Latest

ทางเลือกของผู้ประกันตนตามมาตรา 39

เรียนถามค่ะ

เคยทำงานอยู่ ม.33 ลาออกจากงานเดือน พค. ปี 59 ตอนลาออกเงินเดือน 33000 พอลาออกมาต่อ 39 โดยไม่ได้ศึกษาค่ะก้อเท่ากับตอนนี้ต่อ 39 มา 6 ปีนี้แล้วค่ะและมีเงินสะสม 170000 กว่า ตอนแรกคิดว่าจะส่งถึง55ปีแล้วลาออกเพื่อรับบำนาญรายเดือนพอทราบว่าเขาจะคิดฐานเงินเดือนให้ที่ 4800 หนูควรทำไงต่อดีค่ะ ส่งต่อเรื่อยๆเป็นมรดกหรือพอแค่นี้คือหยุดส่งรออายุ55ปี รับรายเดือนนะคะ

…………………………………………………………

ตอบครับ

นี่ไม่ใช่คำถามเรื่องสุขภาพ แต่เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย คือเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสังคมสำหรับพนักงานวัยใกล้เกษียณ อย่างว่าแหละ แฟนบล็อกหมอสันต์เกือบทั้งหมดก็เป็นคนระดับใกล้เกษียณขึ้นไปทั้งนั้น คำถามแบบนี้จึงมีเข้ามาประปรายไม่ขาด สมัยหนึ่งที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่รับประกันสังคมแห่งหนึ่ง ต้องตอบคำถามเรื่องพวกนี้จากคนไข้บ่อยมากจนผมเองจำกฎหมายประกันสังคมได้แยะ ก่อนตอบคำถามผมขออธิบายศัพท์เกี่ยวกับประกันสังคมก่อนนะ

มาตรา 33 เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างในสถานประกอบการที่ลูกจ้าง(ในฐานะผู้ประกันตน)จ่ายเงินสมทบเดือนละ 5% ของค่าจ้างแต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน แล้วระบบประกันสังคมให้ความคุ้มครอง 7 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีคลอดบุตร, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต, กรณีสงเคราะห์บุตร, กรณีชราภาพ, กรณีว่างงาน

มาตรา 39 เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ของที่ได้ออกจากสถานะเดิมในมาตรา 33 มาสมัครเข้ามาเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจไม่มีนายจ้างมาจ่ายสมทบ มีแต่ตัวผู้ประกันตนเองเป็นผู้จ่ายเงินสมทบ 432 บาท/เดือน แล้วระบบประกันสังคมให้ความคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีคลอดบุตร, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต, กรณีสงเคราะห์บุตร, กรณีชราภาพ (ไม่มีกรณีว่างงาน)

มาตรา 40 เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่สมัครเข้ามาเป็นผู้ประกันตน สามารถเลือกสมัครได้ 3 ทางเลือกคือ ทางเลือกที่ 1 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน คุ้มครอง 3 กรณี คือกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต ทางเลือกที่ 2 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน คุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ ทางเลือกที่ 3 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน
คุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ กรณีสงเคราะห์บุตร

ประเด็นคำถามของแฟนท่านนี้ก็คือตอนที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 นั้นเข้าใจผิดว่าเขาจะให้บำนาญโดยคิดเงินเดือนขั้นสุดท้ายสูงสุดที่ 15000 บาทเหมือนมาตรา 33 แต่ต่อมามาทราบความจริงว่าเข้าใจผิด ของจริงคือผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องคิดเงินเดือนเฉลี่ยระหว่างอยู่ในมาตรา 39 ที่เดือนละ 4800 บาท พอรู้เข้าอย่างนี้ก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เอ๊ย..ไม่ใช่ เกิดความรู้สึกว่าตัวเองจะได้ไม่คุ้มเสียหากจ่ายเงินสมทบต่อไปจนอายุครบ 55 ปี จึงเขียนมาถามหมอสันต์ว่าจะจ่ายต่อดี หรือไม่จ่ายต่อดี เอาละ คราวนี้มาตอบคำถาม

