Latest

เล่าเรื่องคนเดนมาร์คสองคนที่เคยมามวกเหล็ก

     สองวันก่อนผมไปเดินเล่นริมคลองมวกเหล็ก แม้ทุกวันนี้ธรรมชาติก็ยังดีอยู่มาก เดินเลาะคลองไปมีน้ำตกธรรมชาติที่ไม่มีใครตั้งชื่อให้เป็นระยะๆ น้ำในธารเย็นเจี๊ยบ ครั้งก่อนโน้นผมมาเดินที่นี่ประหลาดใจมากที่ได้พบกิ้งก่ายักษ์แบบอีกัวน่าตัวหนึ่งว่ายน้ำแล้วขึ้นมาชูคอแดงแจ๋ที่บนก้อนหิน ชาวบ้านบอกว่ามันเป็นสัตว์ธรรมชาติของคลองที่นี่ ครั้งนี้พอเดินมาถึงริมคลองส่วนที่ถูกไถเปิดโล่งไว้ ในอารมณ์ที่สงบเย็นปลอดความคิด ผมมองย้อนขึ้นฝั่งไปทางถนนเล็กๆโน้น อากาศหนาว หมอกลงจัด ผมเกิดอาการตาฝาดเห็นอาคารบ้านสองชั้นขนาดใหญ่สีเหลืองส้มของผงแร่ออร์ค (ochre) ที่สร้างแบบใช้ท่อนไม้ซุงเสาสี่เหลี่ยมมาทำโครงฝาบ้าน (half timber house) บ้านแบบนี้สร้างกันในยุโรปเหนือ สีออร์คเหลืองแบบนี้นิยมทากันที่เดนมาร์ค ผมมองด้วยความตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง แต่พอเผลอกระพริบตาอาคารนั้นก็หายไป ช่างเป็นภาพจินตนาการที่สวยงาม การเห็นบ้านหลังนี้โผล่ขึ้นมาในม่านหมอกที่มวกเหล็กทำให้ผมคิดถึงคนเดนมาร์คที่เคยมาที่นี่ มวกเหล็กเป็นป่าดงดิบมาก่อน แล้วมาเป็นเมืองเล็กๆที่มีคนผ่านมาแล้วก็ผ่านไปไม่มาก คนเดนมาร์คที่เคยผ่านมาแล้วผ่านไปที่ผมสนใจจะพูดถึงวันนี้มีอยู่สองคน

ภาพราเบค แขวนอยู่ที่ผนังบ้านโกรฟเฮ้าส์

     ชาวเดนมาร์คที่เคยมามวกเหล็กคนแรกที่ผมอยากจะพูดถึงคือราเบค (Knud Lyhne Rhabek) หากท่านตั้งต้นที่สถานีรถไฟมวกเหล็ก เดินข้ามรางรถไฟไปฝั่งตรงข้าม สังเกตดูต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ที่ริมรางรถไฟทางด้านขวามือแล้วเดินมุ่งไปที่นั่น แหวกพงหญ้ารกๆเข้าไปก็จะพบหลุมฝังศพของราเบคพร้อมป้ายหินหน้าศพสลักชื่อบอกวันเกิดวันตายที่ยังอ่านได้ชัดเจน ที่ตรงนี้ไม่มีอะไรนอกจากหลุมฝังศพเก่าของฝรั่งคนนี้ แต่อะไรบางอย่างก็ดลให้ผมชอบมาดูหลุมฝังศพนี้หลายครั้ง จนคนงานรถไฟถามผมว่าเป็นลูกหลานฝรั่งผู้ตายหรือครับ

