จิตวิญญาณ (Spirituality)

รู้สึกว่าตัวเองมีสองคนในร่างเดียว

สวัสดีครับ คุณหมอสันต์

ลูกชายอายุ 19 ปี รู้สึกว่าตัวเองมีสองคนในร่างเดียว ร่างหนึ่งคือจิตใต้สำนึก อีกร่างหนึ่งคือตัวตนที่เป็นอยู่ เวลาจะตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง จิตใต้สำนึกจะผุดขึ้นมาคุยกับตัวเองตลอดเวลาว่าถ้าทำแบบนี้จะเป็นยังไงถ้าไม่ทำแล้วจะเป็นยังไง ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นแบบนี้เสมอ แล้วเค้าก็ทำตามจิตใต้สำนึกในด้านดีตลอดมา แม้ในบางครั้งไม่อยากทำเลย เคยบอกเค้าว่าให้ลองทำตามใจตัวเองดูถ้ามันไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร เค้าบอกว่าเค้าอยากจะเอาชนะจิตใต้สำนึกตัวเอง เพื่อทีจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ไม่อยากเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อยากให้อาจารย์หมอแนะนำว่าควรจะแนะนำเค้าอย่างไรดี

………………………………………………

ตอบครับ

     สิ่งที่ลูกชายเรียกว่าจิตใต้สำนึกนั้น แท้จริงแล้วมันคือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (conscientious) มันก็คือเชาวน์ปัญญา (intellect) ที่เกิดจากการฝึกฝนอบรม มันเป็นรูปแบบหนึ่งของความคิด ซึ่งมีคุณอนันต์คือคอยยั้งให้เราทำตัวอยู่ในสังคมกับคนอื่นได้อย่างสงบสุข ขณะเดียวกันมีก็มีโทษมหันต์ ตรงที่มันเป็นกรอบที่สร้างสำนึกว่าเป็นบุคคล (identity) ให้เรา ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆบิดเบี้ยวไปจากที่มันเป็นของมันจริงๆ เพราะมันเป็นคอนเซ็พท์หรือกรอบที่ครอบภาพที่เรามองไว้ให้เราเห็นแต่ภายในกรอบ ข้างนอกกรอบนั้นเราไม่มีโอกาสได้เห็น ทำให้เรารู้ความจริงไม่หมด และทำให้เราเป็นทุกข์เพราะการรู้ความจริงไม่หมดนี้

     ส่วนสิ่งคุณพ่อเรียกว่าการทำตามใจตัวเองนั้น มันมีได้สองรูปแบบ คือ 

     (1)  สัญชาติญาณ (instinct) ซึ่งถูกผลักดันด้วยฮอร์โมนหรือสรีรวิทยาของเซลร่างกาย และ

     (2) ความรู้จากการได้แว้บเห็นอะไรออกไปนอกกรอบของความคิด อันนี้ภาษาอังกฤษคงต้องใช้คำว่า intuition ซึ่งแต่ก่อนผมใช้ภาษาไทยว่าปัญญาญาณ แต่ก็ถูกคนบ่นว่าอย่าใช้คำนี้ได้ไหมเพราะฟังแล้วไม่รู้เรื่อง ผมจึงจำใจต้องเปลี่ยนใหม่เป็น “ความรู้ที่ได้จากการแว้บเห็นอะไรนอกกรอบของความคิด” ไม่รู้ว่าชื่อใหม่อันยาวเหยียดนี้จะทำให้ฟังรู้เรื่องมากขึ้นหรือยิ่งเง็งหนักขึ้น อธิบายง่ายๆว่าเปรียบเหมือนเด็กทารกคลานอยู่แต่ในบ้านรู้เห็นแต่ของในบ้านไม่เคยเห็นตันไม้เลยในชีวิต แต่วันหนึ่งพี่เลี้ยงเอาหนีบเอวออกไปรับจัดหมายที่นอกบ้าน เขาจึงได้เห็นต้นไม้ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น เขาอาศัยแว้บนั้นกลอกตามองสำรวจด้วยความสนใจ หากอุปมาข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเป็นความรู้ระดับเชาวน์ปัญญา อุปไมยต้นไม้ก็เป็นความรู้จากการได้แว้บเห็นอะไรนอกกรอบความคิดเดิม โดยที่กลไกการได้รู้ได้เห็นนั้นเหมือนกัน แต่ความรู้อย่างหลังเกิดเมื่อจังหวะเผลอไม่มีกรอบความคิดมาขวางกั้นการมอง ดังนั้นความรู้อย่างหลังนี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อไม่มีความคิดเท่านั้น

