Latest

ผู้สูงอายุชาย เกิดอาการหนาว..ว

(ภาพวันนี้: มอสของแท้ออริจินอล ไม่ใช่มอสเลี้ยง)

กราบเรียนคุณหมอสันต์

คุณพ่ออายุ 88 ปี ชอบบ่นว่าหนาวจนทนไม่ได้ ใครเปิดแอร์ไม่ได้เลย บางวันสั่นด้วย เคยพาไปโรงพยาบาล หมอบอกว่าติดเชื้อในกระแสเลือดหมอให้นอนโรงพยาบาลแต่คุณพ่อไม่ยอมนอน จึงได้ยาปฏิชีวนะมาทานสามอย่าง ทานอยู่ 2 สัปดาห์ครบทุกเม็ดจนยาหมด อาการหนาวสั่นก็ยังไม่หาย ขอคำแนะนำจากคุณหมอด้วยค่ะว่าควรทำอย่างไรดี

ขอบพระคุณค่ะ

………………………………………………………

ตอบครับ

คุณให้ข้อมูลมาแค่นี้ผมจะไปตรัสรู้ได้อย่างไร คนแก่ผู้ชายรู้สึกหนาวผิดปกติมีสาเหตุได้ตั้งหลายอย่าง เช่นไปเจ๊าะแจ๊ะกับสาวๆแล้วภรรยามาพบเข้าก็หนาว..ว แล้ว (ฮิ ฮิ ขอโทษ เผลอพูดเล่น) ผมหมายความว่าผมต้องการข้อมูลเพิ่ม อย่างน้อยผมต้องรู้ว่า

(1) ที่ว่าหนาวๆสั่นๆนั้น อุณหภูมิร่างกายของท่านเท่าใด กี่องศา ไปซื้อปรอทร้านขายยามาให้ท่านอมก็ได้ ผมจะได้ประเมินความเป็นไปได้ของการหนาวสั่นว่าเป็นเพราะการติดเชื้อหรือไม่

(2) ที่ว่าความดันเลือดไม่ต่ำนั้นก็ดีแล้ว แต่ว่าอัตราการเต้นของหัวใจ (HR) เครื่องอ่านได้เท่าไหร่ คือเครื่องวัดความดันนั่นแหละ มันอ่านอัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจรด้วย ผมจะได้ประเมินการทำงานของระบบหัวใจหลอดเลือดและระบบประสาทอัตโนมัติว่ามันถูกเร่งจี๋หรือถูกหน่วงไว้

(3) คุณพ่อของคุณน้ำหนักตัวเท่าใด สูงกี่ซม. ผมจะได้ประเมินดัชนีมวลกายของท่าน หากต่ำเกินไปอาการขี้หนาวก็อาจจะเกิดจากภาวะขาดอาหาร

(4) ตอนที่ไปเข้าโรงพยาบาลครั้งที่แล้วผลตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) เป็นอย่างไร ถ่ายรูปผลส่งมาให้ดูด้วย

(5) ผมต้องได้ทราบผลการทำงานของต่อมไทรอยด์ด้วย อย่างน้อยต้องได้ผลตรวจสองค่ามา คือ TSH และ FT4 เพื่อที่ผมจะได้ประเมินได้ว่าต่อมไทรอยด์เป็นสาเหตุหรือเปล่า

เอาข้อมูลพวกนี้มาให้ครบก่อน จึงจะตอบ ไม่งั้นไม่ตอบ แล้วเลิกกัน ไม่ใช่หมอสันต์เล่นตัวนะ แต่เป็นเพราะหมอสันต์ทำมาหากินกับวิชาแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งวิธีหากินคือใช้ตรรกะและหลักวิชาสอบสวนไตร่ตรองเอาจากข้อมูลผลการซักประวัติตรวจร่างกายและตรวจแล็บที่ครบถ้วน ไม่ได้หากินด้วยวิชาเจโตปริยญาณจะได้ถามอะไรปุ๊บตอบปั๊บได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน (ฉบับที่ 2.)

กราบขอบพระคุณคุณหมอ

หนูไม่สามารถหาข้อมูลผลการตรวจจากโรงพยาบาลได้ จึงไปจ้างห้องแล็บเขาทำให้ ตอนแรกเขาไม่ยอมทำ ว่าหมอไม่ได้สั่ง พอหนูบอกว่าหมอสันต์สั่งให้ทำเขารีบทำให้เลยค่ะ 5555

น้ำหนักของคุณพ่อ 56 กก. สูง 165 ซม. วัดอุณหภูมิได้ 36.7 องศา ความดันครั้งใหม่ 120/74 ชีพจร 52 ผลตรวจเลือดและไทรอยด์ตามแนบค่ะ

…………………………………………………

ตอบครับ (ครั้งที่ 2)

