Latest

วิธีใช้ประโยชน์จากผลตรวจ Rapid test และ RT-PCR ในประเด็นความไวและความจำเพาะ

คุณหมอสันต์คะ

หนูเผอิญคลุกคลีกับเพื่อนซึ่งเป็นไข้ไอหอบแล้วไปตรวจ RT-PCR ได้ผลบวกว่าเป็นโควิดต้องเข้าฮอสปิเทล หนูเองก็มีอาการไอมากแต่ไม่มีไข้ จึงไปตรวจ Rapid test ที่รพ. …. ได้ผลเป็นลบ ก่อนหน้านั้นหนูฉีดวัคซีนซีโนแวคครบสองเข็มแล้ว แต่เพื่อนหนูไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย พอตรวจได้ผลลบ หนูก็กลับไปทำงานตามปกติได้ห้าวัน แต่อาการไอไม่ลดลงแล้วมีปวดเมื่อยและมีไข้เพิ่มขึ้นมา หนูจึงไปขอตรวจ RT-PCR ที่รพ. … แต่เขาไม่ยอมตรวจให้ ต่อมาได้อาศัยเส้นไปตรวจที่รพ. … แล้วปรากฎว่าได้ผลบวก ก็คือหนูเป็นโควิดจริงๆ เพื่อนๆของหนูที่ที่ทำงานต่างก็กระเจิงไปตามๆกัน ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ละคะ ตรวจ Rapid test แล้วได้ผลลบ หนูก็กลับไปทำงานก็ไม่ผิดอะไรไม่ใช่หรือ แต่ถ้ารู้ว่าจะเป็นอย่างนี้จะมี Rapid test ไว้ทำไม เพราะผลมันหลอก ทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนกันเปล่าๆ

รบกวนคุณหมอช่วยแนะนำและหนูจะได้อธิบายเพื่อนๆได้ว่าหนูไม่ได้ผิดอะไร

………………………………………………………….

ตอบครับ

พุทธัง ธัมมัง สังคัง อะไรมันจะคันอย่างนี้

พอมี Rapid test ออกมาก ทุกคนก็เฮโลกันไปตรวจ แต่ตรวจแล้วใช้ประโยชน์จากผลการตรวจไม่เป็น การตรวจที่ดีก็เลยกลายเป็นโทษไปฉิบ (หิ..หิ ขอโทษ)

วันนี้จะขอพูดถึงการตรวจ Rapid test กับ RT-PCR นี่หน่อยนะ ในประเด็นความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) ของการตรวจทั้งสอง เรื่องที่จะอธิบายนี้มันเข้าใจยากและปวดเฮดหน่อย ท่านที่มาอ่านบล็อกหมอสันต์เอาม่วนไม่เอาเรื่องปวดหัวให้ผ่านบทความนี้ไปเลย ที่ผมเขียนเรื่องนี้เพราะเห็นว่ามันจำเป็นเมื่อคนไปรับการตรวจเป็นจำนวนมากก็จำเป็นต้องเข้าใจวิธีแปลผลและใช้ประโยชน์จากผลการตรวจ

ประเด็นที่ 1. รู้จักความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity)

การตรวจใดที่มีความไว (sensitive) หมายความว่าตรวจเจอหรือคันพบคนเป็นโรคได้เก่ง ถ้ามีคนเป็นโรคมาทีไรเป็นตรวจเจอทุกที โอกาสที่จะเกิดผลลบเทียม (หมายถึงว่าเขาเป็นโรคมาแต่ดันไปบอกว่าเขาปกติ) แทบไม่มีเลย อย่างนี้เรียกว่าการตรวจนั้นมีความไว (sensitivity) สูง

การตรวจใดที่มีความจำเพาะ (specify) หมายความว่าตรวจได้แม่น หากผลตรวจบอกว่าใครเป็นโรคก็จะต้องเป็นโรคจริงๆ ไม่มีผิดพลาด โอกาสที่จะเกิดผลบวกเทียม (หมายถึงว่าเขาไม่ได้เป็นโรค แต่ดันไปบอกว่าเขาเป็นโรค) แทบไม่มีเลย อย่างนี้เรียกว่าการตรวจนั้นมีความจำเพาะ (specificity) สูง

