Latest

Silence Meditation เปลี่ยนมุมมองของผู้สังเกตเป็นมองจากความเงียบอันกว้างใหญ่

ภาพวันนี้ / ทุ่งดอกถั่วบราซิลที่ปลูกไว้กันดินพังบนเชิงลาด

กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกที่ภาพ

(หมอสันต์สอนสมาชิก SR ฝึก silence meditation กลางสนามหญ้าตอนเช้า)

เช้านี้เราจะฝึกปฏิบัติ silence meditation ซึ่งผมแปลว่า “การเปลี่ยนมุมมองของผู้สังเกตมาเป็นมองจากความเงียบอันกว้างใหญ่”

ให้ทุกคนนั่งในท่าตามสบาย แต่ขอให้ตั้งหลังให้ตรงไว้

เริ่มต้นด้วยการผ่อนคลายร่างกายก่อน หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพัก ปล่อยลมหายใจออกช้าๆแบบสบายๆ ผ่อนคลายใบหน้า ยิ้มที่มุมปากนิดๆ ผ่อนคลายคอ บ่า ไหล่

วันนี้เราจะเลือกใช้เครื่องมือ “การสังเกต” หรือ “observation” ที่เราได้เรียนไปแล้วเมื่อวาน

อย่างที่เราเคยคุยกันแล้วว่าเมื่อเราสังเกตสิ่งใด เราแค่รับรู้สิ่งนั้นตามที่มันเป็น ไม่ไปตั้งชื่อให้ หรืออธิบายความหมาย หรือตีความว่ามันดีหรือไม่ดี แค่สังเกตและรับรู้อยู่ห่างๆว่ามีสิ่งนั้นปรากฎขึ้น

เราจะเริ่มด้วยการสังเกตเสียง หลับตาก่อนก็จะง่ายขึ้น แล้วสังเกต ฟังเสียง เริ่มจากเสียงที่ดังที่สุด คือเสียงผมพูด แล้วขยับไปฟังเสียงที่ดังรองลงไป เสียงนกร้อง เสียงไก่ขัน เสียงหมาเห่าอยู่แต่ไกล

คราวนี้ให้เงี่ยหูฟังเสียงที่เบาจนแทบไม่ได้ยิน เสียงลมพัดใบไม้ เสียงมอเตอร์ไซค์วิ่งอยู่ไกลออกไปมากๆ

คราวนี้ ให้ฟังเสียงที่เบาลงไปกว่านั้นอีก ซึ่งก็คือความเงียบ

ให้สนใจความเงียบ

ให้สังเกตว่าเมื่อมีเสียงหนึ่งเกิดขึ้น ณ ที่หนึ่ง รอบๆเสียงนั้นคือความเงียบ เสียงเกิดขึ้นในความเงียบ แล้วดับหายไปในความเงียบ

ให้สังเกตว่าแท้จริงแล้วพื้นที่อันกว้างใหญ่รอบๆตัวเรานี้คือความเงียบ กว้างใหญ่จนสุดประมาณ เสียงเกิดขึ้นที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง ใกล้บ้าง ไกลบ้าง ดังบ้าง ค่อยบ้าง ทุกเสียงเกิดขึ้นจากความเงียบ แล้วดับหายไปในความเงียบ

เมื่อวานนี้เราได้ทดลองถอยตัวเองออกมาให้ห่างจากร่างกายของเรานิดหนึ่ง ให้ห่างจากความคิดของเรานิดหนึ่ง เพื่อเป็นผู้สังเกตดูร่างกายของเรา สังเกตดูความคิดของเรา

วันนี้ให้ทดลอง ใช้จินตนภาพช่วยนิดหน่อย สมมุติว่าเราในฐานะผู้สังเกตที่ได้ถอยออกมาห่างจากร่างกายนิดหนึ่ง ห่างจากความคิดนิดหนึ่งนี้ คราวนี้สมมุติว่าเราในฐานะผู้สังเกต เป็นความเงียบอันกว้างใหญ่สุดประมาณรอบตัวเรานี้

