ปรึกษาหมอ

โรคซึมเศร้า โรคประจำชาติโรคใหม่

เรียน คุณหมอ สันต์ ใจยอดศิลป์

ขอแทนตัวเองว่าหนูนะคะ เพราะคุยกับพ่อแม่ก็แทนตัวเองแบบนี้ค่ะ มันเคยชิน
หนูอายุ 43 เท่ากันกับสามีค่ะ แต่งงาน 16 ปี มีลูก 1 คน หน้าตาและหน้าที่การงานของเราจัดว่าดีทั้งคู่ค่ะ จนมาวันหนึ่ง ในปีที่ 10 ของการแต่งงานรู้ว่าสามีนอกใจโดยไปคบหาและหลับนอนกับเด็กนักเรียนมัธยมปลาย สามีบอกว่าคบกันมาปีกว่าแล้ว และว่าเค้าผิด เค้ามักมากเอง และจะเลิกกับเด็กคนนั้น หนูให้อภัย แต่ 1 ปีผ่านไปจึงพบว่าที่ผ่านมาสามียังคบกับเด็กมัธยมปลายคนเดิมมาตลอด หนูจึงตัดสินใจขอหย่าและย้ายออกมาซื้อคอนโดอยู่กับลูก เพราะบ้านเดิมเป็นบ้านพ่อแม่สามี อดีตสามีไปมาหาสู่ มารับลูกบ้าง พาไปเที่ยวบ้าง จนปีกว่า ๆ ก็ตัดสินใจให้อภัยอีกครั้งและกลับไปอยู่ด้วยกัน
เมื่อตัดสินใจเริ่มต้นใหม่ ตั้งใจจะไม่พูดถึงเรื่องในอดีต แต่วันหนึ่งเผลอพูดไป สามีเลยบอกว่าที่เคยบอกว่าเค้ามักมากนั้น จริง ๆ มันเกี่ยวกับเราด้วย เพราะ “เซ็กส์กับเรา มันไม่คลิ๊ก” ช็อคค่ะ เพราะไม่เคยคิดว่าจะได้ยินคำที่ทำร้ายจิตใจได้ขนาดนี้จากปากของสามีที่พูดออกมาหน้าตาเฉยมาก พอตั้งสติได้เลยถามว่า อยู่กันมานานมันคงเบื่อหรือเปล่า เค้าบอกไม่ เป็นตั้งแต่แรก ๆที่แต่งงานแล้ว (ช็อคครั้งที่ 2) รู้สึกว่าเวลามีเซ็กส์มันต้องพยายาม หนูถามว่าแล้วคิดว่าจะทำอย่างไรดี เค้าตอบว่าไม่รู้ ยังไม่ได้คิด (ช็อคครั้งที่ 3)
มันทั้งเสียเซลฟ์และเสียใจมากค่ะ ร้องไห้เยอะมาก สามีปลอบว่าไม่มีใครผิด แค่ไม่คลิ๊ก มานั่งทบทวนตัวเองในเรื่องนี้ แน่ใจว่าทำได้ดีในระดับนึงแน่นอน ตอนนี้อาศัยทำใจอยู่ค่ะ ไม่คิดมาก ภายนอกคู่เราหวานแหววดี กอดหอมกันปกติ สามีชอบโชว์ต่อหน้าคนอื่นว่ารักภรรยา แต่เบื้องหลังคือไม่ค่อยมีเซ็กส์กันค่ะ สองเดือนครั้งได้
คิดว่าจะทำใจได้นะคะ อยู่กันไปโดยไม่คิดอะไร
แต่ 6 เดือนผ่านไป เรื่องนี้ลึก ๆ มันก็คอยทิ่มแทงความรู้สึกตลอด ทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ (เคยคิดถึงขนาดว่าจะไปมีอะไรกับผู้ชายอื่นเสียเลยดีไหมนี่ เหมือนเรียกเซลฟ์กลับมา แต่ก็ไม่ได้ทำนะคะ) และอีกอย่างคือกลายเป็นระแวงสามีว่าเค้าจะนอกใจอีกค่ะ เพราะเค้าไม่ค่อยมีเซ็กส์กับเราเค้าก็น่าจะไปมีกับคนอื่นที่คลิ๊ก
อยากฟังความคิดเห็นของคุณหมอในเรื่องนี้หน่อยค่ะ เผื่อจะเรียกสติหนูกลับมาได้บ้าง และขอคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรต่อไปดีคะ
ขอบพระคุณมากค่ะ
ขอแสดงความนับถือ
ภรรยาผู้ไม่คลิ๊ก
………………………………………………….

