โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

การลดยาความดันเลือดในผู้อายุเกิน 80 ปีเป็นสิ่งที่ทำได้และควรทำ

คุณพ่ออายุ 82 เป็นความดันสูงได้ยา Concor, Amlodipine และ Norvasc ตอนนี้อยู่ๆพ่อ (เคยเป็นผู้พิพากษา) ก็บอกว่ายาของพ่อมากเกินไป ขอให้ลดลง หนูก็คุยกับคุณหมอ … แต่คุณหมอห้ามเด็ดขาดว่าการลดยามีอันตราย ความดันของท่านวัดได้ประมาณ 130/80 ขณะที่ได้ยาเต็มที่ คุณพ่อให้เปลี่ยนหมอ หนูกลัวว่าหมอคนใหม่พูดเหมือนเดิมแล้วหนูจะไปหาใครต่อ อยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่าจะทำอย่างไรดี

………………………………………………………..

ตอบครับ

     1. ถามว่าผู้ป่วยความดันสูงอายุเกิน 80 ปี กินยาลดความดันเลือดหลายตัวและคุมความดันอยู่ได้ในระดับความดันค่อนไปทางสูง คือ 130 มม. จะทดลองลดยาลดความดันลงได้ไหม ตอบว่าได้ครับ

     มีงานวิจัยหนึ่งทำอย่างที่คุณว่านี้เป๊ะเลย ชื่องานวิจัย OPTIMISE งานวิจัยนี้เอาผู้มีอายุเกิน 80 ปีที่เป็นความดันสูงและกินยาอยู่สองตัวขึ้นไปมา 569 คน สุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินยาตามหมอสั่งตามปกติ อีกกลุ่มหนึ่งหลับหูหลับตางดยาไปหนึ่งตัวเป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ โดยเอาตัวชี้วัดเป้าหมายว่าคือกลุ่มไหนจะมี % ผู้ป่วยที่ความดันต่ำกว่า 150 มม. มากกว่ากัน ผลปรากฎว่าแปะเอี้ย คือพอๆกัน คือพวกที่หลับหูหลับตางดยาไปหนึ่งตัวคุมความดันไว้ต่ำกว่า 150 มม.ได้ 87.7% ส่วนกลุ่มกินยาตามหมอสั่งเคร่งครัดคุมความดันได้ 86.4% แปลไทยให้เป็นไทยว่าสำหรับคนอายุมากกว่า 80% การหลับหูหลับตาลดยาความดันลงไปหนึ่งตัวจากที่กินอยู่อย่างน้อยสองตัวขึ้นไปสามารถทำได้โดยไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความดันเลือดอย่างมีนัยยะสำคัญ

    2. ผมมีข้อเสนอที่ดีกว่าการหลับหูหลับตาลดยาแบบงานวิจัย OPTIMISE คือแทนที่จะลดยาอย่างเดียวให้คุณมีข้อแลกเปลี่ยนกับคุณพ่อด้วยว่าหากท่านอยากจะลดยาท่านจะต้องลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักมากอยู่ ต้องปรับอาหารไปหาอาหารลดความดัน (DASH diet) ซึ่งต้องกินพืชอันได้แก่ผักผลไม้ถั่วนัทเป็นหลัก ถ้าเคี้ยวไม่ไหวก็ปั่นให้กิน ควบคู่ไปกับการลดเกลือในอาหารและออกกำลังกายด้วย หากท่านยอมนอกจากคุณจะลดยาเม็ดแรกได้แล้ว ยังอาจจะลดเม็ดที่สองและเม็ดที่สามอีกต่างหาก

    3. อย่าลืมว่าแพทย์กลัวภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการลดยาความดันเหนือสิ่งอื่นใดเพราะในศาลมันเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของแพทย์อย่างไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้ แพทย์จึงจะไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาดหากไม่มีเหตุผลหรือไม่มีหลักฐานอันควร เพราะหากคนไข้เป็นอะไรไปแล้วเรื่องไปถึงศาล แพทย์ก็จ่ายลูกเดียว แต่ความเข้าขากันระหว่างแพทย์กับคนไข้เป็นเรื่องสำคัญมากในการรักษาโรคเรื้อรัง คุณอย่าเดินหนีแพทย์ดื้อๆอย่างนั้น คุณควรมีเหตุผลให้คุณหมอเขาสบายใจที่จะลดยาลง เช่นหากคุณพ่อมีอาการแทรกซ้อนจากยาลดความดัน เช่น ลุกแล้วหน้ามืด หรือเดินแล้วเซๆ หรือวัดความดันได้บางครั้งต่ำเกินไป หรือบวมที่เท้า เป็นต้น คุณก็นำเสนอเรื่องนี้เป็นเชิงหารือกับคุณหมอว่าถ้าจะลองลดยาลงเผื่อมันจะดีขึ้นดีไหม เป็นต้น แล้วรับปากแข็งขันกับหมอว่าคนไข้จะทำตัวเพื่อลดความดันเลือด ได้แก่จะกินพืชผักผลไม้มากขึ้น จะออกกำลังกาย จะลดเกลือในอาหารเค็ม เป็นต้น ถ้าคุณหมอยังยืนยันไม่ลดยาคุณก็บอกคนไข้ให้เริ่มต้นทำตัวดีก่อน ถ้าความดันมันลดลงมาแล้วคุณก็กลับไปหาคุณหมอเล่าวีรกรรมของคนไข้ให้ฟังแล้วขอหมอให้ช่วยดูเรื่องการลดยาให้หน่อยนะคะ ถ้าคุณทำทุกอย่างที่ผมบอกแล้วคุณหมอยังไม่ยอมลูกเดียว ถึงตอนนั้นคุณจะเปลี่ยนหมอหรือลงมือดูแลคนไข้แทนหมอซะเองผมก็จะไม่แนะนำอะไรเพิ่มเติมแล้วครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Sheppard JP, Burt J, et al. Effect of Antihypertensive Medication Reduction vs Usual Care on Short-term Blood Pressure Control in Patients With Hypertension Aged 80 Years and Older : The OPTIMISE Randomized Clinical Trial. JAMA. 2020;323(20):2039-2051. doi:10.1001/jama.2020.4871