มะเร็ง

การอดอาหารรักษามะเร็งได้จริงหรือไม่

เรียนคุณหมอสันต์

การอดอาหารเพื่อรักษามะเร็งมันได้ผลจริงหรือ จริงหรือเปล่าที่ว่ามะเร็งมันกินอาหารมากกว่าเซลร่างกายปกติ ถ้าอดต้องอดอย่างไร ขอคำแนะนำด้วย

     ตอบครับ

คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตในแค้มป์ Cancer Retreat เสมอ ก่อนตอบคำถามนี้ผมขอให้ทำความเข้าใจศัพท์แสงให้ตรงกันก่อน

     การอดอาหารแบบจำกัดแคลอรี่ (calorie restriction – CR) หมายถึงการลดปริมาณแคลอรีในแต่ละมื้ออาหารลงกว่าการกินตามปกติที่มีให้กินไม่อั้นถ้าอยากกิน แต่ไม่ให้ลดลงมากจนถึงกับเป็นโรคขาดอาหาร คือลดแคลอรี่ลง 15-25%

    การอดอาหารแบบงดกินเป็นช่วงเวลา (Fasting) หมายถึงเวลากินก็กินจนอิ่มหมีพีมัน แต่ช่วงเวลาที่ตั้งใจงดซึ่งนับกันเป็นวันก็งดแบบไม่กินอะไรเลยจนครบกำหนดเวลาแล้วจึงจะกลับมากินได้ใหม่ หากช่วงเวลาที่อดไม่ถึงหนึ่งวันเรียกว่าการอดอาหารแบบเป็นช่วงๆเหมือนกันทุกวัน (intermenttent fasting – IF) เช่น IF 8/16 ก็หมายความว่ากินได้ 8 ชั่วโมงติดต่อกันจนครบแล้วต้องงดกิน 16 ชั่วโมงติดต่อเป็นเช่นนี้ทุกวัน

     ประวัติศาสตร์ของการอดอาหารรักษาโรค 

การอดอาหารเป็นเครื่องมือหลักในการรักษาโรคมาแต่โบราณ แต่ได้ผลจริงหรือเปล่าไม่รู้ ครูของผมซึ่งเป็นโยคีชาวอินเดียเล่าว่าครูของท่านซึ่งทำตัวเป็นหมอรักษาชาวบ้านด้วยได้รักษามะเร็งด้วยการให้เว้นระยะระหว่างมื้ออาหาร 12 ชั่วโมง พูดง่ายๆว่ากินวันละสองมื้อ คือตะวันขึ้นก็กินซะมื้อหนึ่ง พอตะวันตกก็กินซะอีกมื้อหนึ่ง ส่วนคนไข้ของเขาจะได้ผลเป็นตายร้ายดีอย่างไรนั้นน่าเสียดายที่ไม่มีใครจดบันทึกให้คนรุ่นหลังรู้ได้

     หลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการอดอาหารกับการมีอายุยืน 

ผมขอตัดการวิจัยในสัตว์ทิ้งไปหมดก่อนนะ เอาแต่การวิจัยในคน หลักฐานระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบในคนมีงานวิจัยเดียว ซึ่งแบ่งคนเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินอาหารไปตามปกติ อีกกลุ่มหนึ่งให้อดอาหารแบบจำกัดแคลอรี่ลงจากเดิม 15% (CR) แล้วรายงานผลวิจัยเมื่อครบสองปีแรกว่า

1. กลุ่มอดอาหารลดน้ำหนักลงเฉลี่ย 8.7 กก. ขณะที่กลุ่มควบคุมน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.8 กก.

2. การเผาผลาญพลังงาน (energy expenditure – EE) ทั้งที่วัดทั้งวัน 24 ชม. และทั้งที่วัดเฉพาะช่วงนอนหลับ พบว่าการเผาผลาญพลังงานของกลุ่มจำกัดแคลอรี่ลดลงเฉลี่ย 80-120 แคลอรี่ต่อวัน ขณะที่ของกลุ่มกินอาหารยังคงเป็นปกติไม่เปลี่ยนแปลง

3. การทำงานของต่อมไทรอยด์ (ซึ่งมีหน้าที่ช่วยการเผาผลาญอาหาร) ลดลงในกลุ่มจำกัดแคลอรี่ ขณะที่ของกลุ่มกินอาหารปกติไม่เปลี่ยนแปลง

4. การผลิตอนุมูลอิสระ F2-isoprostane (ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดการแก่ตัวและเสื่อมสลายของเซลและถือว่าเป็นตัวชี้วัดการมีอายุสั้นที่เชื่อถือได้) ลดลงในกลุ่มจำกัดแคลอรี่ ขณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงในกลุ่มกินอาหารปกติ