     ราเบคเป็นหนุ่มช่างสำรวจสร้างทางรถไฟชาวเดนมาร์ค เขาเดินทางมาร่วมกับทีมงานวิศวกรชาวยุโรปหลายสิบคนเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือผ่านป่าดงพญาเย็นในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงที่ยากลำบากที่สุดของการสร้างทางรถไฟคือช่วงจากช่องหินลับเข้าสู่หุบเขาดงพญาเย็น ซึ่งก็คือส่วนที่เป็นหุบเขามวกเหล็กวาลเลย์และชุมชนตลาดริมคลองมวกเหล็กทุกวันนี้ไปจนขึ้นเนินไปโผล่พ้นหุบเขาที่กลางดง การทำงานต้องต่อสู้กับไข้ป่าและความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้ บันทึกเรื่องเก่าเมืองสระบุรีเล่าว่าเมื่อจะเปิดทางเข้าช่องหินลับ พระเจ้าอยู่หัวร.5 ต้องเสด็จมาลงพระนามบนหินผาซึ่งยังปรากฎให้เห็นที่ “ผาเสด็จ” จนถึงวันนี้ และหลักฐานระด้บเรื่องเล่ายังเล่ารายละเอียดว่าการจะตัดต้นไม้ต้องเอาพระบรมราชโองการมาอ่านและเอาตราราชลัญจกรประทับลงไปบนต้นไม้คนงานจึงจะกล้าตัดต้นไม้ เมื่อวางรางผ่านหุบเขากลางป่าดงดิบนี้ขึ้นเนินไปถึงกลางดงได้ก็ถือว่าเส้นทางสายนี้ประสบชัยไปกว่าครึ่งแล้ว พระเจ้าอยู่หัวร.5 ได้เสด็จมาสร้างเสาหินไว้เป็นหลักชัย ซึ่งทุกวันนี้ยังมีให้เห็นและต่อมาได้เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟ “มอหินหลัก” ที่เลยกลางดงไปหน่อย ตามบันทึกของวาริงตัน สมิธที่เขียนไว้เมื่อครั้งคาราวานสำรวจสยามของเขาผ่านป่าดงพญาเย็นและแวะเยี่ยมหัวงานวางรางรถไฟ เล่าว่ากว่าจะวางรางรถไฟผ่านหุบเขากลางป่าดงพญาเย็นได้สำเร็จ คนงานทั้งไทย ลาว จีน ประมาณ 5,000 คน และช่างวิศวกรชาวยุโรป 38 คน เอาชีวิตมาทิ้งที่หุบเขาดงพญาเย็นแห่งนี้ หนึ่งในจำนวนนั้นก็รวมราเบคด้วย บันทึกของวาริงตันเล่าว่ากุลีจีนมาเรือกันลำละหลายร้อยคน ที่มาเรือเดียวกันบางลำมาเสียชีวิตที่นี่หมดเกลี้ยงไม่มีใครเหลือรอดกลับไปเลยแม้แต่คนเดียว

     นั่นมันเป็นเหตุการ์ณเมื่อปีพ.ศ. 2433 ซึ่งก็คือร้อยกว่าปีมาแล้ว มาถึงวันนี้ไม่มีใครอาจทราบได้ว่าครอบครัวของราเบควงศ์ตระกูลของราเบคอยู่ที่ส่วนไหนของประเทศเดนมาร์ค และเขามาทำงานที่ลำบากและท้าทายอย่างนี้ที่มวกเหล็กอันห่างไกลด้วยวัยที่ยังไม่เต็มยี่สิบปีดีเลยได้อย่างไร ได้แต่อาศัยข้อมูลกระท่อนกระแท่นจากบันทึกของวาริงตัน สมิธ ว่าราเบคเป็นคนหนุ่มที่มีสายเลือดของการสำรวจแสวงหาและสร้างสรรค์ การที่ศพของเขาได้รับการฝังอย่างดีที่มวกเหล็ก แสดงว่าเขาเป็นสัญญลักษณ์ของพลังดีๆในใจของทีมงานก่อสร้างทางรถไฟมหาโหดสายนี้ ในนามของคนไทยรุ่นหลังที่ได้ใช้ประโยชน์จากทางรถไฟสายนี้ ผมขอขอบคุณราเบคและทีมงานสร้างทางรถไฟทุกคนอย่างหมดหัวใจ และขอให้เยาวชนคนรุ่นหลังที่มีโอกาสได้อ่านบล็อกนี้เรียนรู้จดจำสปิริตของการสำรวจค้นหาและสร้างสรรค์ของราเบค

     คนเดนมาร์คคนที่สองที่เคยมามวกเหล็กที่ผมอยากจะพูดถึงคือ นีลส์ กุนนาร์ ซอนเดอร์การ์ด (Gunnar Sondergaard) นักเกษตรผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างฟาร์มโคนมไทยเดนมาร์ค ซอนเดอร์การ์ดมาเมืองไทยเมื่อปีพ.ศ. 2498 (ค.ศ.1955) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการเพาะพันธ์สุกรขององค์การอาหารและเกษตรโลก (FAO) งานนี้ทำให้เขามีโอกาสเดินทางไปทั่วเมืองไทยและเห็นว่าเมืองไทยนี้ไม่มีนมสดดื่ม นมที่พอจะมีดื่มกันในท้องตลาดเป็นนมข้นหวานที่เอานมผงจากต่างประเทศมาผสมน้ำเชื่อม ซอนเดอร์การ์ดไม่เชื่อว่าระบบย่อยอาหารของคนไทยย่อยนมไม้ได้ดังที่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นเขาพูดกัน สมัยนั้นก็มีการเลี้ยงวัวรีดนมในเมืองไทยกันบ้างแล้ว โดยเลี้ยงอยู่ในหมู่คนอินเดีย เขาเล่าว่า

