จิตวิญญาณ (Spirituality)

ตัดใจวางความยึดมั่นในร่างกายนี้ไม่ได้

เรียนอาจารย์หมอสันต์

ตอนนี้คิดว่าตัวเองพร้อมแล้วเกือบ 100% คือพร้อมที่จะไปแล้ว ฝึกปฏิบัติมาก็มากพอแล้ว ไม่ได้มีความห่วงสมบัติพัสถาน ลูก สามี ยิ่งยศฐาบรรดาศักดิ์นั้นยิ่งไร้ความหมายไปนานแล้ว แต่ยังตัดขาดออกจากความห่วงใยร่างกายนี้ไม่ได้ ทุกครั้งที่มีอาการป่วย หรือเมื่อตัวชี้วัดเช่นความดันเลือดเปลี่ยนแปลงก็ยังเกิดความคิดตามมาอย่างไม่ทันรู้ตัว กว่าจะรู้ตัวก็ทุกข์อีกแล้ว เป็นประเด็นเดียวที่ทำให้ไม่ 100% ทำอย่างไรจึงจะผ่านด่านตรงนี้ไปได้

……………………………………………….

ตอบครับ

ก่อนจะอ่านคำตอบของผม ขอให้คุณเข้าใจก่อนนะว่าผมเป็นคนไม่มีศาสนา ไม่เชื่อคำสอนศาสนาอะไรแบบว่าอะไรมา 100% เชื่อหมด ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น วิธีเรียนรู้ของผมคือจำขี้ปากของคนอื่นแล้วเอามาทดลองทำดู ถ้าเวิร์คก็เก็บไว้ใช้ ถ้าไม่เวิร์คก็ทิ้งไป สิ่งที่ผมจดจำมาทดลองเองมีที่มาหลากหลาย ตั้งแต่คำสอนของศาสดาของแต่ละศาสนาไปจนถึงคำสอนของนักแสดงหนัง คนทรง และช่างปั้นหม้อ

สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นสำนึกว่าเป็นบุคคลหรือ identity ของเรานี้คือความคิดและร่างกาย ระหว่างความคิดและร่างกาย เราย่อมให้น้ำหนักร่างกายว่าเป็นตัวตนของเรามากกว่าความคิด คุณคงได้ยินพังเพยที่ว่า “เป็นเนื้อเป็นหนัง” มันหมายถึงว่าร่างกายมันเป็นอะไรที่ดูเหมือนจะจับต้องได้และเป็นของที่น่าจะจริงมากกว่าความคิด แม้หลักฐานเชิงประจักษ์จะบอกเราว่าร่างกายนี้ก็ไม่ได้อยู่นิ่งดอก มันเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตั้งแต่เราเป็นเด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ดูภาพถ่ายเปรียบเทียบก็เห็นชัด และรู้ชัดแล้วว่าวันหนึ่งมันก็ต้องตายไปเพราะเราเองก็เห็นจะจะกับตาตัวเองมาจากการได้รับเชิญไปงานศพมาไม่รู้กี่งานแล้ว แต่ว่าอย่างไรเสียเราก็ยังปักใจเชื่ออยู่ดีว่าถึงอย่างไรร่างกายมันก็ยัง “เป็นเนื้อเป็นหนัง” มากกว่าความคิด ทำให้เราไม่วายยึดติดร่างกายนี้มากเสียยิ่งกว่ายึดติดความคิดหลายเท่า ความยึดติดนี้ผมเห็นแม้ในนาทีสุดท้ายของคนที่กำลังจะตายก็ยังไม่วายยึดติดในร่างกายนี้

ยุทธวิธีที่จะ “วาง” ร่างกายนี้ลงได้ ผมเองแบ่งเป็นสองส่วนนะ คือส่วนที่ 1. การเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของร่างกายนี้ว่ามันคืออะไร และ ส่วนที่ 2. วิธีปฏิบัติเพื่อวางความยึดติดในร่างกาย

     1. ธรรมชาติที่แท้จริงของร่างกาย  คอนเซ็พท์ทางการแพทย์ที่มีข้อสรุปเสร็จสรรพแล้วว่าร่างกายนี้ไล่ระดับลงไปก็ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ แต่ละอวัยวะประกอบด้วยเนื้อเยื่อแต่ละชนิด แต่ละเนื้อเยื่อประกอบด้วยเซลที่หน้าตาคล้ายๆกันจำนวนมาก แล้วทั้งหมดนี้มีพฤติกรรมทางชีวเคมีและสรีรวิทยาที่สอดประสานกันทำให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่อย่างสิ่งมีชีวิตได้ คอนเซ็พท์นี้ชัดและเคลียร์ เป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว ไม่ต้องสาธยายมา

คราวนี้ลองมองให้ลึกไปกว่าคอนเซ็พท์ทางการแพทย์นี้ซิ ผมถามคุณหน่อยว่าทำไมคุณรู้ว่ามีร่างกายนี้อยู่ละ ก็เพราะคุณมีประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจในรูปของการรับรู้อาการของร่างกายผ่านอายนตะใช่ไหม เช่นภาพที่เห็นแขนขาขยับไปมา เสียงที่ได้ยินลมหายใจหรือชีพจรของตัวเองในบางครั้ง ความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ซู่ซ่า วูบวาบ เจ็บปวด ทั้งหมดนี้เป็นความรู้สึกหรือ feeling ที่รายงานมาจากร่างกายส่วนต่างๆ ดังนั้น ในระดับลึกซึ้งลงไป ร่างกายคือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจเท่านั้น จากประสบการณ์หนึ่งต่อไปหาอีกประสบการณ์หนึ่ง จากประสบการณ์เหล่านี้จึงจะมีความคิดมาต่อยอดเพื่อสร้างเรื่องราวให้สอดคล้องกับคอนเซ็พท์ทางการแพทย์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายนี้ที่อวัยวะไหน แล้วเรื่องความคิดทุกข์กังวลจากจินตนาการในทางร้ายว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายในอนาคตจึงตามมา

     เทคนิคการวางความหลงยึดติดในร่างกาย

ย้ำอีกทีนะ สถานะที่แท้จริงของร่างกายคือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ในสถานะนี้ร่างกายไม่แตกต่างจากความคิดนะ เพราะความคิดก็เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจเหมือนกัน เทคนิคที่ใช้วางความยึดติดในร่างกายก็เหมือนกับเทคนิคที่ใช้วางความยึดติดในความคิดเช่นกัน คือต้องถอยออกจากความคิดไปอยู่ที่ความรู้ตัว แล้วมองออกมาจากความรู้ตัว มองมาที่ใจ (mind) ว่าแต่ละวินาทีที่ผ่านไป มีอะไรโผล่ขึ้นมาในใจบ้าง สังเกตอย่างคนนอก อย่างจดจ่อ ทีละวินาที ทีละวินาที ทีละประสบการณ์ แต่ละประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจไม่ว่าจะเกี่ยวกับร่างกายก็ดี กับความคิดก็ดี รับรู้มันตามที่มันเป็น เกิดอะไรขึ้น รับรู้หมด แล้วสนองตอบออกไปจากมุมของผู้สังเกตที่ไม่มีผลประโยชน์อะไรเกี่ยวข้องกับตัวตนหรือ identity (ร่างกาย + ความคิด) ที่เราเผลอยึดถือว่าเป็นเรา ภาพใหญ่ในเชิงเทคนิคมีแค่นี้ คุณต้องลงมือปฏิบัติอย่างนี้ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที ทุกวินาทีที่คุณคิดขึ้นได้ ปฏิบัติอย่างนี้อยู่เนืองๆ แล้วคุณก็จะหลุดพ้นไปจากความยึดติดทั้งในร่างกายและความคิด

ผมจะเล่าเทคนิคตัวช่วยปลีกย่อยที่คุณอาจะเอาไปลองดูได้นะ เป็นการใช้จินตนภาพ ผมเรียนรู้มาจากคนทางแคชเมียร์ คนแถบทางโน้นเรื่องทางจิตวิญญาณนี้เขาชอบเล่นกับจินตนาการ หรือจินตภาพ เรียกว่าพวกตันตระ (Tantra) ผมเอามาลองใช้แล้วมันเวิร์คดีนะ เทคนิคนี้ต้องต้้งต้นที่การนั่งหลับตาฝึกสมาธิ ตามสูตรก็เริ่มด้วยการถอยความสนใจออกจากความคิดมาจ่ออยู่กับลมหายใจ พอความคิดหมดไปเป็นส่วนใหญ่แล้วคราวนี้ก็ถอยความสนใจออกจากลมหายใจมาจ่ออยู่กับความรู้สึกบนร่างกายล้วนๆแทน รับรู้ความรู้สึก (feeling) บนผิวกาย เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง วูบวาบ ซู่ซ่า เหน็บๆ ชาๆ จิ๊ดๆ จ๊าดๆ เจ็บๆ คันๆ รับรู้หมด แบบว่า body scan นั่นแหละ รับรู้อย่างสนใจอย่างยิ่ง ควบกับการใช้จินตนภาพให้เห็นร่างกายนี้เป็นพลังงาน เหมือนเห็นกลุ่มหมอกควันเงี้ยะ เรียกว่าเห็นร่างกายเป็นกลุ่มก้อนของพลังงานชีวิต เมื่อจินตนภาพของคุณเข้มได้ที่ ร่างกายที่เป็นเนื้อตันๆจะค่อยๆหายไป ไม่มีแล้ว และเมื่อผสานความรู้สึกของจริงที่รับเข้ามาพร้อมกับจินตภาพว่าร่างกายนี้เป็นกลุ่มก้อนพลังงานที่หาขอบเขตชัดๆไม่ได้ ต่อจากนั้นจินตภาพจะค่อยๆหายไป เหลือแต่ความรู้สึกจริงๆว่าร่างกายนี้เป็นพลังงานจริงๆที่ส่งอาการผ่านมาทางอายตนะให้ใจรับรู้ ร่างกายกลายเป็นประสบประการณ์เชิงประจักษ์ โดยไม่เกี่ยวอะไรกับคอนเซ็พท์เนื้อตันๆหนังกระดูก เทคนิคนี้ ในด้านหนึ่ง ช่วยลดชั้นให้ร่างกายมีศักดิ์ศรีเหลือเท่าความคิด คือเป็นเพียงความรู้สึก (feeling) ที่ไม่มีความต่อเนื่อง มาแล้วก็ไปตลอดเวลาเช่นเดียวกับความคิด ทำให้วางความยึดติดในร่างกายได้ง่ายเท่าๆกับวางความคิด ในอีกด้านหนึ่ง ก็ช่วยให้ควบคุมและสนับสนุนการทำงานของร่างกายได้ดีขึ้น ในรูปของการใช้จินตภาพเปิดรับเอาพลังงานจากภายนอกมาเพิ่มพลังให้กับพลังงานของร่างกาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์