การจะตอบคำถามนี้ได้ คุณก็ต้องคำนวนประโยชน์ที่คุณจะได้จากทางเลือกทั้งสองแบบ ผมจะคำนวณให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่ว่าคุณยังไม่บอกอายุผมมาเลยแล้วผมจะคำนวณได้ไหมเนี่ย ผมสมมุติว่าตอนนี้คุณอายุ 50 ปีก็แล้วกันนะ แล้วผมสมมุติว่าคุณจะมีอายุยืนยาวไปถึง 90 ปีนะ

ทางเลือกที่ 1. เลิกจ่ายสบทบตอนนี้แล้วไปรอรับบำนาญเอาตอนอายุ 55 ปี คุณก็จะได้บำนาญ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายซึ่งก็คือ 4800 บาท 20% ก็คือได้บำนาญเดือนละ 960 บาท รับบำนาญอยู่นาน 90-55 = 35 ปี หรือ 420 เดือน เป็นเงิน 403,200 บาท บวกเงินที่ประหยัดไว้ไม่ต้องจ่ายสมทบจากนี้ไปจนอายุ 55 ปี (ุอีก 5 ปี) เป็นเงิน 432 บาท x 60 เดือน = 25,920 บาท รวมโหลงโจ้งได้เงินเมื่อนับถึงอายุ 90 ปีเป็นเงิน 429,120 บาท

ทางเลือกที่ 2 ยอมจ่ายสมทบต่อไปจนอายุครบ 55 ปี คัวคูณ 20% จะได้เพิ่มมาอีกปีละ 1.5% ห้าปีก็ 7.5% ดังนั้นตัวคูณของคุณก็คือ 27.5% คูณกับเงินเดือน 4800 บาท = ได้บำนาญเดือนละ 1320 บาท รับอยู่นาน 420 เดือน ก็เป็นเงิน 554,400 บาท

คำตอบก็ออกมาชัดอยู่แล้วว่าหากมีอายุยืนไปถึง 90 ปี การจ่ายเงินสมทบต่อไปจนอายุครบ 55 ปีก็มีประโยชน์มากกว่าครับ คุณเข้าใจวิธีคิดนะ คุณเอาไปคิดต่อเอาเอง เพราะผมไม่รู้อายุจริงของคุณตอนนี้เท่าไหร่ และไม่รู้ว่าคุณจะตายตอนอายุเท่าไหร่ หิ หิ ถ้าคุณมีแผน เอ๊ย..ไม่ใช่ ถ้าคุณคิดว่าจะอายุสั้น การหยุดส่งเสียเดี๋ยวนี้อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ว่าที่จริงแล้วการมีมาตรา 39 หรือการเปิดให้คนที่ออกจากงานต่อสิทธิได้ด้วยการเป็นผู้ประกันตนเองนั้น เป็นลูกเล่นที่จะชลอการจ่ายบำนาญนั่นเอง ถ้าสมาชิกขยันต่อบัตรกันมากและขยันจ่ายสมทบไปจนตายคาทั้งๆที่ยังเป็นสมาชิกอยู่ ระบบก็จะอยู่ได้ยั่งยืนกว่าการมีแต่สมาชิกที่จ้องจะออกไปนั่งกินบำนาญท่าเดียว

ตอบคำถามคุณจบแล้ว ไหนๆก็คุยกันถึงสิทธิผู้ประกันตนแล้วผมอยากจะพูดกับแฟนบล็อกที่เป็นผู้ประกันตนตอนนี้เสียเลยว่าส่วนที่ดีที่สุดของบัตรประกันสังคมก็คือสิทธิประโยชน์ชราภาพ หรือบำนาญเนี่ยแหละ เพราะในบรรดาเงินประกันสังคมที่เก็บไปทั้งหมด ราว 90% จะไปเป็นกองทุนชราภาพก็คือบำนาญนั่นเอง ดังนั้นผู้ที่ทำงานมาจนจวนจะครบ 180 เดือนอยู่แล้วแต่มีเหตุให้ต้องออกจากงานขอให้อดทนจ่ายสมทบผ่านมาตรา 39 ไปจนครบ 180 เดือนเพื่อเอาบำนาญ เพราะเป็นประโยชน์ที่เป็นเนื้อเป็นหนังที่สุดของระบบประกันสังคม

