Latest

ปฐม ก. กา ระบบภูมิคุ้มกันโรค (Immunology System)

     มีจดหมายจากพยาบาลบ้าง นักศึกษาบ้าง เขียนมาถามเรื่องระบบภูมิคุ้มกันโรคค้างอยู่หลายฉบับ บางฉบับก็ทำให้รู้ว่าผู้เขียนมาแม้จะใช้ความรู้ด้านนี้ทำงานช่วยผู้ป่วยอยู่แล้วแต่ก็ยังเข้าใจระบบภูมิคุ้มกันโรคอย่างสบสนอลหม่านแบบที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าจับแพะชนแกะ วันนี้ผมจึงขอใช้พื้นที่บล็อกนี้เขียนสรุปย่อวิชาภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunology) อีกสักครั้ง โดยจะย่อเรื่องทั้งหมดให้เหลือไม่กี่หน้าและจะย่อชนิดที่ชาวบ้านทั่วไปอ่านรู้เรื่องด้วย จึงขอเขียนแบบประหยัดถ้อยคำ เอาแต่เนื้อ ไม่วอกแวก ท่านที่ไม่ชอบอะไรซีเรียสให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้เลยนะครับ

………………………………………..

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immunity System)

     ระบบภูมิคุ้มกันคือกลไกของร่างกายในการต่อสู้และทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกไม่ให้ก่อโรคกับร่างกายได้ ระบบนี้มีกลไกการทำงานเป็นสองชั้น คือชั้นแรกเป็นระบบภูมิคุ้มกันแบบครอบจักรวาลโดยไม่เจาะจงว่าผู้รุกรานเป็นใคร ชั้นที่สองเป็นแบบมุ่งทำลายเป้าที่เจาะจง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

    ชั้นแรก: ระบบภูมิคุ้มกันแบบครอบจักรวาล (Innate immune system)

    หมายถึงระบบภูมิคุ้มกันที่มีกลไกสกัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมแบบครอบจักรวาลไม่ว่าเชื้อโรคจะเป็นใครมาจากไหนก็สกัดได้หมด ระบบนี้ยังแยกย่อยออกไปได้เป็นอีกหลายระบบย่อย ได้แก่

     1. ปราการด่านนอก (External barrier)

     ผิวหนังเป็นปราการด่านนอกสุดที่คอยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย แต่ผิวหนังเองไม่ได้ห่อหุ้มและแยกร่างกายออกจากสิ่งแวดล้อมได้ถึง 100% เพราะยังมีจุดเปิดหลายจุด เช่นทางเดินลมหายใจที่พาเอาอากาศจากภายนอกลงไปได้ถึงเนื้อปอด ทางเดินอาหารที่นำอาหารจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายและเดินทางลงไปได้ถึงลำไส้ก่อนที่จะออกไปทางทวารหนัก แก้วตาที่ต้องเปิดผิวหนังออกเพื่อให้มองสิ่งแวดล้อมเห็น ทางเดินปัสสาวะที่แม้จะเป็นช่องที่มีไว้เปิดขับน้ำปัสสาวะออกเป็นทางเดียวแต่ก็เป็นทางเปิดที่ไม่มีฝาปิดจึงมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเดินทางย้อนเข้าไปได้ อวัยวะสืบพันธ์ที่เปิดรับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

