Latest

โรคชีพจรเร็วเมื่อเปลี่ยนท่าร่าง (POTS)

กราบเรียนคุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์

ผมอายุ 31 ปี ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์หัวใจ (Cardiologist) ว่าเป็นโรค Postural Orthostatic Tachycardia Syndrome โดยสามารถมีหัวใจเต้นเร็วได้ถึง 160 ครั้ง/นาที ขณะพักจนต้องนอนราบกับพื้นขณะมีอาการ ได้รับการรักษาด้วย Ivabradine 2.5 mg และ Propranolol 5 mg ต่อวัน ปัจจุบันกิน Propranolol 5 mg วันละครั้ง ไม่กิน Ivabradine เลย และพบว่าอาการหายไปได้ตลอดวัน

ขอเรียนปรึกษาคุณหมอว่า
1.ผมอยากออกกำลังกายให้ถึงระดับมาตรฐาน จะทำอย่างไรดี คือมีความกังวลว่าจะมีอาการขณะออกกำลังกายครับ
2.การเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้นได้เองแบบนี้ สามารถเป็นอาการของโรคแพนิคได้ไหมครับ

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง
(ชื่อ) ………………….

…………………………………………………………..

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามขอนิยามศัพท์ให้คนที่ไม่รู้จักโรค Postural Orthostatic Tachycardia Syndrome (POTS) เสียหน่อย คำนี้แปลว่ากลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็วเมื่อเปลี่ยนท่าร่าง ซึ่งนิยามว่าคือภาวะที่เมื่อเปลี่ยนท่านนั่งหรือนอนเป็นยืนแล้วภายในสิบนาทีชีพจรจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 30 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป หรือเพิ่มขึ้นเป็น 120 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป โดยที่ความดันเลือดไม่ได้เปลี่ยนแปลง ทำให้มีอาการใจสั่น เปลี้ย หมดเรี่ยวหมดแรง หวิวๆเวียนๆโหวงๆเหวงๆหัวเบา คลื่นไส้ มือเท้าเย็น บางรายถึงกับเขียว บางรายถึงกับเป็นลมหมดสติ บางรายเจ็บแน่นหน้าอกหายใจไม่อิ่มก็มี กล่าวโดยสรุปคือมีชีวิตที่ “เดี้ยง” ระดับเดียวกับคนเป็นโรคหัวใจล้มเหลวหรือเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ต้องล้างไตแล้วโน่นเชียว

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถาม

     1.ถามว่าจะออกกำลังกายอย่างไรดี ตอบว่าให้ทำสี่ขั้น ดังนี้

     ขั้นที่ 1. ต้องวิินิจฉัยแยกว่าไม่ได้เป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กก่อน เพราะงานวิจัยผู้ป่วย POTS จำนวนหนึ่งพบว่าเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก วิธีวินิจฉัยก็แค่เจาะเลือดดู ถ้าขาดธาตุเหล็กก็รักษาให้หายแล้วก็จบ

     ขั้นที่ 2. เมื่อไม่ขาดธาตุเหล็กแน่นอนแล้ว ก่อนออกกำลังกาย ต้องเติมน้ำให้ร่างกายให้เต็มก่อน เพราะบ่อยครั้งปัญหานี้เกิดจากน้ำไม่พอเท่านั้นเอง ดังนั้นก่อนจะเดินหน้าไปทำอะไรอย่างอื่นลองเติมน้ำให้เต็มก่อน อัดน้ำเข้าไปอย่างน้อยสัก 2-3 ลิตรต่อวัน อัดเกลือเข้าไปด้วยสัก 3-10 กรัมต่อวัน แล้วดูซิว่าอาหารหายไปไหม ถ้าอาการหายไปก็จบ ไม่ต้องไปกินยาหรืือออกกำลังกายท่าพิศดารอะไร

