Latest

ใครกันนะที่กลัวตาย

เรียน คุณหมอสันต์
ผมอายุ 28 แล้วผ่านเรื่องราวมาก็นับว่าได้ระดับนึง แต่สิ่งที่เพิ่งรับรู้ได้มากขึ้นเมื่ออายุเกือบจะ 30 คือความตาย ญาติๆ พ่อแม่ของเพื่อนฝูงหลายคนได้จากไปด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้น ผมจึงได้มีโอกาสทำความรู้จักกับความตายมากขึ้น
เมื่อพิจารณาถึงความตาย ผมยิ่งกลัวครับ ชีวิตนี้เกิดมา ผมมีอีโก้สูงครับ ความเชื่อของผมมีแต่หลักวิทยาศาสตร์หรือสิ่งที่มีเหตุผล(โดยใช้ความคิดตัวเองตัดสิน) เมื่อคนเราตาย ทุกอย่างก็คงดับไป ไม่มีประสาทสัมผัส ไม่สามารถรับรู้ถึงเวลา ความรู้สึกใดๆ เพราะผมตัดสินว่าทุกอย่างที่รับรู้ ล้วนมาจากสมองครับแต่ในตลอดช่วงที่ผมมีชีวิตนั้น เวลาก็เดินเร็วมากๆครับ ทุกๆชั่วขณะเวลาได้เดินทางไปเรื่อยๆ เมื่อวานผมยังเป็นเพียงเด็กอนุบาล วันนี้ผมอายุใกล้ 30 แล้ว อีกไม่นานก็คงเป็นเวลาของผมที่จากไป
สิ่งนี้กระทบกับชีวิตผมอย่างมาก ทุกวันนี้ชีวิตผมทุ่มเท เพื่อความสุขของคนรอบกาย คนที่ผมรัก เพื่อที่จะไม่เสียดายทีหลัง แต่ผมกังวลเหลือเกินครับ ว่าเมื่อเราตายไปแล้ว สิ่งที่ทำมามันจะมีประโยชน์อะไร สุดท้ายตัวตนก็ไม่มีความหมาย เป็นเพียงของชั่วขณะหนึ่งของจักรวาลที่มีความหมายเท่าที่สมองผมรับรู้เท่านั้น ความคิดแบบนี้มันมากวนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จากเรื่องที่คิดตอนก่อนนอน กลายมาเป็นเรื่องที่หนักใจแม้กระทั่งตอนทำงาน และทำให้ผมอึดอัดจนไม่สามารถทำงานได้เลยครับ 
ผมมีความคิดแบบนี้มันดูบ้าหรือเปล่าครับ ผมควรจะปรึกษาจิตแพทย์ หรือปรับเปลี่ยนแนวคิด ให้ชีวิตมีความสุขได้อย่างไรครับคุณหมอ 
ขอขอบพระคุณอย่างสูง

………………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าความกลัวตายเป็นความบ้าหรือเปล่า ตอบว่าไม่ใช่ครับ หากนับว่า “ความบ้า” หมายถึงโรคทางจิตเวชที่ลงทะเบียนไว้ในระบบจำแนกโรคจิตเวช (DSM-5) ความกลัวตายไม่ถูกนับเป็นความบ้า

2.. ถามว่าคิดเรื่องกลัวตายมากจนไม่เป็นอันทำงานควรปรึกษาจิตแพทย์ไหม ตอบว่าควรครับ เพราะโลกทุกวันนี้หากไม่นับหลวงพ่อที่วัด ก็เห็นจะมีจิตแพทย์นี่แหละ ที่จะเป็นกัลยาณมิตรของคนที่มีความทุกข์จากความคิดของตัวเอง กัลยาณมิตรหมายความว่าคนที่ฟังเราอย่างตั้งใจ ดังนั้นผมแนะนำว่าถ้าคุณหาคนที่ฟังคุณอย่างตั้งใจไม่ได้ คุณควรไปหาจิตแพทย์ครับ

