปล่อยวางความยึดถือคือการทิ้งความหิวกระหายในประสบการณ์ที่เคยได้รับหรือแม้กระทั่งแค่ที่เคยได้ยินได้ฟังมาไปเสีย

I.16 การปล่อยวางอย่างยิ่งนี้ รวมไปถึงการทิ้งความยึดถือในความรู้ตัว

I.17 ในการทำสมาธิสี่ขั้นตอนคือ (1) จดจ่อ (2)เกาะติดรายอย่างละเอียด (3) เกิดความเบิกบาน (4) มีตัวตนผู้สังเกตรับรู้ ทั้งหมดนี้เรียกว่าฝึกสมาธิแบบมีเป้าให้จดจ่อ

I.18 แล้วก็จะสามารถต่อยอดไปฝึกสมาธิอีกแบบหนึ่ง คือแบบปล่อยให้ความคิดหดกลับไปยังความว่างที่มันโผล่ออกมา เหลือแต่ความสนใจจอดนิ่งเงียบอยู่

I.19 (สมาธิแบบหลังนี้) หากไม่ควบคู่กับการปล่อยวางอย่างยิ่ง จะกลายเป็นเหตุให้กลับมาเกิดใหม่อีก แม้ว่าจะมีฤทธิ์เดชมากกว่าชาวบ้านก็ตาม

I.20 สำหรับคนอื่นที่ไม่อยากมีฤทธิเดชอะไร สามารถหลุดพ้นได้ด้วยการปฏิบัติวิถีทั้งห้า คือ
(1) ศรัทธา
(2) พลังงาน 
(3) (การเฝ้าดู) ความจำ 
(4) สมาธิ
(5) อาศัยปัญญาญาณแยกแยะ

I.21 ยิ่งใส่พลังงานเอาจริงเอาจังมากยิ่งประสบความสำเร็จมาก

I. 22 ความเอาจริงเอาจังยังแตกต่างกันสามระดับ คือ น้อย ปานกลาง มาก

I.23 หรือปฏิบัติบูชาแบบมอบกายถวายแก่จิตสำนึกรับรู้บริสุทธิ์หรือพลังงานต้นกำเนิดของเราทุกคน (Isarava)

I.24 พลังงานต้นกำเนิดหรือจิตสำนึกรับรู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ไม่ถูกแปดเปื้อนโดยความคิดชอบชังหรือกรรมใดๆ

I.25 จิตสำนึกรับรู้บริสุทธ์หรือพลังงานต้นกำเนิดนี้ เป็นปัญญาที่ไม่มีปัญญาใดยิ่งกว่า

I.26 จิตสำนึกรับรู้บริสุทธ์หรือพลังงานต้นกำเนิดนี้เป็นครูของครูทุกคนมาแต่โบราณ เพราะมันไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบของเวลา

I.27 พลังงานจากการสั่นสะเทือนของเสียงเปล่ง “โอม” คือการแสดงตัวของพลังงานต้นกำเนิดนี้

I.28 การเปล่งเสียงโอมซ้ำซากและการนั่งสมาธิอยู่กับความหมายของเสียงโอมเป็นวิธีเข้าถึงพลังงานต้นกำเนิด

I.29 ทำให้ได้ปัญญามากขึ้นๆและค่อยๆทำลายอุปสรรคกีดขวางทั้งมวล

I.30 อุปสรรคที่ชักจูงให้หันเหออกไปจากเส้นทางสู่ความหลุดพ้นได้แก่ (1) ป่วย (2) ขี้เกียจ (3) ความสงสัย (4) ความสงบ (5) การหยุด (6) รู้เห็นผิดๆ (7) ละความอยากทางโลกไม่ได้ (8) ไม่มีสมาธิ (9) หลุด

I.31 สิ่งที่ควบคู่กับการไม่มีสมาธิคือ (1) เศร้า (2) เครียด (3) ร่างกายสั่น (4) หายใจไม่สม่ำเสมอ 

I.32 วิธีแก้คือจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่างเพียงอย่างเดียว

I.33 การเข้าถึงความรู้ตัวทำได้โดยการ (1) สร้างมิตรไมตรี (2) เมตตา (3) ดีใจสุขใจด้วยกับคนที่มีความสุข (4) วางอุเบกขากับคนที่มีความทุกข์