     ร่างกายมีกลไกอย่างง่ายเพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมจะเข้าสู่ร่างกายผ่านจุดเปิดเหล่านี้ เช่น ปากทางเข้าที่จำเป็นต้องเปิดไว้ตลอดเวลาเช่นรูจมูก หรืออวัยวะเพศหญิงก็มีขนคอยดักฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมไว้ มีกลไกการไอ และจาม เพื่อขับไล่เอาเชื้อโรค ฝุ่นละออง และเสมหะ ออกมาจากทางเดินลมหายใจ มีกลไกการปล่อยน้ำตาให้ไหลผ่านแก้วตาเพื่อคอยชะล้างเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ มีกลไกสร้างเสมหะออกมาเคลือบทางเดินลมหายใจเพื่อหุ้มห่อเชื้อโรคให้อยู่ในสภาพที่ร่างกายขับออกไปได้โดยง่าย มีกลไกสร้างเมือกออกมาเคลือบเยื่อบุผิวลำไส้เพื่อดักจับและพาเอาเชื้อโรคออกไปทางทวารหนัก ขณะเดียวกันร่างกายก็สร้างสารเคมีทำลายเชื้อโรคใส่ไว้ตามจุดต่างๆเช่นสารดีเฟนซิน (defensins) ที่ผิวหนัง น้ำย่อยไลโซไซม์ที่เจือปนไว้ในน้ำลาย สารต้านบักเตรีในน้ำนม เป็นต้น นอกจากนี้ร่างกายยังมีวิธีปล่อยให้บักเตรีที่เป็นมิตรได้มีโอกาสเติบโตภายในร่างกายเพื่อเอาไว้ถ่วงดุลไม่ให้เชื้อโรคที่มีพิษเติบโตจนก่อโรคต่อร่างกาย เช่นปล่อยให้มีบักเตรีโดเดอรีนเติบโตตั้งบ้านเรือนอยู่ในช่องคลอด ปล่อยให้มีบักเตรีแล็คโตบาซิลลัสตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ลำไส้ เป็นต้น นั่นเป็นเหตุผลว่าหากกินยาปฏิชีวินะเพื่อทำลายบักเตรีแบบพร่ำเพรื่อ ยาจะไปทำลายบักเตรีที่เป็นมิตรในร่างกายเหล่านี้แล้วทำให้เกิดโรคขึ้นมาได้

     2. การอักเสบ (Inflammation)

     การอักเสบเป็นกลไกของร่างกายที่จะทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม ตัวตั้งต้นปฏิกิริยาการอักเสบคืออะไรก็ตามที่ทำให้เซลล์ร่างกายบาดเจ็บเสียหาย อาจจะเป็นเชื้อโรค แรงกระแทก สารเคมี สิ่งแปลกปลอม หรือแม้กระทั่งการถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเอง เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้น หากเกิดที่ผิวนอกของร่างกายจะมีอาการแสดงที่เห็นชัดห้าอย่างคือ ปวด บวม แดง ร้อน และหย่อนสมรรถภาพ เหตุการณ์ในระดับเซลล์จะตั้งต้นจากเซลล์พิเศษที่มีแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อทั่วไปเช่นเซลล์มาโครฟาจ (macrophage) เซลล์พวกนี้มีความสามารถพิเศษที่แยกแยะหน้าตาของเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมได้ว่าแตกต่างจากเซลล์ร่างกายอย่างไร เมื่อมันพบเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม มันจะปล่อยสารก่อการอักเสบออกมาหลายชนิด สารเหล่านี้บางตัวเช่นพรอสตาแกลนดินจะทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายตัวและเป็นไข้ บางตัวเช่นเลียวโคเทรอีนจะเป็นตัวดึงเอาเม็ดเลือดขาวเข้ามาเก็บกินเชื้อโรค บางตัวเช่นอินเตอร์เฟียรอนมีคุณสมบัติช่วยต้านไวรัสและเซลล์มะเร็งด้วยกลไกที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายสุดท้ายคือขจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมให้หมดไปจากร่างกาย

     3. ระบบช่วยฆ่า (Compliment system)

      ระบบนี้ประกอบด้วยโมเลกุลวัตถุดิบ (pro-protein) ที่ผลิตออกมาจากตับและมีล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดอยู่ก่อนแล้วเป็นจำนวนสามสิบกว่าชนิด ทันทีที่ถูกกระตุ้นโดยเชื้อโรค หรือโดยปฏิกิริยาระหว่างเชื้อโรคกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย โมเลกุลวัตถุดิบตัวแรกจะถูกกระตุ้นให้กลายเป็นโปรตีนที่ออกฤทธิ์ได้เองและไปกระตุ้นโมเลกุลวัตถุดิบตัวที่สอง ตัวที่สองกระตุ้นตัวที่สามเป็นทอดๆไปอีกหลายทอด แล้วโมเลกุลที่ออกฤทธิ์ได้ทุกตัวจะมารุมเคลือบผิวเซลล์ของเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม ด้านหนึ่งช่วยกันเจาะให้เซลล์แตก อีกด้านหนึ่งก็ทำตัวเป็นกาวเชื่อมผิวเซลล์เชื้อโรคเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดขาวและโมเลกุลภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อให้การจับทำลายเซลล์เชื้อโรคทำได้ง่ายขึ้น

