Latest

จะพูดกับคนที่กำลังคิดแต่จะฆ่าตัวตายอย่างไรดี

(ภาพวันนี้: เหลืองชัชวาล)

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

หนูเป็นนักสังคม มีผู้รับบริการเป็นโรคซึมเศร้าและมีความคิดฆ่าตัวตายแรงมาก เธอรักษาอยู่กับแผนกจิตเวช นักจิตที่ดูแลอยู่ก็เป็นเพื่อนของหนูเอง เราเคยคุยกันถึงวิธีที่จะช่วยผู้ป่วยรายนี้ในรูปแบบต่างๆนาๆ ทั้งชี้ให้เห็นว่าชีวิตเธอไม่ได้ไร้ค่า ช่วยแก้ปัญหาการเงินให้ แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะในที่สุดเธอก็ฆ่าตัวตายจริงๆ ตอนนี้เธอเสียชีวิตไปแล้ว หนูยังมีความติดค้างอยู่ในใจตรงที่ว่านอกจาก psychological support และการกระตุ้นให้กินยาสม่ำเสมอแล้ว มันมีประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงอีกไหม เราควรจะพูดคุยสนทนากับคนที่มีความคิดฆ่าตัวตายอย่างไรดี เพราะหนูรู้สึกว่าไม่ว่าจะพูดอะไรก็ดูจะเป็นการเร่งให้เธอฆ่าตัวตายเร็วขึ้นไปหมด

ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

…………………………………………………………………..

ตอบครับ

จดหมายของคุณทำให้นึกถึงเพลงหนึ่ง ซึ่งพรรณาว่าธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรได้จัดงานศพให้แก่หญิงสาวที่มากระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่วังน้ำวนหน้าน้ำตกห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ อย่างไร เนื้อเพลงตอนหนึ่งมีว่า

“..เอาวังน้ำไหลเย็น
นี่หรือมาเป็นเมรุทอง
เอาน้ำตกก้องเป็นกลองประโคม

เอาเสียงจักจั่นลั่นร้องระงม
เป็นเสียงประโคมร้องต่างแตรสังข์
เพดานนั้นเอาเมฆฟ้า
ภูผานั้นต่างม่านบัง
ประทีปแสงจันทร์ใสสว่าง
อยู่เดียวท่ามกลางดงดอย..”

เรื่องปรัมปราเล่ากันมาว่าเธอชื่อ “บัวบาน” วังน้ำวนแห่งนั้นคนรุ่นหลังจึงเรียกว่า “วังบัวบาน” แต่ไม่ต้องไปหาดูตอนนี้นะ เพราะผมเข้าใจว่าคงแห้งไปหมดแล้ว ที่เล่านี่ไม่เกี่ยวอะไรกับคำถามของคุณหรอก เพียงแต่คิดถึงเพลง

กลับมาตอบคำถามของคุณ ก่อนอื่น สิ่งที่ผมจะตอบคุณไม่ใช่หลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบันในการจัดการกับโรคซึมเศร้านะ มันเป็นหลักส่วนตัวที่ผมใช้เองเป็นประจำ ผมไม่ได้ว่าหลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบันที่นับโรคซึมเศร้าเป็น neurobiological disorder หรือโรคเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองแล้วมุ่งให้ยาทดแทนนั้นไม่ถูกต้องนะ เพียงแต่ผมชอบวิธีของผมมากกว่า..ฮิ ฮิ

วิธีของผมนี้ทุกคนนำไปใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาชีพทางด้านการแพทย์ที่ต้องคุยกับผู้ป่วยของตนโดยหน้าที่เท่านั้น ใครก็ตามที่มีญาติมิตรเป็นโรคซึมเศร้าและกำลังถูกครอบด้วยความย้ำคิดอยากฆ่าตัวตายล้วนเอาวิธีของผมไปใช้ได้ทั้งนั้น

ขั้นที่ 1. ให้เริ่มด้วยการชักชวนให้ชมนกชมไม้ คือสอนให้รู้จักการสังเกตหรือ observation แบบคุยกันเรื่อยเปื่อย แก้เหงา ชักชวนให้มองดูท้องฟ้า ภูเขา ต้นไม้ ดูนก ดูปลา ดูกระรอก ดูแบบสังเกตโดยไม่คิดอะไรต่อยอด เหมือนทำตัวเป็นกล้องถ่ายรูป snapshot ถ่ายทางนั้นแชะ ถ่ายทางนี้แชะ ไม่มีการตกแต่งภาพ ไม่มีการวิจารณ์ภาพ แล้วก็ชวนให้ฟังเสียง เสียงนก เสียงไก่ เสียงหมา เสียงรถยนต์ คุณได้ยินเสียงนั่นไหม ได้ยินเสียงนี่ไหม ในขั้นตอนนี้เจตนาก็คือต้องการให้เขาหรือเธอหลุดออกจากความคิดมาตามความสนใจหรือ attention ของตัวเองให้ได้ก่อน