อย่างไรก็ตามทุกอย่างเป็นอนิจจัง ขณะที่จ่ายๆไปแล้วก็ให้ทำใจเผื่อไว้ด้วย เพราะผมเดาเอาจากตัวเลขปัจจุบันว่าบบประกันสังคมไปได้อย่างเก่งก็อีกไม่เกินสามสิบปี เพราะตามข้อมูลเท่าที่เปิดเผยออกมา เราเริ่มจ่ายบำนาญในปี พ.ศ. 2557 ปีแรกก็มีคนรับบำนาญราว 1.3 แสนคน จ่ายเงินไป 4,700 ล้านบาท คำนวณแบบง่ายๆพอไปถึงปี 2587 เงินออก (20% ของค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้าย) ก็จะเริ่มมากกว่าเงินเข้า (ฝ่ายละ 3%ของค่าจ้าง) แปลไทยให้เป็นจีนว่า “บ้อจี๊” ยิ่งคนมีแต่จะอายุยืนขึ้น ท้ายที่สุดระบบจะไปต่อไม่ได้และต้องหาสนามบินลง จะลงอีท่าไหนนั้น ผมเองก็เดาไม่ถูกเหมือนกัน

อีกประการหนึ่ง ในการจะเป็นคนเกษียณหรือคนชรานี้ คุณอย่าไปมัวนั่งนับสิทธิประโยชน์เบี้ยหวัดบำนาญ ช่างเป็นเรื่องที่ไร้สาระสิ้นดี ในการจะเป็นผู้ชราที่ประสบความสำเร็จนี้มันไม่มีอะไรดีกว่าการรู้จักใช้ชีวิตให้สงบเย็นและสร้างสรรค์แบบพึ่งตัวเองได้ 100% ไปทีละวันจนชนวันสุดท้ายของชีวิต นั่นหมายความถึงการดูแลสุขภาพตัวเองเสียตั้งแต่วันนี้ กินอาหารที่มีพืชเป็นหลักและไขมันต่ำ ออกกำลังกายทุกวัน จัดการความเครียดโดยหัดวางความคิดลบๆทิ้งไปเสีย นอนหลับให้ได้ดีโดยไม่ใช้ยา ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ตากแดด ขุดดิน ฟันหญ้า ปลูกต้นไม้ ใส่ใจที่จะฝึกฝนทำกิจวัตรสำคัญ  (IADL) เจ็ดอย่าง และกิจวัตรจำเป็น (ADL) ห้าอย่าง ให้ได้ด้วยตัวเองให้ได้นานจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

     กิจวัตรสำคัญเจ็ดอย่าง (IADL) ได้แก่

     (1) อยู่คนเดียวได้ หมายความว่าทนเหงาได้
     (2) ขนส่งตัวเอง เช่นถีบรถ ขับรถ หรือไปขึ้นรถเมล์ ได้
     (3) ทำอาหารกินเองได้
     (4) ช้อปปิ้งเองได้
     (5) บริหารที่อยู่ตัวเองได้ เช่นปัดกวาดเช็ดถู
     (6) บริหารยาตัวเองได้
     (7) บริหารเงินของตัวเองได้

     ส่วนกิจวัตรจำเป็นห้าอย่าง (ADL) ได้แก่

     (1) อาบน้ำแปรงฟันได้เอง
     (2) แต่งตัวสวมเสื้อผ้าได้เอง
     (3) กินเองได้
     (4) อึฉี่เองได้
     (5) เดินเหินเองได้

     กิจวัตรจำเป็นห้าอย่างนี้ หากทำไม่ได้แม้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ก็หมายความว่าพึ่งตัวเองไม่ได้แล้ว ต้องปล่อยชีวิตให้ไหลไปตามแต่พระพรหมจะลิขิต ว่ามันจะไปจบที่โรงเลี้ยงคนแก่ของ อบต. หรือห้องบริบาลใต้ถุนรพ.สต. หรือไปจบร่วมกับหมาแมวที่ใต้ถุนศาลาวัดก็ช่างมันเถอะ เพราะจบที่ไหนท้ายที่สุดก็แป๊ะเอี้ย..คือ ตายเหมือนกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์