ตอบครับ

ปัญหาคือคุณกำลังมีความทุกข์เพราะความคิดของคุณเอง อันได้แก่

     (1) ทุกข์เพราะมีความรู้สึกดาวน์ (down) ว่าตัวเองนี้มันไร้ค่าหย่อนสมรรถภาพจนอยากไปหาผ.ใหม่มาพิสูจน์สมรรถภาพให้ตัวเองประจักษ์แบบรู้ดำรู้แดง

     (2) ทุกข์เพราะระแวงว่าสามีจะไปมีอีหนูอีก เพราะเขาไม่นอนด้วย

     จึงมาถามหมอสันต์ว่าจะทำอย่างไรดี หมอสันต์ขอตอบว่าการจะไปหาผ.ใหม่มาประชดผ.เก่านั้นเลิกคิดได้เลย เพราะปูนนี้แล้วมันหายาก อุ๊บ..ขอโทษ พูดเล่น พูดใหม่นะ เพราะมันเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน ทุกข์เกิดที่ความคิดมันก็ต้องแก้ที่ความคิด

     ความคิดว่าตัวเองไร้ค่า มันเป็นปฐมเหตุของโรคซึมเศร้า (depression) เป็นเอกลักษณ์ของคนรุ่นใหม่อายุตั้งแต่ 14 ปีเป็นต้นไปเลยทีเดียว เด็กหนุ่มเด็กสาวจิตแพทย์จ่ายยาต้านซึมเศร้าให้กินกันเป็นว่าเล่น แล้วมันเกิดขึ้นง่ายๆอย่างเหลือเชื่อ ชนิดที่ยาต้านซึมเศร้าผลิตขายไม่ทัน ยกตัวอย่างเช่นแค่ตัวเองเขียนอะไรลงไปในโซเชียลมีเดียแล้วเพื่อนไม่เข้ามาในกด like ในเวลาอันรวดเร็วทันใจแค่นี้ก็เป็นเหตุให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าพ่อแม่ต้องพาไปหาจิตแพทย์แล้ว แล้วที่ว่าซึมเศร้านั้นซึมเศร้าจริงๆนะ ไม่ใช่ของปลอม คือเวลาเศร้าก็เศร้าสุดๆดาวน์สุดๆจนต้องพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ได้ไร้ค่าด้วยการประท้วงเรียกร้องความสนใจจากทุกๆคนที่อาจจะยังรักตัวอยู่ให้กรูกันมาโอ๋ว่าตัวเองยังมีค่า หากคนเหล่านั้นไม่กรูกันมาในเวลาทันอกทันใจก็จะเพิ่มมาตรการประท้วงจนได้เรื่องจึงจะหยุด ถ้ายังไม่ได้เรื่องก็ไม่ยอมหยุด มาตรการประท้วงที่จะใช้ก็มีทุกรูปแบบ รวมทั้งรูปแบบมาตรฐานคือการฆ่าตัวตายดื้อๆด้วยเหตุจิ๊บๆ การตอบจดหมายคุณวันนี้ ผมจึงเขียนเผื่อแฟนบล็อกท่านอื่นที่ตัวเองหรือลูกหลานตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าซึ่งกำลังจะกลายเป็นโรคประจำชาติไปแล้วนี้ด้วย

     ผมแนะนำว่าคุณหรือใครก็ตามเมื่อตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ควรทำดังนี้

     1. ลงมือแก้ที่ตัวเอง อย่าไปยุ่งกับคนอื่น แม้จะคุณจะอุทธรณ์ว่า

     “คุณหมอขา มีหลักฐานโต้งๆว่าเจ้า ผ. ตัวแสบเขาไปมีอีหนู ดังนั้น ผ.ของหนูต่างหากที่เป็นสาเหตุ ไม่ใช่ตัวหนู” 

