Latest

หมอสันต์พาฝึกสมาธิแบบตามดูลมหายใจ สำหรับผู้มีประสบการณ์มามากพอควรแล้ว

(ภาพวันนี้: พยอม หอมไกล ออกดอกแล้ว)

นพ. สันต์สอนสมาชิกแค้มป์ฝึกสมาธิแบบตามดูลมหายใจ สำหรับผู้มีประสบการณ์มามากพอควรแล้ว

คุณจะนั่งยังไงก็ได้นะ ขอแค่ให้หลังตรงไว้

หลับตาหรือลืมตาก็ได้ เอาตามถนัด

วิธีที่เราจะทำกันต่อไปนี้ผมเรียกง่ายๆว่า breathing meditation มันใช้หลายเทคนิคผสมปนเปกันไป คนนั้นแนะนำอย่างนี้ คนนี้แนะนำอย่างนั้น ผมก็จับมาทดลองทำเองดูหมด ที่ไม่เข้าท่าก็ทิ้งไป ที่เข้าท่าก็เก็บไว้ใช้ต่อ คุณอย่าไปใส่ใจเลยว่าตรงไหนเป็นของใครสอนไว้ ผมแค่อยากจะให้คุณรู้จัก meditation อย่างที่ประสบการณ์ของผมเคยรู้จัก คือเป็นแค่การแชร์ประสบการณ์ของคนคนเดียวเท่านั้น

เราจะเริ่มต้นด้วยการให้ความสนใจลมหายใจ รู้ตัวว่าเรากำลังนั่งอยู่ที่นี่ กำลังหายใจเข้า กำลังหายใจออก แค่ตามมันไป มันยาวก็ตามมันไป มันสั้นก็ตามมันไป ถ้ามีความคิดก็อย่าไปสนใจ หันหลังให้ สนใจแต่ลมหายใจ

เมื่อเราหายใจเข้าไปจนเต็ม ลองขังลมไว้ในตัวสักพักแล้วจึงค่อยปล่อยให้หายใจออก ขณะเดียวกันก็สนใจความรู้สึก (feeling) ที่ลมหรือพลังงานในตัวมันแผ่สร้านซู่ซ่าหรือสั่นสะเทือนเล็กๆจากกลางลำตัวไปสู่ทุกรูขุมขน จะใช้จินตนภาพช่วยนิดหน่อยก็ได้ในช่วงแรก ว่าเราหายใจเข้าเอาลมและพลังชีวิตเข้ามา กลั้นไว้สักพักขังลมและพลังนี้ไว้ในตัว แล้วปล่อยลมหายใจออก พร้อมกับรับรู้ว่าลมและพลังชีวิตมันสั่นสะเทือนแผ่สร้างซู่ซ่าทั่วร่างกายผ่านทุกรูขุมขนออกไป การรับรู้พลังชีวิตที่แผ่สร้านไปทัวตัวอย่างนี้ฝรั่งเรียกว่า body scan มันเป็นลูกเล่นเสริมอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เรากีดกันไม่ให้ความคิดเข้ามารบกวนได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกันให้ผ่อนคลายร่างกายไปด้วย ร่างกายนี้เราสั่งได้ สั่งให้มันผ่อนคลายได้ ผ่อนคลายใบหน้า ยิ้มนิดๆที่มุมปาก ยิ้มแบบพระพุทธรูปในโบสถ์ ผ่อนคลายคอ บ่า ไหล่ ผ่อนคลายลำตัว แขน ขา ผสานการผ่อนคลายร่างกายเข้ากับการรับรู้พลังชีวิตและการหายใจเข้าออก ผสานให้เป็นเนื้อเดียวกันไปพร้อมๆกันแบบ “สามผสาน” หากทำสามผสานได้สำเร็จ เมื่อใดก็ตามที่เราตามดูลมหายใจ เราจะรู้สึกสบาย สบายกาย สบายใจ

