Latest

หมอสันต์พูดกับสมาชิกแค้มป์เรื่องการเปลี่ยนตัวตน (Shift of Identity)

(ภาพวันนี้: สาบเสือ หรือดอกเม็งวาย เหมือนคนใจง่าย..)

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกแค้มป์ ตอนเช้า ในสนามหญ้า ขณะที่ทุกคนนอนหงายบนเสื่อ มองดูท้องฟ้า)

เราเริ่มเรียนบทที่ 1. ก่อนนะ

เมื่อเรามองดูท้องฟ้า เราเห็นฟ้า เห็นก้อนเมฆ แต่นั่นเป็นเพียงครึ่งเดียวนะ สิ่งทำให้เราเห็นฟ้า เห็นก้อนเมฆ คือแสงอาทิตย์ที่สาดส่องหรือ illuminate ไปบนฟ้าและบนก้อนเมฆ หากไม่มีแสงอาทิตย์ส่อง เราก็จะไม่เห็นทั้งท้องฟ้า ไม่เห็นทั้งก้อนเมฆ

เมื่อเรามองก้อนเมฆ เราเห็นก้อนเมฆว่ามีสีขาว มีรูปทรงรีๆ อยู่ค่อนข้างสูง คือเราเห็นโดยแปลแบบอัตโนมัติออกมาเป็นชื่อ (names) เป็นรูปร่าง (forms) เป็นเรื่องราว เพราะเรามองจากอัตตาหรือตัวตน หรืออีโก้ ซึ่งมีตรรกะหรือคอนเซ็พท์ของชื่อและรูปร่างต่างๆอยู่ในหัวก่อนหน้านี้หมดแล้ว จากชื่อและรูปร่าง เรื่องราวต่างๆในรูปแบบของความคิดต่อยอดสิ่งที่เห็นผ่านตัวตนหรืออีโก้ก็จะเกิดขึ้นอย่างพร่างพรูประดังประเดต่อๆกันมาโดยอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้เป็นการเห็นจากมุมของการเป็นตัวตนหรืออีโก้

เราอาจจะมองเห็นก้อนเมฆและท้องฟ้าได้จากอีกมุมหนึ่งนะ คือเห็นจากการเป็นแสงอาทิตย์ สมมุติว่าตัวเราเป็นดวงอาทิตย์ เราจะเห็นก้อนเมฆและท้องฟ้าอย่างไร แน่นอนเราจะไม่เห็นว่าก้อนเมฆนี้เป็นก้อนเมฆ เพราะแสงอาทิตย์ไม่มีคอนเซ็พท์เรื่องชื่อ เราจะไม่เห็นว่าก้อนเมฆนี้มีรูปร่างรีๆ เพราะแสงอาทิตย์ไม่มีคอนเซ็พท์เรื่องรูปร่าง เราจะเห็นท้องฟ้าและเมฆแค่ตามที่มันปรากฎอยู่ โดยไม่มีชื่อ ไม่มีคอนเซ็พท์หรือเรื่องราวใดๆพร้อมกับการเห็นครั้งนี้ทั้งสิ้น

โดยสรุปในบทที่ 1. นี้ เราสามารถเห็นก้อนเมฆได้จากสองสถานะ คือสถานะที่เราเป็นตัวตนหรืออีโก้ เราเห็นเป็นชื่อเป็นรูปร่างเรื่องราว กับสถานะที่เราเป็นแค่แสงอาทิตย์ เราแค่เห็นตามที่มันเป็นไม่มีชื่อไม่มีรูปร่างเรื่องราว

คราวนี้เรามาเรียนบทที่ 2.

ท้องฟ้าก็ดี เมฆก็ดี หรือสิ่งอื่นๆ เช่นต้นไม้ นก เราเขาใจว่าเราเห็นมันอยู่ที่โน่น ที่นั่น ที่ข้างนอกตัวเรา แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ วิทยาศาสตร์ชี้ให้เราเห็นว่าแสงอาทิตย์ตกกระทบสิ่งเหล่านั้นแล้วสะท้อนมาเข้าตาเรา ไปตกทึ่จอประสาทตา ซึ่งจะสร้างกระแสไฟฟ้าขึ้นในเซลประสาทที่วิ่งไปสมอง แล้วอีท่าไหนไม่รู้ ก็เกิดภาพของท้องฟ้าและก้อนเมฆขึ้นในใจของเราให้เรารับรู้ได้ ดังนั้นทุกอย่างที่เราเห็นว่าอยู่ข้างนอก แท้จริงแล้วมันเกิดขึ้นที่ในใจเราทั้งสิ้น โลกทั้งโลกเกิดขึ้นและปรากฎต่อเราที่ในใจเรา

