ปรึกษาหมอ

วัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ ควรฉีดอะไรบ้าง

สวัสดีค่ะคุณหมอสันต์
คือหนูมีเรื่องอยากวอบถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในโรคเบื่องต้นต่างๆ สำคัญกับเราแค่ไหนค่ะ ฉีดรึไม่ฉีดดีค่ะ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับบี หัดเยอรมัน ตอนเด็กหนูเคยฉีดมาบ้างแต่จำไม่ได้ว่าฉีดอะไรบ้าง???? ตอนนี้หนูอายุ37ปีแล้ว อาศัยอยู่ต่างประเทศ ที่นี้มีโดยส่วนใหญ่คุณหมอจะให้ฉีดวัคซีนต่างๆ แต่หนูไม่รู้ว่าฉีดรึไม่ฉีดดี เพราะเยอรมันยาแต่ละตัวแรงมาก ผู้คนอยู่ได้ก็เพราะยาเท่าที่เห็นผู้สูงอายุ (ความคิดเห็นส่วนตัว รึอาจจะด้วยความที่หนูชอบแบบรักษาธรรมชาติก่อน ) คุณหมอช่วยตอบหน่อยนะค่ะ ????
กราบขอบพระคุณค่ะ

…………………………………………………

     มีจดหมายถามถึงวัคซีนในผู้ใหญ่ค้างหลายฉบับ ขอรวบยอดตอบรวมกันไปในฉบับเดียว ว่าวัคซีนที่มาตรฐานสากล (ACIP) แนะนำให้ฉีดในผู้ใหญ่ ผมเรียงให้ดูโดยนับตั้งแต่ผู้มีอายุมากลงไป ดังนี้

     1. วัคซีนปอดอักเสบแบบรุกล้ำ (IPV) ควรฉีดทุกคนเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป โดยฉีดสองเข็ม (PCV13 + PPSV23) ห่างกัน 6-12 เดือน แล้วจะมีผลคุ้มกันตลอดชีวิต ปอดอักเสบแบบรุกล้ำพูดภาษาบ้านๆก็คือติดเชื้อในกระแสเลือดนั่นเอง เป็นปัญหาในคนสูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อป่วยเรื้อรังเข้านอนโรงพยาบาลนานๆ

     2. วัคซีนป้องกันงูสวัด (Herpes Zoster) ควรฉีดทุกคนเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป เข็มเดียวคุ้มกันตลอดชีวิต คนที่เคยเป็นงูสวัดมาแล้วก็แนะนำให้ฉีดด้วย เพราะงานวิจัยพบว่าถึงเป็นงูสวัดมาแล้ววัคซีนก็ยังลดอุบัติการณ์ติดเชื้อซ้ำซากลงได้

     3. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ควรฉีดทุกคน ทุกอายุ ปีละครั้ง จะมีผลป้องกันการเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ประมาณ 50-60% ในกรณีที่เป็นไข้หวัดใหญ่ การเคยได้วัคซีนมาก่อนก็มีผลช่วยให้ความรุนแรงของโรคลดลง

     4. วัคซีนตับอักเสบจากไวรัสบี. (HBV) ผู้ใหญ่คนไทยทุกคนไม่ว่าอายุเท่าใด ควรมีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี. หากไม่มีภูมิคุ้มกัน (ซึ่งทราบได้จากการตรวจเลือดดู HBsAb แล้วได้ผลลบ) ควรฉีดวัคซีน เพราะเป็นโรคที่มีความรุนแรงแต่ป้องก้นได้ ต้องฉีดชุดละ 3 เข็ม ซึ่งจะมีผลคุ้มกันตลอดชีพ สำหรับผู้ที่แน่ใจว่าเคยได้รับวัคซีนนี้มาแล้วในวัยเด็กไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกัน และในกรณีที่ได้ตรวจภูมิคุ้มกันแล้วพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกันหากเคยได้วัคซีนนี้มาชัวร์ๆแล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนนี้ซ้ำอีก เพราะงานวิจัยพบว่าในคนที่เคยได้รับวัคซีนนี้มาครบแล้ว แมัจะตรวจภูมิคุ้มกันไม่พบ แต่เมื่อติดเชื้อจริงระดับภูมิคุ้มกันก็จะพุ่งพรวดขึ้นมาเอง

