Latest

ปวดร้าวรักแร้ตอนออกแรง หลอดเลือดหัวใจตีบสามเส้น ครอบครัวความเห็นแตกแยก

(ภาพวันนี้: นี่คือกระปุกพริก ฮิ..ฮิ)

เรียน คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์

เนื่องจากคุณพ่อ อายุ 63 ปี เพิ่งตรวจพบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบตันทั้ง 3 เส้น (มีอาการปวดร้าวบริเวณรักแร้-แขนซ้าย เวลาเดินมากหรือเหนื่อย มาประมาณ 3 เดือนจึงไปตรวจ)

คุณหมอที่โรงพยาบาลแนะนำให้ทำบอลลูนหรือบายพาสค่ะ ตอนนี้นัดทำบอลลูนไว้แล้ว แต่คุณพ่อไม่อยากทำ และในครอบครัวมีทั้งความเห็นแตกต่างกันในวิธีการรักษาค่ะ

อยากรบกวนขอเรียนถามคุณหมอ ดังนี้ค่ะ

1. อาการระดับนี้สามารถใช้การดูแลตนเองตามแนวทางของคุณหมอสันต์  โดยไม่ทำบอลลูนหรือบายพาสได้หรือไม่คะ
– อาการที่ทราบจากการฉีดสี คือ
  เส้นด้านหน้า เกือบตันถึงตัน
  เส้นขวา ตีบ 80%
  เส้นข้าง ตีบ 80%
(ครอบครัวกังวลว่าถ้าไม่รีบทำบอลลูนจะน็อคไปเลยค่ะ เพราะคุณหมอที่โรงพยาบาลบอกว่าเร่งด่วนค่ะ)

ส่งผลตรวจสวนหัวใจมาให้ 7 ภาพ และยาทั้งหมดที่กินมาด้วยค่ะ

2. ตอนคุณหมอสันต์เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ทราบระดับการตีบขนาดไหนคะ

3. ถ้าใช้การดูแลตัวเองตามแนวทางของคุณหมอสันต์  ใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะเริ่มเห็นผล และจะเห็นผลอย่างไรคะ

ขอบพระคุณค่ะ

…………………………………………………….

ตอบครับ

ผมได้ดูผลตรวจสวนหัวใจของคุณอย่างละเอียดแล้ว สรุปว่าคุณพ่อของคุณ

1.. เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบไม่ด่วน (stable angina)

2.. มีอาการเจ็บหน้าอกระดับ 1/4

3. ผลสวนหัวใจพบว่าโคนหลอดเลือดข้างซ้าย (LM) ปกติ หลอดเลือดโดยรวมดีมาก มีรอยตีบอยู่สามตำแหน่งที่ LAD, CF และ RCA กล้ามเนื้อหัวใจปกติ

เอาละทีนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่ามันด่วนไหม ต้องทำนั่นทำนี่กันเดี๋ยวนี้ไม่งั้นตายจริงไหม ตอบว่าไม่ด่วนหรอกครับ ชื่อโรคมันก็บอกอยู่แล้ว stable แปลว่าเสถียร ก็คือไม่ด่วน คนไทยวัยนี้ที่เดินถนนอยู่เป็นโรคระดับนี้ผมว่าอย่างน้อยก็ 10-20% เพียงแต่ไม่รู้ตัวเท่านั้นแหละ ถ้าจะจับเอาคนป่วยเป็นโรคระดับนี้ไปทำบอลลูนหมดต้องขยายไปทำถึงประเทศเพื่อนบ้าน เพราะศูนย์หัวใจในเมืองไทยมันไม่พอทำ ฮิ..ฮิ

2.. ถามว่าถ้าไม่ทำอะไรเลยจะแย่ไปกว่านี้ไหม ตอบว่าแย่แน่นอนครับ เพราะการดำเนินตามธรรมชาติของโรคนี้ในกรณีที่ปัจจัยเสี่ยงยังมีอยู่เหมือนเดิมพร้อมหน้าก็คือโรคจะเดินหน้าต่อไป รอยตีบจะตีบมากขึ้น ถึงจุดหนึ่งตุ่มไขมันจะแตกออก เกิดการอุดตันหลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) ซึ่ง ณ จุดนั้นมีโอกาสกลับบ้านเก่า 70%