     4. ปราการระดับเซลล์ (Cellular barrier)

 เมื่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมหลุดจากปราการด่านนอกคือผิวหนังเข้ามาได้ ร่างกายยังมีปราการด่านที่สองคือเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีหลากหลายชนิด แต่ละตัวทำหน้าที่ค้นหาและจับกินเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องรอใครมาช่วยเหลือหรือสั่งการ ปกติเม็ดเลือดขาวจะลาดตระเวนไปทั่วร่างกาย แต่หากได้รับสัญญาณว่ามีการปล่อยสารก่อการอักเสบออกมาที่ไหน เม็ดเลือดขาวจำนวนมากก็จะเฮโลไปออกันที่นั่น

     ระบบของร่างกายมีเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งชื่อ “เซลล์นักฆ่าโดยธรรมชาติ” (natural killer cell หรือ NK) มันทำงานด้วยตัวเองตัวเดียวโดดๆแบบนักสู้ผู้รักชาติไม่ต้องรอรับคำสั่งจากใคร โดยวิธีเที่ยวลาดตระเวนมองหาว่าเซลล์ร่างกายเซลล์ไหนที่มีลักษณะไม่สมประกอบหรือถูกเชื้อโรคเจาะเข้าไปอยู่ข้างใน เมื่อพบเซลล์อย่างนั้นก็จับกินทำลายเซลล์นั้นเสีย

     ชั้นที่ 2: ระบบภูมิคุ้มกันแบบมุ่งทำลายเป้าที่เจาะจง (Adaptive immune system)

     ระบบภูมิคุ้มกันแบบเจาะจงหมายถึงระบบที่ทำงานโดยวิธีจดจำเอกลักษณ์ของเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่าแอนติเจน (antigen) ไว้ เมื่อใดที่แอนติเจนแบบนั้นเข้ามาสู่ร่างกายอีกก็จะอาศัยความจำเดิมมาสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านแอนติเจนนั้นได้อย่างเจาะจงทันที  กำเนิดของภูมิคุ้มกันแบบเจาะจงนี้มาจากเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดที่อยู่ในไขกระดูก ได้สร้างเม็ดเลือดขาวชื่อลิมโฟไซท์ขึ้นมา เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซท์นี้แบ่งออกเป็นสองชนิด

     ชนิดที่ 1. คือชนิด ที.เซลล์ (T cell) ที่ทำงานโดยตัวมันเองไปทำลายเซลล์ใดๆที่มีเชื้อโรคหรือแอนติเจนอยู่ในตัวในลักษณะเจาะให้แตกดื้อๆ

     ชนิดที่ 2. คือชนิด บี.เซลล์ (B cell) ซึ่งทำงานโดยตัวมันสร้างโมเลกุลภูมิคุ้มกันหรือแอนตี้บอดี้ (antibody) เพื่อไปจับทำลายเชื้อโรคหรือแอนติเจนอีกต่อหนึ่ง

     เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์มีสองแบบ แบบแรกคือ เซลล์นักฆ่า (Killer T Cell) ซึ่งผิวของมันมีโมเลกุลชื่อ CD8 เป็นเหมือนเรด้าร์ช่วยให้ค้นหาแอนติเจนแปลกปลอม เซลล์นักฆ่าจะลาดตระเวนมองหาเซลล์ที่มีแอนติเจน เมื่อพบก็จะเจาะให้เซลล์นั้นระเบิดตายไปพร้อมกันทั้งตัวเซลล์ป่วยเองและเชื้อโรคที่อยู่ข้างใน

     เม็ดเลือดขาวทีเซลล์อีกชนิดหนึ่งคือ เซลล์สอดแนม (Helper T cell) ที่ผิวของมันจะมีเรด้าร์ช่วยค้นหาแอนติเจนชื่อ CD4 มันจะลาดตระเวนหาแอนติเจนเช่นกัน แต่เมื่อพบแล้วตัวมันไม่ได้เจาะให้เซลล์ระเบิดเอง แต่จะปล่อยโมเลกุลข่าวสาร (cytokine) บอกไปยังเพื่อนร่วมทีมอีกสามชนิด คือบอกเซลล์มาโครฟาจให้มาจับกินเซลล์ป่วย บอกเซลล์นักฆ่าให้มาเจาะระเบิดเซลล์ป่วย และบอกเม็ดเลือดขาวชนิดบี.เซลล์ให้ผลิตภูมิคุ้มกันหรือแอนตี้บอดี้มาทำลายเชื้อโรค