     การที่ลูกชายอยากจะทิ้งสำนึกผิดชอบชั่วดีมาทำอะไรตามแรงผลักดันที่อยู่นอกกรอบคอนเซ็พท์ ความเชื่อ หรือกรอบความคิดเดิมนั้น ถามหมอสันต์ว่าเป็นสิ่งที่ดีไหม หมอสันต์ก็ตอบว่าเป็นสิ่งที่ดีม้าก..มากเลยครับ เพราะการจะหลุดพ้นไปจากความทุกข์ของคนเรานี้มีวิธีเดียว คือการต้องวางความคิดลงให้ได้ก่อน ต้องทิ้งความคิดไปก่อน ทิ้ง identity หรือสำนึกว่าเป็นบุคคลไปให้ได้ก่อน

     ถามว่า..อ้าว เมื่อทิ้งความคิดสำนึกผิดชอบชั่วดีไปแล้วจะไม่เผลอไปตามสัญชาติญาณดิบๆที่จะนำชีวิตเข้ารกเข้าพงหรือ หิ หิ ตอบว่าของอย่างนี้มันก็ต้องลองผิดลองถูกครับ เพราะการทำตามใจตัวเองนั้นมันจะต้องหยิบได้ไม่อันใดก็อันหนึ่ง คือหากมันไม่ใช่สัญชาติญาณ มันก็เป็นความรู้จากการที่ได้เคยแว้บออกไปเห็นนอกกรอบความคิด แว้บเห็นเมื่อไหร่จำไม่ได้แต่เคยแว้บเห็น หากไปหยิบได้อันที่สองคือ ความรู้ที่ได้จากการแว้บเห็นอะไรนอกกรอบความคิด ชีวิตก็จะเกิดการก้าวไปอีกขั้นหนึ่งอย่างที่ลูกชายเขาพูดไว้ 

     ถามว่า..อ้าว แล้วหากไปหยิบได้อันแรกคือสัญชาติญาณ จะไม่กลายเป็นสัตว์ไปหรือ ตอบว่าเป็นสัตว์ก็ไม่เป็นไรนี่ครับ การลองตามสัญชาติญาณไปมันไปก็ไม่แปลก เพราะเราก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่งจริงๆ ตามสัญชาติญาณของสัตว์ไปและเรียนรู้ให้เจนจบนั่นเป็นวิธีใช้ชีวิตที่ดีตามแบบของหมอสันต์ เช่นอยากมีเซ็กซ์ก็ลองมีไปเล้ย..ย ไม่งั้นจะรู้เรอะ ลองให้รู้ เรียนให้เจนจบ ไม่ต้องกลัวว่าจะหมกมุ่นเสียผู้เสียคน คนเรามีสมองส่วนหน้าซึ่งจะคอยตั้งคำถามหากชีวิตติดกับดักหรือหมักเม่าอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานๆ เปรียบเหมือนการไปโรงเรียน เพื่อนๆเขาจบประถมขึ้นมัธยมกันหมดแล้วเราจะมัวสนุกอยู่กับการเป็นนักเรียนป.4 อยู่มันก็คงไม่ใช่มั้ง ถูกแมะ   

     จบคำถามของคุณแล้วนะ แต่ผมขอพูดแถมถึงประเด็นหนึ่งซึ่งสำคัญ คือในทางปฏิบัติเราจะทำอย่างไรจึงจะเป็นการเปิดโอกาสให้ได้แว้บเห็นอะไรออกไปนอกกรอบของความคิด ตอบว่าเราต้องหัดมองให้เห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็น

     ถามว่า นี่มันเป็นวาทะกรรมเล่นลิ้นหรือเปล่า ในทางปฏิบัติทำอย่างไรหรือ ที่ว่าเห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็นเนี่ย

