Latest

ตัวเชื้อไวรัสชื่อ “ซาร์ส-โควี-2” ตัวโรคชื่อ “โควิด-19”

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
รอให้คุณหมอเขียนเรื่องเชื้อไวรัส COVID-19 มาหลายสัปดาห์แล้วแต่ไม่ได้อ่านสักที คือมีเรื่องค้างคาใจหลายข้อเช่น (1) โรคนี้มันร้ายแรงจริงหรือเปล่า ร้ายแรงแค่ไหน (2) เมืองไทยเราเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้กันทั้งประเทศมากแค่ไหน (3) หากระบาดไปทั้งประเทศ ในที่สุดจะเป็นอย่างไร

…………………………………………………………

ตอบครับ

     มีจดหมายแบบนี้หลายฉบับ รวบตอบรวมกันนะ ก่อนตอบคำถาม เพื่อให้มั่นใจว่าเราพูดเรื่องเดียวกัน ผมขอซักซ้อมเรื่องศัพท์แสงหน่อยนะ ว่าชื่อของไวรัสตัวนี้อย่างเป็นทางการก็คือซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อตัวนี้เรียกว่าโรคโควิด-19 (ชื่อเต็ม coronavirus disease 2019 ชื่อย่อ COVID-19)

     1. ถามว่าโรคโควิด-19 นี้มันร้ายแค่ไหน ตอบว่าที่เรารู้แน่ชัดแล้วคือโรคนี้ติดต่อจากสัตว์ (ค้างคาว) มาสู่คนได้ ติดต่อจากคนสู่คนได้ และการระบาดได้แพร่ไปถึงทุกทวีปแล้ว มีจุดกระจายการระบาดอยู่รวม 60 จุดทั่วโลก

     อาการป่วยเท่าที่มีรายงานในวงการแพทย์มีได้ตั้งแต่มีอาการป่วยไข้เล็กๆน้อยๆอย่างเป็นหวัดไปจนถึงอาการระบบหายใจล้มเหลวรุนแรงจนตายได้

     อัตราตาย จากข้อมูลการป่วยและตาย (สถิติองค์การอนามัยโลก WHO) นับถึงสิ้นเดือนกพ.ปีนี้ พบว่ามีอัตราตาย 3.8% (ป่วย 55,924 คน ตาย 2,114 คน) ดังนั้นต้องนับว่าเป็นโรคที่รุนแรงเอาเรื่อง เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีอัตราตายราว 0.13% (สถิติประมาณการโดย CDC สหรัฐ ป่วย 9-45 ล้านคนต่อปี ตาย 12000 – 61000 คนต่อปี) หรือแม้จะเทียบกับการเข้าทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจที่คนเป็นโรคหัวใจกลัวนักหนาก็ยังมีอัตราตายเฉลี่ยแค่ประมาณ 1.0%

     2. ถามว่าคนไทยเรามีความเสี่ยงมากแค่ไหน ตอบว่าคนที่มีความเสี่ยงสูงคือคนที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อมาแล้ว ซึ่งก็ได้แก่สมาชิกในครอบครัวผู้ติดเชื้อ หมอพยาบาลที่ดูแลผู้ติดเชื้อ ญาติมิตรหรือใครก็ตามที่ผู้ติดเชื้อไปเกี่ยวข้องสัมผัสพูดคุยส่งรับสิ่งของไปมาหากันด้วยมือต่อมือทั้งโดยตรงโดยอ้อม

     ส่วนคนที่มีความเสี่ยงรองลงมาคือผู้ที่เข้าไปในที่ที่อาจมีผู้ติดเชื้อสอดแทรกปะปนอยู่ด้วย ไม่เฉพาะการไปในประเทศที่มีการแพร่ระบาดเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเข้าไปในที่มีคนแยะๆในเมืองไทยนี้เองด้วย เช่นช้อปปิ้งมอล โรงภาพยนตร์ ร้านอาหารติดแอร์ รถเมล์ติดแอร์ เครื่องบิน สนามบิน โรงเรียน ที่ทำงานที่นั่งรวมกันในห้องเดียว เป็นต้น เพราะอย่าลืมว่าเมืองไทยนี้ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีผู้ติดเชื้ออยู่และมีการระบาดจากคนสู่คนแล้ว เพียงแค่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าผู้ติดเชื้อมีอยู่มากเท่าไหร่ อยู่ที่ไหนกันบ้าง

     ส่วนคนไทย อยู่ในเมืองไทย ที่อยู่แต่ในที่อยู่อาศัยของตัวเองไม่ได้ไปในที่ชุมนุมชน ถือได้ว่ามีความเสี่ยงต่อโรคนี้น้อยมากครับ