     วิธีต่อสู้เชื้อโรคของเม็ดเลือดขาวแบบที.เซลล์นี้ต้องอาศัยตัวเซลล์เม็ดเลือดขาวเองไปทำงานด้วยตัวเองนี้ บางครั้งเรียกว่าเป็นภูมิคุ้มกันผ่านตัวเซลล์ (cell mediated immunity)

    ส่วนเม็ดเลือดขาวชนิดบี.เซลล์นั้นทำงานหลังจากได้รับข่าวสารจากเซลล์สอดแนม มันจะแบ่งตัวให้เม็ดเลือดขาวแบบบี.เซลล์อีกจำนวนมากซึ่งจะช่วยกันผลิตแอนตี้บอดี้ไปทำลายเชื้อโรคหรือแอนติเจนชนิดที่เซลล์สอดแนมบอกหน้าตามา แอนตี้บอดี้นี้จะกระจายไปตามเลือดและน้ำเหลือง พบเห็นเชื้อโรคหน้าตาแบบนั้นก็จะเข้าไปจับแล้วดึงเอาระบบช่วยฆ่า (compliment) มารุมทำลาย หรือดึงเอาเม็ดเลือดขาวมาจับกิน

     วิธีสร้างภูมิคุ้มกันโดยเม็ดเลือดขาวแบบบี.เซลล์นี้บางครั้งเรียกว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันผ่านแอนตี้บอดี้ (humoral immunity)

     ทั้งที.เซลล์และบี.เซลล์นี้เมื่อได้รู้จักหน้าตาของเชื้อโรคแล้วเพียงครั้งเดียว  ส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนตัวเองเป็นเซลล์ความจำ (memory cell) ที่จะเก็บความจำไว้ได้ตลอดชีวิตของเจ้าของ และจะแบ่งตัวหรือสร้างแอนตี้บอดี้แบบเจาะจงต่อเชื้อโรคนั้นได้อีกทันทีหากเชื้อโรคนั้นกลับมาสู่ร่างกายอีก

     ปฏิกริยาแพ้ 4 แบบ

     เมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงาน จะเกิดอาการบนร่างกายขึ้นได้ 4 แบบ ซึ่งเรียกว่าปฏิกริยาแพ้ (sensitiviity) ซึ่งแต่ละแบบมีรายละเอียดดังนี้

     ปฏิกิริยาแพ้แบบที่ 1. การแพ้แบบช็อก (Anaphylaxis)

     เกิดจากเมื่อเม็ดเลือดขาวชนิดเซลล์สอดแนม (T helper cell) ไปพบสิ่งแปลกปลอมหรือแอนติเจนเข้า แล้วจึงส่งข่าวให้เม็ดเลือดขาวชนิดบี.เซลล์ทราบ บี.เซลล์เมื่อได้ทราบข่าวก็ผลิตแอนตี้บอดีชนิดแพ้เฉียบพลัน (IgE) ออกมาสู่กระแสเลือด แอนตี้บอดี้ชนิด IgE นี้จะไปเกาะอยู่บนผิวของเซลล์ชนิดหนึ่งชื่อมาสท์เซลล์ (mast cell) เกาะไปพลางสอดส่ายหาผู้บุกรุกไปพลาง เหมือนคนขี่หลังช้างออกศึก เมื่อใดที่แอนตี้บอดี้นี้ได้พบกับแอนติเจนที่มันถูกสร้างมาให้เป็นคู่หักล้างกัน มันจะกระตุ้นหรือเขย่าช้างที่ตัวเองขี่ซึ่งก็คือมาสท์เซลล์ให้ปล่อยสารก่ออาการแพ้เฉียบพลันออกมาในกระแสเลือดหลายชนิด เช่น ฮิสตามีน, พรอสตาแกลนดิน, เลียวโคเทรอีน เป็นต้น สารเหล่านี้ทำให้เกิดผื่นผิวหนังแบบลมพิษ เห่อ คัน หลอดเลือดขยายตัวฮวบฮาบจนความดันตกถึงกับช็อกได้ เนื้อเยื่อต่างๆอาจจะบวมจนทางเดินลมหายใจตีบแคบและเสียชีวิตฉุกเฉินจากทางเดินลมหายใจถูกอุดกั้นได้ ปฏิกิริยาเช่นนี้เรียกว่าการแพ้แบบช็อก (anaphylaxis) ซึ่งเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากได้รับแอนติเจน ตัวอย่างการแพ้แบบนี้ก็เช่นการแพ้ยาเพ็นนิซิลลิน การแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน เป็นต้น