3.. ถามว่าจะรักษาแบบไหนดี ตอบตามงานวิจัย COURAGE ว่าคนแบบคุณพ่อของคุณนี้ตีบสองเส้นบ้างสามเส้นบ้าง เจ็บหน้าอกระดับไม่เกิน 3/4 รักษาแบบรุกล้ำคือบอลลูนบายพาส กับแบบไม่รุกล้ำ คือไม่ทำ ผลระยะยาวในแง่ของการเกิดจุดจบที่เลวร้ายของโรคเท่ากันครับ รวมทั้งอัตราตายก็เท่ากัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นกลุ่มที่ว่าไม่ทำอะไรรุกล้ำในงานวิจัย COURAGE นั้นไม่ได้เปลี่ยนอาหารเลยนะ ถ้าไม่ทำอะไรรุกล้ำและเปลี่ยนอาหารเลิกกินสัตว์มากินแต่พืชด้วย อย่างในงานวิจัยของดีน ออร์นิช ซึ่งพิสูจน์ด้วยการสวนหัวใจซ้ำๆ พบว่าโรคมันถอยกลับได้ รอยตีบมันโล่งขึ้น ดังนั้นผมเดาเอาว่าถ้าไม่ทำอะไรรุกล้ำด้วยและเปลี่ยนอาหารด้วย ผลจะไม่แค่จะเท่ากับหวังพึ่งบอลลูนบายพาสเท่านั้น แต่จะดีกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม การจะเลือกวิธีรักษาข้างไหน ต้องสุดแล้วแต่ใจของตัวผู้ป่วย กองเชียร์ไม่ควรไปสอดแทรก เพราะมีแต่เสียกับเสีย หากแนะนำให้ทำการรักษาแบบรุกล้ำแล้วไปทำจริงแล้วเกิดตายขึ้นมา กองเชียร์ก็รู้สึกผิด ในทางกลับกันหากแนะนำให้รักษาแบบไม่รุกล้ำ เมื่อทำตามแล้วเขาเกิดตายขึ้นมา กองเชียร์ก็รู้สึกผิดอีก ดังนั้นหน้าที่ของกองเชียร์คือสงบเสงี่ยม แผ่เมตตา เอาใจช่วย แต่มอบให้ผู้ป่วยตัดสินใจเอง

4.. ถามว่าถ้าจะใช้วิธีรักษาตัวเองแบบหมอสันต์ว่าจะใช้เวลากี่วัน กี่เดือน กี่ปี จึงจะหาย ตอบว่า หิ หิ คนจะตอบคำถามนี้ได้มีคนเดียวเท่านั้น คือพระพรหม หมอสันต์ตอบไม่ได้หรอกครับเพราะปัจจัยที่เราไม่รู้มันแยะ อย่างผมถามคุณว่าสมมุติตัวคุณกับเพื่อนของคุณซึ่งอายุเท่ากันและต่างก็มีสุขภาพดีทั้งคู่ ใครจะตายก่อนกัน คุณตอบผมได้ไหมละ

ประเด็นของผมก็คือคนเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจทุกคน ไม่ว่าจะมีอาการแล้วหรือยังไม่มีอาการ ได้เข้าไปมีชื่ออยู่ในบัญชีของยมพบาลแล้วว่าเป็นพวกที่จะไม่ได้ตายดี เพราะโรคหัวใจนั้นชื่อที่แท้จริงของเขาคือโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) แปลว่ามันจะแข็งตรงไหนก็ได้ ถ้าแข็งที่หัวใจก็เป็นโรคหัวใจ ถ้าแข็งที่สมองก็เป็นอัมพาตหรือสมองเสื่อม แข็งที่ไตก็เป็นโรคไตเรื้อรัง แข็งที่หลอดเลือดใหญ่ที่ท้องก็เป็นหลอดเลือดโป่งพองแล้วแตก แขงที่ปลายขาก็อาจจะต้องตัดขา ทุกโรคเป็นโรคที่ทำให้ไม่ได้ตายดีทั้งนั้น ไม่มีใครรู้ว่าใครมีเวลาเหลือเท่าใดก่อนที่การตายแบบไม่ดีจะมาถึง ใครจะหลุดจากการถูกขึ้นบัญชีนี้เมื่อใดก็อยู่ที่การเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตของตัวเองว่าทำช้าทำเร็วทำจริงทำไม่จริงแค่ไหน ดังนั้นทุกคนอย่าว่าแต่คุณพ่อของคุณที่มีอาการเจ็บหน้าอกแล้วเลย ถึงท่านผู้อ่านท่านอื่นที่แค่มีปัจจัยเสี่ยงเช่นไขมันในเลือดสูง อ้วน ความดันสูง ก็ต้องรีบเปลี่ยนอาหารที่กินและเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแล้ว อย่าไปเชื่อคำขู่ที่ว่ารีบไปทำบอลลูนหรือบายพาสซะจะอายุยืนขึ้น นั่นพิสูจน์แล้วด้วยงานวิจัย COURAGE ว่ามันไม่จริง การทำการรักษาแบบรุกล้ำไม่ใช่ปัจจัยลดจุดจบที่เลวร้ายหรือเพิ่มความยืนยาวของชีวิตในโรค stable angina แต่การรีบเปลี่ยนอาหารให้ได้นี่มันเป็นของที่พิสูจน์ได้แล้วว่าทำให้โรคถอยกลับได้จริง