     แต่ผมก็ยืนยันให้คุณแก้ที่ตัวเอง อย่าไปยุ่งกับผ.ของคุณ หรือที่อีหนูของผ.คุณ เพราะความทุกข์ใดๆที่ดูเหมือนเกิดจากเหตุภายนอกนั้น แทัจริงแล้วมันเกิดที่ใจตัวเราเอง แม้กลไกมันจะซับซ้อนแต่ปราชญ์แต่โบราณก็ได้คลี่ให้เห็นจะจะแล้วว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเหตุภายนอกนั้นเป็นเพียงเป้าให้อายตนะอันได้แก่ตาหูผิวหนังของเราไปรู้ แต่ว่าสัญญาณใดๆจากการไปรู้นั้นล้วนถูกแปลงเป็นมโนภาพในเวลารวดเร็วเท่าสายฟ้าแลบที่ในใจแล้วตกกระทบก่อเป็นความรู้สึกบนร่างกายและใจของเรา ก่อนที่จะกระตุ้นให้เกิดความคิดปรุงแต่งต่อยอดอันเป็นเหตุให้เราเกิดทุกข์ ทั้งหมดนี้ตั้งแต่ต้นจนจบมันเกิดขึ้นในตัวเรา ดังนั้นหากไม่แก้ในตัวเรา แก้ให้ตายก็แก้ไม่ตก

     2. ความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เป็นหวอสัญญาณฉุกเฉิน ไม่ใช่สัญญาณเตือนให้ไปหาผ.ใหม่มาพิสูจน์การคลิกไม่คลิกหรือไปหาเพื่อนมาแก้เหงานะ แต่เป็นหวอสัญญาณเตือนว่าชีวิตนี้ที่ดูไร้ค่าไร้ความหมายนี้จะแตกดับเมื่อไหร่ก็ได้นะ แล้วเราได้ทำพันธกิจที่เป็นเป้าหมายของการเกิดมาชาตินี้แล้วหรือยัง ยิ่งเมื่อความคิดฆ่าตัวตายแทรกเข้ามา ยิ่งต้องถามสวนกลับไปทันทีว่าก่อนที่จะตายได้ทำอะไรที่เป็นเป้าหมายของการเกิดมามีชีวิตครั้งนี้แล้วหรือยัง

     3. ความคิด มันเป็นแค่ความคิดนะ มันไม่ใช่เรา ความคิด ไม่ใช่เรา เราคือความรู้ตัวที่เฝ้าสังเกตอยู่เบื้องหลังความคิด ต้องท่องตรงนี้ไว้ให้มั่น ทำความเข้าใจตรงนี้ให้กระจ่าง คอยดึงความสนใจออกมาจากความคิดมาจอดอยู่กับความรู้ตัว เมื่อใดก็ตามที่เผลอปล่อยให้ความสนใจเข้าไปคลุกอยู่ในความคิด ความเชื่อว่าความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิดก็จะเกิดขึ้น เมื่อนั้นก็…เสร็จ เพราะเมื่อเราคิดว่าความคิดเป็นเรา นั่นเราไปให้อำนาจความคิด แล้วความคิดก็จะพาเราไปไหนต่อไหนโดยที่เราจะยอมตามมันไปอย่างเหลือเชื่อ

     หลายปีมาแล้วเพื่อนของผมคนหนึ่งมีลูกคนเดียวหัวแก้วหัวแหวนอายุ 16 ปี เป็นเด็กที่โตมาในครอบครัวที่ดีสมบูรณ์ พ่อแม่การศึกษาดีฐานะดีไม่มีเหตุการณ์บ้านๆแบบว่าพ่อแม่ทะเลาะโน่นนี่นั่น ไม่มีเลย แล้วอยู่ๆวันหนึ่งลูกก็กระโดดตึกฆ่าตัวตาย ผู้เป็นพ่อพยายามจะหาสาเหตุว่าอะไรหนอทำให้ลูกที่เลี้ยงดูมาอย่างสมบูรณ์พูนสุขคิดสั้นได้ง่ายๆอย่างนี้ แล้วก็ไปถึงบางอ้อ เมื่อไปพบไอโฟนของลูกซึ่งติดต่อไลน์กับแฟนเขา บรรทัดสุดท้ายแฟนของเขาไลน์มาบอกว่า

     “ไปฆ่าตัวตายเสียไป๊”

     แค่เนี้ยะ แล้วเขาก็ไปกระโดดตึกตาย เห็นไหมครับว่าความคิดงี่เง่าตื้นๆเมื่อมันได้อำนาจจากความเชื่อของเราที่ว่าความคิดนั้นเป็นเราแล้ว ความคิดนั้นมันกลายเป็นสิ่งที่มีอำนาจมากขนาดไหน