นีลส์ กุนนาร์ ซอนเดอร์การ์ด

“..ชาวอินเดียที่เลี้ยงโคนมนี้เริ่มจากมีแม่โคเริ่มต้นราว 4-5 ตัว และใช้พ่อโคฟรีเซียน (ขาว-ดำ) ที่สั่งมาจากต่างประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผสมข้ามพันธุ์กับโคที่เลี้ยงอยู่แล้ว ซึ่งโคลูกผสมที่ชาวอินเดียเลี้ยงรีดนมอยู่ยังมีระดับสายเลือดโคอินเดียอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะที่ปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันขณะนั้นได้ คนอินเดียที่เลี้ยงโคนมเป็นนักเลี้ยงโคนมโดยสายเลือดสืบทอดกันมา ไม่ได้มีการจัดตั้งฝึกอบรมให้ จำนวนโคนมในขณะนั้นทั้งฝั่งพระนครและธนบุรี มีอยู่ราว 1,093 ตัว และควายนมอยู่ 108 ตัว โคนมที่เลี้ยงอยู่จะถูกขังเลี้ยงดูอยู่ในโรงเรือนมืด ๆ และปิดโดยรอบอยู่ตลอดเวลา และใช้มูลโคผสมหญ้าก่อไฟเพื่อใช้ควันไฟไล่ยุง คอกโคสกปรกแบบเหลือเชื่อ ก่อให้เกิดสาระพัดโรคโดยเฉพาะวัณโรค โคนมที่เลี้ยงส่วนใหญ่ใช้เลี้ยงด้วยหญ้าขนตัดมาจากริมคลอง ถ้าเราให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมสมัยใหม่แก่ชาวอินเดียให้เขามีรายได้อย่างพอเพียง แม้จะต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินทำฟาร์มให้เจ้าที่ดินอยู่ มันก็พอทำได้ ในทำนองเดียวกันมันก็เป็นไปได้เหมือนกันถ้าเราจะฝึกฝนคนไทยให้เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมแบบเป็นอาชีพใหม่ โดยให้คำแนะนำและให้การฝึกอบรมที่ถูกต้องแก่พวกเขา”

  เมื่อจบงานของ FAO เขากลับไปรับตำแหน่งที่สถาบันวิจัยสัตวบาลแห่งชาติที่โคเปนเฮเกนพร้อมกับความฝันที่จะกลับมาสร้างฟาร์มโคนมในเมืองไทย เขายื่นโครงการต่อกรรมการส่งเสริมเกษตรของรัฐบาลเดนมาร์คขณะเดียวกันก็ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ไทยในกรมปศุสัตว์ กรรมการอนุมัติโครงการ โดยส่งเขาและเจ้าหน้าที่อีกสองคนกลับมาสำรวจความเป็นไปได้ที่เมืองไทย เมื่อสรุปว่าเป็นไปได้ก็นำไปสู่การลงนามความร่วมมือระหว่างสองรัฐบาล และเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผอ.คนแรกของโครงการนี้ โดยเขาเลือกดร.ยอด วัฒนสินธุ์ เพื่อนคนไทยที่เคยทำงานด้วยกันเป็นผช.ผอ.

      “ทีมงานเราตัดสินใจเลือกมวกเหล็กเป็นที่ตั้งฟาร์มจากที่ดินที่กรมปศุสัตว์เสนอให้สามแห่ง คือที่กรุงเทพ ที่ปากช่อง และที่มวกเหล็ก เพราะมวกเหล็กเป็นจุดที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็เป็นที่สูง อากาศเย็น และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพซึ่งจะเป็นตลาดของผู้บริโภคนม ผมยังจำได้ว่าต้องคลานลอดพุ่มไม้ใบหญ้าขี้นเขาไป ดูพลางจินตนาการไปพลางว่าตรงนี้จะเป็นฟาร์มโคนมได้หรือเปล่า” 