ขั้นที่ 2. หาจังหวะชวนให้สังเกตความคิดของตัวเอง การสังเกตความคิดก็ทำแบบเดียวกับที่เราสังเกตหรือมองท้องฟ้ามองภูเขานั่นแหละ แค่เหลือบดูเฉยๆ ว่าเมื่อตะกี้เราคิดอะไรอยู่ ดูแล้วก็ผ่านไป หันมาสนใจสิ่งอื่นตรงหน้า สักพักก็หันไปสังเกตความคิดอีก เจตนาคือต้องการให้เห็นว่าเรากับความคิดนี้มันเป็นคนละอันกัน เราก็เป็นเรา ความคิดก็เป็นความคิด เราสามารถสังเกตเห็นความคิดได้ ไม่ต้องไปตัดสินว่าความคิดนั้นดีหรือไม่ดี แค่ขยันสังเกตดูมัน ดูแล้วสักพักก็กลับไปดูอีก โดยผู้หวังดีจะต้องเป็นคนออกปากชวนทุกขั้นตอน หมายถึงชวนให้ย้อนกลับไปมองความคิด ว่าเมื่อตะกี้คิดอะไรอยู่ จะหวังให้คนเป็นโรคซึมเศร้ามีทักษะที่จะย้อนดูความคิดของตัวเองได้ด้วยตนเองนั้นคงยาก ต้องมีคนชวนให้ย้อนไปมองทีละครั้ง ทีละครั้ง แล้วทักษะที่จะสังเกตความคิดของตัวเองได้จึงจะค่อยๆเพิ่มขึ้นจนทำได้เองในที่สุด

ขั้นที่ 3. ชวนให้จดจำหรือตีทะเบียนความคิดอยากฆ่าตัวตาย กล่าวคือคนเรานี้เวลาที่อยู่ดีๆ ใจเย็นๆ ใจร่มๆอยู่ คนเราทุกคนล้วนรู้ว่าความคิดในลักษณะที่เป็นอารมณ์ (emotion) แบบไหนที่เป็นตัวอันตราย อย่างเช่นเราทุกคนรู้ว่าความโกรธเป็นพิษกับตัวเอง เป็นต้น แต่ตอนที่ใจมันไม่เย็น ใจมันไม่ร่ม เราจะเผลอไปกับอารมณ์โดยตั้งตัวไม่ติด ความซึมเศร้าจนอยากฆ่าตัวตายก็เช่นกัน เวลาใจดีๆอยู่คนเป็นโรคซึมเศร้าทุกคนรู้ว่าการฆ่าตัวตายไม่ดี โหลงโจ้งแล้วเสียมากกว่าได้ แต่พอเวลาใจมันถูกครอบด้วยความซึมเศร้าขึ้นมาก็ถูกอารมณ์ดึงไปหมด ดังนั้นเมื่อเราอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยากฆ่าตัวตาย เราต้องหาจังหวะที่เขาใจดีๆชักชวนเขาให้หัดจดจำหรือตีทะเบียนความคิดอยากฆ่าตัวตายไว้ ว่านี่เป็นความคิดอันตราย ไม่เข้าท่า เสียมากกว่าได้ ให้จำความคิดนี้ไว้ พอความคิดนั้นกลับมาอีก เราจะได้ตั้งหลักได้และชี้หน้ามันได้ว่า

“..เอ็งมาอีกละ”

แล้วก็ตั้งการ์ดสังเกตดูมันอยู่ห่างๆไม่ให้คลาดสายตา โดยธรรมชาติถ้าเราตั้งหลักสังเกตได้เสียตั้งแต่แรกเริ่มที่ความคิดมา ความคิดนั้นมันจะขวยอายและฝ่อหายไปเองอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเราเผลอปล่อยให้ใจเราไปคลุกอยู่ในความคิดนั้นเป็นนานสองนาน มันเป็นการยากเสียแล้วที่เราจะถอยออกมาตั้งหลักสังเกตดูมันได้ ดังนั้นหัวใจของการจดจำตีทะเบียนความคิดก็คือทำให้เรารู้ตัวอย่างรวดเร็วว่าความคิดอันตรายนั้นมันมาอีกแล้ว เราจะได้รีบสังเกตและเกาะติดดูมันได้ทันการ เมื่อมันถูกเฝ้าดู ความคิดมันจะค่อยๆหมดพลังแล้วฝ่อหายไป

ขั้นที่ 4. หาเวลาชวนกันนั่งสมาธิวางความคิดแบบสั้นๆสัก 1 นาที ชวนกันทำพร้อมกัน หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพัก ผ่อนลมหายใจออกยาวๆ ยิ้ม ผ่อนคลาย ทำอย่างนี้ไปสักสิบลมหายใจ ซึ่งก็คือ 1 นาที ชวนให้ทำอย่างนี้ทุกครั้งที่ได้พบกันหรือมีโอกาสได้คุยกัน การได้วางความคิดลงไปบ้าง แม้เพียง 1 นาที จะเป็นการค่อยๆแง้มเปิดช่องให้ความรู้ตัวฉายแสงออกมาทีละนิดๆจนในที่สุดก็สามารถสลายความย้ำคิดเรื่องอยากจะฆ่าตัวตายได้

ขั้นตอนที่ 5. หาพลังเสริมให้ หมายถึงหาทางให้ผู้ป่วยได้รับพลังชีวิตจากบุคคลอื่นที่รักเมตตาผู้ป่วยอย่างแท้จริง เช่นพ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้ป่วยบางคนจะมีคนแบบนี้สำหรับเขาอยู่ไม่กี่คน ให้หาทาดึงคนแบบนี้มานั่งอยู่ใกล้ๆผู้ป่วยสักไม่กี่นาที แม้ไม่ต้องพูดอะไรสักคำ ผู้ป่วยก็จะได้รับพลังเสริมที่จะไปต่อสู้กับความย้ำคิดที่จะฆ่าตัวตายได้แล้ว ยิ่งหากมีการสัมผัสจับต้องโอบกอด หรือพูดอะไรที่แสดงความรักเมตตาแก่ผู้ป่วย ผลดีที่ได้แก่ผู้ป่วยก็ยิ่งมาก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์