เอ้าคราวนี้ทุกคนหลับตานะ พอผมพูดถึงอะไร ให้คุณมองภาพในใจของคุณ ผมพูดว่า

“พระเจ้าอยู่หัว ร.10” คุณเห็นภาพแว้บขึ้นมาเลยใช่ไหม

คราวนี้คุณลองนึกถึงบ้านของคุณเองซิ เอาตั้งแต่ประตูรั้วเข้าบ้าน ทางเดิน ประตูบ้าน คุณเห็นภาพในใจทันทีเลยใช่ไหม

ทั้งหมดนี้ไม่มีแสงอาทิตย์เข้ามาเกี่ยวข้องนะ เพราะคุณหลับตาอยู่

แล้วแสงอะไรละที่ส่องสว่างหรือ illuminate ให้เราเห็นภาพในใจของเราทั้งๆที่หลับตาอยู่ ผมเรียกแสงนั้นว่า “แสงแห่งความรู้ตัว” ก็แล้วกัน ซึ่งมันก็คือ awareness หรือ consciousness หรือความที่เราตื่นอยู่รู้ตัวอยู่ ถ้าเรานอนหลับและไม่ฝัน แสงแห่งความรู้ตัวไม่มี เราก็จึงไม่เห็นภาพใดๆในใจเราเลย

เช่นเดียวกันกับการเห็นภาพที่ภายนอก การเห็นภาพหรือปรากฎการณ์ใดๆที่ในใจเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดนั้น เราก็เห็นมันได้จากสองสถานะนะ คือสถานะที่เราเป็นตัวตนหรืออีโก้ กับสถานะที่เราเป็นแสงแห่งความรู้ตัว

ในสถานะที่เราเป็นตัวตนหรืออีโก้ เราเห็นปรากฏการณ์ในใจเราในรูปของชื่อ รูปร่าง และเรื่องราว แต่ในฐานะของแสงแห่งความรู้ตัวเราเห็นปรากฏการณ์ในใจเราแค่เท่าที่มันเป็น ไม่มีชื่อ รูปร่าง และเรื่องราวเข้ามาเกี่ยวข้อง

สรุปว่าในบทที่ 2. นี้เราเห็นปรากฎการณ์ในใจเราได้จากสองสถานะ คล้ายกับการเห็นก้อนเมฆที่ข้างนอกจากสองสถานะเช่นกัน

บทเรียนที่ 3.

คือการมองให้ขาดว่าการเห็นจากสถานะของตัวตนหรืออีโก้ทำให้เกิดความคิดต่อยอดที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ขณะที่การย้ายมาเห็นจากสถานะของแสงแห่งความรู้ตัว หรือการ shift of identity จะทำให้เราไม่เป็นทุกข์

แต่ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้ เพราะเด็กนักเรียนประถมที่เรียนวิชาพุทธศาสนาก็พูดได้เป็นฉากๆว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะจะทำให้เป็นทุกข์ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ในชีวิตจริงจะทำอย่างไรจึงจะเลิกหรือละวางความคิดจากสถานะของอัตตาหรืออีโก้ลงไปให้หมดก่อนเพื่อเปิดโอกาสให้ได้เห็นจากสถานะของแสงแห่งความรู้ตัวบ้าง ประเด็นมันอยู่ตรงนี้

ซึ่งมันก็นำไปสู่บทเรียนที่ 4.

ว่าเราจะฝึกเทคนิคหรือฝึกใช้เครื่องมืออะไรบ้างเพื่อให้เราวางความคิดจากสถานะที่เป็นอัตตาหรืออีโก้ได้สำเร็จ ซึ่งเราจะฝึกกันวันนี้แหละ ฝึกกันที่นี่แหละ โดยวันนี้เราจะฝึกใช้เครื่องมือสักสามชิ้นก่อน คือ

(1) การตามรับรู้ลมหายใจของเรา

(2) การผ่อนคลายร่างกาย

(3) การสังเกตสิ่งที่ปรากฏขึ้นที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังเกตความคิดในใจเรา

ซึ่งเราจะฝึกในท่านั่งสมาธิ ดังนั้นให้ทุกท่านลืมตาขึ้น ขยับเปลี่ยนจากท่านอนหงายเป็นท่านั่งสมาธิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………………………….