      เขาพูดถึงการสร้างฟาร์มว่า

       “ผมเขียนแบบอาคารในฟาร์มทุกหลังเอง แต่ว่าต้องเร่งให้เสร็จทันวันที่กษัตริย์เฟรเดริกและราชินีอินกริดของเดนมาร์คจะเสด็จมาเมืองไทยในปี 1962(พ.ศ.2505) ผมจึงเลือกคริสเตียนีเนลเซนมาทำการก่อสร้างอย่างเร่งรัดนี้ให้ การขนส่งวัสดุก่อสร้างไปมวกเหล็กทำได้ยากมาก เพราะถนนแคบและมีน้ำท่วมตลอดปี แต่ในที่สุดก็เริ่มการก่อสร้างฟาร์มได้ในวันที่ 10 ธค. ปี 1961 (พ.ศ.2504) เสร็จทันวันที่กษัตริย์และพระราชินีเดนมาร์คเสด็จมาเปิดร่วมกับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตเมื่อวันที่ 16 มค. 1962 (พ.ศ.2505) วันนั้นคอกวัวเสร็จทันให้กษัตริย์ของทั้งสองประเทศเสด็จทอดพระเนตรได้ แต่ถนนน้ำท่วมต้องเสด็จมาทางรถไฟแทน พิธีเปิดร่วมกันของกษัตริย์ภูมิพลกับกษัตริย์เฟรเดริกที่ 9 ในครั้งนั้นเป็นสัญญลักษณ์สำคัญที่ทำให้กิจการฟาร์มโคนมไทยเดนมาร์คอยู่ยั้งยืนยงตลอดมา

ในหลวงร.9, กษัตริย์เฟรเดริก, ราชินีอินกริด และซอนเดอร์การ์ด
ที่มวกเหล็ก เมื่อปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505)


     มีคอกแล้วต่อไปเราก็ต้องเตรียมหญ้าก่อนที่วัวจะมา ผมส่งรถบรรทุกไปเกี่ยวหญ้าตามริมคลองในกรุงเทพมาปักดำในทุ่งที่เตรียมไว้ที่มวกเหล็ก ที่เดนมาร์คเราหว่านหญ้า แต่ที่นี่เราต้องปักดำเอา มันเป็นวิถีไทย พอปลายปี 1962 แม่วัวสีแดง (เรดเดน) ชุดแรก 32 ตัวจากเดนมาร์คก็มาถึงพร้อมทั้งพ่อพันธุ์วัวแดงด้วย ผมซื้อวัวท้องถิ่นตัวเล็กๆมาอีก 378 ตัวเพื่อผสมเทียม ผมรู้จากผลการทดลองของฟาร์มอื่นว่าวัวต่างประเทศจะทนอากาศร้อนและโรคเขตร้อนได้ไม่นาน แต่ว่าผมก็จำเป็นต้องผลิตนมให้ได้ทันที ในปีค.ศ. 1963 ผมซื้อแม่วัวจากฟาร์มวัวนมของคนอินเดียในกรุงเทพอีก 257 ตัว แล้วแม่วัวที่เสริมมาจากเดนมาร์คมาถึงอีก 50 ตัว ซึ่งกลุ่มหลังนี้ตายเรียบในเวลาต่อมา ต้องอาศัยแม่วัวลูกผสมในการผลิตนม วัวลูกผสมพื้นเมืองนี้หากให้คนเลี้ยงเป็นคนเดิมเจ้าประจำและให้ลูกวัวดูดนมด้วยมันก็จะให้นมมากขึ้น 

     ในปีแรกๆเรามีปัญหาขายนมไม่ออก เพราะมีคนปล่อยข่าวว่านมของเรามีเชื้อบักเตรีเพียบ ทั้งๆที่วัวของเราอาบน้ำวันละสองรอบซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำความสะอาดวัวกันถึงขนาดนี้ แต่ท้ายที่สุดก็มีร้านหนึ่งในกรุงเทพตกลงขายนมให้เรา กลายเป็นว่านมเราขายดี คราวนี้ทุกร้านก็แห่กันมาขอเป็นตัวแทน ความจริงตอนแรกโครงการนี้ไม่ได้ตั้งใจทำโรงงานบรรจุนมเอง ตั้งใจว่าจะส่งนมให้บริษัทอื่นเอาไปบรรจุขาย แต่ส่งไปแล้วเขากลับไม่จ่ายเงินค่านม เราก็เลยต้องตั้งโรงงานบรรจุนมของเราเอง” 

      คอนเซ็พท์หลักของซอนเดอร์การ์ดคือการฝึกสอนให้เกษตรกรผู้เลี้ยววัวไทยผลิตนมเองได้ สอนระเบียบวินัยต่อตนเองในการทำงานให้พวกเขา เมื่อสอนจบแล้วก็ให้ที่ดินให้พวกเขาตั้งคอกวัวอยู่รอบๆฟาร์มโคนมไทยเดนมาร์คนี่ เพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดนี้เป็นชุมชนคนเลี้ยงวัวนม วิธีนี้การผลิตนมจึงจะยั่งยืน  ซอนเดอร์การ์ดส่งคนไปตามโรงเรียนเกษตรกรรมทั่วประเทศ เลือกนักศึกษาที่หน่วยก้านดีมาเข้าหลักสูตรเรียนหนึ่งปี เด็กหนุ่มพวกนี้จบชั้นมศ.3 และเรียนจบปวช.เกษตร