ดูจากน้ำหนักส่วนสูงคำนวณดัชนีมวลกายได้ 20.56 แสดงว่าร่างกายไม่ได้เป็นโรคอดอยากขาดอาหาร ดูจากอุณหภูมิร่างกายแสดงว่าหนาวจริง ไม่ได้หนาวสั่นเพราะเป็นไข้แบบติดเชื้อ ความดันและชีพจรแสดงว่าไม่ได้อยู่ในภาวะช็อกหรือภาวะที่ระบบประสาทอัตโนมัติกำลังกระตุ้นระบบหัวใจหลอดเลือดแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามชีพจรกลับถูกกดให้ช้ากว่าปกติแสดงว่าดุลยภาพของฮอร์โมนในร่างกายเอียงไปทาง “หน่วง” ไม่ใช่ทาง “เร่ง” ผล CBC บอกว่าเม็ดเลือดแดงยังดีอยู่แสดงว่าไม่ได้หนาวเพราะโลหิตจาง การที่เม็ดเลือดขาวปกติก็สนับสนุนอีกทางว่าไม่น่ามีการติดเชื้อ ผลการตรวจไทรอยด์ทำให้วินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคไฮโปไทรอยด์ (primary hypothyroidism) ทั้งนี้ดูจากการที่ฮอร์โมนกระตุ้นต่อม (TSH) สูงผิดปกติ (= 14.761 microIU/ml) ขณะที่ตัวฮอร์โมนไทรอยด์ที่ต่อมผลิตขึ้น (FT4) ต่ำผิดปกติ (= 0.81 ng/dL) ซึ่งเข้าได้กับการมีอาการขี้หนาวและหัวใจเต้นช้าอันเป็นเอกลักษณ์ของโรคนี้

ผมวินิจฉัยโรคให้คุณแล้วนะ ที่เหลือเป็นเรื่องของการรักษาซึ่งบังเอิญโรคนี้รักษาด้วยการปรับอาหารและการใช้ชีวิตด้วยตัวเองไม่ได้เพราะการรักษาหลักมันต้องใช้ยา ผมจึงขอแนะนำให้คุณพาพ่อกลับไปโรงพยาบาลเดิม เจาะจงไปขอตรวจที่คลินิกต่อมไร้ท่อ (ก็คือคลินิกเบาหวานนั่นแหละ) เพราะหมอที่จะรักษาโรคนี้ได้ดีที่สุดคือหมอโรคต่อมไร้ท่อ (endocrinologist)

ในกรณีที่พ่อไม่ยอมไปโรงพยาบาล การซื้อยากินเองก็อาจจะพอทำได้แต่ไม่ดีเท่าไปโรงพยาบาล ยาที่ใช้รักษาชื่อ levothyroxine ให้เริ่มกินในขนาด 50-100 ไมโครกรัม วันละครั้ง อาการขี้หนาวจะดีขึ้นภายใน 5 วัน แล้วควรเจาะเลือดติดตามดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ใน 6 สัปดาห์หลังเริ่มรักษา การรักษาโรคนี้ต้องทำนานหลายเดือนหรืออาจจะหลายปีขึ้นอยู่กับว่าต่อมไทรอยด์จะกลับมาผลิตฮอร์โมนได้เองหรือไม่และได้เมื่อไหร่ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมแนะนำให้ไปรักษากับหมอ endocrinologist อีกเหตุผลหนึ่งคือการสนองตอบต่อการรักษาโรค primary hypothyroidism มีหลายแบบ บางแบบก็ดื้อยาต้องเพิ่มขนาดเป็นพันไมโครกรัมต่อวันจึงจะได้ผล บางแบบก็ไม่สนองตอบเลยเพราะร่างกายเปลี่ยนฮอร์โมนไทรอยด์ในรูปแบบก่อนใช้ (FT4) ไปเป็นรูปแบบพร้อมใช้ (FT3) ไม่ได้ ต้องเลี่ยงไปใช้ยาที่มีทั้ง FT4 และ FT3 อยู่ในเม็ดเดียวกัน ชื่อยา Armour thyroid แทน นอกจากนี้ยังมีประเด็นโรคร่วมอีก ซึ่งต้องค้นหาและรักษาไปพร้อมๆกัน เช่นภาวะขาดวิตามินเอ.ซึ่งเกิดจากไม่มีฮอร์โมนไทรอยด์ไปเปลี่ยนแคโรทีนไปเป็นวิตามินเอ. หรือเช่นอีกโรคหนึ่งคือโรค myxedema ซึ่งการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ทำให้เกิดสารชื่อ glucosaminoglycans คั่งอยู่ตามที่ต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามอวัยวะสำคัญเช่นหัวใจ กระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้การทำงานของอวัยวะเหล่านั้นเพี้ยนไปได้ ดังนั้นในระยะยาวเมื่อป่วยเป็นโรคไฮโปไทรอยด์ควรรักษากับหมอโรคต่อมไร้ท่อจะดีที่สุด หมอแบบนี้มีอยู่ในโรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่ในทุกจังหวัด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์