3.. ถามว่ามีความกังวลว่าเมื่อตัวเองตายไปแล้วสิ่งที่ทำมามันจะมีประโยชน์อะไร ทุกอย่างเป็นเพียงของชั่วขณะหนึ่งของจักรวาลที่มีความหมายเท่าที่สมองของตัวเองรับรู้เท่านั้น จะแก้ความกังวลนี้อย่างไร ตอบว่า อ้าว.. ก็เพิ่งคุยโวอยู่แหม็บๆว่าตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ใช้หลักเหตุผล เมื่อตนตาย ทุกอย่างก็ดับไป ซ.ต.พ. ไม่ใช่หรือ เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามหลักเหตุและผลเห็นโทนโท่อยู่แล้ว ก็ดีแล้วไง ถูกแล้วไง ทุกอย่างเป็นไปตามหลักวิชา แล้วท่านนักวิทยาศาสตร์จะไปเดือดร้อนกังวลอะไรอีกละครับ

เออ.. ถ้าคุณคนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์รู้เหตุรู้ผล ไม่กังวล ไม่กลัวตาย แล้ว..

ใครกันนะที่กังวล ใครกันนะที่กลัวตาย

แสดงว่ายังมีอีกคนหนึ่งซ่อนอยู่ในคุณ ซึ่งไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ และซึ่งกลัวตายขี้ขึ้นสมองด้วย ต้องมีเจ้าคนนี้ซ่อนอยู่ ใช่แมะ ถ้างั้นเราต้องจับตัวเจ้าคนนี้ให้ได้ ไม่งั้นเรื่องไม่จบ

ก่อนที่เราจะไปเล่นโปลิศจับขโมยต่อ ขอผมนอกเรื่องถามคุณนิดหนึ่ง คุณเคยเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวไหม ถ้าเคย คุณคงสังเกตเห็นว่าหมาแมวพอมันได้กินอิ่มแล้วมันหลับปุ๋ยสบายใจเฉิบไม่มีความเดือดร้อนกังวลอะไรเลย เออ.. แล้วสมองของหมาแมวมันแตกต่างจากสมองคนตรงไหนละ ทำไมมันไม่ทุกข์ แต่ทำไมเราซึ่งเป็นคนจึงทุกข์

คุณอาจจะตอบคำถามนี้ไม่ได้เพราะคุณไม่เคยทั้งผ่าสมองหมาสมองแมวและสมองคน แต่ผมตอบให้คุณได้เพราะสมัยก่อนหลักสูตรเตรียมแพทย์สมัยโน้นผมต้องเรียนวิชา comparative anatomy ต้องผ่าสมองสัตว์ดูด้วย แล้วพอขึ้นมาเรียนแพทย์ก็ต้องผ่าสมองคน สิ่งที่แตกต่างกันคือสมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับจินตนาการและความจำ คือของคนสมองส่วนหน้ามันเป็นสัดส่วนใหญ่บะเริ่มเทิ่ม แต่ของหมาแมวมันเป็นสัดส่วนเล็กนิดเดียว นั่นแสดงว่าที่เราเป็นทุกข์แต่หมาแมวไม่เป็นทุกข์ เป็นเพราะเรามีจินตนาการและความจำดีกว่าพวกมันนั่นเอง เรื่องที่ยังมาไม่ถึงเราทุกข์ล่วงหน้ากับมันไปเรียบร้อยแล้วนี่เรียกว่าจินตนาการ เรื่องที่ผ่านไปหลายปีแล้วเราก็ยังทุกข์กับมันอยู่ไม่เลิก นี่เรียกว่าความจำ