     3. ถามว่าในที่สุดเมืองไทยจะควบคุมโรคนี้ได้ไหม ตอบว่ามาตรการควบคุมโรคระบาดที่ได้ผลดีที่สุดคือวัคซีน ดีรองลงมาคือยา แต่นับถึงวันนี้ยังไม่มีทั้งวัคซีนและยาที่อย.อนุมัติให้ใช้กับโรคนี้ ดังนั้นจึงต้องพึ่งมาตรการที่เรียกว่ามาตรการไม่พึ่งยา (non-pharmacological measures) เช่นการเฝ้าระวังโรค การสอบสวนโรค การกักกันโรค เป็นต้น เมืองไทยเรานี้เราเคยแสดงฝีมือในการใช้มาตรการวัคซีนและยาควบคุมโรคอย่างได้ผลดีมาแล้ว เช่นการควบคุมโปลิโอ การควบคุมวัณโรค เป็นต้น แต่ถ้าถามว่าประเทศของเราจะสามารถใช้มาตรการแบบไม่พึ่งยาได้ผลดีเช่นกันใช่ไหม ตอบว่าไม่ทราบครับ เพราะผมยังไม่มีหลักฐานจะตอบ ความสำเร็จหรือล้มเหลวในการควบคุมโรคโควิด-19 นี้จะเป็นคำตอบให้คุณ ซึ่งจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปแล้วสักปีสองปี ผมรู้ว่าคุณอยากจะให้ผมเดา ผมขออนุญาตไม่เดา เพราะผมเป็นนักวิชาชีพ ไม่ควรเผยแพร่การคาดเดาของตัว เพราะมันไม่สร้างสรรค์อะไร

     4. ถามว่าถ้าการควบคุมโรคล้มเหลว โรคแพร่กระจายไปทั่วแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ตอบว่าอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดเถอะ แต่ตอนนี้มันยังไม่เกิดก็อย่าไปตีอกชกหัวถึงมันเลย มันเป็นแค่ความคิดซึ่งรังแต่จะทำให้ใจไม่สงบเย็น ตอนนี้เอาแค่การลงมือป้องกันในส่วนที่ตัวเองเกี่ยวข้องก็พอ ด้วยการหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่มีคนไม่รู้ใครเป็นใครอยู่แยะๆแออัดยัดเยียดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ทั้งนี้หมายความรวมถึงห้องแอร์ด้วย ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปก็ให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่นถุงมือ เจลล้างมือ หน้ากาก (ถ้ามี) และฝึกนิสัยเลิกยุกยิกเอามือเกานั่นขยี้นี่เสีย ถ้าจำเป็นต้องไปในที่ที่อาจจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ กลับมาแล้วก็ให้กักกันตัวเองโดยไม่ต้องโพนทะนาอะไรกับใครสัก 14 วัน นี่ถือว่าเป็นสำนึกในความรับผิดชอบขั้นสูง

     ส่วนในระดับสังคมนั้น ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเขาก็ได้พยายามของเขาเต็มที่เท่าที่บริบทในชีวิตจริงจะเอื้ออำนวยให้เขาทำได้อยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นการจะใช้มาตรการกักกันโรคในสังคมลูบหน้าปะจมูกแบบไทยๆเรานี้ท่านอย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องหมูๆสั่งซ้ายหันขวาหันได้นะ หรืออย่างเช่นพวกหมอหรือหน่วยงานทางการแพทย์เขาทำงานด้วยกันหลายหน่วยงานรัฐบ้างเอกชนบ้าง เวลาจะพูดจะจาให้ข่าวคนนอกเขาต้องระมัดระวังกันสุดขีดไม่ให้คนทำงานเสียน้ำใจหรือหมางใจกัน มันเป็นรัฐศาสตร์ในการทำงานการแพทย์ ดังนั้นในระดับสังคม ในภาวะวิกฤติหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนี้ เราในฐานะสมาชิกนิ่งๆเงียบๆไว้ดีกว่า ปล่อยให้ผู้มีหน้าที่เขาทำงานของเขาไปเถอะ แล้วเดี๋ยวทุกอย่างมันก็จะลงตัวของมันเอง

     สำหรับคนที่ทำธุรกิจก็อาจต้องเตรียมการเผื่อความเป็นไปได้ที่ธุรกิจที่ให้บริการเอาคนมาชุมนุมกันแยะๆเช่นการประชุม คอนเสิร์ท ช้อปปิ้งมอล ร้านอาหาร โรงเรียน โรงแรม รีสอร์ท การท่องเที่ยว อาจจะเฉาลง ยกตัวอย่างเช่นเมื่อวานนี้ผมไปกินข้าวที่ร้านหนึ่งที่เมืองมวกเหล็ก กินเสร็จกำลังจะขึ้นรถกลับบ้านพนักงานตามมาขอโทษขอโพยว่าการต้อนรับขับสู้อาจจะไม่ดีเพราะเมื่อวานนี้เพิ่งเอาพนักงานออกไปห้าคน ผมถามว่า

     “มีการคอรัปชั่นหมู่เหรอจึงต้องโละคนครั้งใหญ่อย่างนั้น” เขาตอบว่า

     “เปล่าหรอกครับ ช่วงนี้ลูกค้าไม่มี จ้างลูกจ้างแยะๆไม่ไหว”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………..

จดหมายจากท่านผู้อ่าน
“…ผมรู้ว่าคุณอยากจะให้ผมเดา ผมขออนุญาตไม่เดา เพราะผมเป็นนักวิชาชีพ ไม่ควรเผยแพร่การคาดเดาของตัว เพราะมันไม่สร้างสรรค์อะไร…” ขออนุญาตโควทครับ เพราะพวกนักวิชาชีพทั้งจริงและเก๊พยายามเสนอข้อคาดเดาตัวเองให้วุ่นวายไปหมดตอนนี้
……………………………….