ปักหลักเป็นความเงียบ ตั้งใจสังเกตเสียงทุกเสียงที่เกิดขึ้น

เสียงทุกเสียงเกิดขึ้นในตัวเรา..ซึ่งก็คือความเงียบ ดังอยู่สักพัก แล้วก็แผ่วหายใปในตัวเรา..ซึ่งก็คือความเงียบ

ในมุมมองของเสียง แหล่งกำเนิดของมันคือความเงียบ

ในมุมมองของภาพ แหล่งกำเนิดของมันคือความว่างเปล่า หรือ space โดยที่ทั้งสองอย่างนี้คือความเงียบและความว่างเปล่า ในมุมมองของการรับรู้ มันเป็นสิ่งเดียวกัน

ดังนั้นให้สมมุติตัวเองเป็นทั้งความเงียบและความว่างเปล่าในคราวเดียวกัน สังเกตการเกิดขึ้นของเสียงก็ดี ภาพก็ดี ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับหายไปในตัวของเราเองทั้งสิ้น

พวกเราที่นั่งอยู่ในสนามนี้มีตั้งยี่สิบกว่าคน หากทุกคนมีความเงียบ/ความว่างเปล่าอันกว้างใหญ่สุดประมาณคนละอันแล้วจะเอาที่ไหนมาพอเก็บความเงียบ/ความว่างเปล่าของพวกเรากันละ

ความเป็นจริงก็คือความเงียบก็ดี ความว่างเปล่าก็ดี มันมีแค่หนึ่งเดียว เมื่อเราถอยออกจากตัวตนหรือความคิดไปเป็นผู้สังเกตหรือเป็นความเงียบ/ความว่างเปล่า เราต่างถอยไปเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะความเงียบ/ความว่างเปล่าก็คือความไร้ตัวตน เมื่อไร้ตัวตนแล้วเราจะนับได้หรือว่ามันมีกี่อัน? ดังนั้นความรู้ตัวหรือ consciousness นี้ขอให้เข้าใจก่อนว่ามันไม่ใช่ของใครของมัน เพราะ “ใคร” หรือ “มัน” คือตัวตน ความรู้ตัวไม่เกี่ยวกับตัวตน มันจึงมีหนึ่งเดียว

เมื่อเราถอยออกไปเป็นความเงียบ/ความว่างเปล่าซึ่งทำตัวเป็นแค่ผู้สังเกตแล้ว ความคิดก็จะถูกทอนลงไปเป็นแค่สิ่งที่ถูกสังเกต ไม่ใช่ “ตัวตน” ที่เราต้องเหนื่อยยากดิ้นรนปกป้องเชิดชูอีกต่อไป สิ่งที่เหลืออยู่จึงมีแต่ความสงบ (peaceful) เพราะสงัดจากการต้องดิ้นรน

ความคู่กับความสงบมาคือความรู้สึกว่าเราในฐานะผู้สังเกตนี้เป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่น ไม่มีเราไม่มีเขา จะใช้คำแบบบ้านๆว่าเกิดเป็นเมตตาธรรม (compassion) ก็ได้ มันตามกันมาเองเมื่อเราทิ้งความคิดปกป้องตัวตนของเรา โดยเราไม่ต้องตั้งใจแผ่เมตตาให้ใครแต่อย่างใด ความรู้สึกว่าเราได้เป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่นมันมาเอง

ตามกันมาติดๆเมื่อเรารู้สึกว่าเรานี้เป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่น ก็คือความรู้สึกปลาบปลื้ม หรือเบิกบาน (joyful) อุปมาเหมือนเวลาเราให้เงินขอทานแล้วเราเกิดความปลื้มนิดๆขึ้นมาเองโดยเราไม่ได้ตั้งใจหรือจงใจให้มันเกิด

ดังนั้นเมื่อเราทิ้งความคิด ออกไปเป็นความเงียบ/ความว่างเปล่า เฝ้าสังเกตดูสิ่งต่างๆ เห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็น ความสงบ ความเมตตา ความเบิกบาน จะโผล่ขึ้นมาในใจเราเอง

อันที่จริงทั้งสามอย่างนี้มันอยู่ของมันที่นั่นอยู่แล้ว เราแค่ถอยจากความคิดเข้าไปพบมัน เท่านั้นเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์