     4. เมื่อมีความรู้สึกเศร้าให้รู้ว่ามันเป็นความรู้สึก (feeling) ไม่ใช่ความคิดนะ เป็นความรู้สึก แยกกันให้ออก ความรู้สึกนี้ภาษาพระเรียกว่าเวทนา ยิ่งงงมากเข้าไปใหญ่ใช่ไหม เอาเป็นว่าความรู้สึกไม่ใช่ความคิดก็แล้วกัน ให้โอบรับความรู้สึกซึมเศร้านั้นอย่าผลักไสไล่หนี โอบรับความรู้สึกนั้นมา ให้ความสนใจ เฝ้าดู ทำความรู้จัก แต่อย่าไปคิดอะไรต่อยอดนะ แค่ดูให้เห็นความรู้สึกเท่านั้น เฝ้าสังเกตดูความรู้สึกนั้น ทั้งที่ในร่างกายและที่ในจิตใจ มันจะอยู่นานแค่ไหนก็ปล่อยให้มันอยู่ มันเป็นสัจจธรรมว่าความรู้สึกใดๆบนร่างกายและในใจของคนเรานี้ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว หลังจากนั้นมันก็จะดับไป เปรียบเหมือนร่างกายและจิตใจนี้เป็นศาลาริมทาง เดี๋ยวมีคนเดินผ่านมานั่งพัก แล้วก็ออกเดินจากไป การมาเยือนของความรู้สึกก็เป็นเช่นนั้น ความรู้สึกเศร้าไม่ใช่ตัวอันตราย ความคิดต่อยอดต่างหากที่อันตรายและต้องระวัง

     5. เปลี่ยนความเหงาให้เป็นการปลีกวิเวก   ความเหงา (loneliness) แปลว่าเมื่อได้อยู่คนเดียวแล้วเป็นทุกข์ แต่ปลีกวิเวก (solitude) แปลว่าเมื่อได้อยู่คนเดียวแล้วเป็นสุข การเปลี่ยนความเหงาเป็นการปลีกวิเวกทำได้ง่ายเมื่อความรู้สึกไร้ค่ามันบีบจนคุณหมดทางไปในแนวราบ(เช่นการแสวงหามิตร) จนจวนเจียนจะมีชีวิตอยู่กับ “ตัวกู” ตัวนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ก็จะถูกบีบให้ “เล็ด” ออกไปในแนวดิ่ง หมายถึงความสนใจถูกดึงถอยกลับลึกเข้ามาในตัวเองจนถอยไปถึงจิตเดิมแท้อันเป็นอู่จอดของมัน ที่ตรงนั้นเราจะพบกับความสงบเย็นที่ภายในและกลับ “ได้น้ำ” เกิดพลังทำให้สามารถใช้ศักยภาพดีๆในตัวสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาได้เยอะแยะ

     6. พูดกับตัวเองดีๆ สมมุติว่าคุณมีเพื่อนที่ดีต่อกันอยู่คนหนึ่ง เขาเกิดผิดหวังในชีวิตและมองเห็นว่าตัวเขาเองช่างเป็นคนที่ไร้ค่าไร้ความหมายจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า คุณจะพูดกับเขายังไง คุณก็คงจะตบหลังปลอบโยนเขา ชี้ให้เขาเห็นความจริงว่าคนที่รักเขาจริงๆก็ยังมี คุณค่าจริงๆของเขาก็ยังมี นั่นแหละ ผมต้องการให้คุณพูดกับตัวเองอย่างนั้น ปลอบตัวเองอย่างนั้น อย่าลืมว่าตอนนี้คุณกำลังด่าตัวเองอยู่นะว่า

     “เธอมันงี่เง่าและไม่คลิก”

     เอาใหม่ เปลี่ยนใหม่ เมตตาต่อตัวเองเหมือนเมตตาเพื่อนที่กำลังเหงา ปลอบตัวเอง พูดกับตัวเองดีๆ

     7. ให้คุณเริ่มชีวิตใหม่ด้วยการยอมรับ (acceptance) ยอมแพ้ (surrender) แก่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวคุณ ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ การยอมรับปัจจุบัน ทำให้เราไม่ต้องเดือดร้อนวิ่งหนีอะไรที่มีอยู่แต่ยังไม่ถูกใจ ไม่ต้องวิ่งหาอะไรที่ยังไม่มี แค่นี่พอแล้ว แค่นี้สบายแล้ว แค่นี้สุขแล้ว ทำได้อย่างนี้คุณก็บรรลุธรรมแล้วเดี๋ยวนี้ทันที หลุดพ้นทันที โดยไม่ต้องเหนื่อยแรงไปแสวงหาโมกขธรรมที่ไหนไกลเลย

