ปรึกษาหมอ

งูสวัด พันรอบตัวแล้วตายจริงหรือ

คุณอาหมอครับ

คุณพ่อกำลังเดินทางเที่ยวอยู่ที่ประเทศอินเดีย แล้วมีผื่นปวดแสบปวดร้อนขึ้นที่หน้าผาก ซีกซ้าย คนที่ไปด้วยกันบอกว่าเป็นงูสวัด จะต้องทำอะไรบ้างครับ มีอันตรายมากหรือไม่ ขอถามนอกเรื่องด้วย ว่าจริงหรือเปล่าที่ว่าถ้างูสวัดลามจนพันรอบตัวแล้วจะเสียชีวิต

…………………………………..

ตอบครับ

1. โรคงูสวัดนี้มีชื่อจริงว่า Varicella-zoster virus เขียนย่อว่า VZV เกิดจากเชื้อไว้รัสเฮอร์ปีส์ ซอสเตอร์ ซึ่งเชื้อนี้ออกอาการได้สองแบบ คือ

แบบที่หนึ่ง เป็นไข้ออกผื่นแดงแล้วเป็นตุ่มน้ำใสแล้วเป็นตุ่มหนองทั่วใบหน้าแขนขาลำตัวที่เรียกว่าอีสุกอีใส สมัยนี้พวกผู้ดีที่ไม่ชอบคำว่าอีจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรคสุกใส ภาษาอังกฤษเรียกว่า chickenpox บ้าง เรียกว่า varicella บ้าง เมื่อหายแล้วบ่อยครั้งเชื้อก็ไม่ได้ไปไหน แต่ซุ่มอยู่ในปมประสาทที่ใดที่หนึ่งในร่างกาย

แบบที่สอง คือแบบงูสวัด ชาวบ้านฝรั่งเรียกว่า shingle หรือ herpes zoster กลไกของแบบนี้คือเชื่อที่ซุ่มอยู่ในปมของเส้นประสาทรับความรู้สึกเส้นใดเส้นหนึ่งเกิดฮึดฮัดมีแฮงออกฤทธิ์ขึ้นมาอีก ทำให้มีอาการผื่นเป็นตุ้มน้ำใส แถมมีอาการปวดแสบปวดร้อนกระจายเฉพาะตามผิวหนังบริเวณที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทเส้นนั้นเนื่องจากการอักเสบของเส้นประสาท อาการปวดนี้บางทีมาก่อนผื่นเป็นสัปดาห์ก็มี แล้วบางรายก็ “ปวดประสาทค้าง” (postherpetic neuralgia – PHN) อยู่นานหลายเดือนจนลืมไม่ลง

2. ถามว่าจริงไหมที่ว่างูสวัดพันรอบตัวแล้วจะตาย ตอบว่าไม่จริง แต่คำขู่นี้เป็นคำขู่ที่ฉลาดหลักแหลมดีนะ เพราะการกระจายตัวของผื่นงูสวัดจะกระจายตามพื้นที่ผิวหนังที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทที่เชื้อซุ่มอยู่ ภาษาหมอเรียกว่ากระจายตัวตามเดอร์มาโตม (dermatome) อันว่าเดอร์มาโตมของคนเรานี้ไม่ว่าจะเป็นของเส้นประสาทเส้นไหนจากหัวจรดเท้า มันจะเลี้ยงอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น ไม่ซ้าย ก็ขวา เป็นพื้นที่รีๆยาวๆคล้ายงู การที่มันไปตามพื้นที่ของเดอร์มาโตม จึงย่อมจะอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น ไม่พันรอบตัวข้ามไปอีกซีกหนึ่ง

3. ภาวะแทรกซ้อนที่ลูกตา (herpes zoster ophthalmicus – HZO) เป็นอะไรที่น่ากลัวที่สุดถ้างูสวัดมาเป็นเอากับเส้นประสาทคู่ที่ห้าแขนงที่เลี้ยงหน้าผากและจมูก เพราะมันทำให้เกิดแก้วตาอักเสบ (keratitis) เยื่อตาอักเสบ อันนำไปสู่ตาบอดได้ บางทีการอักเสบไปถึงจอประสาทตาทำให้จอประสาทตาหลุดลอกได้

4. คุณถามผมว่ามีอันตรายมากหรือไม่ ตอบว่าตาบอดนี่เรียกว่าอันตรายหรือเปล่าละครับ ถ้าคุณว่าอันตราย ผมก็ว่าอันตราย

5. ถามว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง กว่าผมจะตอบคำถามนี้หวังว่าคุณพ่อของคุณยังมองเห็นอะไรอยู่นะครับ สิ่งที่ต้องทำเมื่อเป็นงูสวัดที่บริเวณใบหน้าก็คือ