    ขั้นที่ 3. หากเติมน้ำเติมเกลือแล้วอาการก็ยังคงอยู่ ให้ออกกำลังกายด้วยวิธีปกติดูก่อน เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ซึ่งเรียกว่ารวมๆว่าเป็นกลุ่มระบบประสาทอัตโนมัติเสียการทำงาน (dysautonomia) บางรายออกกำลังกายแล้วอาการกลับดีขึ้น

     ขั้นที่ 3. ถ้าออกกำลังกายแบบธรรมดาแล้วอาการกลับแย่ลง ก็ค่อยไปออกกำลังกายแบบหัวต่ำ (reclined exercise) เช่นกรรเชียงเรือ (หรือกรรเชียงบก) จักรยานนอนหงาย ว่ายน้ำ วิดพื้น และท่ากายบริหารบนเสื่อ (mat exercise) เช่นนอนยกแข้งยกขาท่าต่างๆเป็นต้น

     2. ถามว่าหัวใจเต้นเร็วแบบนี้เป็นอาการของกลัวเกินเหตุ (panic disorder) ได้ไหม ตอบว่างานวิจัยคนเป็นโรค POTS จริงๆ (หมายความว่าที่วินิจฉัยละเอียดวัดความดันวัดชีพจรขณะเปลี่ยนท่าจากนอนเป็นยืนภายใน 10 นาทีจริงๆไม่ได้วินิจฉัยแบบเดาเอา) พบว่าคนเป็นโรค POTS มีคะแนนสุขภาพจิตดีเท่าคนปกติ หมายความว่าความกังวลเกินเหตุไม่ใช่อาการของโรค POTS แต่ว่าคนเป็นโรคกังวลเกินเหตุมีอาการหัวใจเต้นเร็วได้ เพียงแต่ไม่มาเป็นเอาเฉพาะตอนเปลี่ยนท่าร่างเหมือนอย่างในโรค POTS

     3. ถามว่าหมอให้ยา Ivabradine 2.5 mg ควบกับ Propranolol 5 mg ต่อวันแต่แอบกินแต่ Propranolol โดยไม่กิน Ivabradine อาการก็หายแล้ว จะกินตัวเดียวได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ หลักการรักษาซินโดรม (syndrome) ซึ่งแปลว่าโรคที่เกิดจากอะไรไม่รู้นี้มีหลักอยู่ข้อเดียว คือใช้ยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะบรรเทาอาการได้ ถ้าใช้ตัวเดียวก็บรรเทาอาการได้แล้วก็ใช้แค่ตัวเดียว เพราะว่าไม่ว่าจะใช้ตัวเดียวหรือหลายตัวมันก็ไม่ได้รักษาโรคอยู่ดี เนื่องจากโรคอย่างนี้ยังไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร แล้วจะไปรู้วิธีรักษาได้อย่างไร ยาที่ให้อย่างดีก็แค่ช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น

     4. ถามว่าอนาคตของคนเป็นโรคนี้จะเป็นอย่างไร ตอบว่างานวิจัยที่ทำที่เมโยคลินิกพบว่าเมื่อตามดูไปนานห้าปีมี 18.2% ที่อาการหายไปเลย อีก 52.8% อาการดีขึ้น ส่วนที่เหลือก็แป๊ะเอี้ย แปลว่าอาการยังคงอยู่เหมียน..เดิม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Excessive heart rate response to orthostatic stress in postural tachycardia syndrome is not caused by anxiety; Masuki S, Eisenach JH, Johnson C et al. Journal of Applied Physiology 2006; 102: 1134-42.
2. Iron insufficiency and hypovitaminosis D in adolescents with chronic fatigue and orthostatic intolerance. Antiel RM, Caudill JS, Burkhardt BE, Brands CK, Fischer PR. South Med J. 2011 Aug;104(8):609-11.
3. Long-term outcomes of adolescent-onset postural orthostatic tachycardia syndrome. S.J. Kizilbash, S.P. Ahrens, R. Bhatia, J.M. Killian, S. A. Kimmes, E.E. Knoebel, P. Muppa, A.L. Weaver, P.R. Fischer. Clin. Auton. Res. October 2013. Abstract presented at the 24th International Symposium on the Autonomic Nervous System.