ประเด็นที่ 2. รู้จักการตรวจ RT-PCR

RT-PCR ย่อมาจาก reverse transcription (RT) and polymerase chain reaction (PCR) แปลว่าการตรวจหาไวรัสโดยเอาตัวไวรัสที่ได้จากการสว็อบจมูกมาฆ่าเสียก่อนแล้วแยกเอารหัสพันธุกรรม (RNA) ของมันออกมา แล้วก๊อปปี้ย้อนเอาแม่แบบที่ปั๊มระหัสพันธุกรรมนี้ (DNA) ขึ้นมา เปรียบเหมือนเอาดอกกุญแจมาหนึ่งดอกแล้วสร้างเครื่องปั๊มลูกกุญแจขึ้นมาหนึ่งเครื่อง แล้วเอาเครื่องนั้นไปปั๊มดอกกุญแจแบบนั้นออกมามากมายจนพอที่จะตรวจวัดปริมาณได้

การตรวจ RT-PCR มีความไว (sensitivity) 96.7% มีความจำเพาะ (specificity) 100% จึงเป็นการตรวจที่ใช้ยืนยันว่าคนที่มีอาการเหมือนคนติดเชื้อนั้นจริงๆแล้วติดเชื้อจริงหรือเปล่า ถ้าผลการตรวจบอกว่าติดเชื้อจริงก็คือติดเชื้อจริงๆไม่มีพลาด แต่ว่าถ้าผลการตรวจว่าไม่ติดเชื้อ ยังมีโอกาสติดเชื้อได้อยู่ราว 3.3% ดังนั้นหากอาการให้สงสัยมากๆแต่ตรวจ RT-PCR ได้ผลลบก็ต้องตรวจซ้ำเพื่อยืนยันอีกครั้งหรืออีกหลายครั้ง

ประเด็นที่ 3. รู้จักการตรวจ Rapid test (Antigen test)

Rapid test หรือ Antigen test เป็นการเอาตัวไวรัสตัวเป็นๆที่สว็อบได้จากโพรงจมูกมา แล้วตรวจหาโมเลกุลบางตัวซึ่งอยู่บนผิวของไวรัส วิธีนี้ทำได้รวดเร็วมาก แค่ 15 นาทีก็ได้แล้ว มันเป็นการตรวจที่มีความไว (sensitivity) 60.5% ถ้าเป็นคนไม่มีอาการ หรือ 72.1% ถ้าเป็นคนที่มีอาการป่วยแล้ว ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งมันมีความจำเพาะ (specificity) 99.5%.

จะเห็นว่า Rapid test มีความจำเพาะใกล้เคียงกับ RT-PCR แปลว่าหากตรวจได้ผลบวกก็แทบจะเชื่อขนมเจ๊กกินได้เลยว่าเป็นโรคแหงๆไม่ต้องไปนั่งยันยืนยันอะไรอีกดอก ให้แยกตัวเอง สงบสติอารมณ์ อยู่กับบ้านได้เลย โดยไม่ต้องไปมะรุมมะตุ้มขอตรวจยืนยันให้วุ่นวายขยายเชื้อ ตรงนี้คือประโยชน์ของ Rapid test คือถ้าได้ผลบวกก็ตัดตอนจบตรงนี้ได้เลย เปลี่ยนแผนการจัดการโรคได้เลย

แต่ขณะเดียวกันมันมีความไวเพียง 60.5% – 72.1% ซึ่งต่ำกว่า RT-PCR มาก หมายความว่าหากผลการตรวจได้ผลลบหรือไม่เป็นโรค โอกาสที่จะเป็นโรคยังมีอยู่ถึง 27.9 – 39.5% แปลไทยให้เป็นไทยว่าถ้าผลตรวจ Rapid test ออกมาลบ ก็เท่ากับไม่มีประโยชน์เลย หากมีเหตุการณ์แวดล้อมหรืออาการบ่งชี้หนักแน่นว่าน่าจะเป็นโรคแหงๆก็ควรขวานขวายไปตรวจ RT-PCR เพื่อดูว่าเป็นโรคจริงหรือเปล่า

สรุปว่าผลตรวจ Rapid test หากได้ผลบวก มีประโยชน์ ลัดขั้นตอนลงมือกักกันตัวเองได้เลย แต่หากผลตรวจได้ผลลบ ไม่มีประโยชน์ หากมีอาการที่ชวนสงสัยให้ไปตรวจ RT-PCR เพื่อความแน่ใจ

ในกรณีของคุณนี้ผลตรวจ Rapid test ได้ผลลบ เป็นกรณีที่คุณจะไม่ได้ประโยชน์จากการตรวจ การที่คุณเอาผลลบไปปรับแผนจัดการโรคของคุณ (คือกลับไปทำงานสบายใจเฉิบ) เป็นเพราะคุณไม่เข้าใจข้อจำกัดของการตรวจ Rapid test ซึ่งผมไม่ว่าคุณนะ เพราะหมอจำนวนมากเองก็ยังไม่เข้าใจเรื่อง specificity และ sensitivity นี้เลย ผมจะมาคาดหวังเอาอะไรกับคุณซึ่งเป็นคนไข้ธรรมดาๆก็ใช่ที่ ได้แต่หวังว่าเมื่อคุณอ่านบทความนี้แล้วคุณจะเก็ท..ถึงบางอ้อ