ถ้าความคิดมันตอแยคุณมาก ให้คุณแอบสังเกตดูความคิด แอบดูเหมือนเวลาคุณทำครัวแล้วทิ้งลูกน้อยให้นั่งเล่นอยู่บนพื้น นานๆคุณก็แอบมองดูลูกทีหนึ่งว่าลูกยังอยู่ดีหรือเปล่า ดูแว้บเดียวแล้วก็หันมาทำครัวหั่นหอมหั่นกระเทียมของคุณต่อไปใหม่ ฉันใดก็ฉันนั้น คุณอยู่กับลมหายใจ นานๆแว้บดูความคิดนิดหนึ่ง เมื่อตะกี้คิดอะไรอยู่ จับแต่หัวเรื่องแล้วก็รีบกลับมาอยู่กับลมหายใจ ทำแบบนี้นานๆครั้ง ก็จะลดความใจลอยขณะนั่งสมาธิลงไปได้ เพราะความคิดมีธรรมชาติจะฝ่อหายไปหากมันถูกเราแอบดูมัน

ตามดูลมหายใจ รับรู้พลังชีวิตที่แผ่สร้างไปทั่วตัวไปในแต่ละรอบลมหายใจ รับรู้ความผ่อนคลาย สบายกาย แล้วความสงบจะเกิดขึ้น ความคิดจะค่อยๆลดลง จนไม่มีความคิดเหลือ ลมหายใจจะปรากฎเด่นชัดขึ้นเพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่เหลือโดดเด่นอยู่ในความรับรู้ของเราตอนนี้

เมื่อความคิดหมดก็จะง่วง ใครที่ง่วงก็ช่างมัน ง่วงไป นั่งโงกไป หลับไป ไม่เป็นไร เมื่อความรู้ตัวชัดขึ้น ความง่วงมันจะแผ่วหรือหมดพลังไปเอง

ในที่สุดเราจะมาถึงจุดที่สงบนิ่ง ดำมืด ว่างเปล่า มีแต่ความรู้ตัวอยู่ ต่อไปจะมีความสว่างเล็กๆปรากฎขึ้น ร่างกายยังปรากฎให้รับรู้ได้อยู่ ความสนใจยังเกาะอยู่กับลมหายใจซึ่งแผ่วเบา กายสงบ จิตสงบ ช่วงนี้อาจมีอาการแปลกๆจากระบบประสาทอัตโนมัติออกอาการเพี้ยนๆเพราะมันเองก็ต้องปรับตัวกับดุลยภาพใหม่เมื่อไม่มีความคิด ดังนั้นอาจมีอาการน้ำลายไหล น้ำตาไหล ขนลุก ให้รับรู้อาการเพี้ยนๆเหล่านี้แบบรับรู้เฉยๆ แล้วเราก็จะได้อยู่ในความนิ่งที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากความตื่นและรู้ตัวอยู่

จากจุดนี้หากเราเจาะจงใส่ใจจดจ่อรับรู้ (selectively focus) ความว่างเปล่านี้ให้ลึกละเอียดลงไป ลึกละเอียดลงไป ท้ายที่สุดจะเหลืออยู่แต่ความรู้ตัวอย่างเดียวในรูปของความสว่างไสว ลมหายใจอาจหายไป ร่างกายอาจหายไป ณ จุดนี้อย่าไปแตกตื่น ให้สงบนิ่งไว้ เกิดอะไรขึ้นก็แค่รับรู้ ตรงนี้แหละคือสมาธิ ไม่มีความคิดใดๆ ความรู้ตัวที่ดำรงอยู่ได้แม้ไม่มีร่างกายก็รู้เห็นทุกอย่างได้นี้ มันก็เหมือนกับเราเป็นคนใบ้นั่นแหละ แค่พูดและทำอะไรไม่ได้ แต่ยังบันทึกรับรู้สิ่งที่รู้เห็นได้ คุณจะแช่อยู่ในสมาธิตรงนี้นานเท่าใดก็ได้เท่าที่คุณพอใจ เพราะยิ่งฝึกอยู่ตรงนี้ได้นานก็ยิ่งมีพลังสมาธิกล้าแข็ง การจะธำรงรักษาสมาธินี้ให้อยู่ได้ก็ด้วยวิธีจดจ่อ จดจ่อ จดจ่อ แต่ว่าจดจ่อแบบสบายๆ selectively focus ไม่เพ่ง หรือไม่เคร่งเครียด ยิ่งอยู่ในสมาธินาน สมาธิก็จะยิ่งมีพลังซึ่งแสดงออกต่อเราได้หลายรูปแบบ รูปแบบของพลังงานที่เราจะได้ประโยชน์มากเมื่อเข้าถึงสมาธิแล้วก็คือ “ปัญญาญาณ”