I.34 หรือโดยการควบคุมพลังชีวิตผ่านการควบคุมลมหายใจช่วงกักลมไว้และช่วงหายใจออก

I.35 การทำสมาธิแบบจดจ่ออยู่กับประสบการณ์รับรู้สิ่งเร้าในลักษณะที่ทำให้การรับรู้ละเอียดแหลมคมขึ้นช่่วยทำให้มีความอึดมากขึ้น

I.36 หรือจดจ่ออยู่กับแสงเรืองแสงที่ภายใน ก็จะทำให้ใจนิ่งและสงบได้เช่นกัน

I.37 หรือจดจ่ออยู่กับหัวใจที่ปล่อยวางทุกอย่างอย่างสิ้นเชิง

I.38 หรือจดจ่ออยู่กับความรู้ที่เกิดขึ้นขณะฝัน

I.39 หรือจดจ่ออยู่กับเป้าอะไรดีๆที่ตัวเองที่ชอบหรือเคยประสบมา

I.40 แล้วใจก็จะนิ่งได้ ไม่ว่าจะอาศัยเป้าที่ใหญ่หรือเล็ก

I.41 เมื่อใจสงบนิ่งลงก็จะใสเหมือนผลึกแก้ว ที่รู้ทั้งสิ่งที่ถูกรู้ (ความคิด) อาการที่เข้าไปรู้ (สติ) และตัวตัวผู้รู้เอง (ความรู้ตัว) 

I.42 สมาธิแบบหนึ่งเป็นการผสมผสานสามอย่าง คือ (1) คลื่นความสั่นสะเทือน (เสียง) (2) ภาษาหรือชื่อที่ใช้เรียกเสียงนั้น (3) ความหมายของชื่อนั้นในใจซึ่งหยิบเอามาจากความจำ ทั้งสามอย่างนี้ผสมกลมกล่อมกันไป เรียกว่าเป็นสมาธิแบบมีผู้สังเกตเป้า

I.43 สมาธิอีกแบบหนึ่งเมื่อมีคลื่นความสั่นสะเทือนเกิดขึ้น มีภาษาตามมา แต่ความหมายของชื่อนั้นในความจำถูกกรองไม่ให้เอามาตีความชื่อนั้น ความคิดก็ไม่มีที่จะอยู่ เหลือแต่คลื่นความสั่นสะเทือนเป็นเป้าอยู่ในการรับรู้ เรียกว่าเป็นสมาธิแบบไม่มีผู้สังเกต

I.44 สมาธิทั้งสองแบบเกิดได้ทั้งกับเป้าที่หยาบหรือเป้าที่ละเอียด

I.45 เป้าที่ละเอียดทั้งหลาย (เช่นความคิด สำนึกว่าเป็นบุคคล) ล้วนไปสิ้นสุดที่สถานะดั้งเดิมที่ไร้รูป

I.46 สมาธิแบบทั้งหลายที่กล่าวมานี้ยังมีเมล็ดพันธ์ของความจำจากอดีตค้างอยู่ ไม่ได้ถูกทำลายไปไหน

I.47 เมื่อทำสมาธิแบบไม่มีผู้สังเกตมากเข้า ความรู้ตัวจะค่อยๆยืนหยัดมั่นคง

I.48 เกิดปัญญาญาณตระหนักรู้

I.49 ปัญญาญาณหยั่งรู้นี้แทงตลอดไปถึงสิ่งที่เหตุผลหรือคำแนะนำซึ่งอาศัยภาษาแทงทะลุไปไม่ได้

I.50 ปัญญาญาณหยั่งรู้ก่อให้เกิดความเข้าใจแบบรับรู้ตรงๆตามที่มันเป็น ซึ่งจะลดความคิดอย่างอื่นที่เป็นการรู้มาผ่านภาษาลงไป (เหมือนไฟกองใหญ่จะดับไฟกองเล็กกองน้อยทั้งหลาย)

I. 51 เมื่อใดที่ปัญญาญาณหยั่งรู้นี้ดับลงไปพร้อมกันความรู้อื่น สมาธิแบบไม่มีเป้า ซึ่งเป็นความหลุดพ้นแบบไม่มีเมล็ดพันธ์ใดๆเหลืออยู่จึงจะเกิดขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. The Sadhakas. Patanjali’s Yoga Sutras. ISBN-81-85053-47-2. Print Arts. Mumbai, India.