เออ.. แล้วสมองมันมีกลไกการทำงานอย่างไรนะจึงทำให้จินตนาการและความจำซึ่งเป็นของดีที่ธรรมชาติให้มนุษย์มากลายเป็นเครื่องมือสร้างทุกข์ให้ตัวเองไปเสียฉิบ ตรงนี้คุณฟังให้ดีนะ สมองทำงานโดยมีระบบรับสิ่งเร้าเข้ามา ก่อเป็นความรู้สึกขึ้น แล้วก่อความคิดขึ้นต่อยอด ความคิดต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ พอมีหลายๆความคิดมันผูกโยงกันเป็นชุดความคิดหรือเป็นคอนเซ็พท์ (concept) เช่นคอนเซ็พท์เรื่องตรรกะ เหตุผล ผิดชอบ ชั่วดี ถูกผิด สัตว์ คน ครอบครัว หมู่บ้าน เผ่าพันธุ์ ชาติ ศาสนา แล้วคอนเซ็พท์หลายๆคอนเซ็พท์มาผูกโยงกันเป็นสำนึกว่าเป็นบุคคล (identity) คือสำนึกว่าตัวคุณนี้เป็นมนุษย์ผู้ชายชาวไทย มีนามสมมุติว่า นาย ก. ไก่ ผู้มีความรับผิดชอบหาเงินเลี้ยงลูกเมียไม่ให้พวกเขาลำบาก นี่เรียกว่าสำนึกว่าเป็นบุคคลนะ เจ้าสำนึกว่าเป็นบุคคลนี้โคตรเหง้าศักราชมันเป็นแค่ความคิดนะ พูดง่ายๆว่ามันเป็นแค่ความหลอน ไม่ใช่ของที่ดำรงอยู่อย่างสถิตย์สถาพร มันดำรงอยู่แค่เท่าที่สมองของคุณเชื่อในคอนเซ็พท์ต่างๆที่ตัวสมองเองผูกโยงขึ้นเท่านั้น แต่มันนี่แหละ เจ้าสำนึกว่าเป็นบุคคลนี่แหละ ที่กลัวตาย เพราะมันเชื่อว่าตัวมันเป็นของจริง ไม่ใช่ความหลอน ถ้ามีการตายเกิดขึ้น เท่ากับว่าความเชื่อของมันกลายเป็นเรื่องเท็จ มันรับไม่ได้ มันจึงกลัวตายขี้ขึ้นสมอง จะเห็นว่าโลกทัศน์ของมันต่างจากของคุณคนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อในเหตุผลอย่างสิ้นเชิงนะ

ถ้าทิ้งสำนึกว่าเป็นบุคคลไปเสียได้ ความกลัวใดๆก็จะไม่มี ถูกแมะ เพราะความกลัวใดๆก็ตาม สืบโคตรเหง้าศักราชไปเถอะ มันล้วนชงขึ้นมาโดยสำนึกว่าเป็นบุคคลนี้ทั้งสิ้น

ถามว่าแล้วจะทิ้งสำนึกว่าเป็นบุคคลไปจริงๆได้หรือ ตอบว่าทิ้งได้สิ เพราะมันเป็นแค่ความคิด แต่ต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและมีชั้นเชิงนะ คือเริ่มด้วยการถอยความสนใจออกมาจากมันก่อน ทิ้งระยะห่างออกมาจากมัน ทีละหน่อย ทีละหน่อย แยกกันให้ออกว่าคุณก็คือคุณ ความคิดก็คือความคิด เป็นคนละอันกัน รายละเอียดคุณหาอ่านเอาในบล็อกเก่าๆที่ผมเขียนไว้บ่อยๆเรื่องการ “วางความคิด” ว่าทำอย่างไร นั่นแหละทำตามนั้น

ถามว่าถ้าทิ้งสำนึกว่าเป็นบุคคลไปแล้วจะมีอะไรเหลือหรือ ตอบว่า อ้าว.. ก็เหลือตัวชีวิตไง เมื่อทิ้งความคิด ทิ้งคอนเซ็พท์โน่นนี่นั่นไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ในภาวะที่ไม่มีความคิดก็คือตัวชีวิต มีร่างกายหายใจเข้าออกอยู่ มีความตื่นตัว มีความรู้ตัว แบบสบายๆเพราะไม่มีอะไรให้ห่วงกังวล มีความสามารถทำโน่นทำนี่ได้แบบอิสระเสรีโดยไม่ต้องพะวงปกป้องสำนึกว่าเป็นบุคคลเดิมๆอีกต่อไป

ทั้้งหมดที่ผมพูดมาเนี่ยคุณคนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เก็ททันที แต่คุณคนที่เป็นสำนึกว่าเป็นบุคคลไม่เก็ทดอก นอกจากจะไม่เก็ทแล้วมันยังดิ้นเร่าๆตะโกนว่า

“เอ็งอย่าไปเชื่อหมอสันต์เข้านะโว้ย เจ้าหมองี่เง่านี่มันจะพาเอ็งเป็นบ้านะ จะบอกให้”

หิ หิ ระหว่างหมอสันต์กับอัตตาของคุณ คุณจะเชื่อใคร คุณเลือกเลย เอาแบบที่ชอบที่ชอบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์