เนื่องจากการวิจัยด้วยวิธีนับอายุแข่งกันยังไม่มีใครทำ เพราะต้องใช้เวลาวิจัยนานเกือบร้อยปีจึงจะสรุปผลได้ ดังนั้นจึงต้องถือว่าหลักฐานชิ้นนี้เป็นหลักฐานดีที่สุดที่เรามีตอนนี้ ซึ่งสรุปว่าการอดอาหารอาจทำให้มีอายุยืนขึ้นได้อย่างน้อยก็เมื่อวัดด้วยตัวชี้วัด F2-isoprostane

     หลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการอดอาหารเพื่อรักษามะเร็ง 

หลักฐานระดับแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบดูเปอร์เซ็นต์การหายของมะเร็งระหว่างกลุ่มอดกับไม่อดอาหารในคนตัวเป็นๆยังไม่มีเลยแม้แต่ชิ้นเดียว…แป่ว

แปลไทยให้เป็นไทยได้ว่ายังไม่มีหลักฐานระดับเชื่อถือได้บ่งชี้ว่าการอดอาหารจะรักษามะเร็งให้หายได้จริง

มีแต่หลักฐานระดับต่ำ คือการวิจัยดูโมเลกุลชนิดต่างๆในคนที่อดอาหาร งานที่ให้ข้อมูลมากที่สุดน่าจะเป็นงานวิจัยของมหาลัย USC ซึ่งสรุปได้ว่าการอดอาหารแบบจำกัดแคลอรีแต่ไม่ถึงกับให้ขาดอาหาร มีผลเปลี่ยนแปลงเคมีในร่างกายไปในทางเอื้อต่อการหายของมะเร็งมากขึ้น กล่าวคือลดฮอร์โมนสร้างเนื้อเยื่อ (anabolic) ฮอร์โมนเติบโต (GH) และสารเอื้อการอักเสบ ซึ่งทำให้กลไกการทำลายเซลมะเร็งมีประสิทธิภาพขึ้น แต่ว่าทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่เรื่องเคมีของเลือดที่เอื้อต่อการหายของมะเร็ง ยังไปไม่ถึงว่าทำให้มะเร็งหายได้จริงหรือไม่

อีกงานวิจัยหนึ่งทำในคน 16 คน ให้อดอาหารแบบวันเว้นวัน คือวันที่อดให้กินไม่เกิน 600 แคลอรีในผู้ชาย ไม่เกิน 400 แคลอรีในผู้หญิง ) พบว่ามีผลลดน้ำตาลในเลือด ลดอินสุลิน ลด IGF1 ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยพบร่วมกับการเป็นโรคเรื้อรังเช่นเบาหวาน อ้วน หัวใจ และมะเร็งด้วย

อีกสองงานวิจัยทำในคนไข้มะเร็งจริงๆ (งานหนึ่งมะเร็งเต้านม งานหนึ่งมะเร็งตับอ่อน) ให้อดอาหารแบบจำกัดแคลอรีแล้วพบว่าการอดอาหารมีผลลดตัวชี้วัดมะเร็งเช่น IGF, stearoyl-CoA desaturase, fatty acid desaturase, และ aldolase C ลงได้

อีกงานวิจัยหนึ่งชื่องานวิจัย Women’s Healthy Eating and Living พบว่าหญิงเป็นมะเร็งที่อดอาหารแบบ IF ชนิดงดวันละ 13 ชั่วโมงขึ้นไปสัมพันธ์กับการลดอัตรากลับเป็นมะเร็งซ้ำ (recurence) ลง 36% และลดอัตราตายจากมะเร็งลง 21% นี่จัดว่าเป็นงานวิจัยที่ให้ข้อมูลมากที่สุดเท่าที่เคยทำมา งานนี้เชียร์ให้คนเป็นมะเร็งแล้วอดอาหารแบบ IF เพื่อลดการกลับเป็นใหม่ เราคงต้องอาศัยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นตัวนำทางไปจนกว่าจะมีงานวิจัยที่ใหญ่และดีกว่านี้

     หลักฐานเกี่ยวกับการอดอาหารกับการใช้เคมีบำบัดหรือรังสีรักษา

ความเชื่อที่ว่าการอดอาหาร (ในระดับไม่ขาดอาหาร) จะเพิ่มภาวะแทรกซ้อนต่อการใช้เคมีบำบัดหรือรังสีรักษานั้นไม่เป็นความจริงเสมอไป งานวิจัยหนึ่งให้หญิงอายุมากอดอาหารก่อนหรือหลังให้เคมีบำบัดพบว่าอาการข้างเคียงของเคมีบำบัดลดลง อีกงานหนึ่งพบว่าการอดอาหารร่วมกับเคมีบำบัดช่วยลดอาการอ่อนเพลียเปลี้ยล้าลงได้มากกว่าการไม่อดอาหาร