     5. วัคซีนกระตุ้นบาดทะยัก (tetanus) คำว่ากระตุ้นหมายความว่าคนไทยทุกคนถูกจับฉีดวัคซีนบาดทะยักมาหมดแล้วเมื่อเป็นเด็กนักเรียน แต่วัคซีนนี้ควรได้รับการฉีดกระตุ้น (เข็มเดียว) ทุกสิบปี เพื่อให้ภูมิคุ้มกันยังอยู่ ในผู้หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่โรงพยาบาลจะจับฉีดวัคซีนนี้หมดทุกครรภ์ ครรภ์ละ 3 เข็มรวด รูดมหาราช เพื่อความง่าย ผู้ป่วยที่มีบาดแผลต้องเข้าห้องฉุกเฉินก็จะได้วัคซีนนี้ในสูตรรูดมหาราชเช่นกัน แต่วิธีสร้างภูมิคุ้มกันโรคนี้อย่างถูกหลักวิชาคือฉีดให้ครบ 3 เข็มเมื่อวัยเด็กก็พอแล้ว หลังจากนั้นก็คอยฉีดกระตุ้นเข็มเดียวทุก 10 ปีก็พอ ไม่ต้อง 3 เข็มรูดมหาราชซ้ำซาก

     6. วัคซีนหัดเยอรมัน (Rubella) เฉพาะผู้หญิงที่มีแผนว่าจะมีบุตร ทุกคนควรตรวจดูภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน หากไม่มีภูมิคุ้มกันควรฉีดวัคซีนหัดเยอรมันก่อนที่จะตั้งครรภ์มีบุตร เพราะโรคนี้หากไปเป็นเอาตอนตั้งครรภ์จะมีความรุนแรงในแง่ที่อาจทำให้ทารกพิการได้

     ทั้งหกตัวนั้นคือวัคซีนที่ควรฉีดในวัยผู้ใหญ่ตามมาตรฐานที่วงการแพทย์ยอมรับ (ACIP) ในปัจจุบันนี้ครับ

     ปล. 
   
     ที่คุณว่าที่เยอรมันผู้คนอยู่ได้ก็เพราะยา อันนี้มันไม่ใช่เป็นแต่ที่เยอรมันครับ มันเป็นกันทั่วโลก ทุกวันนี้คนทั่วโลกบริโภคยาแทนข้าวไปเสียส่วนหนึ่งแล้ว นี่พูดถึงยานะ ไม่เกี่ยวกับวัคซีน โดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทนั้นบริโภคกันมากเกินเหตุโดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็กนักเรียนเป็นต้นไปเลยทีเดียว แม้กระทั่งมีความคิดเยอะก็ให้กินยา ไม่มีความสุขก็ให้กินยา ที่ไม่กินยาที่หมอจ่ายก็ไปหายาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในตลาดมืดมากินหรือฉีดเองในรูปของฝิ่น เฮโรอีน โคเคน ยาอี ยาไอซ์ กัญชา แอลกอฮอล์ แนวโน้มมันมีแต่จะบริโภคยากันมากขึ้นๆจนจะแทนข้าวได้ เพราะผู้สูงอายุที่มาหาผมบางคนได้ยา 14-17 ตัว กินยาก็อิ่มแล้ว ไม่ต้องกินข้าว การจะลดการกินยาลงมีวิธีเดียว คือตัวคนไข้ต้องเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตทั้งการกินการอยู่เสียใหม่เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังและลดความเครียดทางจิตประสาทลง แต่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ไม่นิยมวิธีนี้ ไปนิยมวิธีกินยากันมากกว่า ทำให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ใหญ่โตที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ คือบริษัทยาได้เงิน หมอมีงานทำ คนไข้ชอบใจเพราะไม่ต้องลงทุนลงแรงดูแลตัวเอง มีอาการอะไรก็กินยาบำบัด ก็ในเมื่อโลกมันเป็นอย่างนี้แล้วก็อย่าไปยุ่งกับโลกเขาเลยครับ ผมตั้งใจว่าจะเลิกทำตัวเป็นตาแก่ขี้บ่นดีกว่า หิ หิ ไม่แน่นะ อีกหน่อยอาจจะมียา “บรรลุธรรม” มาขายให้คุณกับผมซื้อกินก็เป็นได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์