เมื่ออยู่ในสมาธิเป็นแล้ว จะอยู่นานเท่าไหร่ก็อยู่ได้แล้ว จะเข้าจะออกเมื่อใดก็เข้าออกได้แล้ว ขั้นต่อไปผมแนะนำให้ฝึกถอยออกมาจากการจดจ่อสมาธิ แต่เป็นการถอยอย่างมีชั้นเชิงเพื่อเปิดให้ความคิดเกิดขึ้น ที่ว่าถอยอย่างมีชั้นเชิงคือเลิกจดจ่อไปเสียก่อน เลิก selectively focus แต่ว่าให้ทำตัวเป็น “อีแอบ” คือยังแอบรับรู้ลมหายใจ แอบรับรู้ความเคลื่อนไหวของพลังชีวิต แอบรับรู้ความผ่อนคลายของร่างกายเป็นระยะๆ และที่สำคัญ..แอบสังเกตดูความคิด มีความคิดเกิดขึ้น รับรู้ ปล่อยมันไปไม่สนใจ มีความคิดเกิดขึ้น รับรู้ ปล่อยมันไปไม่สนใจ โดยช่วงที่รับรู้ความคิดอาจจะค่อยๆยาวขึ้นๆ จนกลายเป็นการเฝ้าดูการสลายตัวของความคิด หากมันยังไม่สลาย หากมันยังอยู่ ก็เฝ้าดูมันไปแบบดูเฉยๆ ไม่เข้าไปยุ่งหรือตอแยด้วย

ความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงกำลังถอยอย่างมีชั้นเชิงนี้ อาจมีทั้งความคิด “ขี้หมา” ซึ่งรบกวนเราเป็นประจำ แต่ก็อาจมีความคิดที่ไม่เคยเกิด ซึ่งผมเรียกง่ายๆว่าเป็น”ปัญญาญาณ” รูปแบบของการเกิดความคิดในช่วงนี้ก็จะมีทั้งที่เป็นเรื่องราวในใจ เป็นภาพนิ่ง เป็นเสียง หรือเป็นภาพยนตร์ฉายให้ดู ให้คุณปักหลักเป็นอีแอบ แอบดูความคิดเหล่านั้นแบบนิ่งๆ แอบดูเฉยๆ ถ้าภาพยนตร์นั้นตื่นเต้นเร้าใจมากจนแทบจะอดใจเข้าไปร่วมเล่นด้วยไม่ไหว หรือบางทีก็ปรากฎเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือคนที่ศักดิ์สิทธิ์เหลือเกินจนน่าจะก้มลงกราบเท้า ให้นิ่งไว้ ให้ท่องคาถาไว้ ว่า

“มันเป็นแค่ความคิด มันเป็นแค่ความคิด”

หรือจะให้หนักแน่นกว่านั้นก็

มันเป็นแค่ประสาทหลอน มันเป็นแค่ประสาทหลอน”

ท้ายที่สุดความคิดเหล่านั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะจบด้วยการดับหายไปเอง เพราะการนั่งมองความคิดแบบอีแอบนี้ความคิดมันจะแค่เกิดดับ เกิดดับ ให้เราเห็น ตราบใดที่เรายังทำตัวเป็นผู้ชมที่ดี ไม่เข้าไปแจมด้วยจนเกินงาม ไม่ว่าสิ่งที่นำเสนอจะเป็นเรื่องของเราเองหรือเป็นเรื่องของชาวบ้าน เราก็จะมีแต่ได้กับได้ไม่มีเสีย แต่ถ้าเราเผลอเข้าไปแจมด้วยจนเกินงาม เราอาจจะกลายเป็นร่างทรงมนุษย์ต่างดาวไปเสียฉิบ หรือหนักกว่านั้นคือ..เป็นบ้า