     8. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคุณเองเสียใหม่อย่างสิ้นเชิง เปลี่ยนจากคนที่ไฟกำลังจะมอด มาปลูกความฝันใหม่ แล้วสร้างตัวเองเพื่อให้ฝันนั้นเป็นจริง ทั้งในเรื่องเป้าหมายชีวิตในช่วงถัดจากนี้ไป เมื่อสร้างฝันขึ้นมา จะเป็นฝันที่จะทำอะไรก็ได้ แล้วเอาฝันนั้นเป็นเชื้อ เติมไฟ ไล่ตามความฝันนั้น จินตนาการตัวเองว่าจะเป็นหญิงที่เท่  (noble citizen) อกผายไหล่ผึ่งมีสง่าราศี รูปร่างดี ไม่อ้วน ไม่ผอม เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว อารมณ์ดี ตามีแวว มีชีวิตชีวา ออกกำลังกายให้ถึงระดับมาตรฐาน (ออกกำลังกายแบบแอโรบิกจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้ครั้งละ 30 นาทีอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ควบกับออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้ออีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง) ปรับโภชนาการให้ได้มาตรฐาน ลดอาหารเนื้อสัตว์ลง โดยเฉพาะเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพิ่มผักและผลไม้ให้ได้วันละ 5 เสริฟวิ่งขึ้นไป จัดเวลาพักผ่อนนอนหลับพอเพียง ทำกิจกรรมที่ร่างกายได้มีโอกาสผ่อนคลาย เช่นฝึกสมาธิ โยคะ รำมวยจีน ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทำอย่างนี้จนคุณกลายเป็นคนใหม่ที่คุณอยากเป็น

     9. ฝึกเข้าใจคนอื่น ให้อภัยคนอื่น คุณอาจจะแย้งว่า

     “อะไรกันคะคุณหมอ เขาทำกับหนูถึงขนาดนี้ ทิ้งหนูเหยียบหนูถึงขนาดนี้ แล้วยังจะให้หนูให้อภัยเขาอยู่อีกหรือ”

      หิ หิ นี่หมอสันต์คนแก่จะสอนทักษะชีวิตให้นะ คุณโกรธเขา สาปแช่งเขาว่าคุณจะจองเวรกับเขาไปอีกเจ็ดชาติ เขาก็สบายๆไม่เดือดร้อนอะไรหรอก แต่ตัวคุณนะสิจะลำบากไปอีกเจ็ดชาติ แต่ถ้าคุณให้อภัยเขา ตัวเขาก็ยังสบายๆไม่เดือดร้อนอะไรเหมือนเดิม แต่ตัวคุณจะพ้นทุกข์จากความโกรธนั้นทันที

     10. คุณเข้าใจเรื่องเวลาผิดไป ในส่วนของความกังวลว่าผ.จะไปมีอีหนูใหม่นั้น ความทุกข์ส่วนนี้มันเป็นเพราะคุณเข้าใจเรื่องเวลาในชีวิตผิดไป หมายความว่าแทนที่คุณจะทำตัวเป็นความรู้ตัวที่เฝ้ามองความคิดอยู่ห่างๆ แต่นี่เรากลับไปจมหรือมุดอยู่ในความคิด แถมความคิดนั่นดันโง่เสียอีก คือไปเข้าใจผิดว่าอดีตอนาคตเป็นของจริง จึงไปคร่ำครวญรู้สึกผิดหรือโกรธหรือเสียใจกับอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรือไปวิตกกังวลกับอนาคตว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าในชีวิตจริงที่รับรู้โดยความรู้ตัวของเรานี้ อดีตอนาคตมันมีอยู่จริงซะที่ไหนละครับ เรารับรู้อดีตที่นี่เดี๋ยวนี้ในรูปของความรู้สึกผิด เสียใจ หรือโกรธ อนาคตเราก็รับรู้มันที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ในรูปของความวิตกกังวล ทุกอย่างเกิดที่ที่นี่เดี๋ยวนี้หมด สรุปว่าคุณโง่..เอ๊ย ไม่ใช่ คุณทุกข์ฟรี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์