5.1 ต้องรีบวินิจฉัยให้ได้ การวินิจฉัยส่วนใหญ่หมอใช้วิธีดูโหงวเฮ้งอย่างเดียว ไม่ต้องเสียเวลาทำแล็บ

5.2 ต้องหาหมอโรคติดเชื้อเพื่อรีบให้ยาต้านไวรัสกินทันทีภายใน 48-72 ชม.หลังจากเริ่มมีอาการเพื่อหยุดยั้งการแบ่งตัวของไวรัส (acyclovir หรือ valacyclovir หรือ famciclovir ก็ได้) มีทั้งแบบกินแบบฉีด ถ้าจะซื้อแขกกินให้ซื้อ valacyclovir หรือ famciclovia จะดูดซึมได้ดีกว่า acyclovir ตัวผมเองชอบ valacyclovir แม้ว่าจะแพงหน่อย ไม่ใช่เพราะผมชอบของแพง แต่เพราะผลวิจัยยานี้ดีกว่าเขาเพื่อน กินครั้งละ 1,000 มก. วันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน แต่ว่าถ้าไม่มีตัวนี้ก็ตัวอื่นได้ เพราะคุณไปหาซื้อแขกอาจตอบว่า

“…อีนี่ ยาแพง แขกไม่มีนะนายจ๋า”

กรณีเป็นที่ตาจะให้ดีก็ควรนอนโรงพยาบาลแล้วให้เป็นยาฉีดเข้าเส้นเลย ยาพวกนี้พอโรคสงบก็หยุดยาได้ ไม่ต้องให้ต่อนาน ข้อมูลยาทั้งหมดนี้ได้มาจากการวิจัยในคนอายุ 50 ปีขึ้นไปล้วนๆ คนอายุน้อยกว่านี้ก็คิดเอาเองก็แล้วกันนะครับว่าจะใช้ยาหรือไม่ใช้ เพราะหลักฐานสนับสนุนยังไม่มี อีกอย่างหนึ่งทุกงานวิจัยให้ยาภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ ถ้าให้ช้ากว่านี้ไม่รับประกันว่าได้ผลหรือไม่

5.3 ต้องหาหมอตาทันทีเพื่อเอายาสะเตียรอยด์หยอดตาลดการอักเสบของแก้วตาและม่านตา บางครั้งถ้าตาอักเสบมากต้องให้ยาสะเตียรอยด์ฉีดเข้าเส้นด้วย

5.4 ต้องระวังปิดตาไม่ให้ตาเบิ่งโพลงค้างตอนนอนหลับเพราะในภาวะอักเสบ หนังตามักเผยอเปิดเอง ทำให้แก้วตาเสียหายนำไปสู่แก้วตาขุ่นและบอดได้

6. ไหนๆก็พูดถึงงูสวัดแล้ว ยังมีอีกแบบนะคืองูสวัดแบบที่ทำให้หูหลึ่ง (หลึ่งแปลว่าหนวก..นะจ๊ะ) เรียกว่า Ramsay Hunt syndrome หรือ Herpes zoster oticus) มีอาการแบบสามสหายวัฒนะคือ (1) หน้าเบี้ยวข้างหนึ่ง (2) ปวดหู และ (3) มีตุ่มน้ำในรูหู เล่าให้ฟังเฉยๆแบบว่ารู้ไว้ใส่บ่าแบกหาม ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องตาหรอกครับ ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่รุนแรงแต่พบได้น้อยในงูสวัดก็เช่นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตชั่วคราวจากเส้นประสาทคุมการเคลื่อนไหวอักเสบ หรืออัมพาตจริงๆ (stroke) ไปเลยก็มี บางทีก็เป็นปลอกประสาทอักเสบ (Guillain-Barre syndrome) เป็นต้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Jackson JL, Gibbons R, Meyer G, Inouye L. The effect of treating herpes zoster with oral acyclovir in preventing postherpetic neuralgia. A meta-analysis. Arch Intern Med 1997; 157:909.

2. Liesegang TJ. Herpes zoster ophthalmicus natural history, risk factors, clinical presentation, and morbidity. Ophthalmology 2008; 115:S3.

3. Colin J, Prisant O, Cochener B, et al. Comparison of the efficacy and safety of valaciclovir and acyclovir for the treatment of herpes zoster ophthalmicus. Ophthalmology 2000; 107:1507.

4. Dworkin RH, Johnson RW, Breuer J, et al. Recommendations for the management of herpes zoster. Clin Infect Dis 2007; 44 Suppl 1:S1.