     สรุปคำแนะนำของหมอสันต์

1. ท่านที่เป็นมะเร็งและน้ำหนักเกินพิกัดอยู่ (ดัชนีมวลกายเกิน 25) หลังจากได้รับการรักษามาตรฐาน (ผ่าตัดเคมีบำบัดฉายแสง) ครบถ้วนแล้ว หลังจากนั้นหากอยากอดอาหารรักษามะเร็งต่อด้วยตัวเองก็ตามสะดวกเลยครับ จะเอาแบบ IF หรือแบบ CR ก็แล้วแต่ชอบ มีแต่ได้กับได้ อย่างน้อยก็ได้ผอม (หิ หิ) เพราะอย่าลืมว่าความอ้วนเป็นปัจจัยหนึ่งที่สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งมากขึ้น และผลวิจัยที่เล่ามาแล้วข้างต้นแม้จะยังไม่ใช่หลักฐานระดับสูงแต่ก็ล้วนสนับสนุนไปทางว่า IF อย่างน้อยก็ลดโอกาสกลับเป็นมะเร็งซ้ำลงได้

2. ท่านที่เป็นมะเร็งและผอมด้วย (ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5) ผมแนะนำว่าอย่าไปยุ่งกับการอดอาหารเลยดีที่สุดครับ ในทางตรงกันข้าม ใช้นโยบายกินทุกอย่างที่ขวางหน้าดีกว่า เพราะการมีดัชนีมวลกายต่ำผิดปกติมีผลเสียต่อสุขภาพในภาพรวมมากกว่าประโยชน์ที่จะได้จากการอดอาหารแยะ ผมแนะนำว่าแค่กินอาหารพืชเป็นหลักให้ได้แคลอรี่เกินพอก็น่าจะโอแล้ว

3. ท่านใดก็ตามที่ปักใจตั้งใจว่าจะอดอาหารแบบเว้นช่วง (IF) แน่นอนแล้ว ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ผมแนะนำให้เว้นช่วงให้นาน 13 ชั่วโมงขึ้นไป เพราะหลักฐานวิจัยว่า IF ที่สัมพันธ์กับการลดโอกาสเกิดมะเร็งซ้ำได้นั้นมีช่วงอด 13 ชั่วโมงขึ้นไป เช่นมื้อเช้าหกโมงเช้า มื้อเย็นหนึ่งทุ่ม โดยงดมื้อกลางวัน เป็นต้น

4. การอดอาหารควบกับการรักษาด้วยการฉายแสงหรือเคมีบำบัดแม้จะมีหลักฐานว่าทำให้ผลข้างเคียงของเคมีบำบัดลดลงก็จริง แต่หากท่านคิดจะทำจริงๆผมแนะนำให้คุยกับคุณหมอมะเร็งวิทยาที่รักษาท่านอยู่ก่อนดีกว่านะครับ เพราะมันมีประเด็นยาเคมีบำบัดแต่ละตัวซึ่งฤทธิเดชไม่เหมือนกัน ไม่ควรทำอะไรเองโดยที่หมอที่ให้เคมีบำบัดแก่ท่านไม่รู้ เพราะจะเสียมากกว่าได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Leanne M. Redman, Steven R. Smith, Jeffrey H. Burton, Corby K. Martin, Dora Il’yasova, Eric Ravussin. Metabolic Slowing and Reduced Oxidative Damage with Sustained Caloric Restriction Support the Rate of Living and Oxidative Damage Theories of Aging. Cell Metabolism, 2018; DOI: 10.1016/j.cmet.2018.02.019

2. Longo VD, Fontana L. Calorie restriction and cancer prevention: metabolic and molecular mechanisms. Trends in pharmacological sciences 2010;31:89-98.

3. Harvie M, Wright C, Pegington M, et al. Intermittent dietary carbohydrate restriction enables weight loss and reduces breast cancer risk biomarkers. Cancer Research 2011;71.

4. Cheng CW, Adams GB, Perin L, et al. Prolonged fasting reduces IGF-1/PKA to promote hematopoietic-stem-cell-based regeneration and reverse immunosuppression. Cell stem cell 2014;14:810-23.

5. Varady KA, Hellerstein MK. Alternate-day fasting and chronic disease prevention: a review of human and animal trials. The American journal of clinical nutrition 2007;86:7-13.

6. Ong KR, Sims AH, Harvie M, et al. Biomarkers of dietary energy restriction in women at increased risk of breast cancer. Cancer prevention research (Philadelphia, Pa) 2009;2:720-31.

7. Wright JL, Plymate S, D’Oria-Cameron A, et al. A study of caloric restriction versus standard diet in overweight men with newly diagnosed prostate cancer: a randomized controlled trial. Prostate 2013;73:1345-51.

8. Marinac CR, Nelson SH, Breen CI, et al. Prolonged Nightly Fasting and Breast Cancer Prognosis. JAMA oncol.2016 Aug 1;2(8):1049-55. doi: 10.1001/jamaoncol.2016.0164.

9. Safdie F, Brandhorst S, Wei M, et al. Fasting enhances the response of glioma to chemo- and radiotherapy. PloS one 2012;7:e44603.