     ตอบว่าก็ต้องหัดมองให้เห็นสิ่งต่างเป็นแค่ภาพ แต่ไม่มีเรื่องราวประกอบ ไม่มีภาษามาเกี่ยวข้อง เหมือนหัดทำตัวเป็นแค่กล้องถ่ายรูป เห็นอะไรก็กดชัตเตอร์แช้ะ แช้ะ จะมองด้วยเลนส์มุมกว้างใหญ่แค่ไหนก็ได้ หรือจะมองซูมอินเห็นลึกซึ้งละเอียดถึงระดับ pixel เลยก็ตาม แต่ต้องเป็นแค่การมองให้เห็นเป็นแค่ภาพ ไม่มีภาษา ไม่ตั้งชื่อเรียก ไม่คิดคำนวณหรือแต่งเรื่องราวประกอบ ภาพเหล่านี้จะถูกเก็บเป็นข้อมูลดิบซึ่งอยู่นอกกรอบความคิดและนอกเขตภาษา ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะใช้ประโยชน์ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ภาษานักถ่ายรูปมืออาชีพเขาเรียกว่ามันเป็นภาพแบบ RAW คือเป็นข้อมูลพื้นฐานจำเป็นล้วนๆไม่มีข้อมูลการแต่งภาพใดๆให้รกรุงรังเลย แต่ต่อไปจะเอาไปทำเป็นภาพที่สวยงามถูกใจยังไงก็ได้

    การหัดมองให้เห็นสิ่งต่างๆเป็นแค่ภาพนี้เริ่มได้จากการฝึกนั่งหลับตาทำสมาธิ พื้นที่ว่างๆดำๆตรงหน้าเรานั่นแหละคือความรู้ตัวของเรา เรามองให้เห็นว่ามันเป็นผืนผ้าใบขนาดใหญ่ ถ้าไม่มีความคิด ก็ไม่มีภาพ เราก็มองแต่ผืนผ้าใบ มองให้ลึกละเอียดลงไป ลึกละเอียดลงไป เหมือนมองผ้า แล้วลึกลงไปถึงลายผ้า แล้วลึกลงไปถึงเส้นด้าย เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นในใจมันจะมาโผล่บนผืนผ้าใบนี้ ไม่ว่ามีอะไรมาโผล่ ให้เรามองเห็นว่ามันเป็นแค่ภาพ เหมือนถ่ายรูปกดชัตเตอร์แช้ะ แล้วปล่อยมันผ่านไป อะไรใหม่โผล่เข้ามาอีกก็กดแช้ะอีก ทำอย่างนี้จนชำนาญแล้วค่อยเอามาใช้เวลาลืมตาในชีวิตประจำวัน ตื่นตัวแบบวินาทีต่อวินาที มองออกมาจากจุดที่ลึกที่สุดข้างใน มองออกมายังใจของเรา ว่าวินาทีต่อไปจะมีอะไรโผล่ขึ้นมาที่ใจนี้บ้าง มีอะไรโผล่มาก็รับรู้ จะเป็นภาพหรือเสียงหรือสัมผัสก็ตาม รับรู้ตามที่มันเป็น 

    มันเป็นการมองคนละอย่างกับในชีวิตปกติของเรานะ เพราะชีวิตปกติของเรา เรามองทุกอย่างผ่านกรอบความคิดหรือผ่านสำนึกว่าเป็นบุคคล (identity) ของเรา ในการมองผ่านกรอบความคิดเมื่อเราเห็นอะไรแล้วเราจะต้องใช้ภาษาบอกชื่อมันให้ได้ก่อน แล้วเอาไปเทียบเคียงกับความจำของเราในอดีตว่าสิ่งนี้เคยโผล่มาให้เห็นหรือยัง มาบ่อยแค่ไหน มาดีหรือมาร้าย แล้วใช้ตรรกะและการคำนวณประมวลผลว่าสิ่งนี้ถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว แล้วคาดคำนวณไปในอนาคตว่าสิ่งนี้จะส่งผลดีหรือส่งผลร้าย การมองอย่างนี้ไม่ใช่การเห็นตามที่มันเป็น (What is) แต่เป็นการเห็นในแบบที่เราอยากให้มันเป็น (What should be) เป็นการมองให้เห็นเป็นเป็นเรื่องราวในภาษา เป็นการมองโลกในแบบที่จะทำให้เราเป็นทุกข์ เพราะทำให้เราติดกับดักของชุดความคิดที่ผมเรียกว่าสำนึกว่าเป็นบุคคล (identity) ของเราเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์