     ปฏิกิริยาแพ้แบบที่ 2. แพ้แบบทำลายเซลล์ (cytotoxic hypersensitivity)

     เกิดเมื่อเม็ดเลือดขาวชนิดเซลล์สอดแนมไปพบแอนติเจนอยู่บนผิวเซลล์ของร่างกาย แอนติเจนนั้นอาจจะเกิดจากเซลล์ถูกเจาะโดยเชื้อโรค หรือเกิดจากเซลล์นั้นถูกสร้างมาแบบผิดปกติก็ตาม เซลล์ผู้ช่วยเมื่อพบเข้าก็จะส่งข่าวสารรายงานให้เม็ดเลือดขาวชนิดบี.เซลล์สร้างแอนตี้บอดี้ชนิด IgG บ้าง ชนิด IgM บ้าง แอนตี้บอดี้เหล่านั้นจะมาจับกับแอนติเจนที่ผนังเซลล์แล้วกระตุ้นระบบช่วยฆ่า (compliment system) ให้มารุมทำลายผนังเซลล์ให้เซลล์แตกสลายหรือดึงเอาเซลล์นักฆ่าหรือเซลล์มาโครฟาจมาเก็บกินเซลล์นั้น ปฏิกิริยานี้กินเวลาหลายชั่วโมงถึงหลายวัน ตัวอย่างของการแพ้แบบนี้เช่นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดต่างๆ เป็นต้น

     ปฏิกิริยาแพ้แบบที่ 3. แพ้แบบหลอดเลือดอักเสบ (Immune complex disease)

     เกิดเมื่อแอนติเจนที่เข้ามาสู่ร่างกายมีเป็นจำนวนมากมายเหลือเฟือ จนจับกับแอนตี้บอดี้เป็นกลุ่มเป็นก้อนกระจายอยู่ตามหลอดเลือดส่วนปลายตามอวัยวะต่างๆทั่วไปและชักนำให้เกิดปฏิกริยาการอักเสบขึ้นที่อวัยวะนั้นๆ เช่นภาวะเนื้อไตอักเสบหลังการติดเชื้อสะเตร็พ หรือจากการเป็นโรคโรคพุ่มพวง (SLE) ภาวะข้ออักเสบจากการแพ้แบบไข้น้ำเหลือง (serum sickness)  ภาวะหลอดเลือดผิวหนังอักเสบและเนื้อผิวหนังตายในการแพ้ยาแบบสตีเว่นจอห์นสันซินโดรม เป็นต้น

     ปฏิกิริยาแพ้แบบที่ 4. แพ้ผ่านเซลแบบช้าๆ (Cell mediated immune response)

     เกิดเมื่อเม็ดเลือดขาวชนิดเซลล์สอดแนมมาพบแอนติเจนบนผิวเซลล์ใดเซลล์หนึ่งเข้าแล้วส่งข่าวสารเรียกเอาเซลล์มาโครฟาจมาเก็บกินเซลล์ที่มีแอนติเจนนั้น หรือเรียกเซลล์นักฆ่ามาเจาะทำลายเซลล์นั้น โดยที่ไม่ต้องอาศัยการผลิตแอนตี้บอดี้เลย ตัวอย่างเช่นกรณีร่างกายพยายามจับขังหรือทำลายเชื้อวัณโรค หรือปฏิกิริยาบวมเห่อตรงที่ฉีดวัคซีนบีซีจี.