พูดถึงประสาทหลอน เมื่อสมาธิไปถึงจุดที่นิ่งมากจนร่างกายหายไป อาจจะมีประสบการณ์อีกแบบหนึ่งเกิดขึ้น คือความรู้ตัวของเราออกมาอยู่นอกร่างกาย มองกลับไปเห็นร่างกายตนเองจากข้างนอก แถมเห็นแบบไม่อินังขังขอบไม่อาลัยอาวรณ์เหมือนในความฝันแต่ยังรู้ตัวชัดเจนอยู่ แล้วตอนที่ความรู้ตัวจะกลับเข้ามาอยู่กับร่างกายนี้อีกครั้งอาจจะเกิดความรู้สึกทางร่างกายขึ้นอย่างรุนแรงเช่นเกิดความซู่ซ่าทั่วร่างกาย ให้ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ ให้ท่องไว้ว่า

“มันเป็นแค่ประสาทหลอน มันเป็นแค่ประสาทหลอน”

ที่ผมจงใจให้ถอยจากสมาธิหรือเปิดให้ความคิดเกิดขึ้นหลังจากมีสมาธิดีแล้วนี้ ก็เพื่อเปิดรับ “ปัญญาญาณ (intuition)” ให้มีโอกาสโผล่ขึ้นมาสอนแสดงแง่มุมลึกซึ้งของปัญหาชีวิตซึ่งเราไม่มีปัญญาขบให้แตกได้เองในภาวะตื่นอยู่ตามปกติ เพราะความคิดของเรามันกำกับโดยอีโก้หรืออัตตาซึ่งเป็นตัวกันท่าไม่ให้เรารู้เห็นอะไรพ้นไปจากที่มันอยากให้เรารู้อยากให้เราเห็น เราต้องคอยทดลองหยิบทดลองเลือกสิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นปัญญาญาณ เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าอันใดเป็นความคิดขี้หมา อันใดเป็นปัญญาญาณของจริง ดังนั้นใหม่ๆเป็นธรรมดาที่เราจะไม่มั่นใจที่จะเลือกจะหยิบ แต่นานๆไปก็จะมั่นใจ เพราะปัญญาญาณมีเอกลักษณ์ว่าจะโผล่มานำเสนอในประเด็นที่เราอยากรู้อย่างแท้จริงพอดี ในยามที่เราต้องการอย่างยิ่งพอดี และปัญญาญาณมักมาพร้อมกับความรู้สึกถึงพลังชีวิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่งการสังเกตซ้ำซากก็จะจับสัญญาณนี้ได้ง่ายขึ้น

กล่าวโดยสรุป บนเส้นทางนี้ในภาพใหญ่มันมีสามขั้น

ขั้นที่ 1. เราเริ่มด้วยการหันเหความสนใจออกจากความคิดซึ่งถูกชงขึ้นมาโดยความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาที่มักจะพาเราเป็นทุกข์เหมือนเราเล่นหนังอยู่แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นแค่หนังจึงเผลอเอาเป็นเอาตายกับมันมากเกินไป เราหันเหเอาความสนใจมาอยู่กับลมหายใจแทน

ขั้นที่ 2. เรามุ่งมาจดจ่อกับลมหายใจจนสงัดจากความคิด เกิดสมาธิ แล้วท้ายที่สุด

ขั้นที่ 3. เราก็กลับมายกเลิกการจดจ่อสมาธิเพื่อเปิดให้ความคิดเกิดขึ้นอีก โดยที่ความคิดในรอบหลังนี้เป็นความคิดแบบใหม่ที่แม้จะโผล่ขึ้นมาอย่างพร่างพรูแบบภาพยนตร์แต่เราก็เป็นแค่คนนั่งดูหนังไม่ใช่ผู้เล่นอีกต่อไปแล้ว ซึ่งหากเราดูให้เป็นไม่เผลอกลับเข้าไปเล่นด้วย ภาพยนตร์จะชี้นำเราให้เกิดปัญญาชี้นำให้เราหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาของเราเองได้ในที่สุด

ทั้งนี้อย่าลืมว่าอิสระภาพ หรือการหลุดพ้นจากกรงของความคิดที่ชงขึ้นมาโดยสำนึกว่าเป็นบุคคลหรืออัตตาของเราเองนี่แหละ ที่เป็นเป้าหมายปลายทางที่แท้จริงของการฝึกสมาธิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์