5.. ถามว่าในทางปฏิบัติการจะรักษาตัวเองตามแนวของหมอสันต์จะทำอย่างไรให้สำเร็จ ตอบว่าการจะสำเร็จมันมีสามองค์ประกอบคือ

(1) ความรู้ ซึ่งผมมั่นใจว่าคุณพ่อของคุณมีอยู่แล้ว เหมือนคนที่มีทุกข์อยู่ทุกวันนี้มีใครไม่รู้หลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาบ้าง ทุกคนรู้หมด แต่ความรู้อย่างเดียวไม่พอที่จะทำให้โรคหายได้

(2) ทักษะ หรือ skill อันนี้แหละที่มันขาดหายไปในคนส่วนใหญ่ คือทักษะด้านอาหาร พูดง่ายๆว่ากินของดีไม่เป็น ยังไม่ต้องพูดถึงทำเลย เอาแค่กินให้เป็นก่อน ผมจึงต้องเปิดแค้มป์สอนไง ถ้าคุณจะให้คุณพ่อมาเข้าแค้มป์ก็มาเข้า RDBY25 ซึ่งจะมีในวันที่ 18-21 มค. 66 ถ้าใจร้อนต้องมาเร็วกว่านั้นก็มาเข้าโปรแกรมฟื้นฟู 7 วัน มาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ว่า RP จะหนักไปทางกิจกรรมฟื้นฟูร่างกาย การเรียนการสอนจะไม่เข้มข้นเท่ามาเข้าแค้มป์ เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่จะได้ประโยชน์จากการมาเข้าแค้มป RDBY คือการลดและเลิกยาที่ไม่จำเป็น ซึ่งไปหาหมอที่อื่นมันยากที่เขาจะลดยาให้ เขามีแต่จะเพิ่ม ยิ่งบ่นมากเขายิ่งเพิ่มยา

(3) เจตคติ หรือ attitude หมายความว่าใจเสาะหรือใจสู้ หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือหวังพึ่งตัวเอง อันนี้มันเป็นบุ๊คหลิกของแต่ละคน หมอสันต์คงช่วยอะไรมากไม่ได้ ตัวใครตัวมันละกัน หิ..หิ

6.. ในระหว่างที่จดๆจ้องๆอยู่นี้ อย่างน้อยให้ออกกำลังกายตามกำลังตัวเองทุกวัน เจ็บหน้าอกก็ผ่อน หายเจ็บก็ออกต่อ เพราะงานวิจัยพบว่าคนเป็นโรคนี้หากออกกำลังกายจะคุณภาพชีวิตดีและตายช้า หากไม่ออกกำลังกายจะคุณภาพชีวิตแย่และตายเร็ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

บรรณานุกรม
1. Ornish D, Brown SE, et al. Can lifestyle changes reverse coronary heart disease. The Lancet 1990fb 336: 129-33 1990.
2. Ornish D, et. al. Intensive lifestyle changes for reversal of coronary heart disease. JAMA 1998; 280(23): 2001-2007 1998
3. Esselstyn CB Jr, Ellis SG, Medendorp SV, Crowe TD. A strategy to arrest and reverse coronary artery disease: a 5-year longitudinal study of a single physician’s practice. J Fam Pract 1995;41:560 –568.
4. Esselstyn CB Jr. Updating a 12-year experience with arrest and reversal therapy for coronary heart disease (an overdue requiem for palliative cardiology). Am J Cardiol 1999;84:339 –341.
5. Esselstyn CB Jr. Resolving the coronary artery disease epidemic through plant-based nutrition. Prev Cardiol 2001;4:171–177.
6. Piepoli MF, Davos C, Francis DP, et al. Exercise training meta-analysis of trials in patients with chronic heart failure (ExTraMATCH). BMJ.2004;328:189.
7. Boden WE, O’rourke RA, Teo KK, et al; COURAGE Trial Co-Principal Investigators and Study Coordinators.The evolving pattern of symptomatic coronary artery disease in the United States and Canada: baseline characteristics of the Clinical Outcomes Utilizing Revascularization and Aggressive DruG Evaluation (COURAGE) trial. Am J Cardiol. 2007;99:208-212.
8. Stergiopoulos K1, Boden WE2, Hartigan P3, Möbius-Winkler S4, Hambrecht R5, Hueb W6, Hardison RM7, Abbott JD8, Brown DL. Percutaneous coronary intervention outcomes in patients with stable obstructive coronary artery disease and myocardial ischemia: a collaborative meta-analysis of contemporary randomized clinical trials. JAMA Intern Med. 2014 Feb 1;174(2):232-40. doi: 10.1001/jamainternmed.2013.12855.