      “แต่มาแล้วพวกเขาก็ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตการทำฟาร์มเลย สามเดือนแรกหมดไปกับการให้พวกเขาไปฝึกใช้ชีวิตในสนามจริงให้ครูจับมือสอนว่าการทำงานเกษตรกรรมด้วยมือตัวเองแท้จริงนั้นต้องทำอย่างไร พวกเขาต้องทำงานหนัก ได้ค่าแรงวันละ 10 บาท ทำแบบนี้ครึ่งหนึ่งของพวกเขาถอดใจกลับบ้านไปกลางคัน เป็นการคัดให้เหลือแต่คนที่เอาจริงเอาจังก่อนแล้วเอาเข้ามาเรียนในคอกรีดนมวัวให้รีดนมด้วยมือจนเก่ง แล้วจึงจะให้เรียนรีดนมด้วยเครื่อง” 

      ซอนเดอร์การ์ดจบภาระกิจและส่งมอบงานฟาร์มทั้งหมดให้รัฐบาลไทยในปี 1971 โดยรัฐบาลตั้งอสค.ขึ้นมารองรับ ดร.ยอดเพื่อนร่วมงานที่ซี้กันมาได้ทำหน้าที่เป็นผอ.ฟาร์มต่อจากเขา

      “อยู่มวกเหล็กมา 10 ปี ผมคิดว่าผมน่าจะต้องกลับเดนมาร์คเสียที ครอบครัวผมใหญ่ขึ้น ลูกห้าคนเกิดที่เมืองไทยเสียสี่คน นี่เป็นเวลาที่พวกเขาต้องกลับไปเข้าโรงเรียนแล้ว” 

      อยู่เดนมาร์คได้ไม่นานซอนเดอร์การ์ดก็ได้รับเชิญจากรัฐบาลมาเลเซียให้ไปทำแบบเดียวกันที่นั่น แต่โครงการที่มาเลเซียไม่สำเร็จเพราะรัฐบาลมุ่งสร้างฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ของรัฐบาลเองโดยไม่สร้างเกษตรกรเลี้ยงโคนมไว้ให้ทำต่อเองอย่างยั่งยืน จากมาเลเซียเขาไปรับเป็นที่ปรึกษาให้ที่แทนซาเนียเพื่อช่วยปรับปรุงฟาร์มขนาดใหญ่ที่รัฐบาลยึดของเอกชนมาเป็นของรัฐ เขาบอกว่าฟาร์มมีที่ตั้่งสวยงามมากแต่เขาไม่ชอบระบบคอรัปชั่นที่นั่น จากแทนซาเนียเขาพาครอบครัวกลับมาอยู่เดนมาร์ค ซึ่งเป็นเวลาที่รู้ธภรรยาของเขาป่วยเป็นมะเร็งและเสียชีวิต หลังจากนั้นอีกสองปีเขาก็ไปรับทำงานเป็นที่ปรึกษาทางการเกษตรที่เคนยาแต่ก็เกิดการแตกคอกันระหว่างทีมงานกับผู้ว่าจ้างจนต้องล้มเลิกโครงการกลางคัน  ซอนเดอร์การ์ดกลับมาเมืองไทยเพื่อมารับปริญญาเอกที่มหาวิทยาล้ยแม่โจ้ และกลับมารับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดจากสมเด็จพระเทพในงานวันโคนมแห่งชาติที่มวกเหล็ก แล้วต่อมาก็เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อ 28 ธค. 2559 ด้วยโรคชราที่เดนมาร์คด้วยวัย 90 ปี 

     เมื่อใดที่เห็นความมีระเบียบวินัยต่อตนเองในการทำงานตามคอกวัวส่วนตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่มวกเหล็ก เมื่อนั้นผมนึกถึงนีลส์ กุนนาร์ ซอนเดอร์การ์ด มันเป็นมรดกดีๆและงดงามที่เขาทิ้งไว้

นพ.ส้นต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Smyth, H. Warington. Five years in Siam from 1891 to 1896 / by H. Warington Smyth, with maps and illustrations by the author. New York : Scribner, 1898.
2. Gregers Møller. Royal Thai Order for Danish Agronomist. Accessed at  https://scandasia.com/5860-royal-thai-order-for-danish-agronomist/ on Jan 27, 2019