     วัคซีนกับการสร้างภูมิคุ้มกัน

      วัคซีนก็คือโมเลกุลอะไรก็ตามที่มีหน้าตาของเชื้อโรคหรือแอนติเจนนั่นเอง ซึ่งอาจทำจากเชื้อโรคจริงๆหรือสำเนาชิ้นส่วนบางชิ้นของเชื้อโรคมา เมื่อใส่เข้าไปในร่างกายแล้วจะถูกรับรู้โดยระบบที.เซลล์และระบบบี.เซลล์ ทำให้ทั้งสองระบบสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาและสร้างเซลล์ความจำถาวรเก็บไว้ ไปภายหน้าเมื่อมีเชื้อโรคจริงซึ่งหน้าตาเหมือนวัคซีนเข้ามา ร่างกายก็จะมีความพร้อมในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคนั้นได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที

     ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency)

      ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหมายถึงการที่บางส่วนหรือทุกๆส่วนของระบบภูมิคุ้มกันเกิดการเสื่อมถอย ด้อยประสิทธิภาพ และลดจำนวนลง ซึ่งพบได้เสมอเมื่อมีอายุมากขึ้น (เริ่มด้อยลงเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป) เมื่อขาดอาหาร (โดยเฉพาะโปรตีนและวิตามินดี.) เมื่อเป็นโรคบางโรคเช่นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง  โรคมะเร็งบางชนิด และโรคเอดส์

     การตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซท์ ซึ่งอาจนับแยกชนิดโดยเรียกชื่อตามโมเลกุลเรด้าร์ช่วยค้นหาเป้าที่บนผิวของเซลล์ ( เช่น CD4 กรณีเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดเซลล์สอดแนม) เป็นวิธีประเมินภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ง่ายและเชื่อถือได้มากที่สุด และนิยมใช้ในการติดตามดูภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี.หรือผู้ป่วยเอดส์ ยิ่งตรวจพบว่ามีปริมาณ CD4 มาก ก็ยิ่งแสดงว่าภูมิต้านทานโรคของร่างกายยังแข็งแรง

     ระบบภูมิคุ้มกันกับการทำลายมะเร็ง

      มะเร็งเริ่มต้นด้วยการกลายพันธ์อย่างกะทันหัน (mutation) ของเซลล์ร่างกายธรรมดากลายไปเป็นเซลล์ผิดปกติเพียงหนึ่งเซลล์ก่อน แต่เซลล์นั้นสามารถแบ่งตัวสืบพันธ์ต่อไปได้ เซลล์มะเร็งมีโมเลกุลบอกหน้าตาของมันอยู่บนผิวเซลล์ซึ่งทำหน้าที่เป็นแอนติเจนเช่นเดียวกันเซลล์ที่ป่วยจากเชื้อโรค ทำให้เม็ดเลือดขาวทีเซลล์ชนิดนักฆ่า (Killer T cell) ก็ดี เซลล์สอดแนม (Helper T cell) ก็ดี เซลล์นักฆ่าโดยธรรมชาติ (NK) ก็ดี สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ บางครั้งร่างกายก็สร้างแอนตี้บอดี้มาทำลายเซลล์มะเร็งด้วย ซึ่งในกระบวนการนี้จะดึงให้ระบบช่วยฆ่า (compliment) มามีส่วนร่วมทำลายเซลล์มะเร็งอีกทางหนึ่ง ระบบภูมิคุ้มกันจึงเป็นปราการที่แข็งแรงที่สุดในการป้องกันการก่อตัวของมะเร็งขึ้นในร่างกาย และทำลายมะเร็งที่เพิ่งก่อตัวขึ้นใหม่ๆขณะยังพอทำลายไหว แต่เมื่อใดที่เซลล์มะเร็งหลุดลอดการทำลายของระบบภูมิคุ้มกันไปก่อตัวเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่จนเกินขีดความสามารถที่ระบบภูมิคุ้มกันจะทำลายได้ทัน เมื่อนั้นก็ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต็มรูปแบบ แม้เมื่อป่วยเป็นมะเร็งเต็มรูปแบบแล้ว หากระบบภูมิคุ้มกันเกิดคึกคักเข้มแข็งขึ้นมาเมื่อใด ก็สามารถกำจัดกลุ่มก้อนเซลมะเร็งได้เมื่อนั้น เพราะระบบภูมิคุ้มกันออกแบบมาให้กำจัดสิ่งแปลกปลอมทุกอย่างได้ถ้าหากมีเงื่อนไขเอื้อให้ระบบทำงานได้ดี

