ปรึกษาหมอ, โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ข้องใจสูตรคำนวณค่า eGFR เพื่อวินิจฉัยโรคไตเรื้อรัง

สวัสดีค่ะคุณหมอ
หนูขอสอบถามเรื่องสูตรของ GFR ได้ไหมคะ สูตร 140-อายุ*น้ำหนัก*0.85 ( ในผู้หญิง ) / 72*cr หนูสงสัยว่าทำไมผู้หญิงต้อง คูณ 0.85 คะ แล้ว 140 คือค่าอะไร

…………………………………………………………

ตอบครับ

     ผมเข้าใจว่าคุณเป็นนักศึกษาหรือผู้จบมาทางด้านวิทยาศาสตรสุขภาพสาขาใดสาขาหนึ่ง ก่อนตอบคำถามนี้ผมขอปูพื้นฐานให้ท่านผู้อ่านทั่วไปตามทันก่อนนะ

     คอนเซ็พท์คือ GFR เป็นตัวชี้วัดการทำงานของไตซึ่งใช้เป็นค่าวินิจฉัยว่าใครเป็นโรคไตเรื้อรัง ย่อมาจากคำเต็มว่า glomerular filtration rate แปลว่าปริมาตรของเลือดที่ไตกรองของเสียออกมาได้เกลี้ยง (clearance) ภายในหนึ่งนาที เนื่องจากเราเลือกใช้ creatinine (Cr) ซึ่งเป็นของเสียที่ไตขับออกมาในการวัดการทำงานของไต บางครั้งจึงเรียกว่าค่า GFR นี้ว่าค่า creatinine clearance จึงขอให้เข้าใจว่าคำทั้งสองคำนี้หมายถึงเรื่องเดียวกัน

      เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณ หากคุณจะเอาคำตอบจริงๆคุณต้องค่อยๆอ่านค่อยๆคิดตามนะ เพราะมันดูเหมือนจะเข้าใจยาก แต่จริงๆมันไม่ยากหรอก

     ตัวชี้วัดไต (GFR) ที่ได้จากการตรวจเลือดและเก็บปัสสาวะตรวจด้วย

      ก่อนอื่นคุณต้องเรียนวิธีวัดค่า GFR แบบดั้งเดิมก่อน คือต้องเก็บตัวอย่างปัสสาวะใน 24 ชั่วโมง เอาปัสสาวะไปตรวจความเข้มข้นของของเสีย (creatinine – Cr) แล้วคำนวณออกมาว่าปริมาตรน้ำปัสสาวะที่ไตขับออกมาทั้งหมดใน 24 ชั่วโมงนั้น หากหารให้เหลือหนึ่งนาที ไตจะขับปัสสาวะได้กี่มิลลิลิตร แล้วคำนวณว่าในน้ำปัสสาวะที่ไตขับออกมาในหนึ่งนาทีนี้ มีเนื้อของเสีย (Cr) อยู่กี่มิลลิกรัม นั่นเป็นการคำนวณยกที่หนึ่ง ยกที่สองก็ไปคำนวณหาว่า Cr ในน้ำหนักที่ขับออกมานั้น หากมันอยู่ในเลือด มันจะอยู่ในเลือดเป็นปริมาณกี่มิลลิลิตร หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่ากว่าไตจะเคลียร์ (clearance) ของเสีย Cr จำนวนนี้ออกมาได้ไตจะต้องเอารับเอาเลือดมากรองกี่มิลลิลิตร จำนวนเลือดที่ไตกรองได้ในหนึ่งนาทีนั่นแหละคือ GFR ซึ่งในการจะคำนวณต้องเจาะเลือดหาความเข้มข้นของ Cr. ในเลือดก่อน แล้วเอาข้อมูลมาคำนวณหาปริมาตรเลือดที่ส่ง Cr นั้นให้ไตขับออกมาทางปัสสาวะในหนึ่งนาที ดังนี้

GFR  = [ความเข้มข้น Cr ในปัสสาวะ x ปริมาตรปัสสาวะในหนึ่งนาที] / ความเข้มข้นของ Cr ในเลือด

    เหนื่อยแมะ คนไข้เหนื่อยที่ต้องเก็บปัสสาวะ แต่คุณเหนื่อยที่ต้องคำนวณ นี่คือวิธีการตรวจการทำงานของไตด้วย GFR แบบคลาสสิก