ประเด็นแถม: การจัดการโรค

ประเด็นนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ คือประเด็นการจัดการโรค สำหรับคนที่ (1) สัมผัสใกล้ชิดคนเป็นโรคโควิดมา หรือ (2) มีอาการเหมือนเป็นโรคโควิด จะต้องลงมือจัดการโรคให้ตัวเองทันที การจัดการโรคต้องทำสามด้าน คือ

ด้านที่ 1. ขวานขวายหาการตรวจวินิจฉัยอย่างที่คุณทำไปแล้ว

ด้านที่ 2. กักกันตัวเองออกจากคนอื่นทันที

ด้านที่ 3. ลงมือรักษาทันทีด้วยการกินฟ้าทะลายโจร (180 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อวัน 5 วัน) ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วยการกินอาหารพืชเป็นหลักที่หลากหลาย ออกกำลังกาย ผ่อนคลาย นอนหลับให้พอ

ด้านที่ 1 และด้านที่ 2 นั้นไม่มีปัญหาเพราะใครๆก็แนะนำอย่างนี้ แต่ด้านที่ 3 นั้นเป็นคำแนะนำของหมอสันต์คนเดียว เพราะตอนนี้วงการแพทย์ไทยดูจะมีหมอสันต์คนเดียวหรือเปล่าไม่รู้ที่ประเมินหลักฐานวิทยาศาสตร์แล้วตัดสินว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ทั้งๆที่ตีพิมพ์แล้วและที่รอตีพิมพ์ มีมากพอที่จะสรุปได้แล้วว่าฟ้าทะลายโจรทำลายไวรัสได้จริงทั้งในเซลและนอกเซล และใช้รักษาโรคโควิดในคนแล้วมีผลลดจุดจบที่เลวร้ายคือลดการเกิดปอดอักเสบลงได้ และยิ่งรีบใช้เมื่อแรกรับเชื้อเร็วเท่าไหร่ยิ่งได้ผลดีเท่านั้น นี่เป็นความเห็นของหมอสันต์คนเดียว ไม่ใช่ของวงการแพทย์ไทย

แพทย์หลายท่านไม่เข้าใจหมอสันต์ ตัวหมอสันต์เองก็ไม่เข้าใจแพทย์หลายท่าน เพราะขณะที่ยา Favipiravia ไม่มีหลักฐานสนับสนุนแม้แต่ชิ้นเดียวว่ามันจะทำให้คนป่วยโรคโควิดตายน้อยลงแต่อย่างใดแต่แพทย์หลายท่านก็ยังปฏิบัติต่อ Favipiravia แบบให้เกียรติเหลือเกิ้น..น เออ นี่มันเป็นกรณีที่ต่างคนต่างก็ไม่เข้าใจกัน จึงขอละไว้ในฐานที่ไม่เข้าใจไว้ก่อน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Brihn A, Chang J, OYong K, Balter S, Terashita D, Rubin Z, Yeganeh N. Diagnostic Performance of an Antigen Test with RT-PCR for the Detection of SARS-CoV-2 in a Hospital Setting – Los Angeles County, California, June-August 2020. MMWR Morb Mortal Wkly Rep. 2021 May 14;70(19):702-706. doi: 10.15585/mmwr.mm7019a3. PMID: 33983916; PMCID: PMC8118154.
  2. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. Kulthanit Wanaratna, Pornvimol Leethong, Nitapha Inchai, Wararath Chueawiang, Pantitra Sriraksa, Anutida Tabmee, Sayomporn Sirinavinmed. Rxiv 2021.07.08.21259912; doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.08.21259912
  3. Shi TZ, Huang YL, Chen CC, Pi WC, Hsu YL, Lo LC, Chen WY, Fu SL, Lin CH. Andrographolide and its fluorescent derivative inhibit the main proteases of 2019-nCoV and SARS-CoV through covalent linkage. Biochem Biophys Res Commun. 2020;533(3):67–473.
  4. Khanit Sa-ngiamsuntorn, Ampa Suksatu et al. Anti-SARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives. Nat. Prod. 2021, 84, 4, 1261–1270. https://doi.org/10.1021/acs.jnatprod.0c01324
  5. Hassanipour, S., Arab-Zozani, M., Amani, B. et al. The efficacy and safety of Favipiravir in treatment of COVID-19: a systematic review and meta-analysis of clinical trials. Sci Rep 11, 11022 (2021). https://doi.org/10.1038/s41598-021-90551-6