     ปัจจัยที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย

      วิชาแพทย์ถือว่าระบบภูมิคุ้มกันเป็นระบบย่อยที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเลือดเพราะเซลเม็ดเลือดขาวผลิตจากระบบเลือด แต่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานด้วยตนเองอย่างอิสระ โดยได้รับอิทธิพลจากระบบอื่นของร่างกายหลายระบบ  กล่าวคือ

     (1) สมอง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากขึ้นหรือน้อยลงได้โดยสมองส่งโมเลกุลข่าวสาร (cytokines) ซึ่งเป็นข่าวสารที่ส่งถึงเม็ดเลือดขาวได้โดยตรงผ่านไปทางกระแสเลือดโดยไม่ต้องอาศัยเส้นประสาทใดๆ เหมือนเราเขียนข่าวสารในรูปอีเมลปล่อยเข้าอินเตอร์เน็ท โมเลกุลที่ผลิตออกมานี้มีสองชนิด ยามใดที่จิตใจร่าเริงแจ่มใสก็จะผลิตไซโตไคน์ชนิดที่สั่งให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานมากขึ้น แต่ยามใดที่จิตใจหดหู่ซึมเศร้าก็จะผลิตไซโตไคน์ชนิดที่สั่งให้เม็ดเลือดขาวทำงานน้อยลง การออกกำลังกายเพิ่มภูมิคุ้มกันผ่านการผลิตสารเอ็นดอร์ฟินให้จิตใจร่าเริง

     (2) ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอย (สะเตียรอยด์) ซึ่งผลิตจากต่อมหมวกไตในภาวะเครียด มีฤทธิ์กดหรือระงับการทำงานเซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันโดยรวมโดยตรง ฮอร์โมนนี้ออกมาในภาวะเครียด ทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะเครียดเป็นโรคติดเชื้อและเป็นมะเร็งง่าย

     (3) ฮอร์โมนเพศ ก็มีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ทำงานมากขึ้น

     (4) ฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้การสร้างเม็ดเลือดขาวและการเผาผลาญพลังงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าขาดฮอร์โมนนี้ก็จะมีผลให้ระบบภูมิคุ้มกันลดการทำงานลง

     (5) วิตามินดี. เม็ดเลือดขาวชนิดที.เซลล์จะทำงานได้ต้องอาศัยวิตามิน ดี. ซึ่งมักจะมีระดับต่ำกว่าปกติในผู้สูงอายุ การขาดวิตามิน ดี. จึงทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง งานวิจัยที่ผมทำด้วยตัวเองที่รพ.พญาไท 2 กับผู้ใหญ่คนไทยที่มีสุขภาพดี 211 คนพบว่าคนไทยวัยผู้ใหญ่ประมาณหนึ่งในสามขาดวิตามินดี. ในผู้ที่มีการติดเชื้อซ้ำซากจึงควรเจาะเลือดตรวจดูระดับวิตามินดี. หากพบว่าขาดก็ควรทานวิตามินดี.ทดแทนหรือออกรับแสงแดดให้มากขึ้น ภูมิคุ้มกันโรคจึงจะกลับมาเป็นปกติ

     (6) สารช่วยปฏิกริยาการอักเสบ หรือที่เรียกรวมๆว่าสารต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) บ้างได้มาจากอาหาร บ้างร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง มีจำนวนมากเสียจนความรู้แพทย์ไม่อาจทราบได้หมด ส่วนที่ได้มาจากอาหารนั้นบางครั้งเป็นธาตุเล็กธาตุน้อย (trace element) ส่วนใหญ่ได้จากอาหารพืชที่หลากหลาย ซึ่งร่างกายจำเป็นต้องใช้เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อขาดก็จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสียการทำงานไป การกินอาหารพืชที่หลากหลายตามสี ตามรสชาติ ตามฤดูกาล จึงเป็นวิธีช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น

     (7) การนอนหลับ งานวิจัยพบว่าการผลิตโมเลกุลข่าวสารเกี่ยวกับการอักเสบชนิดสั่งให้เม็ดเลือดขาวทำงานมากขึ้นจะผลิตได้ดีช่วงนอนหลับ ดังนั้นการอดนอนจึงทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์