โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

กินยารักษาเบาหวาน Metformin รักษากล้ามเนื้อลีบได้จริงหรือ

ผมอายุ 63 ปี มีปัญหากล้ามเนื้อลีบ ผอม ทั้งๆที่ขยันออกกำลังกาย ได้ไปหาคุณหมอ … ซึ่งเป็นหมอเวชศาสตร์ชลอวัยที่ศูนย์ … คุณหมอแนะนำให้ผมกินยา metformin ซึ่งเป็นยารักษาเบาหวาน โดยคุณหมอแนะนำว่ายานี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ ผมเองลังเลว่าการแก้ไขเรื่องผมผอมลง กับการที่จะต้องมากินยาเบาหวานโดยที่ผมไม่ได้เป็นเบาหวานมันจะคุ้มกันหรือเปล่า อยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่ายา metformin จะช่วยให้ผมมีกล้ามจริงไหมครับ คุ้มไหมที่จะกินยานี้

ขอบพระคุณครับ (เป็นแฟนมาหลายปีแล้ว เพิ่งใช้สิทธิ์)

…………………………………………………………………..

ตอบครับ

     1. ถามว่ากินยา metformin เพื่อให้มีกล้าม จะได้ผลไหม ตอบว่าไม่ได้ผลครับ แม้ว่ามีหมอจำนวนมากจะเชื่อว่าได้ผล เพราะเรื่องนี้มีงานวิจัยทำที่มหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ โดยสุ่มตัวอย่างเอาคนสูงอายุที่มีอายุเฉลี่ย 69 ปีมาจำนวน 109 คน มาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินยา meformin อีกกลุ่มหนึ่งให้กินยาหลอก แล้วให้ทั้งสองกลุ่มไปเล่นกล้ามเหมือนกันนาน 14 สัปดาห์ ปรากฎว่ากลุ่มที่กินยา metformin กล้ามขึ้นน้อยกว่ากลุ่มที่กินยาหลอกเสียอีกครับ…จบข่าว

      วงการแพทย์รู้มานานแล้วว่าคนแก่จะต้องกล้ามเนื้อลีบ (sarcopenia) รู้ด้วยว่าการเล่นกล้ามเป็นวิธีทำให้คนแก่ไม่เกิดกล้ามเนื้อลีบ และรู้ด้วยว่าคนแก่บางคนถึงขยันเล่นกล้ามแต่กล้ามก็ไม่ค่อยขึ้นเหมือนเพื่อนๆเขา จำเป็นต้องหาตัวช่วย แต่วงการแพทย์ก็ยังหาตัวช่วยไม่เจอ และแน่นอนว่ายา metformin ไม่ใช่ตัวช่วยที่ว่านั้น

    2. ถามว่าทำไมยิ่งขยันออกกำลังกายแต่กล้ามเนื้อกลับยิ่งลีบลง ตอบว่าสาเหตุมีได้หลายอย่างซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการที่ออกกำลังกายหนักแต่กินอาหารที่ให้แคลอรี่ไม่เพียงพอ ปัญหานี้พบบ่อยในนักวิ่งแข่งมาราธอน คือทั้งกล้ามเนื้อลีบและกระดูกบางลงทั้งๆที่วิ่งไกลๆทุกวัน โดยเฉพาะพวกนักวิ่งแข่งมาราธอนที่กินอาหารแบบโลว์คาร์บมักจะมีปัญหานี้ เพราะเมื่อแคลอรี่ไม่พอใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแคลอรี่สำรองยามฉุกเฉินในรูปของไกลโคเจนซึ่งได้จากคาร์โบไฮเดรตไม่มี ยามหน้าสิ่วหน้าขวานร่างกายก็ต้องไปสลายเอาโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาเผาผลาญเอาพลังงาน จึงยิ่งขยันออกกำลังกาย ก็ยิ่งกล้ามเนื้อลีบลง คนที่ลดน้ำหนักด้วยวิธีกินอาหารแบบคีโตก็มีปัญหานี้ เพราะไม่มีคาร์โบไฮเดรต ถ้าไขมันไม่พอใช้ ก็ต้องเอากล้ามเนื้อมาใช้ทำพลังงาน