ตัวชี้วัดไตที่ได้จากการตรวจเลือดอย่างเดียวแล้วคำนวณ (eGFR)

     ต่อมาคนรุ่นหลังรู้สึกว่าการเป็นหมอทำไมต้องมีชีวิตที่ลำบากอย่างนี้ด้วย จึงมีผู้หาทางลัดทดลองเอาคนไข้ผู้ชายมา 249 คน เก็บปัสสาวะมาตรวจ และตรวจเลือด แล้วคำนวณ GFR ดูทุกคน แล้วเอาผลมานั่งเหล่ทดลองคิดสูตรว่าต้องทำสูตรอย่างไรจึงจะใช้แต่ค่า serum Cr คำนวณค่า estimated หรือ eGFR ออกมาได้ โดยเอาตัวแปรหลักของการผลิต Cr คืออายุ และน้ำหนัก เข้ามาใส่ในสูตรแล้วใส่ค่าคงที่เข้าไปที่ตรงนั้นตรงนี้จนได้สูตรที่ใกล้ความจริงคือ
   
     eGFR =(140 – Age) x Weight (kg) x [0.85 if female] / 72 x [Serum Cr ]

    โปรดสังเกตว่า 140 และ 72 เป็นค่าคงที่ที่ได้มาจากการทดลองเปลี่ยนค่าเรื่อยไปเพื่อดูว่าค่าไหนจะให้ผลใกล้เคียงกับ GFR จริงมากที่สุด จนมาลงตัวที่สองค่านี้ ส่วนค่า 0.85 ที่เอามาคูณน้้นเป็นเพราะสูตรนี้คิดมาจากข้อมูลผู้ชายล้วนๆ แต่ว่าผู้หญิงมี GFR ต่ำกว่าผู้ชายประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เสมอ จึงต้องใส่ค่าคงที่ตัวนี้เพิ่มเข้ามาด้วยหากเอาสูตรนี้ไปใช้กับผู้หญิง

     สูตรข้างบนนี้เรียกว่า  Cockcroft and Gault (CG) ซึ่งเป็นสูตร eGFR สูตรแรก แต่ว่าเดี๋ยวนี้วงการแพทย์เลิกใช้สูตรนี้ไปแล้วนะคุณ เพราะสูตรนี้ไม่ใช่สูตรสากลที่ใช้เปรียบเทียบกันได้ทั่วโลก ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ใช้สูตรที่มีการปรับค่าพื้นที่ผิวของร่างกายมาให้เท่ากันคือ 1.73 ตรม.ก่อน (เทียบเป็นน้ำหนักคือ 63 กก.) มีอยู่หลายสูตรมาก สูตรที่ใช้กันทั่วไปคือสูตร MDRD ที่ใช้อายุ ชาติพันธ์ และเพศ เป็นตัวแปรในการคำนวณ ซึ่งมีสูตรว่า

     eGFR = 175 x (SCr)-1.154 x (age)-0.203 x 0.742 [if female] x 1.212 [if Black]

     มีหน่วยเป็น ml/min/1.73sqm

     หากคุณจะคำนวณเองคุณต้องใช้โปรแกรม calculator ที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์นะ เพราะเครื่องคิดเลขธรรมดาคิดค่ายกกำลังไม่ได้ เมื่อเข้าไปใน calculator ของเครื่องคอมแล้ว ให้คุณเลือกฟังชั่น scientific ที่มุมซ้ายบนของจอคอม แล้วจึงจะสั่งให้คิดค่ายกกำลังได้

     แต่หากจะให้ชีวิตง่ายขึ้น ในทางปฏิบัติไม่มีใครคำนวณ eGFR เองดอก ให้คุณเปิดเว็บไซท์ที่รับคำนวณ eGFR ให้ฟรี เช่นที่  https://www.kidney.org/professionals/kdoqi/gfr_calculator แล้วใส่ค่า serum Cr น้ำหนัก ชาติพันธ์ และเพศ เข้าไปแล้วเขาจะคำนวณให้เอง หรือให้ง่ายกว่านั้น ก็คือขอให้ห้องแล็บของโรงพยาบาลของคุณรายงานค่า eGFR มาให้เลยโดยไม่ต้องรอให้แพทย์สั่ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.Raman M, Middleton RJ, Kalra PA, Green D. Estimating renal function in old people: an in-depth review. Int Urol Nephrol. 2017 Nov;49(11):1979-1988.