     ทางแก้ปัญหานี้ต้องทำสองอย่างพร้อมกัน คือ

     (1) ถ้าชอบออกกำลังกายต้องกินอาหารให้ใด้แคลอรี่ให้พอเพียง โดยกินในรูปของคาร์โบไฮเดรตในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (complex carbohydrate) เช่นธัญพืชไม่ขัดสี มันเทศ มันฝรั่ง เป็นต้น อย่าไปกินแต่ไขมันโดยไม่กินคาร์โบไฮเดรต เพราะจะได้แคลอรี่มากพอจริงแต่นอกจากจะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งไปแล้วงานวิจัยพบว่าในระยะยาวระดับห้าปีขึ้นไปยังจะไปตายมากขึ้นด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดเนื่องจากโคเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะไขมันเลว (LDL) ในเลือดซึ่งขึ้นสูงปรี๊ดในผู้กินอาหารแบบคีโตชนิดเอาจริงเอาจังเกือบทุกคน

     ไม่ต้องห่วงอาหารโปรตีน ขอให้ได้แคลอรี่ให้พอก่อน ถ้าแคลอรี่พอ ร่างกายไม่มีขาดโปรตีน นี่เป็นสัจจธรรม ไม่เชื่อผมท้าให้ไปหาผู้ป่วยมาแค่หนึ่งคนที่กินแคลอรี่พอแต่เป็นโรคขาดโปรตีนมาให้ผมดูหน่อยดิ ไม่มีหรอก เพราะอาหารธรรมชาติจัดสัดส่วนแคลอรี่และโปรตีนมาลงตัวดีแล้ว แต่ระวังอย่าไปกินธัญพืชแบบขัดสีซ้ำๆซากๆ เพราะแบบนั้นโปรตีนที่ผิวของธัญพืชถูกขัดทิ้งไป สัดส่วนของแป้งขัดขาวจะมากเกินไปขณะที่ได้โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่น้อยเกินไป ควรกินอาหารในรูปแบบที่ใกล้เคียงธรรมชาติ (whole food) เช่นถ้าเป็นธัญพืชก็เป็นธัญพืชที่ไม่ขัดสีเช่นข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลวีต 100% หรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนอื่นๆเช่น ผลไม้ กล้วย มันเทศ มันฝรั่ง ดีกว่า

     (2) เป็นผู้สูงอายุต้องออกกำลังกายทั้งแบบเล่นกล้ามและแบบแอโรบิกควบกันไป อย่าเอาแต่แอโรบิกอย่างเดียว เพราะแอโรบิกทำให้กล้ามเนื้อลีบเล็กลง ขณะที่การเล่นกล้ามทำให้กล้ามเนื้อมีมวลมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ลีบลง ผมเคยเขียนแนะนำวิธีเล่นกล้ามสำหรับผู้สูงอายุไว้บ่อยมาก ให้หาอ่านดูในบล็อกนี้ได้ หรือดูวิดิโอคลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=8rvIMKpDM1I

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม   

1. R. Grace Walton, Cory M. Dungan, Douglas E. Long, S. Craig Tuggle, Kate Kosmac, Bailey D. Peck, Heather M. Bush, Alejandro G. Villasante Tezanos, Gerald McGwin, Samuel T. Windham, Fernando Ovalle, Marcas M. Bamman, Philip A. Kern, Charlotte A. Peterson. Metformin blunts muscle hypertrophy in response to progressive resistance exercise training in older adults: A randomized, double‐blind, placebo‐controlled, multicenter trial: The MASTERS trial. Aging Cell, 2019; DOI: 10.1111/acel.13039